หมีพูห์: หมีที่เข้าใจชีวิต ภาพสะท้อนของแนวคิดแบบเต๋า

หมีพูห์: หมีที่เข้าใจชีวิต ภาพสะท้อนของแนวคิดแบบเต๋า
หมีสีเหลืองสวมเสื้อตัวจ้อยกำลังหรี่ตามองโถอันว่างเปล่า เมื่อมันพบว่าน้ำผึ้งหมดเกลี้ยง จึงออกไปตามหาน้ำผึ้งโถใหม่ โดยไม่มีท่าทีหงุดหงิดหรืออารมณ์ขุ่นมัว เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับ ‘หมีพูห์’ จากวรรณกรรมของ ‘เอ. เอ. มิลน์’ (A. A. Milne) นักเขียนชาวอังกฤษ และลายเส้นการ์ตูนแสนละมุนของ ‘อี. เอช. เชพเพิร์ด’ (E. H. Shepard) แม้หมีพูห์จะดูเหมือนคนที่มีอาการสมาธิสั้น แต่เบนจามิน ฮอฟฟ์ นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของผลงาน ‘เต๋าแบบหมีพูห์’ (The Tao of Pooh) กลับมองว่า เจ้าหมีตัวนี้คือภาพแทนของ ‘หมีที่เข้าใจชีวิต’ โดยมีปรัชญาเต๋าแฝงเร้นอยู่ในเรื่องราวประจำวันของพูห์ (อิงจากหนังสือ Winnie-the-Pooh และ The House at Pooh Corner เป็นหลัก) ถ้าพูห์กำลังอ่านอยู่ มันคงขมวดคิ้ว พร้อมยกมือกลม ๆ สีเหลืองมาเคาะหัวเบา ๆ อย่างที่ทำเป็นประจำเวลาใช้ความคิด พร้อมกับบอกว่า เอ...ฉันใช้ชีวิตแบบลัทธิเต๋างั้นหรือ ?  หากกำลังสงสัยเช่นเดียวกับพูห์ เราอยากชวนมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้   รู้จักเต๋า หากพูดถึงแนวคิดแบบเต๋า คงไม่สามารถอธิบายด้วยทฤษฎีหรือบทบัญญัติที่ชัดเจน แต่มักจะเป็นเรื่องเล่าแฝงอารมณ์ขันเสียมากกว่า  ในหนังสือ ‘เต๋า : วิถีไร้เส้นทาง’ ที่เขียนโดย โอโช (Osho) ได้กล่าวถึง เลี่ยจื๊อ หนึ่งในปรมาจารย์เต๋าว่า “เขาไม่ใช่นักทฤษฎี เขาไม่มีทฤษฎีใด ๆ ให้ท่าน เขาเพียงแต่เล่าเรื่อง เล่านิทานให้ท่านฟังเท่านั้น” นี่อาจเป็นเหตุผลที่เบนจามิน ฮอฟฟ์ใช้หมีพูห์มาอธิบายคำสอนของเต๋าในหนังสือ ‘เต๋าแบบหมีพูห์’ โดยหมีตัวนี้นับเป็นตัวอย่างของวิถีแบบเต๋าที่รู้จักชื่นชม เรียนรู้ และจัดการสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน    หมีพูห์นั้นโง่เขลา ?  ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของเรื่องวินนี เดอะ พูห์ คือตัวเอกไม่ได้ฉลาดแบบอาวล์ หรือแรบบิต แต่กลับเป็นเจ้าหมีแสนซื่อที่คิดอะไรง่าย ๆ จนบางครั้งเราก็รู้สึกราวกับมันเป็นหมีแสนโง่เขลา แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง พูห์อาจเป็นตัวอย่างของคนที่มองชีวิตเรียบง่ายและมีความคิดที่ไม่ซับซ้อน แต่กลับแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไหลลื่นจนเหมือนคนที่ไม่ได้พยายามอะไร  หมีพูห์: หมีที่เข้าใจชีวิต ภาพสะท้อนของแนวคิดแบบเต๋า อย่างตอนที่ทุกคนหลงทาง นักคิดอย่างแรบบิตจะพยายามพูดตลอดว่า ‘เอาละ ฉันรู้ว่าตอนนี้เราหลงทาง’ ‘ต้องไปทางนี้แน่’ (แต่ก็วกกลับมาที่เดิมทุกที) พูห์จึงพูดขึ้นมาว่า “เราหาทางกลับบ้านมาตลอด แต่หาไม่พบ ฉันเลยคิดว่าถ้าหาหลุมนี้ เราต้องไม่พบมันแน่ ซึ่งก็คงจะดี เพราะเมื่อนั้นเราอาจจะพบอะไรบางอย่างที่ไม่ได้กำลังหาอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่จริง ๆ แล้ว เรากำลังหาอยู่พอดีก็ได้” และสุดท้ายทั้งหมดก็หาทางกลับบ้านได้ ด้วยวิธีแสนเรียบง่ายของพูห์ หรืออีกตอนหนึ่งที่รูตกลงไปในลำธาร อียอร์หย่อนหางลงไป เพื่อให้มีข้ออ้างว่าได้ทำอะไรสักอย่างแล้ว ส่วนพิกเล็ตก็ร้องโวยวาย แรบบิตมัวแต่ออกคำสั่งให้คนอื่นทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ แต่พูห์กลับมองสถานการณ์ตรงหน้า หันซ้ายหันขวา แล้วหยิบกิ่งไม้ยาว ๆ มาให้รูเกาะ  สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “หัวใจอันใสซื่อบริสุทธิ์ ไม่จำเป็นต้องโง่เสมอไป” พูห์คือตัวอย่างของคนที่มองโลกในแง่ดี ซึ่งไม่ใช่ ‘ความโลกสวย’ แต่เป็นการอยู่กับปัจจุบันแล้วมองหา ‘ความเป็นไปได้’ ที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างใสซื่อมากกว่าการแคร์สายตาของคนอื่นแบบอียอร์ มัววิตกกังวลแบบพิกเล็ต หรือพยายามออกคำสั่งแบบแรบบิต ถึงอย่างนั้นพูห์ก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่หรือเหนือกว่าใคร  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดแบบเต๋าที่ว่า  “ผู้ทรงปัญญาจะไม่พูดว่า ‘ฉันเป็นคน ฉันเหนือกว่าต้นไม้ ฉันเหนือกว่าสัตว์ ฉันเหนือกว่านก’...ผู้ทรงปัญญาได้มาถึงจุดที่รู้ว่า ‘ฉันไม่ได้เป็นเช่นนั้น’ และในประสบการณ์ของ ‘ฉันไม่ได้เป็น’ นั้น ความสุขก็จะไหลบ่าเข้าสู่ภายใน เพราะก้อนหินได้ถูกเคลื่อนย้ายออกไปแล้ว”   หมีพูห์: หมีที่เข้าใจชีวิต ภาพสะท้อนของแนวคิดแบบเต๋า   นอกจากนี้ เรื่องราวของพูห์ยังแสดงให้เห็นว่า ‘ความรู้’ ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต เห็นได้จากตอนที่อาวล์พยายามอวดและถามพูห์ว่าสามารถสะกด ‘พฤหัสบดี’ ได้ถูกต้องไหม ซึ่งแรบบิตได้พูดถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า “เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะต้องนับถือใครก็แล้วแต่ที่สามารถสะกดคำว่าพฤหัสบดีได้  ถึงแม้จะสะกดผิดก็เถอะ แต่การสะกดคำไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง มีบางวันที่การสะกดคำว่าพฤหัสบดีจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย” นั่นหมายความว่า แม้ความรู้จะมีประโยชน์สำหรับการคิดวิเคราะห์ แต่ชีวิตมีอะไรมากกว่านั้น บางคราวที่เราพยายามตั้งชื่อให้สรรพสิ่งต่าง ๆ อย่างนก ต้นไม้ ผีเสื้อ แต่กลับหลงลืมที่จะสดับเสียงธรรมชาติหรือรื่นรมย์กับความงามอย่างที่มันเป็นจริง ๆ เหมือนกับพูห์ที่มีความสุขกับการเอ่ยคำว่า “สุขสันต์วันพฤหัสฯ” ให้กับคนอื่น ๆ โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ‘พฤหัสบดี’ สะกดยังไง   ค้นหาตัวตนภายใน เข้าใจข้อจำกัดตนเอง ขนมเอยขนมครก  ‘เกิดเป็นนกไม่บินก็สิ้นท่า’ มีปัญหาลับสมองลองถามมา จะตอบว่าขนมครก ขนมครก   ขนมเอยขนมครก  ‘ปลาขึ้นบกก็ตายหงายอ้าซ่า’ มีปัญหาลับสมองลองถามมา จะตอบว่าขนมครก ขนมครก   เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของบทเพลงที่พูห์ร้องไว้ในหนังสือวินนี เดอะ พูห์ แม้จะฟังดูเป็นเรื่องแสนธรรมดาที่ใคร ๆ ก็เข้าใจได้ แต่หลายคราวในชีวิตเรามักจะ ‘หลงลืม’ และไม่ได้ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ จนเกิดความรู้สึกว่าบางสิ่งนั้นด้อยค่าและไร้ประโยชน์ ร้ายที่สุดคือการคิดแบบนั้นกับตัวเราเอง  มีตอนหนึ่งที่บ้านของอาวล์ถูกลมพัดและกิ่งไม้ขวางประตูอยู่จนเหลือเพียงช่องเล็ก ๆ เท่านั้น คนที่ออกมาจากช่องเล็ก ๆ นั้นได้มีเพียง ‘พิกเล็ต’ เจ้าหมูตัวจ้อยที่ความตัวเล็กเคยเป็นข้อด้อยของมัน หรือทิกเกอร์ที่ชอบเด้งไปมาจนชนอียอร์ตกน้ำ แต่เมื่อทุกคนหลงทาง ทิกเกอร์จะคอยนำทางเพื่อน ๆ ได้อย่างกล้าหาญ แม้เราจะมีข้อจำกัดแบบพิกเล็ต หรือนิสัยบางอย่างที่ต้องปรับแบบทิกเกอร์จอมเด้ง แต่เราไม่จำเป็นต้องสิ้นหวัง แม้กระทั่งการพยายามขับเคี่ยวผลักไสให้ข้อเสียนั้นหายไปทันที เพราะวิถีแบบเต๋า สิ่งแรกที่สำคัญคือการยอมรับข้อด้อยของตนเอง ก่อนจะจัดการอย่าง ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ อย่างที่เบนจามิน ฮอฟฟ์กล่าวว่า “เมื่อใดที่คุณยอมรับ เผชิญหน้า และเข้าใจข้อจำกัดต่าง ๆ ของตัวเอง คุณจะร่วมมือกับมัน แทนที่จะปล่อยให้มันเป็นภัยแก่คุณหรือคอยขัดขวางคุณ” “สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำคือต้องตระหนักและไว้ใจธรรมชาติภายในของเราเองเสียก่อน เราต้องไม่ยอมปล่อยให้มันคลาดสายตา เพราะในตัวลูกเป็ดขี้เหร่นั้นมีหงส์งาม ในตัวของทิกเกอร์จอมเด้งนั้นมีนักกู้ภัยผู้รู้จักเส้นทางเป็นอย่างดี และในตัวเราทุกคนล้วนมีสิ่งพิเศษซึ่งเราจำเป็นต้องรักษาไว้”   เคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติ การแก้ปัญหาด้วยวิธีแสนเรียบง่ายของหมีพูห์ อีกมุมหนึ่งยังสะท้อนถึง ‘ความพอดี’ และการดำเนินชีวิตที่ ‘สอดคล้องกับธรรมชาติ’  ครั้งหนึ่ง พูห์สามารถเปิดขวดโหลให้พิกเล็ตได้อย่างง่ายดาย เพื่อน ๆ เลยขอลองเปิดดูบ้าง แต่ปรากฏว่าอาหารในขวดโหลกลับหกกระจัดกระจายเต็มพื้น เพราะพวกเขา ‘ตั้งใจมากเกินไป’ เช่นเดียวกับหลายครั้งที่เราพยายามจนรู้สึกเกร็ง หรือหละหลวมมากไปจนทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้  อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ตอนที่พูห์เผลอกินน้ำผึ้งซึ่งตั้งใจจะใช้เป็นของขวัญวันเกิดอียอร์ สิ่งที่เหลือทิ้งไว้จึงมีเพียง ‘โถเปล่าหนึ่งใบ’ ส่วนพิกเล็ตเองก็ทำลูกโป่งแตกก่อนจะส่งถึงมืออียอร์  แทนที่พูห์จะรู้สึกเสียดาย เศร้า หรือเกิดอารมณ์ทางลบ เหมือนที่เจ้าพิกเล็ตที่กำลังนั่งสะอื้นอยู่ มันกลับพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า “ฉันเอาของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ มาให้นาย มันเป็น ‘โถที่มีประโยชน์’” จากนั้นอียอร์หยิบลูกโป่งใส่ใน ‘โถที่มีประโยชน์’ แล้วก็ใส่ได้พอดีกว่าตอนที่ลูกโป่งยังไม่แตก “ฉันดีใจมากที่คิดเอา ‘โถที่มีประโยชน์’ มาให้นายใส่ของ” พูห์กล่าว เมื่อได้ยินดังนั้น พิกเล็ตจึงหยุดร้องไห้ แล้วเปลี่ยนเป็นน้ำเสียงแสนสุขใจ “ฉันก็ดีใจมากที่คิดเอา ‘อะไรบางอย่าง’ มาให้นายใส่ใน ‘โถที่มีประโยชน์’” หมีพูห์: หมีที่เข้าใจชีวิต ภาพสะท้อนของแนวคิดแบบเต๋า สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนชีวิตแสนรื่นรมย์หากเรียบง่ายและอยู่กับปัจจุบันของหมีพูห์ แม้เรื่องราวจะเกิดขึ้นในป่าร้อยเอเคอร์ที่ต่างไปจากชีวิตจริงของเรา ถึงอย่างนั้น วิถีของเต๋าก็ไม่ได้จำกัดหรือขีดเส้นทางที่ชัดเจนว่าจะต้องเป็นเหมือนในหมีพูห์เท่านั้น เรื่องราวของหมีพูห์จึงเปรียบเสมือนหนึ่งในเรื่องเล่าที่ทำให้เราเข้าใจแนวคิดแบบเต๋ามากยิ่งขึ้น หากสุดท้ายก็ต้องหาวิถีในแบบของตนเอง อย่างที่โอโชเคยกล่าวไว้ว่า “ทางที่ว่านี้ไม่มีอยู่ในแผนที่...ไม่ใช่เรื่องที่ท่านสามารถเดินตามใครไปและจะหามันเจอได้...ดังนั้นวิถีทางนี้จึงเป็นวิถีที่ไร้เส้นทาง... ท่านจะต้องหามันให้เจอ และจะต้องหามันในวิถีของท่านเอง” หมีสีเหลืองสวมเสื้อตัวจ้อยกำลังหรี่ตามองโถอันว่างเปล่า เมื่อมันพบว่าน้ำผึ้งหมดเกลี้ยง จึงออกไปตามหาน้ำผึ้งโถใหม่ โดยไม่มีท่าทีหงุดหงิดหรืออารมณ์ขุ่นมัว  นั่นอาจเป็นเพราะมันได้เจอวิถีของเต๋า ในแบบของตัวเองแล้ว...   ที่มา: หนังสือ เต๋าแบบหมีพูห์ สำนักพิมพ์มติชน (เบนจามิน ฮอฟฟ์ เขียน, มนต์สวรรค์ จินดาแสง แปล) หนังสือ เต๋า: วิถีที่ไร้เส้นทาง สำนักพิมพ์ฟรีมายด์ (OSHO เขียน, ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด แปล)