วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์: เปลี่ยนโลกสวยด้วยขยะ เพราะศิลปะมีมากกว่าเพ้นติ้ง

วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์: เปลี่ยนโลกสวยด้วยขยะ เพราะศิลปะมีมากกว่าเพ้นติ้ง
ลานหน้าบ้านหลังหนึ่งที่ด้านขวามือเต็มไปด้วยขวดน้ำที่เรียงตัวสูงพ้นหัว เจ้าของบ้านยิ้มแย้มกล่าวคำทักทายแล้วชวนให้เข้าไปในบ้าน เมื่อประตูไม้เลื่อนออกจากกัน ภายในพื้นที่ดังกล่าวให้ความรู้สึกราวกับหลุดเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ เมื่อสองข้างทางแทบทุกตารางเมตรในบ้านหลังเล็กเรียงรายไปด้วยงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้   ฝาขวดน้ำ หลอดกาแฟ และเศษผ้า ได้แปลงร่างกลายเป็นสัตว์ประหลาดขนาดเล็กและใหญ่ บ้างนอนขดบนพื้น บ้างห้อยตัวมาจากเพดาน ราวกับเพื่อนซี้ประจำบ้านที่คอยสอดส่องคนผ่านไปใครมาด้วยความอยากรู้อยากเห็น ศิลปะหน้าตาแปลก ๆ ทว่ามีเสน่ห์ที่ประกอบร่างจากสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘ขยะ’ เหล่านั้นได้กลายเป็นเครื่องมือสะท้อนตัวตนและความทุ่มเทในงานศิลป์ของ เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ หญิงสาววัย 28 ปี ที่นิยามตัวเองว่าเป็น Social Activist Artist หรือศิลปินเพื่อสังคมได้เป็นอย่างดี   จุดเริ่มต้นของศิลปะสื่อผสม เอ๋ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เธอเล่าว่าตอนนั้นเธอชอบวาดภาพมาก ๆ โดยเฉพาะการวาดภาพต้นไม้ และการได้ทดลองอะไรแปลก ๆ เช่น การนำดินน้ำมันมาปั้นผสมกับน้ำและนำไปแช่แข็ง การละเล่นแบบเด็ก ๆ ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความสนุกและวิทยาศาสตร์ประเภทนั้นได้กลายเป็นกำลังสำคัญที่ประกอบสร้างเอ๋ให้เป็น ‘ศิลปิน’ ในวันนี้ “พอโตขึ้น สิ่งบ้า ๆ ของเรามันเอาไปประยุกต์ใช้ได้หมด คุณสมบัติเชิงเคมีต่าง ๆ ของแต่ละวัสดุ ก็เอามาพลิกแพลงได้” อาชีพศิลปินคือฝันและใฝ่ของเอ๋นับตั้งแต่เธอได้รู้จักกับผลงานศิลปะเหนือจริง (Surrealism) ของอาจารย์ประทีบ คชบัว และอาจารย์ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ผู้สร้างผลงานศิลปะชุด ‘ผัดไทย’ ที่ฤกษ์ฤทธิ์ยกกระทะ ตะหลิว และอุปกรณ์อื่น ๆ ไปทำผัดไทยให้คนนิวยอร์กกินถึงที่ในหอศิลป์ Paula Allen เมื่อปี 1990 “มันใหม่มากสำหรับเราในตอนนั้น งานของทั้งสองท่านทำให้เรารู้ว่าอาร์ตมันไม่จำเป็นต้องแค่วาดรูปอย่างเดียว อาร์ตมันหลากหลายมาก เราเองก็อยากทำให้ได้แบบนั้น” ด้วยความตั้งใจอันแรงกล้า เอ๋เข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ แม้ว่าเธอจะเลือกเรียนสาขาจิตกรรม หากงานสื่อผสมกลับเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจเธอมากกว่า เช่นเดียวกับ ‘ขยะ’ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับความคิดและชีวิตของเธอ   เปลี่ยนขยะเป็นงานอาร์ต “เราไม่ได้มองว่ามันเป็นฝาขวด เราไม่ได้มองว่ามันเป็นหลอดกาแฟ ไม่ได้มองว่าเป็นถุงขนม แต่เรามองว่ามันคือชิ้นส่วนหนึ่ง อวัยวะหนึ่งของสัตว์ประหลาดที่เราจะสร้าง เราก็เลยมีความสุขที่จะค่อย ๆ แต่งเติม ค่อย ๆ สร้างมันขึ้นมา” แรงบันดาลใจที่ทำให้เอ๋เริ่มทำงานกับวัสดุเหลือใช้ตั้งแต่ตอนปี 3 เกิดจากทางครอบครัวคัดแยกขยะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ โฟม หรือพลาสติก ในตอนแรกเธอนำวัสดุเหล่านั้นมาสร้างงานเพื่อต้องการทำให้บ้านสะอาดขึ้น แต่เมื่อต้องทำรูปเล่มวิทยานิพนธ์ เอ๋ก็ได้ศึกษาลึกลงไปในประเด็นสิ่งแวดล้อมและเริ่มตระหนักว่าปัญหาขยะก็เป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตามมา แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เธอจึงนำความถนัดทางศิลปะมาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมโดยเริ่มต้นจากขยะภายในบ้าน “เพราะว่าขยะหรือวัสดุเหลือใช้คือต้นเหตุในการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายอย่างมาก เช่น ปัญหาขยะในแม่น้ำ ในทะเล ปัญหาฝังกลบบนดิน หรือปัญหาสัตว์ป่าสูญพันธ์ุ สัตว์น้ำทะเลสูญพันธ์ุต่าง ๆ พวกนี้มันมาจากต้นตอของวัสดุเหลือใช้ทั้งหมดเลย” “เราอยากจะเอาศักยภาพของตัวเอง ความถนัดของตัวเองลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมให้ได้ เรารู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ยากในการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เรามองว่าเราจะทำ” วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์: เปลี่ยนโลกสวยด้วยขยะ เพราะศิลปะมีมากกว่าเพ้นติ้ง Social Activist Artist ศิลปินเพื่อสังคม  “ความเป็น Art มันก็คือการพูดในสิ่งที่ตัวเองรู้สึกอยู่แล้ว การเป็น Activist ก็เช่นเดียวกัน พูดในเรื่องที่เราสนใจ อย่างพูดในเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อม เราก็นำเสนอออกมาในความเป็นอาร์ต มันก็ทำให้เป็นการสร้างสีสัน สร้างแรงบันดาลใจให้กับคน ให้ได้ชัดและเป็นรูปธรรมมากขึ้น” เอ๋เล่าว่า activist กับ artist ไปด้วยกันได้ เพราะทั้งสองอย่างคือการบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองรู้สึกหรือสนใจ และการนำเสนอออกมาในรูปแบบของศิลปะจะช่วยทำให้ผู้ชมเห็นประเด็นได้ชัดขึ้น เหมือนกับเป็น infographic ให้คนดูเห็นว่าปริมาณขยะมีจำนวนมากขนาดไหน “หลายคนนึกภาพไม่ออกหรอกว่ามันปริมาณเยอะเท่าไร แต่พอมันแปลงมาเป็นงานศิลปะแล้ว มันสูง 3 เมตร สูง 4 เมตร สูง 6 เมตร มันเป็นคล้ายๆ infographic ที่ทำให้ทุกคนได้เห็น ได้สัมผัส ได้เข้าไปยืนอยู่ด้วย แล้วเห็นชัดเจนเลยว่า โห! วัสดุเหลือใช้ ขยะ มันเยอะขนาดนี้เลยนะ” นิยามคำว่า ‘ขยะ’ ของเอ๋ คือวัสดุเหลือใช้ภายในบ้านของเธอเอง หรือบางส่วนมาจากการรับบริจาค และการรับซื้อมาจากคนในชุมชนที่โดนกดราคาเมื่อนำไปขายที่โรงงานรีไซเคิล นอกจากนี้ เอ๋ยังร่วมมือกับชาวบ้านในชุมชนบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ในการสร้างงานศิลปะขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดความรู้ในการสร้างงานศิลปะ และการคัดแยกขยะให้กับชาวบ้านด้วยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยื่น “การที่จะเป็น Activist เนี่ยมันไม่ใช่แค่ว่าเรารู้อยู่แค่คนเดียวว่าแยกขยะยังไง สร้างสรรค์งานยังไง เราก็เลยเชื่อมโยงไปถึงชุมชนที่เราลงไปทำ”   ศิลปะเปลี่ยนโลก เอ๋คิดว่าศิลปะสามารถเปลี่ยนโลกได้ หากนำศิลปะไปใช้ร่วมกันกับวิทยาศาสตร์ อย่างที่งานศิลปะของเธอสามารถวัดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ออกมาเป็นตัวเลขได้ทั้งกระบวนการการผลิตงานขึ้นมาในแต่ละชิ้น และงานล่าสุดอย่าง Care The Whale ที่ทำร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ได้ 1,457.29 กิโลกรัม เทียบเท่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 162 ต้นต่อปี “ให้ศิลปะกับวิทยาศาสตร์มาควบคู่กันไปแล้วมันจะเปลี่ยนโลกได้ คือไม่ใช่ว่าเอาวิทยาศาสตร์มาวัดทุกอย่าง มาเป็นเครื่องจักรเป็นเทคโนโลยีหมดเลย แต่ขาดความสวยงาม ขาดอารมณ์ความรู้สึก มันก็คงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้”  การที่ศิลปะจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้นั้นต้องเริ่มจากภาครัฐที่สนับสนุนทั้งด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย เริ่มต้นจากการเข้าใจศิลปะจริง ๆ ว่าในงานหนึ่งชิ้นที่ออกมาต้องใช้ทั้งความทุ่มเทและต้นทุนเหมือนกับอาชีพอื่น ๆ “เวลาเราไปเสียภาษี เราจะเจอกับคำว่าอาร์ตมันไม่มีต้นทุนไง อาร์ตมันเป็นความคิด ทั้งที่ความจริงแล้ว อาร์ตมันมีต้นทุนเยอะมากเลยนะ ต้นทุนทางความคิด อุปกรณ์ สีต่าง ๆ ที่ในแขนงอื่น ๆ ทำมันก็เป็นต้นทุนในเชิงของศิลปะเหมือนกัน” แต่เอ๋บอกกับเราว่า การหันมารักษาสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถเริ่มต้นง่าย ๆ โดยที่ไม่ต้องทำให้ตัวเองเดือดร้อน และใคร ๆ ก็สามารถทำได้ อย่างเช่นการกินอาหารให้หมดจาน ก็ไม่ทำให้เกิด Food waste หรือขยะจากอาหารเหลือแล้ว วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์: เปลี่ยนโลกสวยด้วยขยะ เพราะศิลปะมีมากกว่าเพ้นติ้ง เป้าหมายต่อไปของศิลปินเพื่อสังคม  ในอนาคตเอ๋ตั้งใจให้งานของเธอสามารถมีปฏิสัมพันธ์ (Interact) กับคนดู หรือสามารถเคลื่อนไหวได้ มากกว่าการเป็นงานศิลปะที่ตั้งนิ่ง ๆ เพียงอย่างเดียว “เราก็อยากทำให้มันมากกว่าเป็นงานไปตั้งอย่างเดียว เราอยากให้มันมีการเคลื่อนไหว Interact กับคนดูได้มากขึ้น เราอยากให้มันไม่ได้แค่ตั้งสวยงามหรือบอกนิ่ง ๆ อย่างเดียว” นอกจากนี้เอ๋ได้ทำแบรนด์ ‘Wishulada’ ที่มีการผลิตกระเป๋า หมวก จากเศษผ้าเพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อไปได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาขยะไปในตัว และความตั้งใจสูงสุดของเธอ คือการได้เห็นทุกชุมชนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาจากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งเธออยากจะร่วมงานกับดีไซเนอร์ ศิลปิน และองค์กรที่สนใจ เพื่อเพิ่มมูลค่าของวัสดุรอบตัวของในชุมชน รวมทั้งสามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในวงกว้างอีกด้วย ซึ่งหากศิลปินคนไหนอยากที่จะร่วมมือกับเธอ เธอก็ยินดี “แต่ละชุมชนก็เอาทรัพยากรมาสร้างเป็นโปรดักขึ้นมา แต่ละที่มีอะไร แต่ละจังหวัดมีอะไร มาทำเป็นโปรดักต์ขึ้น มันเป็นวัสดุเหลือใช้ ให้คนได้เห็นคุณค่า เพิ่มมูลค่าของวัสดุรอบตัวให้มันมากขึ้น และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นด้วย”    เรื่อง: กัญญาภัค ขวัญแก้ว ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม