การประท้วง การทวงความยุติธรรมที่ (มัก) ขัดต่อกฎหมาย

การประท้วง การทวงความยุติธรรมที่ (มัก) ขัดต่อกฎหมาย
"When the looting starts, the shooting starts." หรือแปลเป็นไทยได้ว่า "มีปล้นเมื่อไหร่ มียิงเมื่อนั้น" (looting หมายถึง การใช้กำลังแย่งชิงหรือทำลายทรัพย์สินระหว่างจลาจลทางการเมือง หรือสงคราม)  เป็นคำที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และแน่นอนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นผู้ที่พูดคำนี้เป็นคนแรก ทรัมป์ใช้คำนี้กล่าวถึงการจลาจลที่เกิดขึ้นหลังการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ คนผิวดำที่ถูกตำรวจผิวขาวของมินนิแอโปลิสจับใส่กุญแจมือและยังใช้เข่ากดบริเวณลำคอของเขาจนขาดใจตายในเวลาต่อมา (25 พฤษภาคม 2020) คำกล่าวเต็ม ๆ ของทรัมป์ในทวิตเตอร์ก็คือ "กุ๊ยพวกนี้ไม่ให้เกียรติกับความทรงจำที่มีต่อ จอร์จ ฟลอยด์ ผมจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้น เพิ่งคุยกับผู้ว่าฯ ทิม วอลซ์ (Tim Walz) มาและบอกไปว่า กองทัพจะยืนอยู่ข้างเขาเสมอ ถ้ามีอะไรวุ่นวายเราจะเข้าไปควบคุม แต่ถ้ามีปล้นเมื่อไหร่ ก็มียิงเมื่อนั้น"  คำพูดของทรัมป์ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น การใช้คำนี้ยังเป็นการย้ำแผลการกดขี่คนดำเข้าไปอีก เพราะคนที่ใช้คนนี้เป็นคนแรก ๆ ก็คือ วอลเตอร์ เฮดลีย์ (Walter Headley) ผู้บัญชาการตำรวจไมอามีในช่วงทศวรรษ 1960s ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเสมอภาคและสิทธิพลเมืองของคนดำอย่างเข้มข้น เฮดลีย์ที่มีประวัติเหยียดผิวอ้างว่า ด้วยนโยบายนี้ทำให้แทบไม่มีการจลาจลเกิดขึ้นภายใต้การดูแลของเขา แต่การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจไมอามีต่อกลุ่มคนผิวดำอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบก็ทำให้เกิดกรณีของ อาร์เทอร์ แมคดัฟฟี (Arthur McDuffie) คนดำที่ถูกตำรวจผิวขาวรุมตีระหว่างการจับกุมในข้อหาละเมิดกฎจราจรจนถึงแก่ความตาย และทำให้เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเมื่อปี 1980 (มีผู้เสียชีวิต 18 ราย บาดเจ็บเกินกว่า 300 คน)   การตายอย่างไม่เป็นธรรมของประชาชนด้วยน้ำมือของอำนาจรัฐ เป็นสิ่งที่น่าโกรธแค้น เพราะรัฐมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน แต่กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม และหากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐเกิดขึ้นเนื่องจากระบบที่มุ่งคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่งแต่กดขี่คนอีกกลุ่มหนึ่ง ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้คนจำนวนมากเกิดความรู้สึกเจ็บแค้นขึ้นพร้อมกัน และรู้สึกว่า รัฐไม่ได้รักษา “สัญญาประชาคม” และจำเป็นต้องทวงสัญญาด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง  "สัญญาประชาคม" เป็นทฤษฎีทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุคแสงสว่างทางปัญญาเพื่ออธิบายถึงสาเหตุที่ประชาชนในสังคมหนึ่ง ๆ ยอมสละสิทธิเสรีภาพบางส่วน และยอมอยู่ใต้กฎเกณฑ์ทางสังคม เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและความปกติสุขของสมาชิกสังคมนั้น ๆ ทุกคน (ในยุคที่ยังไม่เกิดแสงสว่างทางปัญญา คนต้องยอมรับอำนาจของผู้เผด็จอำนาจเพราะเรื่องเล่าทำนองว่า คนครอบครัวหนึ่ง ๆ ได้ความชอบธรรมนั้นมาจากสวรรค์ หรือพระเจ้า)  และมันก็นำไปสู่การออกแบบสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการปกครอง ตั้งแต่การออกกฎหมาย การเลือกผู้ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ปกครอง และการตรวจสอบการทำงานของผู้ถืออำนาจรัฐ  แต่สัญญาประชาคมจะมีประสิทธิผล ทำให้สมาชิกสังคมทุกคนยอมรับกฎของส่วนกลางได้ ต้องอยู่บน “หลักการแห่งความชอบธรรม” มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) นักเขียนเจ้าของผลงานเรื่อง David & Goliath งานที่เล่าถึงการต่อสู้ของผู้ด้อยกว่ากับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ได้อธิบายหลักการนี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเปรียบเทียบกับการปกครองด้วยความหวาดกลัว หลักการที่ถูกร่างขึ้นโดยอาศัยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ การปกครองด้วยความหวาดกลัวที่ว่านี้ มาจากรายงานที่เขียนขึ้นในช่วงสงครามเย็นเรื่อง Rebellion and Authority ของ เนธาน ไลตส์ (Nathan Leites) ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเวียต และชาลส์ วูล์ฟส์ (Charles Wolf)  นักเศรษฐศาสตร์ สองนักวิจัยจากสถาบัน RAND (หน่วยงานวิจัยที่ริเริ่มโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ซึ่งกลายมาเป็นหลักการที่สหรัฐฯ ใช้ในการทำสงครามเวียดนาม รวมถึงการจัดการเหตุจลาจลในประเทศ โดยมีหลักการโดยสรุปว่า “หลักการพื้นฐานที่ได้จากการวิเคราะห์ของเราคือ บทสันนิษฐานที่ว่า ประชากรทั้งในฐานะปัจเจกหรือกลุ่มคนมีรูปแบบพฤติกรรมที่ ‘อยู่บนเหตุผล’ ที่มาจากการคำนวณผลได้และผลเสียที่พวกเขาจะได้รับจากการกระทำต่าง ๆ กัน และเลือกปฏิบัติจากผลคำนวณนั้น ๆ...โดยสรุป การครอบงำพฤติกรรมของประชากรนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยทั้ง ความเห็นใจ หรือ เวทย์มนต์คาถา แต่อยู่ที่การทำความเข้าใจถึงผลได้และผลเสียของปัจเจกหรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาว่าพวกเขาทำการคำนวณผลนั้นอย่างไร”  ข้อสรุปของทั้งสองจึงอยู่บนการคำนวณว่า “ผลเสีย” และ “ผลได้” จากการกระทำต่าง ๆ เป็นอย่างไร ถ้าหากคนยังไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจรัฐ ก็เแสดงว่า พวกเขาเห็นว่า “ผลเสีย” ที่ได้รับยังไม่พอ นำไปสู่การใช้ความรุนแรงที่มากขึ้นเรื่อย ๆ  ส่วนหลักการแห่งความชอบธรรมนั้น แกลดเวลล์อธิบายว่า ต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ ข้อแรก ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจต้องรู้สึกว่า พวกเขามีสิทธิมีเสียงจริง ๆ ข้อสอง กฎหมายที่ใช้จะต้องมีความมั่งคงคาดหมายได้ ไม่เป็นไปตามอำเภอใจของผู้ปกครอง และข้อสาม ผู้ปกครองต้องเป็นธรรม ปฏิบัติต่อสมาชิกในสังคมอย่างเสมอภาค “พ่อแม่ที่ดีล้วนเข้าใจหลักการนี้ดีที่สุด ถ้าคุณอยากจะหยุดจอห์นนีน้อยไม่ให้ทุบตีน้องสาว คุณไม่อาจมองข้ามคราวหนึ่ง แล้วดุด่าอีกคราวหนึ่ง คุณจะปฏิบัติกับน้องสาวของเขาต่างออกไปเวลาเธอตีเขาก็ไม่ได้ และเมื่อเขาบอกว่าเขาไม่ได้ตีน้องจริง ๆ คุณก็ต้องให้โอกาสเขาได้อธิบาย คุณจะลงโทษเขาอย่างไรก็มีความสำคัญไม่แพ้กับบทลงโทษ”  อย่างไรก็ดี การปกครองบ้านเมืองในระดับที่ใหญ่ขึ้นไปผู้ปกครองที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้อยู่ใต้ปกครอง และยิ่งหากผู้ปกครองเห็นผู้อยู่ใต้ปกครองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง “เป็นอื่น” ความเห็นอกเห็นใจจึงยิ่งไม่มี และหวังจะใช้ความหวาดกลัวอย่างเดียวในการปกครอง โดยกำหนด “ผลเสีย” ไว้สูงสุดเพื่อครอบงำไม่ให้คนกลุ่มนั้น ๆ เกิดความกระด้างกระเดื่อง และละเลยหลักการแห่งความชอบธรรม เมื่อคนกลุ่มหนึ่งถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเสมอมา เช่นคนดำในสหรัฐฯ ที่ถูกกดขี่และเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างรุนแรง และโดยระบบ รัฐก็พร้อมจะเป็นอาวุธให้คนขาวใช้ทำลายคนดำได้เสมอ เช่นกรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ และก่อนหน้านี้ไม่นาน เอมี คูเปอร์ หญิงผิวขาวที่แจ้งความเท็จกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ถูกชาวแอฟริกันอเมริกันคุกคามในสวนสาธารณะ เพราะเธอรู้ว่า ระบบมีอคติกับคนดำและพร้อมจะรับฟังข้ออ้างเท็จของเธอ มันจึงเกิดคำถามกลับมาว่า ประชาชนที่ถูกละเมิดสัญญาทุกวัน จะรักษาสัญญานั้นต่อไปเพื่ออะไร?  การประท้วงจึงมีสาเหตุมาจากการที่รัฐนั้นไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาประชาคม และรัฐที่มีแนวโน้มที่จะไม่ฟังเสียงของประชาชนก็จำเป็นต้องกำหนดโทษสูง และจำกัดการแสดงออกถึงการต่อต้านอำนาจรัฐให้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่จำกัดการรวมกลุ่ม หรือขอบข่ายเนื้อหาที่คนจะพูดได้ในที่สาธารณะ อย่างในประเทศไทย มีการประท้วงด้วยการยิงเลเซอร์เพื่อรำลึกถึงเหตุความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนในช่วงเดือนพฤษภาคม 2010 (พ.ศ. 2553) และ 1992 (พ.ศ. 2535) ก็มีความพยายามที่จะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ละเมิดต่อกฎหมายให้ได้ แม้ว่าโดยผลของการกระทำมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของผู้ใด  ขณะที่ในสหรัฐฯ การประท้วงมีระดับความรุนแรงที่สูงกว่ามาก และบางกรณีก็มีการละเมิดทรัพย์สินของทั้งภาครัฐและเอกชน จนทำให้ผู้นำสูงสุดออกมาขู่ว่า "มีปล้นเมื่อไหร่ มียิงเมื่อนั้น" แต่คำขู่นั้นก็ไม่ได้ผล เพราะประชาชนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า ในเมื่อรัฐไม่รักษาสัญญา แล้วพวกเขาจะรักษาสัญญาไปเพื่ออะไร? ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาโดยย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการเป็นสังคมและการยอมรับอำนาจการปกครองของรัฐ  แน่นอนว่า การใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่เลวร้ายและสมควรถูกประณาม แต่ในขณะเดียวกัน รัฐก็จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่า สมาชิกในสังคมนั้นมีสิทธิมีเสียงพอกัน ไม่บังคับใช้อำนาจตามอำเภอใจ และต้องปฏิบัติต่อสมาชิกในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน เพราะการใช้แต่ความกลัวอย่างเดียวอาจจะกดคนไว้ได้ในระดับหนึ่งจนกระทั่งคนทนไม่ไหวและก่อให้เกิดจลาจลครั้งใหญ่ซึ่งมีให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์