วินสตัน กรูม : ผู้เขียน ‘ฟอร์เรสต์ กัมป์’ นิยายเสียดสี ที่ซ่อนความวุ่นวายไว้ใต้สายตาของ ‘คนโง่’

วินสตัน กรูม : ผู้เขียน ‘ฟอร์เรสต์ กัมป์’ นิยายเสียดสี ที่ซ่อนความวุ่นวายไว้ใต้สายตาของ ‘คนโง่’

“ชีวิตก็เหมือนกับกล่องช็อกโกแลต เราไม่รู้ว่าเปิดมาจะได้เจอกับอะไร”

ประโยคที่โด่งดังขึ้นมาจากภาพยนตร์ที่คว้ารางวัล Academy Awards ไปถึง 6 สาขา ได้รับการโหวตจากสมาคมภาพยนตร์อเมริกัน (American Film Institute) ว่าเป็นประโยคจากหนังที่ดีที่สุดอันดับที่ 40 ความสำเร็จของ Forrest Gump (1994) หนังเรื่องโปรดที่ยังคงทุ้มอยู่ในใจของใครหลายคน ดูเหมือนจะกลายเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ ที่ทิ้งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ไว้แก่วงการฮอลลีวูดมากมาย แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่ได้ชอบตัวละคร ฟอร์เรสต์ กัมป์ หลายครั้งที่ตัวตนของเขามักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘เป็นตัวแทนของแนวคิดอนุรักษนิยม’ เพราะเส้นทางชีวิตของ ฟอร์เรสต์ กัมป์ เรียกได้ว่าดำเนินตามกรอบกำหนดและคุณค่าแบบอเมริกันมาโดยตลอด เขาทั้งเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล เป็นนักปิงปองทีมชาติ เป็นทหารออกรบในสงครามเวียดนาม (ซึ่งอเมริกันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง) แถมยังรุ่งเรืองในธุรกิจค้ากุ้ง ทั้งที่แค่ทำเพราะสัญญากับเพื่อนไว้ ชีวิตที่ไม่ได้ไขว่คว้าอะไร ไม่ตั้งคำถาม แค่ทำตัวเป็นขนนกลอยล่องไปตามกาลเวลา แต่กลับประสบความสำเร็จในชีวิตแบบสุด ๆ ตัวตนเช่นนี้อาจไม่เป็นที่โปรดปรานนักในสายตาของใครหลายคนที่มีแนวคิดแบบเสรี รวมถึงหนึ่งในผู้ชมซึ่งเป็นผู้รังสรรค์ตัวละครนี้ขึ้นมา “ที่จริง พวกเขาก็ยังรักษาคาแรคเตอร์ไว้ได้ดี อย่างที่เห็นว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความจริงที่ว่าคุณไม่จำเป็นต้องร่ำรวยหรือฉลาดเพื่อที่จะรักษาศักดิ์ศรี แม้ว่ามันจะมีแต่เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นรอบตัวคุณก็ตาม” วินสตัน กรูม (Winston Groom) เจ้าของต้นฉบับนิยาย ฟอร์เรสต์ กัมป์ กล่าว แม้ฟอร์เรสต์ กัมป์ ฉบับภาพยนตร์ จะแตกต่างไปจากตัวตนในหนังสืออยู่บ้าง แต่เพราะมันประสบความสำเร็จอย่างมาก กรูมจึงบอกว่า เขาไม่มีเหตุผลที่จะไม่พอใจ แค่พูดอย่างทีเล่นทีจริงว่า “หนังสือมันออกมาตั้ง 8 ปีแล้ว พวกนายไปอยู่ไหนมาเนี่ย” ไปถึงเหล่าผู้จัดและผู้กำกับที่เพิ่งจะหยิบบทจากนิยายเรื่องนี้ไปทำหนัง แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้ คือประเด็น ‘ความแตกต่าง’ ระหว่าง ฟอร์เรสต์ กัมป์ ในเวอร์ชันภาพยนตร์อันแสนโด่งดังนี้ กับเวอร์ชันหนังสือที่แม้จะมีสติปัญญาพอ ๆ กัน แต่ผู้เขียนกลับพบว่า กัมป์ในหนังสือดูเหมือนจะมีความเป็น ‘มนุษย์’ มากกว่า แรกเริ่มเดิมที ประโยคที่แท้จริงในนิยายต้นฉบับของ ฟอร์เรสต์ กัมป์ คือ “Being an idiot is no box of chocolates.” ซึ่งหมายถึง “การเป็นคนโง่น่ะไม่ได้สวยงามเหมือนกล่องช็อกโกแลตหรอก” บางครั้งกัมป์ก็ถูกหัวเราะเยาะ ถูกรังแก ถูกปฏิบัติแย่ ๆ แต่เพราะเขาเป็นคนไม่คิดอะไรมาก (อาจเพราะมีไอคิวเพียง 75) เขาจึงฟันฝ่าประสบการณ์เลวร้ายมาได้อย่างง่ายดาย ใช่แล้ว ง่ายดายเช่นเดียวกับที่เขาผ่านการรบในสงครามเวียดนาม เป็นเซียนหมากรุก เป็นนักกีฬามวยปล้ำ ที่ใช้นามแฝงว่า ‘The Dunce’ ในฉบับนิยาย กัมป์ได้เป็นถึงนักบินอวกาศ เอาเป็นว่าประสบการณ์ของกัมป์ในเวอร์ชันหนังสือ ‘บ้า’ กว่าที่มีในภาพยนตร์มาก แต่สิ่งที่น่าประทับใจคือ เขาก็มีช่วงเวลาที่ผิดพลาดเหมือนกัน ฟอร์เรสต์ กัมป์ ในเวอร์ชันหนังสือ ทั้งเคยติดคุก ต้องไปอยู่ในโรงพยาบาลบ้า และแม้เขาจะเกิดมาเป็นคนโง่ที่มีไอคิวเพียง 70 กว่า แต่ก็ยังมีความโลภ ความโกรธ และมีความคิดแตกแถว เขาทั้งเสพกัญชาและไม่สนิทกับแม่ “ผมคิดว่าจะไปเยี่ยมเธอ แต่พูดจริง ๆ นะ มันไม่ใช่อะไรที่ต้องรีบนักหรอก เพราะไม่ว่าจะไปช้าหรือเร็ว เธอก็จะโมโหและตะโกนด่าผมอยู่ดี…” ข้อความส่วนหนึ่งจากในหนังสือฟอร์เรสต์ กัมป์ เวอร์ชันนี้ เขาไม่ได้อาศัยอยู่กับแม่ แม้กัมป์จะตกหลุมรักหญิงสาวอย่างเจนนี พวกเขาก็มีโอกาสได้ใกล้ชิดกันมากที่สุดตอนเล่นดนตรี (กัมป์เล่นฮาร์โมนิกา) แต่ไม่เคยได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ในหนังสือไม่ใช่ว่าเจนนีไม่รักกัมป์ แต่เพราะเขาไม่น่าฝากชีวิตไว้เท่าไหร่ เธอจึงแต่งงานไปกับ โดนัลด์ เซลส์แมนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับหลังคา อีกอย่างเธอไม่ชอบกีฬามวยปล้ำเท่าไหร่ด้วย วินสตัน กรูม เขียนนิยายเรื่องนี้ขึ้นในปี 1986 เขาได้ไอเดียมาจากเรื่องเล่าของพ่อ เกี่ยวกับเด็กสมองช้าที่เขาใช้เวลาวัยเด็กด้วย กรูมใช้เวลาเขียนเพียง 6 สัปดาห์ ต้นฉบับนิยายเรื่องนี้ก็ตีพิมพ์ออกมาและขายได้กว่า 30,000 เล่ม ถึงความสำเร็จในตอนนั้นจะเทียบไม่ได้กับยอดขายที่เพิ่มขึ้นเป็นหลักล้าน หลังจากภาพยนตร์ออกฉาย แต่หนังสือของเขาก็ถูกขนานนามว่าเป็น “นิยาย ‘ก็องดิด’ ที่เสียดสีความโง่เขลาของผู้คนในยุคสมัยเรา” จากนักวิจารณ์ชื่อดังมาก่อน วินสตัน กรูม เป็นอดีตทหารผ่านศึกที่มีชีวิตเกี่ยวพันกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของสหรัฐฯ ตลอดมา เขาจบการศึกษาด้านวรรณกรรมจาก University of Alabama ก่อนจะถูกส่งไปรบในสงครามเวียดนามช่วงปี 1965-1969 หลังกลับจากสงคราม กรูมทำงานเป็นผู้สื่อข่าวให้หนังสือพิมพ์ Washington Star พร้อมกับเริ่มต้นเขียนนิยายไปด้วย Better Times Than These (1978) นิยายเรื่องแรกของเขา ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็น ‘นิยายเกี่ยวกับสงครามเวียดนามที่ดีที่สุด’ โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับบริษัทไรเฟิลที่มีความเกี่ยวข้องในสงครามเวียดนาม นิยายเรื่องนี้กล่าวถึงผลลัพธ์ของความรักชาติ ซึ่งนำไปสู่ชีวิตจำนวนมากที่แตกสลาย เพราะกรูมเป็นนักข่าวที่มีประสบการณ์ในสนามรบ ผลงานหลายเรื่องของเขาจึงเกี่ยวพันกับมุมมองที่มีต่อชีวิตและสงคราม กรูมซุกซ่อนประวัติศาสตร์สำคัญมากมายไว้ใต้เส้นเรื่องของฟอร์เรสต์ กัมป์ ในฉบับภาพยนตร์ เราจึงได้เห็นกัมป์ร่วมยุคสมัยกับ เอลวิส เพรสลีย์ ได้รู้จัก จอห์น เลนนอน ได้เข้าร่วมสงคราม ตลอดจนได้มีโอกาสเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในหนังยังเปลี่ยนเจนนีให้กลายเป็นสาวฮิปปีหัวขบถ ซึ่งเป็นความแตกต่างคนละฟากฝั่งกับชายที่ก้มหัวใช้ชีวิตตามครรลองคลองธรรมมาตลอดอย่างกัมป์ด้วย อย่างที่เห็นว่า ชีวิตของเจนนีจบไม่สวยเท่าไหร่ ผิดกับพระเอกของเราที่มีแต่จะรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ไม่เคยตั้งความหวัง หรือปรารถนาหาความสำเร็จอะไรมากมาย วินสตัน กรูม ไม่เคยบอกว่า เขาสร้างตัวละครที่ปล่อยตัวเองลอยละล่องไปตามสถานการณ์อย่างฟอร์เรสต์ กัมป์ขึ้นมาเพื่ออะไร แค่เขียนตามใจ หรืออยากสะท้อนแนวคิดบางอย่าง แต่เมื่อถูกถามว่าหนังสือเล่มนี้เป็นผลงานที่เขาชอบที่สุดหรือไม่ กรูม บอกว่า “ไม่ใช่ แต่ก็ใกล้เคียงแล้วล่ะ” น่าเสียดายที่เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2020 คาริน วิลสัน นายกเทศมนตรีแห่งเมืองแฟร์โฮป รัฐแอละแบมา ได้ออกมาแจ้งข่าวร้ายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียว่า วินสตัน กรูม ผู้เขียนนิยายต้บฉบับเรื่อง Forrest Gump เสียชีวิตลงแล้วในวัย 77 ปี มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่โลกได้สูญเสียนักเขียนที่มีพรสวรรค์มากที่สุดคนหนึ่ง แถมเขายังเป็นถึงสุดยอดนักข่าว ผู้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกันไว้ด้วย ผลงานที่โด่งดังตลอดช่วงชีวิตของเขา นอกจาก Forrest Gump และ Better Times Than These ในสายงานนักข่าว กรูมยังมีผลงานสารคดีที่ได้เข้าชิงรางวัล Pulitzer อย่าง Conversations With the Enemy (1983) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของนักโทษในสงครามเวียดนาม Shrouds of Glory (1995) เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองอเมริกา และ Patriotic Fire (2006) ที่พูดถึงการปะทะกันในเมืองนิวออร์ลีน มากกว่าเป็นผู้เขียนต้นฉบับของภาพยนตร์ดัง ตัวตนของ วินสตัน กรูม สมควรจะถูกจดจำในฐานะผู้บันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้ย้ำเตือนถึงความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกา มรดกที่เขาทิ้งไว้อาจถูกนำไปอ้างอิงหรือใช้ประกอบการศึกษาโดยคนรุ่นหลัง ผู้เขียนมองว่า มากกว่าการเป็นนักเขียนนิยาย วินสตัน กรูมเป็นชายที่คอยเฝ้ามองและถ่ายทอดประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ของผู้คนในสังคม