วิลเลียม ซี โรเจอร์ ที่ 3 กัปตันผู้สั่งยิงเครื่องบินพลเรือนอิหร่าน สังหาร 290 ศพ

วิลเลียม ซี โรเจอร์ ที่ 3 กัปตันผู้สั่งยิงเครื่องบินพลเรือนอิหร่าน สังหาร 290 ศพ
เวลา 10.17 นาฬิกา ของวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1988 ตามเวลาท้องถิ่น เครื่องบินแอร์บัส รุ่น เอ300 ของสายการบินอิหร่าน เที่ยวบินที่ 655 ได้ออกเดินทางจากท่าอากาศยานในเมืองบันดาร์อับบาส นำผู้โดยสารและลูกเรือรวม 290 คน มุ่งหน้าไปยังสนามบินดูไบ เป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปเพียง 28 นาที  แต่เพียงประมาณ 7 นาที หลังเครื่องทะยานขึ้นจากรันเวย์ มันก็ถูกยิงตกโดยเรือรบวินเซนส์ (Vincennes) เรือรบติดตั้งขีปนาวุธที่ล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้น ซึ่งมี วิลเลียม ซี โรเจอร์ ที่ 3 (William C. Roger III) เป็นกัปตัน ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดเสียชีวิต โดยทางนายทหารเรืออเมริกันให้เหตุผลที่ทำเช่นนั้นว่า พวกเขารู้สึกได้ถึงภยันตรายอันใกล้จะถึงจากเครื่องบินโดยสารลำดังกล่าว  และหลังจากนั้นราวหนึ่งปี โรเจอร์ก็ได้รับเหรียญตราเกียรติยศชั้น Legion of Merit ซึ่งถือเป็นเหรียญชั้นสูงสุดลำดับที่ 2 ของกองทัพที่มอบในช่วงนอกภาวะสงคราม ปี 1988 แม้สหรัฐฯ จะตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับอิหร่านมานานแล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังมิได้ประกาศสงครามต่อกัน (เหมือนเช่นต้นปี 2020 ที่จู่ ๆ สหรัฐฯ ก็ส่งโดรนไปลอบสังหารผู้นำหน่วยรบคุดส์ของอิหร่าน แต่ก็มิได้ประกาศสงครามเพื่อทำสงครามเต็มรูปแบบ) เหตุผลสำคัญก็เนื่องจากหลังการปฏิวัติอิสลาม อิหร่านไม่ยอมเป็นลูกไล่ให้กับสหรัฐฯ อีกต่อไป และต้องการดำเนินนโยบายของตนอย่างอิสระ  ต่างจากสมัยรัฐบาลชาห์ปาห์ลาวีที่อิหร่านยอมทำตามระเบียบโลก (ซึ่งสหรัฐฯ และมหาอำนาจตะวันตกผลักดัน) และการมีทรัพยากรล้ำค่าอย่างน้ำมันอยู่มาก สหรัฐฯ จึงถือว่าอิหร่านในยุคชาห์เป็นพันธมิตรสำคัญ และยอมขาย F-14 เครื่องบินขับไล่ล้ำยุค (ช่วงทศวรรษ 1970s) ให้ไปใช้งานถึง 80 ลำ ซึ่งถือเป็นครั้งเดียวที่สหรัฐฯ ขายเครื่องบินรุ่นนี้ให้กับต่างชาติ แต่เมื่ออิหร่านเป็นอิสระจากการครอบงำของตะวันตก อิรักเพื่อนบ้านด้วยกังวลว่าอิหร่านที่เป็นชีอะห์จะไปสนับสนุนชาวชีอะห์ในประเทศตนให้แข็งข้อ ประกอบกับความหวังที่โกยทรัพยากรจากอิหร่านในช่วงที่อิหร่านใหม่กำลังตั้งตัว จึงฉวยโอกาสรุกรานโดยได้รับสปอนเซอร์ในรูปแบบต่าง ๆ จากหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ที่บาดหมางกับอิหร่านใหม่ตั้งแต่ต้น  (การบุกจับตัวประกันในสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน เกิดขึ้นปีเดียวกันกับการปฏิวัติอิสลาม [1979] เนื่องจากผู้ประท้วงไม่พอใจที่สหรัฐฯ ไม่ยอมส่งตัวชาห์ปาห์ลาวีมาดำเนินคดีกดขี่ประชาชน) เมื่อสงครามระหว่างอิหร่านกับอิรักดำเนินไป สหรัฐฯ ก็คอยให้กำลังใจอิรักอยู่ใกล้ ๆ โดยได้ส่งเรือรบเข้ามาประจำการในอ่าวเปอร์เซีย โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของบรรดาเรือขนส่งน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงเรือรบวินเซนส์ของโรเจอร์ ตามรายงานการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า หนึ่งวันก่อนเกิดโศกนาฏกรรม เรือรบมอนต์โกเมอรีพบเรือปืนของอิหร่านเข้าคุกคามเรือสินค้าของปากีสถานบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ เมื่อได้รับการร้องขอให้เข้าไปคุ้มครองจึงได้ยิงปืนขู่ใส่เรือปืนของอิหร่าน  ต่อมาในเช้าวันเกิดเหตุ (3 กรกฎาคม 1988) จำนวนเรือปืนของอิหร่านได้เพิ่มขึ้นเป็น 13 ลำ ทำให้เรือมอนโกเมอรีขอกำลังเสริมมาเพิ่ม เรือวินเซนส์จึงถูกส่งเข้ามาในพื้นที่เพื่อให้การสนับสนุน เมื่อเห็นว่าเรือปืนของอิหร่านจำนวนหนึ่งพุ่งเข้าหาในเชิงท้าทาย เรือรบทั้งสองของสหรัฐฯ ก็ได้รับอนุญาตให้เข้าเผชิญหน้า ระหว่างที่เรือรบใหญ่สองลำของสหรัฐฯ กับเรือปืนขนาดเล็กของอิหร่านกำลังไล่ล่ายิงปืนใส่กันอยู่นั้น เครื่องบินของสายการบินอิหร่าน เที่ยวบินที่ 655 ก็กำลังเทกออฟพอดิบพอดี  ทางกลาโหมสหรัฐฯ บอกว่า สนามบินบันดาร์อับบาสของอิหร่านนั้น เป็นสนามบินร่วมที่ใช้ทั้งในเชิงพาณิชย์กับการทหาร และปรากฏว่าเคยถูกใช้เป็นฐานบินให้กับเครื่องบิน F-14 ของกองทัพอากาศอิหร่านด้วย ประกอบกับเที่ยวบิน 655 ขึ้นบินช้ากว่ากำหนดการไป 27 นาที แม้ว่าเครื่องลำดังกล่าวจะบินในเส้นทางการบินพาณิชย์ตามปกติ แต่เมื่อหัวหน้าทีมระบุชนิดอากาศยานตรวจจับสัญญาณอ่านค่าสัญญาณแล้วไปตีความว่า เที่ยวบิน 655 เป็นเครื่อง F-14 เครื่องบินพลเรือนของอิหร่านเป็นเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง บวกกับการติดต่อไปยังเครื่องบินอีกฝ่ายไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้กัปตันโรเจอร์ต้องตัดสินใจตอบโต้ในทันที (ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่อื่นแย้งว่า สัญญาณที่ตรวจจับได้อาจเป็นเครื่องบินพาณิชย์ แต่ความเห็นของเขาไม่ได้รับการตรวจสอบซ้ำให้แน่ใจ) "ภายใต้สถานการณ์ตามที่ปรากฏในวันที่ 3 กรกฎาคม กัปตันโรเจอร์ และเจ้าหน้าที่ยุทธการระดับสูงล้วนปฏิบัติหน้าที่อย่างสมควรแก่เหตุ โดยได้อาศัยข้อมูลที่ได้จากหน่วยยุทธการ ซึ่งไม่เพียงแต่สมควรแก่เหตุเท่านั้น หากยังเป็นสิ่งจำเป็นภายใต้ภาวะกดดันอย่างสูง เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังถูกฝึกเข้าเป็นหน่วยเดียวกันและทำงานอย่างเป็นหนึ่งเดียวไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ในภาวะการต่อสู้ที่กำลังเดือดพล่านเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำการตรวจสอบซ้ำทุกข้อมูลที่ได้รับรายงาน เจ้าหน้าที่ผู้บังคับบัญชากับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังระดับสูงจำต้องพึ่งพาผู้ใต้บังคับบัญชา นี่มิได้ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ของวินเซนส์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะว่ามันไม่ใช่ ผลการสอบสวนที่ได้ทำให้เห็นชัดเจนว่า มีความผิดพลาดเกิดขึ้น มีบทเรียนมากมายให้เรียนรู้ แต่มิได้จำเป็นว่าจะต้องมีผู้ต้องรับผิด" วิลเลียม เจ. โครว์ เจอาร์. (William J. Crowe Jr.) ประธานคณะเสนาธิการร่วมแห่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ลงความเห็นในรายงานการสอบสวนกรณีเรือรบวินเซนส์ยิงเครื่องบินพลเรือนของอิหร่าน ลงวันที่ 18 สิงหาคม 1988 ชี้ชัดว่า แม้จะมีความผิดพลาด แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ “ไม่ผิด” พร้อมโบ้ยความรับผิดไปยังอิหร่านโดยกล่าวว่า  "อิหร่านต้องร่วมรับผิดกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า การเผชิญหน้าบนผิวน้ำนั้นเริ่มต้นขึ้นโดยฝ่ายอิหร่าน ผมเชื่อว่าการกระทำของอิหร่านคือเหตุใกล้ชิดอันนำไปสู่อุบัติเหตุ และผมต้องขอกล่าวว่า อิหร่านต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักกับโศกนาฏกรรมคราวนี้" และราวหนึ่งปีหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กัปตันโรเจอร์ก็ได้รับการประดับเหรียญ Legion of Merit ซึ่งจากรายงานของ Washington Post ในการแจกเหรียญเกียรติยศครั้งนี้ ประกาศของกองทัพเรือระบุว่า  "ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมอบเหรียญ Legion of Merit" เหรียญเกียรติยศซึ่งมีลำดับชั้นสูงสุดเป็นลำดับที่ 2 ที่มอบในภาวะสันติ "สำหรับการปฏิบัติหน้าที่อย่างโดดเด่นน่ายกย่องในฐานะผู้บังคับบัญชา...ระหว่าง เมษายน 1987 ถึง พฤษภาคม 1989"   พร้อมอ้างถึงเหตุการณ์ที่กัปตันโรเจอร์เป็นผู้นำในการรับมือกับเรือปืนของอิหร่าน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนหน้าใกล้ชิดกับการยิงเที่ยวบิน 655 โดยได้ยกย่องว่า เหตุการณ์นั้นแสดงถึงความเป็นผู้นำอันแคล่วคล่อง สามารถตัดสินใจอย่างเหมาะสม และการทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่กัปตันโรเจอร์ออกคำสั่งยิงเที่ยวบิน 655 ทำให้พลเรือน 290 รายต้องเสียชีวิตแต่อย่างใด อีกด้านหนึ่ง รายงานการสอบสวนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กลับแสดงให้เห็นว่า อุบัติเหตุเกิดจากความบกพร่องของเรือรบสหรัฐฯ เป็นสำคัญ (แม้ว่าในรายงานจะไม่กล่าวเช่นนั้นตรง ๆ) เนื่องจากเรือรบอเมริกันมิได้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับมอนิเตอร์คลื่นวิทยุที่ใช้ในการควบคุมการจราจรทางอากาศของฝ่ายการบินพลเรือน จึงทำให้การสื่อสารของทั้งสองฝ่ายเกิดปัญหา ดังที่รายงานการสอบสวนของสหรัฐฯ อ้างว่า ได้พยายามติดต่อกับอากาศยานของอีกฝ่ายแล้วหลายครั้งแต่ไม่มีการตอบรับกลับมาเลย แต่ทางรายงานของ ICAO ชี้ว่า จากการประกาศเตือนทั้งหมด 11 ครั้งจากเรือรบสหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 5 นาที ก่อนที่เรือรบวินเซนส์จะยิงขีปนาวุธนั้น มีอยู่ 7 ครั้ง ที่ประกาศออกไป แต่ทางเที่ยวบิน 655 ไม่สามารถรับรู้ได้เลย เพราะมันถูกสื่อสารผ่านช่องสัญญาณทางทหาร ส่วนอีก 4 ครั้งเป็นการสื่อสารผ่านช่องสัญญาณแจ้งเหตุทุกขภัยของการบินพลเรือนระหว่างประเทศ แต่มีเพียงแค่ครั้งเดียวที่ทางเที่ยวบิน 655 จะได้รับสัญญาณที่ชัดเจนเพียงพอและรับรู้ได้ทันที ซึ่งก็มิได้มาจากเรือรบวินเซนส์ แต่เป็นเรือรบไซด์ส (Sides) ที่อยู่ใกล้เคียง แต่นั่นก็เป็นเวลาเพียง 39 วินาทีเท่านั้น ก่อนที่เรือรบวินเซนส์จะยิงขีปนาวุธเข้าใส่ (The New York Times) นอกจากนี้ รายงานการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังถูกมองว่าพยายามปิดบังความจริงบางประการ เพราะเจ้าหน้าที่สอบสวนไม่ยอมสัมภาษณ์พยานที่อยู่ใกล้เคียงในเหตุการณ์คราวนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เดวิด อาร์. คาร์ลสัน (David R. Carlson) ผู้บังคับบัญชาเรือรบไซด์ส ซึ่งเขาและลูกเรือชี้ว่าเที่ยวบิน 655 คือเครื่องบินพาณิชย์ ไม่ใช่ F-14 อย่างที่เรือวินเซนส์อ้าง  คาร์ลสันยังได้เขียนลงใน U.S. Naval Institute Proceedings นิตยสารว่าด้วยเรื่องราวของกองทัพเรือสหรัฐฯ ฉบับเดือนกันยายน 1989 ด้วยว่า เรือรบวินเซนส์ได้รับฉายาว่า "robo-cruiser" เนื่องจากพฤติกรรมที่ก้าวร้าวเกินเหตุ และน่าจะเป็นฝ่ายที่ท้าทายให้เกิดการต่อสู้กับเรือปืนของอิหร่านก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุโศกนาฏกรรม "หลังจากได้ดูการทำงานของเรือรบวินเซนส์มาได้สัก 1 เดือนก่อนเกิดเหตุ ภาพที่ผมเห็นก็คือ บรรยากาศของการยับยั้งตัวเองไม่ใช่คุณสมบัติของพวกเขา" คาร์ลสันกล่าว ก่อนเสริมว่า "ผมเดาว่า ลูกเรือของวินเซนส์คงคิดว่าพวกเขาต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ระบบ Aegis (ระบบต่อต้านอากาศยานที่มีเทคโนโลยีสุดซับซ้อนของเรือรบลำดังกล่าว) ในอ่าวเปอร์เซีย และพวกเขาก็ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะมีโอกาสได้โชว์ของของตัวเอง" ไม่เพียงเท่านั้น รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในน่านน้ำสากล แต่ความจริงแล้ว มันเกิดขึ้นในน่านน้ำของอิหร่าน อีกทั้งก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุหลายชั่วโมง กัปตันโรเจอร์ของเรือวินเซนส์ก็ได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือก่อนแล้ว (Britannica)   ฝ่าย จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหลังเกิดเหตุได้ไม่นาน ยังกล่าวว่า “ผมจะไม่ขอโทษในนามของสหรัฐฯ ผมไม่สนว่า ข้อเท็จจริงมันจะเป็นอย่างไร...ผมไม่ใช่คนจำพวกที่จะมาขอโทษแทนสหรัฐฯ” (Time, 12 Sep 1989) เหตุการณ์นี้ ทำให้อิหร่านเกิดกลัวว่า สหรัฐฯ จะเข้าร่วมสงครามเต็มตัว จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การเจรจาสงบศึกกับอิรัก ขณะเดียวกันอิหร่านก็ยื่นฟ้องสหรัฐฯ ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ก่อนที่สหรัฐฯ จะขอยอมความในปี 1996 โดยตกลงที่จะจ่ายค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นจำนวน 61.8 ล้านดอลลาร์ พร้อมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ทั้งนี้ ต้นปี 1989 หลังเหตุการณ์สั่งยิงเครื่องบินพลเรือนของอิหร่านได้ราว 9 เดือน รถมินิแวนของภรรยากัปตันโรเจอร์ถูกวางระเบิด แต่เธอไม่ได้รับอันตราย เบื้องต้นเอฟบีไอตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นการก่อการร้าย แต่ก็ไม่สามารถหาหลังฐานยืนยันได้ว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน และยังหาผลสรุปทางคดีไม่ได้ - The New York Times)