วิลเลียม แลมพอร์ต ชาวไอริชผู้เป็นต้นแบบหน้ากากโซโร

วิลเลียม แลมพอร์ต ชาวไอริชผู้เป็นต้นแบบหน้ากากโซโร

วิลเลียม แลมพอร์ต ชาวไอริชผู้เป็นต้นแบบหน้ากากโซโร

หน้ากากโซโร (Zorro) หรือแปลสเปนเป็นไทยได้ ว่า "ไอ้จิ้งจอก" (ไม่ได้จะหยาบคายแต่เป็นคำเรียกฮีโรอารมณ์เดียวกับ "ไอ้มดแดง") คืออัศวินนอกกฎหมายผู้คาดดวงตาด้วยผ้าสีดำ ใช้ดาบเป็นอาวุธและมีรอยฟันดาบตัว "Z" เป็นสัญลักษณ์ เขาต่อสู้เพื่อกำจัดคนพาลและปกป้องผู้บริสุทธิ์จากฝ่ายอธรรม เป็นตัวละครที่มาจากนิยายอเมริกันแต่งโดย จอห์นตัน แมคคัลลีย์ (Johnston McCulley) เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1919 ความนิยมในนิยายของแมคคัลลีย์ทำให้มันถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 1920 นำแสดงโดย ดักลาส แฟร์แบงก์ส (Douglas Fairbanks) หนึ่งในนักแสดงฮอลลีวูดที่ดังที่สุดในยุคนั้น และหนังเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม จนทำให้แมคคัลลีย์เขียนเรื่องของโซโรออกมาอีกกว่า 60 ตอน โดยตอนสุดท้ายเผยแพร่เมื่อปี 1959 หนึ่งปีหลังจากแมคคัลลีย์เสียชีวิต เรื่องของโซโรยังถูกนำมากลับมาทำใหม่ในฉบับภาพยนตร์อีกหลายครั้ง โดยยุคหลังสุดคือเมื่อปี 1998 ซึ่ง แอนโธนี ฮอปกินส์ รับบท ดอน ดิเอโก เดอ ลา เวกา หน้ากากโซโรคนเดิมในวัยชรา ผู้ฝึกฝน อเลฮันโดร มูเรียตา หัวขโมยซึ่งรับบทโดย อันโตนิโอ แบนเดอรัส ให้เป็นหน้ากากโซโรคนใหม่ และมันก็เป็นการกลับมาของหน้ากากโซโรที่ประสบความสำเร็จอย่างมากพร้อมได้รับคำชมมากมาย ก่อนมีภาคต่อกลับมาอีกครั้งในปี 2005 ตามท้องเรื่อง แมคคัลลีย์แต่งให้ ดอน ดิเอโก เดอ ลา เวกา เป็นชนชั้นสูงเชื้อสายสเปนที่เกิดในแคลิฟอร์เนีย ในยุคที่แคลิฟอร์เนียยังอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน แต่บุคคลหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละครตัวนี้ก็คือ วิลเลียม แลมพอร์ต (William Lamport) ชาวไอริชที่อพยพมาอยู่เม็กซิโกในช่วงศตวรรษที่ 17 หาใช่ชาวสเปนไม่ จากข้อมูลของ History Ireland แลมพอร์ตเกิดที่เว็กซ์ฟอร์ด (Wexford) เมื่อปี 1611 เป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวชนชั้นสูงในไอร์แลนด์ เขาเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนในลอนดอนก่อนไปก่อปัญหาสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ด้วยการไปแจกใบปลิวยกยอคาทอลิกในถิ่นคริสตจักรแองกลิคัน (ซึ่งตัดขาดกับคริสตจักรโรมันตั้งแต่สมัยกษัตริย์เฮนรีที่ 8) เขาเลยหนีเรียนไปเป็นโจรสลัด ก่อนไปตั้งหลักในสเปนถิ่นคาทอลิกโดยได้เข้าประจำการในกองทัพเชื้อสายไอริช และเปลี่ยนชื่อเป็น กิลเยน ลอมบาโด (Guillén Lombardo) และเขาก็เริ่มมีชื่อเสียงในฐานะนักดาบที่เก่งกาจและนักรักเจ้าเสน่ห์ ด้วยความที่แลมพอร์ตพูดได้หลายภาษา เขาจึงถูกทางการสเปนส่งตัวเป็นสายลับไปประจำอยู่ที่ "นิวสเปน" อาณานิคมของสเปนในทวีปอเมริกาเมื่อปี 1640 เพื่อจับตาดู  ดอน ดิเอโก โลเปซ ปาเชโก (Diego López Pacheco) อุปราชคนใหม่ที่ถูกต้องสงสัยในความภักดีเนื่องจากหลังเขารับตำแหน่งได้ไม่นาน ลูกพี่ลูกน้องของเขาก็กลายเป็นผู้นำปฏิวัติโปรตุเกสแยกตัวจากราชสำนักสเปน แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์จอห์นที่ 4 ประกอบกับช่วงเวลานั้นชาวบ้านในเม็กซิโกก็เริ่มแสดงอาการกระด้างกระเดื่องกับการปกครองของสเปน ทางการสเปนจึงยิ่งไม่วางใจกับสถานการณ์ในขณะนั้น แต่เมื่อแลมพอร์ตไปถึงเม็กซิโกได้เห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การปกครองที่เหลวแหลกฉ้อราษฎร์บังหลวง และการกดขี่ของศาลไต่สวนศรัทธา (Inquisition) แล้วก็ให้เห็นใจชาวบ้านที่ตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ในชั่วเวลาเดียวกันนั้นเขาก็ได้สร้างสายสัมพันธ์กับหญิงสาวทายาทเศรษฐีในเม็กซิโกซิตี แม้ตัวเองจะมีลูกและเมียโดยพฤตินัยอยู่เบื้องหลังที่สเปน ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายน 1642 ฮวน เดอ พาลาฟ็อกซ์ (Juan de Palafox) บิชอปแห่งปวยบลา (Puebla) และ "วิสิตาดอร์" (Visitador) เจ้าพนักงานสอบสวนใหญ่ “สายปฏิรูป” ก็ได้จับกุม ปาเชโก แล้วขึ้นดำรงตำแหน่งอุปราชเป็นการชั่วคราว ระหว่างช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย แลมพอร์ตได้วางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนถูกศาลไต่สวนศรัทธาจับกุมตัวกล่าวหาว่าเขาพยายามปลดปล่อยชนพื้นเมืองและทาสผิวดำเป็นอิสระ ทั้งเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มพ่อมดหมอผีของชนพื้นเมือง รวมถึงความพยายามที่จะตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเม็กซิโก ทำให้เขาถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยการเผาไฟ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากบิชอปพาลาฟ็อกซ์ โทษประหารของเขาจึงถูกชะลอออกไป ระหว่างที่ติดคุกอยู่ 7 ปี เขาได้กลายเป็นผู้นำของเหล่านักโทษ ก่อนหลบหนีจากที่คุมขังได้ในเดือนธันวาคม ปี 1650 แต่ยังคงหลบซ่อนตัวในเม็กซิโกซิตี ใช้เวลาในยามค่ำคืนออกมาติดประกาศประณามอาชญากรรมที่ก่อโดยบรรดานักบวชไต่สวนศรัทธา ไม่กี่วันจากนั้นเขาก็ถูกจับตัวได้อีกครั้ง คราวนี้เขาติดคุกอยู่ 9 ปี เมื่อพาลาฟ็อกซ์หมดอิทธิพลลงและย้ายกลับไปอยู่สเปนแล้ว แลมพอร์ตก็ไร้คนคุมหัว เขาถูกจับไปเผาทั้งเป็นในวันที่ 19 พฤศจิกายน 1659 แต่ก่อนที่จะมีการจุดเพลิงเผา กล่าวกันว่าแลมพอร์ตได้แอบใช้เชือกที่จับเขามัดกับหลักประหารรัดคอตัวเองตายไปเสียก่อน แต่แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตลง ชื่อเสียงของเขาก็ยังคงอยู่ในฐานะผู้ที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมเพื่อปกป้องคนไร้ทางสู้แม้จะต่างความเชื่อและเชื้อชาติ ทำให้แลมพอร์ตได้รับการยกย่องในหมู่ชนพื้นเมือง และคณะฟรานซิสกัน คณะนักบวชที่แลมพอร์ตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาตั้งแต่เด็ก The Irish Times กล่าวว่า เรื่องราวของแลมพอร์ตถูกนายพลเกษียณอายุชาวเม็กซิกันนำมาเล่าในแบบนิยายด้วยสไตล์ใกล้เคียงกับการผจญภัยของสามทหารเสือ โดย อาแล็กซ็องดร์ ดูว์มา (Alexandre Dumas) ในปี 1872 โดยให้ตัวเอกมีชื่อว่า "กิลเยน ลอมบาร์โด" ชื่อของแลมพอร์ตในภาษาสเปน และผู้เขียนซึ่งเป็นฟรีเมสันก็ได้นำเอาตัวอักษร "Z" มาใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงวิญญาณบริสุทธิ์ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ (divine spark เป็นความเชื่อที่ว่ามนุษย์ล้วนมีส่วนหนึ่งของพระเจ้าอยู่ในตัว) ก่อนที่ จอห์นสตัน แมคคัลลีย์ จะนำมาเรื่องราวของแลมพอร์ตมาดัดแปลงอีกครั้ง เปลี่ยนชื่อของตัวเอกเป็น ดิเอโก เดอ ลา เวกา บุรุษผู้อยู่เบื้องหลังหน้ากาก "โซโร"    ทั้งนี้ แลมพอร์ตน่าจะไม่ใช่แรงบันดาลใจเดียวที่ทำให้เกิดตัวละครตัวนี้ขึ้นมา บุคคลในประวัติศาสตร์อีกคนที่ถูกอ้างถึงมากอีกคนก็คือ โจอาควิน มูเรียตา (Joaquin Murrieta) นักขุดทองผู้รักความสงบ แต่ต้องออกมาแก้แค้นให้กับน้องชายที่ถูกประหารอย่างไม่เป็นธรรม และภรรยาสาวที่ถูกรุมโทรม เขาตามล่าชายทุกคนที่ย่ำยีคนรักและสังหารน้องชาย จนทางการแคลิฟอร์เนียต้องตั้งค่าหัวไว้สูงมากเพื่อล่าตัวเขา มูเรียตาจึงมีชื่อเสียงกระฉ่อนในช่วงตื่นทอง (1850s) และได้ชื่อว่าเป็นโรบินฮูดแห่งตะวันตก ซึ่งนั่นก็ทำให้ในหน้ากากโซโรยุคแบนเดอรัส แต่งเรื่องให้เขาเป็น "อเลฮันโดร มูเรียตา" เพื่อเชื่อมโยงถึงจอมโจรในตำนาน (แต่รากความเป็นชนชั้นสูง และการเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมืองนั้นคงมาจากแลมพอร์ตเป็นหลัก ไม่ได้มาจาก โจอาควิน มูเรียตา เป็นแน่)