บิล เกตส์, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และสตีฟ จ็อบส์ ออกจากมหาวิทยาลัยเพราะอะไร?

บิล เกตส์, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และสตีฟ จ็อบส์ ออกจากมหาวิทยาลัยเพราะอะไร?

มหาเศรษฐีออกจากมหาวิทยาลัยเพราะอะไร?

ถ้าถามว่า การศึกษา คือคำตอบเดียวในการเข้าถึงความสำเร็จหรือไม่?

  คำตอบนี้คงตอบว่า ไม่ใช่ เหตุผลเพราะว่า มีผู้คนมากมายที่ออกจากระบบการเรียนกลางคัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาเหล่านั้น กลับหาลู่ทางที่จะสร้างความสำเร็จ ความมั่งคั่งให้กับตนเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งปริญญาแม้แต่ใบเดียว  

บิล เกตส์, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และสตีฟ จ็อบส์ เหล่ามหาเศรษฐีในธุรกิจไอที คือตัวอย่างที่ดีของคนกลุ่มนี้

  พวกเขาประสบความสำเร็จโดยเรียนไม่จบในระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างไร? ต้องติดตามประวัติของพวกเขาจากบรรทัดต่อไป นี่ไม่ใช่การบอกเล่าประวัติเพื่อให้ใช้เป็นข้ออ้างกับคำพูดที่ว่า “เรียนไม่จบ ก็ประสบความสำเร็จในชีวิตได้” แต่พวกเขาหันหลังให้มหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพราะเรียนไม่ไหว แต่อาจจะเพราะเห็น “โอกาส” บางอย่างที่สำคัญกว่าการศึกษาในระบบ   .....

มหาเศรษฐีคนแรกที่ออกจากมหาวิทยาลัยในระบบแล้วลงไปแสวงหาความร่ำรวยนอกรั้วมหาวิทยาลัย ก็คือ บิล เกตส์

  เขาฉายแววอัฉริยะมาตั้งแต่วัยเด็ก เขาอ่านสารานุกรมจาก A ถึง Z ได้จบตั้งแต่อายุ 9 ขวบ และด้วยความหลงใหลในคอมพิวเตอร์ ทำให้เด็กน้อยผู้มีบุคลิกเนิร์ด ไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่กลับขลุกตัวอยู่กับคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน เขามักจะแอบออกมาจากบ้านยามดึกในเวลาที่ทุกคนนอนแล้ว เพื่อใช้เวลาในยามค่ำคืนกับโลกคอมพิวเตอร์ที่เขาหลงรัก เพราะในช่วงเวลานั้น ห้องคอมพิวเตอร์ของชุมชนสามารถเปิดใช้ตอนกลางคืนได้ เขาแอบทำกิจกรรมนี้ทุกค่ำคืนจนแม้แต่พ่อกับแม่ก็ไม่รู้ความลับนี้ และพอเรียนถึงระดับมัธยมศึกษา เขาก็สามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขายได้แล้ว ความอัจฉริยะของบิล เกตส์ ทำให้เขาสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกอย่างฮาวาร์ด ได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไหร่นัก แต่ที่ฮาวาร์ด บิล เกตส์ไม่ใช่เด็กคนเดียวที่เรียนเก่ง ทุกคนเก่งที่เข้าเรียนที่นี่ได้ ต่างเก่งเหมือนกันหมด อย่างตอนสอบวัดผลวิชาคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษา แม้บิล เกตส์ จะสอบได้คะแนน 800 เต็ม แต่ก็มีเด็กฮาวาร์ดอีกเป็นจำนวนมากที่ได้คะแนนเต็มเช่นเดียวเดียวกับเขา ชนิดที่ไม่มีใครโดดเด่นไปกว่าใคร แต่สิ่งที่ทำให้บิล เกตส์ มีความโดดเด่นและแตกต่างก็คือ ความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ถ้านับเฉพาะเรื่องนี้ บิล เกตส์คืออาจจะเป็นอันดับหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ณ ขณะนั้น และในจังหวะนั้นเอง ในยุค ’70 หรือเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว โอกาสของธุรกิจไอทีที่เริ่มเปิดประตูขึ้นมา บิล เกตส์ จึงขอหันหลังให้รั้วมหาวิทยาลัย แล้วออกมาพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยของเขาเต็มไปด้วยโจทย์อันท้าทาย เขาจับมือกับพอล อัลเลน หุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ร่วมก่อตั้งบริษัท “ไมโครซอฟต์” ขึ้นมาในปี ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) ตอนนั้นเขามีอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น ในตอนนั้น ด้วยความมุ่งมั่นที่เต็มเปี่ยม บิล เกตส์ ทำงานอย่างหนัก เขาขลุกตัวอยู่กับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์จนไม่อยากเสียเวลากลับบ้าน บ่อยครั้งที่ในตอนเช้า พนักงานบริษัทเห็นเขานอนอยู่ที่พื้นห้องในที่ทำงานเพราะว่าเขาโหมทำงานหนักตลอดทั้งคืน นอกจากนี้ เขาพยายามพูดคุยโดยตรงกับพนักงาน ตอบอีเมล์พนักงานในเวลาดึกดื่น ซึ่งเป็นเวลาที่ควรจะพักผ่อน บิล เกตส์ เป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง ซึ่งหากเป็นไอเดียที่เหนือกว่าเขา เขาก็พร้อมที่จะเปิดกว้าง จึงทำให้ “ไมโครซอฟต์” มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา โอกาสของ "ไมโครซอฟต์” เริ่มต้นขึ้นจากการที่ “ไอบีเอ็ม” ต้องการรุกตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากขึ้น ไอบีเอ็มจึงขอซื้อและร่วมกันพัฒนาระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ จนผู้คนเริ่มรู้จักผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟต์อย่าง MS-DOS, PC-Dos และ OS/2 ในที่สุด ไมโครซอฟท์ก็เจอขุมทรัพย์ล้ำค่า ผ่านระบบปฏิบัติการที่มีชื่อว่า “ไมโครซอฟต์ วินโดวส์” (Microsoft Windows) ที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 (ค.ศ.1985) และในทุกวันนี้ระบบปฏิบัติการถูกพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นในชื่อ “Windows Vista” ด้วยการทำงานหนักจนถึงทุกวันนี้ ทำให้บิล เกตส์ เริ่มร่ำรวยเพราะผู้คนเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวมากขึ้น แน่นอนว่าระบบปฏิบัติการที่ใช้ในเครื่องส่วนใหญ่เลยเป็นของ “ไมโครซอฟต์” จนในที่สุด ในปี ค.ศ.1995 (พ.ศ. 2537) เป็นครั้งแรกที่บิล เกตส์ กลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของฟอร์บส์ ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ติดอันดับ บุคคลร่ำรวยที่สุดในโลกมากถึง 17 ปีเลยทีเดียว(นับถึงปี 2018) ในวันนี้(นับถึง พฤศจิกายน 2018) บิล เกตส์มีทรัพย์สินสูงถึง 95,600 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 3.15 ล้านล้านบาท) ถือเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 2 ของโลก .....  

คราวนี้มาถึงศิษย์น้องแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดของบิล เกตส์ อย่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่ง facebook กันบ้าง

  มาร์กเริ่มฉายแววความสนใจเรื่องโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก โดยเขาสามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้สมัยตั้งแต่เรียนอยู่ระดับเกรด 6 และในสมัยมัธยมฯ เขากับเพื่อนได้ออกแบบแอพลิเคชั่นสำหรับโปรแกรมเอ็มพีสาม ซึ่งทางไมโครซอฟต์ขอซื้อต่อเป็นเงินสูงถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(60 ล้านบาท) แต่ซักเคอร์เบิร์กไม่ยอมขาย เพราะอยากสร้างผลิตภัณฑ์นี้ในชื่อของตัวเองมากกว่า แต่เมื่อเปลี่ยนใจคิดจะขาย ทางไมโครซอฟต์ก็ไม่ได้สนใจงานนี้เสียแล้ว สมัยที่มาร์ก เรียนอยู่ที่ฮาวาร์ด เขากลายเป็นคนดังในชั่วข้ามวันจากการออกแบบ “เฟซแมช” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้คนดูลงคะแนนเปรียบเทียบกันว่าผู้หญิงสองคนในรูปที่ปรากฏหน้าจอ ใครสวยกว่ากัน? เพื่อหาสาวสวยที่สุดในฮาวาร์ด โดยรูปสาวๆ ที่ขึ้นหน้าจอนั้น เกิดจากการที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ขโมยข้อมูลจากฐานข้อมูลของหอพักในมหาวิทยาลัย จนโดนคณะกรรมการด้านวินัยของฮาวาร์ดสอบสวนและถูกภาคทัณฑ์ในเวลาต่อมา เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เขาและเพื่อนๆ เกิดความคิดต่อยอดว่า นักศึกษาที่ฮาวาร์ด วันๆ ได้แต่เรียนกับทำกิจกรรมชมรมซึ่งหนักมาก จนไม่มีเวลารู้จักกับเพื่อนคนอื่น เป็นไปได้ไหมที่จะนำพาทุกคนมารู้จักกันผ่านผ่านสื่อโซเชียล มีเดีย... ซักเคอร์เบิร์ก จินตนาการไปไกลกว่าการเชื่อมต่อการสื่อสารของผู้คนในหลักพันคนในรั้วมหาวิทยาลัย แต่มันคือการเชื่อมโยงของผู้คนทั้งโลก ความคิดนี้ นำพาให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า facebook ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) โดยเริ่มต้นจากการเชื่อมต่อผู้คนในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดก่อน แล้วหลังจากนั้น มาร์กมองเห็นความเป็นไปได้ในการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้น เขาจึงหาเงินทุน และลูกทีมที่มีความคิดไปในทางเดียวกัน หอบความฝันไปตั้งออฟฟิศเล็กๆ ณ พาโล อัลโต ที่ซิลิคอน วัลเลย์ ในช่วงปิดเทอมซัมเมอร์ปี 2 แต่แล้ว ด้วยความ “ติดลม” ทำให้เขาไม่ได้กลับมาเรียนต่อที่ฮาวาร์ดในที่สุด มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์กขลุกอยู่กับการปลุกปั้นโครงการนี้ เขากล้าหาญที่จะเดินไปขอเงินทุนจากจากนักลงทุนเพื่อพัฒนา facebook จนในที่สุด facebook ก็ขยายความนิยมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปสู่ผู้คนในอเมริกา และทั่วโลกในที่สุด ปัจจุบัน facebook เป็นสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ผู้คนสามารถอัพเดต ข้อมูลของตัวเอง เขียนข้อความ อัพรูปภาพ/วิดีโอ ตั้งกลุ่ม/เพจ แชทกับเพื่อน ค้นหาเพื่อน ตั้งกิจกรรม เล่นเกม และอีกมากมายที่เชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกไว้ ในระดับที่พลิกโฉมการติดต่อสื่อสารของผู้คนในยุคต้นศตวรรษที่ 21 และไม่ต้องบอกก็รู้ว่า บทความนี้ คุณก็อ่านผ่าน facebook ที่วันนี้(พ.ศ. 2556) facebook มีผู้ใช้มากกว่า 2,200 ล้าน Users ทั่วโลก   .....  

แต่สำหรับเส้นทางชีวิตของสตีฟ จ็อบส์ เจ้าของแนวคิดการสร้างโทรศัพท์มือถือ “ไอโฟน” กลับมีรายละเอียดแตกต่างไปจากสองคนในข้างต้นอยู่สักนิด

  ชีวิตของสตีฟ จ็อบส์ ในวัยหนุ่ม ค่อนข้างจะมีอิสระและตามใจตัวเอง เขาใช้ชีวิตอยู่ในยุค ’70 อันเป็นยุคที่คนหนุ่มสาวใช้ชีวิตอิสระในแบบกลุ่มคนฮิปปี้ ที่เชื่อว่าโลกเต็มไปด้วยความรัก สันติภาพ และไม่ต้องการสงคราม แต่ทางครอบครัวจ็อบส์อยากให้เขาเรียนหนังสือระดับมหาวิทยาลัย จ็อบส์จึงขอเรียนที่มหาวิทยาลัยรีด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่สอนทางด้านศิลปะศาสตร์เป็นหลัก แต่พอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแล้ว เขากลับสนใจแต่เรื่องปรัชญาเซน อาหารมังสวิรัติ การนั่งสมาธิ ยาเสพติด ดนตรีร็อค และการตั้งชุมชนคอมมูนในสวนแอปเปิ้ล(อันเป็นที่มาขอชื่อบริษัท “แอปเปิ้ล”) ตามอิทธิพลของวัฒนธรรมฮิปปี้ในยุคนั้น จนไม่สนใจการเรียนเลย ทำให้สุดท้าย เขาต้องออกจากมหาวิทยาลัย ภายหลัง สตีฟ จ็อบส์ ยอมรับว่า เขาเสียใจมากที่นำเงินของพ่อแม่ที่เก็บไว้ให้เขาเรียนมาใช้อย่างเปล่าประโยชน์ หลังจากที่จ็อบส์ ลาออกจากมหาวิทยาลัย ในปี ค.ศ.1976(พ.ศ.2519) เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการจับมือกับสตีเฟ่น วอซเนียก อัจฉริยะด้านการเขียนโปรแกรม ได้เปิดบริษัท “แอปเปิ้ล” ขึ้นมา บริษัทนี้โตวันโตคืนด้วยผลงานการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยี่ห้อ แอปเปิ้ลวัน, แอปเปิ้ลทู และ ลิซ่า แต่สตีฟ จ็อบส์ กลับล้มเหลวในการนำทีมออกแบบคอมพิวเตอร์แม็คอินทอชรุ่นแรก เพราะยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ในปี พ.ศ.2528 เขาจึงขอออกจากบริษัท “แอปเปิ้ล” ซึ่งเป็นบริษัทที่เขาสร้างขึ้นมา หลังจากที่สตีฟ จ็อบส์ออกจากแอปเปิ้ล ผลงานเด่นของเขาชิ้นหนึ่งก็คือ การปั้นบริษัทผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นอย่าง Pixar ซึ่งได้ปล่อยภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “ทอย สตอรี่” ออกฉายเป็นเรื่องแรกในปี ค.ศ.1995(พ.ศ.2538) หนังเรื่องนี้ทำรายได้สูงถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(900 ล้านบาท) และกลายเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดในปีนั้น โดยทำรายได้ทั่วโลกไป 362 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(ประมาณ 10,860 ล้านบาท) ข่าวดีนี้มาพร้อมกับข่าวไม่สู้ดีที่ว่า บริษัท “แอปเปิ้ล” ในตอนนั้น ประสบกับภาวะขาดทุน ทางบริษัทแอปเปิ้ล จึงดึงสตีฟ จ็อบส์กลับมาทำงานที่บ้านหลังเดิม กลับมาคราวนี้ จ็อบส์จึงมีแรงขับเคลื่อนอย่างแรงกล้าที่จะพลิกสถานการณ์ของ “แอปเปิ้ล” ที่กำลังย่ำแย่ให้จงได้ ตั้งแต่นั้นมา เขามุ่งมั่นกับการทำงานและรับเงินเดือนเพียงปีละ 1 เหรียญสหรัฐ(30 บาท) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า เขามุ่งมั่นกับงานจนเรื่องค่าตอบแทนเป็นเรื่องที่มาทีหลัง หลังจากนั้นจนถึงทุกวันนี้ จ็อบส์คือผู้อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนทั่วโลกหลงใหล อย่างเช่น ไอแม็ค, ไอพอด, ไอจูน, ไอแพด และไอโฟน แม้ว่าสตีฟ จ็อบส์ จะเสียชีวิตไปในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ.2011(พ.ศ.2554) แต่เขาได้ทิ้งบทเรียนมากมายให้ผู้คนได้เรียนรู้และเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต หนึ่งในนั้นก็คือ การเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง จากคนที่ไม่ใส่ใจในการเรียน จนต้องออกจากมหาวิทยาลัย ทำชีวิตการทำงานใช่ว่าจะราบรื่น เขาเคยวางแผนธุรกิจแล้วไม่ประสบความสำเร็จจนต้องลาออกจากบริษัทที่ตนสร้างขึ้น แต่เมื่อสตีฟ จ็อบส์ ค้นพบสิ่งที่ตนหลงใหล เขากลับมาพลังในการทำงานอย่างมากมายเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่โลกไม่มีวันลืม อย่างเช่น โทรศัพท์ไอโฟน ขึ้นมา ครั้งหนึ่ง สตีฟ จ็อบส์เคยกล่าวสุนทรพจน์ในงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี ค.ศ.2005(พ.ศ.2548) ซึ่งหนึ่งในนั้นมีใจความกระตุ้นแรงบันดาลใจของบรรดาคนฟังผู้เป็นบัณฑิตจบใหม่ว่า   “เวลาของพวกคุณมีจำกัด ฉะนั้นอย่าปล่อยให้มันเปล่าประโยชน์ด้วยการใช้ชีวิตตามแบบของคนอื่น อย่าตกเป็นทาสของกฏเกณฑ์ นั่นคือ ใช้ชีวิตตามความคิดของคนอื่น อย่าปล่อยให้เสียงของคนอื่นดังกว่าเสียงของหัวใจเรา ที่สำคัญ จงมีความกล้าหาญที่จะเดินไปตามทางที่หัวใจและสัญชาตญาณเรียกร้อง ทั้งสองอย่าง จะบอกคุณว่า คุณต้องการเป็นอะไร? ส่วนเรื่องอื่นที่เหลือ เป็นเรื่องรองลงมาทั้งสิ้น”   ...   ที่มา: หนังสือ Outliers: The Story of Success ของ Malcolm Gladwell The Accidental Billionaires ของ Ben Mezrich Steve Jobs ของ Walter Isaacson วันเยาว์ของคนใหญ่ ของ ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช(สำนักพิมพ์มติชน) คิดต่างอย่างเศรษฐีพันล้าน (สำนักพิมพ์ busy-day)