วิลเลียม ทินเดล ผู้บัญญัติคำ “แพะรับบาป” ผู้กลายเป็นแพะเสียเอง

วิลเลียม ทินเดล ผู้บัญญัติคำ “แพะรับบาป” ผู้กลายเป็นแพะเสียเอง

วิลเลียม ทินเดล ผู้บัญญัติคำ “แพะรับบาป” ผู้กลายเป็นแพะเสียเอง

วิลเลียม ทินเดล (William Tyndale) ปัญญาชนอังกฤษ ผู้แปลพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาอังกฤษ และเป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการปฏิรูปศาสนาในยุคศตวรรษที่ 16 ซึ่งเขาต้องสละชีวิตของตัวเองเป็นเครื่องสังเวยต่อศรัทธาของตนที่มีต่อพระศาสนา  แม้เขาไม่ใช่คนแรกที่แปลไบเบิลเป็นภาษาอังกฤษ หากเป็น จอห์น ไวคลิฟฟ์ [John Wycliffe] กับศิษยานุศิษย์ซึ่งแปลไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 แต่งานของทินเดลคือรากฐานสำคัญของไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษในยุคต่อๆ มา ในแทบทุกวัฒนธรรมจะมีประเพณีสละเครื่อง “สังเวย” ให้กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ซึ่งเครื่องสังเวยนั้นอาจจะเป็นสิ่งของ สัตว์ หรือแม้กระทั่ง “คน” เพื่อเป็นการชำระหรือ “โยนบาป” ของบุคคลหรือกลุ่มสังคมไปลงแก่เครื่องสังเวยนั้น อย่างบ้านเราก็มีประเพณีลอยกระทง ซึ่งตามความเชื่อนอกจากจะเป็นการขอขมาเจ้าแม่คงคาแล้ว ผู้ถือปฏิบัติยังเชื่อกันว่า “กระทง” จะเป็นสิ่งที่นำพา “สิ่งไม่ดี” ไปจากผู้ลอยกระทงนั้นด้วย วัฒนธรรมอื่นๆ ก็มีประเพณีโยนบาปไปให้สิ่งอื่นเช่นกัน และวัฒนธรรมที่ทำให้คำว่า “แพะ” หมายถึงคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่แต่กลับต้องรับบาปของคนอื่นๆ ก็คือวัฒนธรรมยิว ในวัฒนธรรมยิว “แพะ” คือสัญลักษณะของการขจัดบาปของมนุษย์ไปให้กับแพะเคราะห์ร้ายโดยแพะสองตัวจะถูกเลือกเพื่อเป็นเครื่องสังเวยให้กับพระยาห์เวห์ และอีกตัวเพื่อเป็น "แพะรับบาป" โดยแพะรับบาปนี้จะถูกผูกเขาด้วยผ้าแดงแล้วนำไปทิ้งกลางทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ชาวยิวเชื่อกันว่า เมื่อผ้าแดงถูกแผดเผาจนกลายเป็นสีขาวบาปของชาวบ้านก็จะถูกชำระล้างไปด้วย และวิลเลียม ทินเดลก็ทำให้คำนี้เป็นที่รับรู้ในกลุ่มชาวคริสต์ที่ใช้ภาษาอังกฤษในฐานะผู้ใช้คำนี้ (scapegoat) เป็นคนแรกในไบเบิลฉบับแปลภาษาอังกฤษของเขา โดยแปลจากคำว่า "Azazel" ปรากฏอยู่ในหนังสือเลวีนิติบทที่ 16 จากพันธสัญญาเดิม ซึ่งเล่าถึงพิธีกรรมในวันลบมลทินบาปของชาวยิว (คำนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่ามีความหมายใดกันแน่ เพราะผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่าคำว่า Azazel แท้จริงคือชื่อเฉพาะของจอมปีศาจในปกรณัมยิว ทำให้ไบเบิลภาษาอังกฤษฉบับปรับปรุงหลายฉบับกลับไปใช้คำว่า Azazel แทนคำว่า scapegoat หมายถึงการสังเวยแพะตัวดังกล่าวให้กับจอมปีศาจ แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญที่ยืนยันว่า คำเดิมนั้นเหมาะแล้วเพราะคำว่า azazel มาจาก azal หมายถึงการเอาออกไป และการเติมเสียงซ้ำตอนท้ายในภาษาฮีบรูนั้นมีลักษณะเป็นการย้ำหรือการทำซ้ำซึ่งการกระทำดังกล่าว เมื่อคำนึงถึงบริบทของพิธีกรรมซึ่งแพะตัวนี้ต้องรับบาปของคนทั้งชุมชนก่อนนำไปทิ้งกลางทะเลทรายคำเดิมจึงน่าจะถูกต้องแล้ว - Online Etymology Dictionary) ทินเดลเกิดเมื่อราวปี ค.ศ. 1494 เขาได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ก่อนบวชเมื่อปี 1521 และเป็นหนึ่งในผู้นำในการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปศาสนจักร ด้วยความเชื่อที่ว่าหลักคำสอนและจารีตปฏิบัติของศาสนจักรนั้นจะต้องใช้ "ไบเบิล" เป็นบรรทัดฐาน และศาสนิกทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงไบเบิลได้ด้วยภาษาถิ่นของตน เพราะศาสนิกไม่อาจไว้ใจ "นักบวช" ได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นความคิดที่สอดคล้องกับมาร์ติน ลูเธอร์ และนักปฏิรูปศาสนาร่วมสมัยรายอื่นๆ เบื้องต้นทินเดลพยายามจะขอให้บิชอปแห่งลอนดอนช่วยสนับสนุนการแปลไบเบิลฉบับละติน (พันธสัญญาใหม่) ที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 4 เป็นภาษาอังกฤษ แต่เขาถูกปฏิเสธและขัดขวาง (ก่อนหน้านั้น ศาสนจักรเป็นผู้ผูกขาดการเข้าถึงพระคัมภีร์ทำให้ศาสนจักรเป็นผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในการชี้วัดว่าจารีตประเพณี หรือคำสอนใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่มีผู้ใดจะสามารถโต้แย้งได้ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ศาสนจักรจะเข้ามาขัดขวางการแปลไบเบิลเป็นภาษาท้องถิ่น) ด้วยความที่โบสถ์เป็นเจ้าของทรัพย์สินและที่ดินอย่างทั่วถึงทำให้เขาจนปัญญาจะหาโรงพิมพ์ที่ยอมพิมพ์งานของเขาได้ในอังกฤษ ทินเดลจึงตัดสินใจเดินทางไปยังเยอรมนีในปี 1524 เพื่อหาโรงพิมพ์ที่กล้าเสี่ยงพิมพ์งานแปลของเขา ด้วยความสนับสนุนจากพ่อค้าที่มั่งคั่งงานแปลพระคัมภีร์ฉบับพันธสัญญาใหม่ชุดแรกของเขาก็เป็นอันเสร็จสิ้นออกจากโรงพิมพ์ในโคโลญจน์ในเดือนกรกฎาคม 1525 หลังเสร็จจากพันธสัญญาใหม่เขาก็ไปซุ่มแปลพันธสัญญาเดิมโดยแปลจากคัมภีร์ภาษาฮีบรูโดยตรง เขาใช้ชีวิตอย่างสมถะและซ่อนตัวจากทางการ เพราะงานแปลของเขาสร้างศัตรูมากมาย ทั้งศาสนจักรที่เขาได้พิสูจน์ให้ศาสนิกทั่วไปเห็นว่า อำนาจของศาสนจักรไม่ได้มาจากพระคัมภีร์ และพระคัมภีร์ก็ไม่ได้กำหนดเรื่องอำนาจตามลำดับชั้นให้ใครมีอำนาจเหนือคนอื่น ทั้งยังปฏิเสธข้ออ้างของศาสนจักรที่บอกว่าศาสนจักรคือผู้สืบสิทธิในฐานะผู้นำทางความเชื่อของชาวคริสต์ต่อจากนักบุญปีเตอร์ รวมถึงฝ่ายอาณาจักรเนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกันนั้นได้เกิดจลาจลวุ่นวายไปทั่วยุโรป ทำให้เขาถูกประณามว่าเป็นพวกนอกรีตและเป็นผู้ปลุกปั่นชาวบ้านให้ต่อต้านอำนาจรัฐและศาสนจักร ทั้งเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดสงครามไพร่ในเยอรมนีซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7 หมื่นราย ซึ่งสงครามดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือของเขา (Campbell, Charlie. Scapegoat: a History of Blaming Other People. Overlook Duckworth, 2013. pp 32-35) หลังซ่อนตัวอยู่นานสุดท้ายทินเดลก็ถูกจับตัวได้ในแอนต์เวิร์ปเมื่อปี 1535 และถูกประหารในราวหนึ่งปีต่อมาด้วยการรัดคอก่อนนำไปเผาต่อหน้าฝูงชนที่เมืองวิลวูร์ด (Vilvoorde) ฐานประพฤตินอกรีตและก่อกบฏ (Britannica) มีการอ้างกันว่า ก่อนตายทินเดลได้กล่าวคำสั่งเสียสุดท้ายไว้ว่า "พระเจ้า, ได้โปรดเบิกเนตรกษัตริย์แห่งอังกฤษด้วยเถิด" ซึ่งหลังจากนั้นสามปี กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ซึ่งได้ตัดขาดกับคริสตจักรโรมันแล้วก็ได้นำงานของทินเดลมาตีพิมพ์ และแม้เขาจะยังแปลพันธสัญญาเดิมไม่เสร็จสิ้นก่อนตาย แต่คัมภีร์ไบเบิลฉบับกษัตริย์เจมส์ (1611) ก็ใช้งานของทินเดลเกินกว่าสามในสี่ทั้งในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ (ฺBBC History) ความตายของทินเดลจึงไม่ต่างกับการจับเขาเป็น "แพะ" โยนบาปให้ในฐานะผู้ก่อความวุ่นวายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในยุคนั้น แม้ว่าสิ่งที่เขาทำจะเป็นเพียงการยืนยันความเชื่อและหลักการที่ "จริงแท้" ตามหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรยิ่งกว่าศาสนจักรก็ตาม