วิลเลียม คัมแควมบ้า เด็กชายผู้สร้างกังหันลมจากขยะให้น้องสาวได้อ่านหนังสือตอนกลางคืน

วิลเลียม คัมแควมบ้า เด็กชายผู้สร้างกังหันลมจากขยะให้น้องสาวได้อ่านหนังสือตอนกลางคืน

วิลเลียม คัมแควมบ้า เด็กชายผู้สร้างกังหันลมจากขยะให้น้องสาวได้อ่านหนังสือตอนกลางคืน

"ตอนที่เหลือข้าวโพดอยู่กำสุดท้าย แม่ผมตัดสินใจเอาไปบดเป็นแป้งทำเป็นเค้กไปขาย เพราะหวังว่าจะมีเงินเลี้ยงครอบครัวให้รอดไปจนถึงฤดูเพาะปลูกปีหน้า ที่ตอนนั้นราคาข้าวโพดน่าจะถูกลงกว่านี้ แต่โชคร้ายที่ไม่เป็นเช่นนั้น ข้าวโพดไม่ต่ำลงแถมยังแพงขึ้นเรื่อย ๆ” แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ของสาธารณรัฐมาลาวี ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา จะมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าที่มีภูมิอากาศแบบเขตร้อนชื้นทุ่งหญ้า แต่ในปี 2001 ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีส่วนทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล จนเกิดสภาวะการขาดแคลนอาหารอย่างกว้างขวางขึ้นในมาลาวี เพราะประชาชนกว่า 80% เป็นเกษตรกรที่เพาะปลูกโดยการพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง มันหวาน ถ้าเหลือจากการใช้บริโภคเองจะนำไปขายเพื่อหาเงินมาซื้อวัตถุดิบในการเพาะปลูกครั้งต่อไป พอฝนไม่ตก ผลผลิตที่ควรจะงอกงามมาเป็นอาหารเลี้ยงปากท้องของคนเกือบ 20 ล้านคนก็แห้งตายไปพร้อมกับผืนดินที่แตกระแหง แถมราคาข้าวโพดที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแทนซาเนีย ก็มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากต้นทุนการขนส่งทางไกล และการโกงราคาจากพ่อค้าคนกลาง ครอบครัวของ วิลเลียม คัมแควมบ้า (William Kamkwamba) ที่อาศัยอยู่ในเมืองคาซังกู ก็เป็นหนึ่งในคนกว่า 20 ล้านคน ที่ต้องอดอยากเพราะเหตุการณ์ในครั้งนั้น “ตอนนั้นผมจ้องมองพ่อ พร้อมพืชผลแห้งกรอบบนผืนดินแห้งผาก ผมตัดสินใจว่าในอนาคตจะต้องไม่เป็นอย่างนั้น ผมไม่อยากทำไร่ทำสวน ไม่ใช่เพราะเกลียดการทำการปลูกผักนะ แต่หลายคนในประเทศนี้มาเป็นเกษตรกรเพราะความจำยอมที่บีบบังคับให้ทำได้แค่จับจอบไถ พรวนดิน หว่านเมล็ดพืช รอฟ้าฝน แล้วก็เก็บเกี่ยว เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ผมอยากออกจากวงจรนั้น ซึ่งสิ่งที่ช่วยได้คือการศึกษา” วิลเลียม คัมแควมบ้า เด็กชายผู้สร้างกังหันลมจากขยะให้น้องสาวได้อ่านหนังสือตอนกลางคืน น่าเสียดายที่ความอดอยากไม่นำพามาแค่เพียงความหิวโหย แต่ยังพรากโอกาสทางการศึกษาไปจาก วิลเลียม ที่น่าจะสนใจการเรียนมากที่สุดในบรรดาพี่น้องทั้ง 7 คนของเขาที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด ด้วยระบบการศึกษาในมาลาวี โรงเรียนประถมของรัฐเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนในชั้นมัธยมศึกษาจำเป็นต้องจ่ายค่าเทอม เมื่อครอบครัวเขาไม่มีผลผลิตไปขาย ก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมกับทางโรงเรียน ทำให้วิลเลียมต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ในขณะที่เด็กคนอื่น ๆ ถ้าให้ออกจากโรงเรียน ส่วนใหญ่ก็จะมาเป็นเกษตรกรช่วยงานที่บ้าน แต่ไม่ใช่สำหรับเด็กผู้ชายวัย 14 ปีคนนี้ที่มีความฝันใหญ่กว่านั้น แม้จะไม่ได้เข้าห้องเรียนเพื่อหาความรู้เหมือนเดิม แต่ความจริงแล้วข้างนอกห้องเรียนที่กว้างใหญ่ มีความรู้มากมายรออยู่ อย่างห้องสมุดชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่มีองค์กรการกุศลมาสร้างไว้ ซึ่งข้างในมีหนังสือที่ได้รับบริจาคจำนวนหนึ่ง “ห้องสมุดนั้นเล็ก ๆ แล้วก็มีหนังสือไม่เยอะ ผมเลยตัดสินใจอ่านหนังสือทั้งหมดที่มีอยู่ในนั้น โดยหวังว่าพ่อแม่จะหาเงินได้มากพอที่จะส่งผมกลับเข้าเรียน ผมจะได้เรียนตามเพื่อนทัน ผมไม่อยากถูกเพื่อนที่ได้เรียนทิ้งห่าง เลยถามเพื่อนตลอดว่าตอนนี้เรียนถึงไหน แล้ววิ่งไปที่ห้องสมุดเพื่อหาหนังสือที่เกี่ยวข้องมาอ่านไปพร้อมกัน บางทีเพื่อนก็เอาเนื้อหาที่จดตอนเรียนไว้มาให้ผมอ่านด้วย” เมื่อได้อ่านหนังสือหลายหมวดหมู่ที่อยู่ในห้องสมุด วิลเลียมก็เริ่มค้นพบว่าตัวเองชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และมีความกระหายอยากรู้การทำงานของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ตอนนั้นเขาอ่านภาษาอังกฤษยังไม่คล่อง เลยใช้วิธีดูแผนภูมิและภาพประกอบในหนังสือไปพร้อมกับเดาเนื้อหาที่ไม่เข้าใจ บางคำที่อ่านไม่ออกจริง ๆ ก็ถามบรรณารักษ์ให้ช่วยอธิบายความหมายของคำต่าง ๆ ให้ฟัง “วันหนึ่งผมเจอหนังสือเล่มที่เปลี่ยนโลกของผมไปตลอดกาล นั่นคือหนังสือที่เกี่ยวกับการใช้พลังงาน ซึ่งหน้าปกเป็นรูปกังหันลม เนื้อหาข้างในเขียนว่า กังหันลมสามารถใช้ปั่นเครื่องสูบน้ำและให้กำเนิดกระแสไฟฟ้าได้ คำว่าใช้สูบน้ำ ทำให้ผมสนใจมาก เพราะนั่นเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ผมกำลังต้องการอยู่พอดี เพราะถ้าสูบน้ำได้ ก็สามารถเพาะปลูกได้หลายครั้งต่อปี ถ้าเพาะปลูกได้ก็หมายถึงมีผลผลิตมากขึ้น พอผลผลิตมากขึ้น ก็มีเงินเยอะขึ้น แล้วผมก็จะได้กลับไปเรียนอีกครั้ง” ปัญหาก็คือ จะเอาเงินจากไหนมาทำกังหันลม? เมื่อซื้อวัสดุมาทำกังหันลมไม่ได้ วิลเลียมเลยหาของฟรีจากกองขยะข้างโรงเรียน เพราะก่อนหน้าที่จะมีโรงเรียน ที่ตรงนั้นเคยเป็นโรงงานทำพรมมาก่อน เมื่อโรงงานปิดตัวลงก็บริจาคที่ให้สร้างโรงเรียน ที่นั่นมีชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องยนต์เครื่องจักรที่ถูกทิ้งมากมาย โชคดีที่มีบางชิ้นที่นำมาเป็นส่วนประกอบกังหันลมของวิลเลียมได้ด้วย “ผมไม่รู้ว่าตอนไปคุ้ยกองขยะ คนอื่นจะมองภาพของผมยังไง คนที่เห็นอาจจะหัวเราะเยาะว่าผมบ้าที่ทำอะไรแบบนี้อยู่ก็ได้ บางคนอาจคิดว่าผมปุ๊นมาแหง ๆ ถึงเป็นแบบนี้ แม่ยังบอกเลยว่าถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ หาเมียไม่ได้แน่ เพราะไม่มีใครอยากแต่งงานกับคนบ้า ผมเข้าใจว่าทำไมหลายคนถึงคิดแบบนั้นตอนที่ผมบอกว่าจะสร้างกังหันลมขึ้นมา เพราะพวกเขาแทบไม่รู้เลยว่ากังหันลมคืออะไร แล้วเขาจะรู้ได้ยังไงว่าผมกำลังทำอะไร ตอนที่ขนชิ้นส่วนเหล่านั้นมากองไว้ในห้องจนทำให้เตียงเหมือนจมอยู่ในกองขยะ” วิลเลียม คัมแควมบ้า เด็กชายผู้สร้างกังหันลมจากขยะให้น้องสาวได้อ่านหนังสือตอนกลางคืน วิลเลียมใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการประกอบชิ้นส่วนหลายอย่างที่ได้จากซากรถแทร็กเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นใบพัดเครื่องยนต์ ตัวรับแรงกระแทก วิลเลียมนำท่อ PVC มาทำเป็นใบพัด แล้วประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกัน โดยมีล้อจักรยานที่มีไดนาโมเล็ก ๆ เป็นเครื่องปั่นไฟขนาด 12 วัตต์ ส่งไฟไปเก็บในแบตเตอรี่รถยนต์เก่า ๆ สิ่งที่ได้จากกังหันลมที่ทำจากเศษขยะและเสาจากไม้ยูคาลิปตัส ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัววิลเลียมเริ่มดีขึ้น อย่างน้อยพี่น้องของวิลเลียมก็มีไฟฟ้าสำหรับหลอดไฟดวงเล็ก ๆ 4 หลอด สำหรับอ่านหนังสือในตอนกลางคืน แทนการใช้ตะเกียงน้ำมันที่เต็มไปด้วยกลิ่นน้ำมันและสารพิษ เป็นสาเหตุให้พวกเขาไอและไม่สบายอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้หนูน้อยนักประดิษฐ์ยังได้ทำสวิตช์ไฟและเบรกเกอร์แบบ DIY เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร อันเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้อีกด้วย วิลเลียม คัมแควมบ้า เด็กชายผู้สร้างกังหันลมจากขยะให้น้องสาวได้อ่านหนังสือตอนกลางคืน หลังจากนั้น 9 เดือน วิลเลียมก็ทำกังหันลมอันที่สอง แถมเพิ่มแผงโซลาร์เซลล์เข้าไป เพื่อแปลงแสงอาทิตย์ที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือในประเทศมาลาวี ให้กลายเป็นพลังงานเพื่อทำให้ครอบครัวมีไฟส่องสว่างในยามค่ำคืน และมีไฟฟ้าสำหรับเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตรเป็นครั้งแรก “หลังจากสร้างกังหันลมสำเร็จ ผมได้กลับไปที่ห้องสมุดเล็ก ๆ แห่งนั้นบ่อยครั้ง เพื่อดูว่าหนังสือเล่มที่เปลี่ยนชีวิตของผมยังอยู่ในชั้นไหม จนบรรณารักษ์ถามว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงสำคัญกับผมมาก ผมได้บอกไปว่าหนังสือเล่มนี้ช่วยให้ผมทำอะไรได้บ้าง พอเธอได้ยินก็ทึ่งแล้วนำเรื่องของผมไปบอกคนอื่น ๆ ต่อ จนคนแห่กันมาดูกังหันลมของผมเป็นจำนวนมาก” วิลเลียม คัมแควมบ้า เด็กชายผู้สร้างกังหันลมจากขยะให้น้องสาวได้อ่านหนังสือตอนกลางคืน สื่อเริ่มตามมาดูกังหันลมของวิลเลียม แล้วหลังจากนั้นโลกก็รู้จักสิ่งประดิษฐ์พลิกชีวิตของเขามากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนประกอบของความสำเร็จของวิลเลียม นอกจากการแบ่งปันพลังจากธรรมชาติ ทั้งแสงแดด สายลม แล้ว ที่ขาดไม่ได้เลยคือความพยายามที่ไม่ยอมแพ้เพื่อทำให้ความฝันเป็นจริง แม้จะไม่ได้มีโอกาสมากมายเหมือนอย่างใครหลายคน "ผมแค่ลองทำ แล้วก็ทำได้จริง ๆ ความท้าทายตรงหน้าที่คอยขัดขวางไม่ให้เราไปถึงยังจุดหมาย มันเป็นบททดสอบที่เราต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้ อย่ายอมให้มันเป็นอุปสรรค คนที่ประสบความสำเร็จทุกคนต้องเคยผ่านจุดนี้มาแล้วทั้งนั้น แค่พวกเขาต่างไม่ยอมให้ปัญหานั้นมาขัดขวางได้ ผมอยากจะพูดกับคนที่ยากจนเหมือนกับผมว่า คนที่กำลังต่อสู้เพื่อทำความฝันให้เป็นจริงทั้งหลาย จงเชื่อในตนเองและศรัทธา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่ายอมแพ้ ขอพระเจ้าอวยพระพร” วิลเลียม คัมแควมบ้า เด็กชายผู้สร้างกังหันลมจากขยะให้น้องสาวได้อ่านหนังสือตอนกลางคืน หลังจากเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในเดือนกันยายน 2008 วิลเลียมก็ได้รับโอกาสให้เข้าเรียนต่อที่ African Academy ในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ และหลังจากจบในปี 2010 เขาได้เข้าเรียนต่อที่ Dartmouth College ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาพยายามส่งต่อโอกาสไปยังผู้อื่นต่อไปด้วยการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้มากที่สุด “ผมพยายามจะแบ่งปันประสบการณ์เรื่องราวของผมกับผู้คนทั่วโลกให้ได้มากที่สุด ไปให้ถึงคนที่อาจจะอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับที่ผมเคยเจอ เพื่อให้พวกเขาได้มีแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม หรือแก้ปัญหาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ผมฝันอยากแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนและโลกนี้ ด้วยการค้นคว้าแล้วเขียนวิธีการง่าย ๆ ให้เอาไปปรับใช้ได้เองทันที เพราะตอนทำกังหันลม ผมก็อ่านจากหนังสือในห้องสมุดที่บอกแค่วิธีทำง่าย ๆ” วิลเลียม คัมแควมบ้า เด็กชายผู้สร้างกังหันลมจากขยะให้น้องสาวได้อ่านหนังสือตอนกลางคืน เรื่องราวความพยายามของ วิลเลียม คัมแควมบ้า ถูกนำไปเขียนเป็นหนังสือชื่อ The Boy Who Harnessed The Wind ซึ่งล่าสุดได้สร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันที่กำลังฉายอยู่ทาง Netflix ผลงานการกำกับครั้งแรกของ ชิวีเทล เอจิโอโฟร์ (Chiwetel Ejiofor) นักแสดงมากฝีมือจาก ‘12 Years a Slave’ ที่ผันตัวมากำกับและแสดงนำในเรื่องนี้ด้วย “ผมหวังว่าเรื่องราวนี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็ก แต่เป็นทุกคนที่มีความฝันอยากเปลี่ยนแปลง ไม่ให้ล้มเลิกที่จะไขว่คว้าความฝันนั้น ลองใช้จินตนาการในการแก้ไขปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ถ้ายังกลัวความล้มเหลว ไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง ก็จะเชื่อไปเองว่าทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ไปเสียหมด” เด็กชายผู้สร้างกังหันลมจากขยะ ได้กล่าวไว้ วิลเลียม คัมแควมบ้า เด็กชายผู้สร้างกังหันลมจากขยะให้น้องสาวได้อ่านหนังสือตอนกลางคืน   ที่มา : https://williamkamkwamba.typepad.com https://www.ted.com https://www.youtube.com https://www.youtube.com https://www.youtube.com https://www.youtube.com