คุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย?

คุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย?

เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย?

ช่วงนี้เราอาจเห็นอักษรย่อ CPTPP ผ่านตาอยู่บ่อย ๆ รวมถึงกระแสคัดค้านจากหลายภาคส่วนที่ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในภาคีหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกนี้ อธิบายง่าย ๆ เพราะแม้จะมองเห็นช่องทางขยายตลาดของสินค้าบางชนิดไปสู่ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกอยู่ใน CPTPP แต่เมื่อลองสังเกตข้อตกลงก่อนเข้าเป็นสมาชิกที่ทำให้ไทยจำเป็นต้องแก้กฎหมายบางฉบับ ก็ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจบริการ การเกษตร และระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นสิทธิเมล็ดพันธุ์พืช และการคุ้มครองสิทธิบัตรยา หลายฝ่ายมองว่า สำหรับประเทศไทยซึ่งมีภาคการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก การตัดสินใจครั้งนี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย ด้วยกระแสในโลกออนไลน์ที่พูดถึงประเด็นนี้อย่างเผ็ดร้อน ทำให้ในที่สุด จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องถอนเรื่องนี้ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี พร้อมบอกว่า จะไม่เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. อีก ตราบใดที่สังคมยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ The People พูดคุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย เพื่อทำความเข้าใจข้อกังวลดังกล่าว และพบว่า แม้ CPTPP จะเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่หากไทยอยากจะเข้าร่วมก็ต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายประเด็น แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของไทยมากที่สุด คือ อนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืช หรือ UPOV 1991 ที่มูลนิธิชีววิถีขนานนามไว้ว่า เป็น "อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ"   The People: ในมุมของคุณ UPOV 1991 เป็นโจรเพราะอะไร และกำลังจะปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทยบ้าง  วิฑูรย์: UPOV มีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการ คือ อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นจากการผลักดันของบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งหลาย ที่ต้องการจะคุ้มครองสายพันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น การคุ้มครองในที่นี้ หมายถึงการผูกขาดการซื้อขาย และไม่อนุญาตให้มีการปรับปรุงพันธุกรรมพืชในหมู่เกษตรก อันที่จริง ก่อนหน้านี้เคยมี UPOV ที่ถูกร่างขึ้นในปี 1978 ซึ่งเนื้อหายังมีการให้สิทธิ์ในการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ หรือแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ระหว่างเกษตรกร แต่ภายหลังเมื่อมีการเรียกร้องให้ขยายการคุ้มครองมากขึ้น UPOV เวอร์ชันปี 1991 จึงตัดสิทธิ์ของเกษตรกรในส่วนนี้ทิ้งไป การเก็บรักษา 'ส่วนขยายพันธุ์' ที่นอกจากเมล็ดก็อาจจะเป็นเหง้า เป็นกิ่ง เป็นตา ไปปลูกต่อ จึงกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพื่อให้สิทธิ์การปรับปรุงและซื้อขายผูกขาดอยู่กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ จึงปล้นสิทธิ์ในการเก็บรักษา หรือแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นสิทธิ์พื้นฐานของเกษตรกรไปเป็นอันดับแรก   The People: แล้วสิทธิ์เหล่านี้สำคัญอย่างไร ถ้าถูกปล้นไปแล้วจะกระทบกับอะไรบ้าง  วิฑูรย์: คำตอบแรกสุดเลยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ ในวิถีเกษตรกรรมของไทย การเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อเป็นหัวใจสำคัญเลยที่จะส่งต่อหรือสร้างสิ่งที่เรียกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายนี้เองที่ทำให้มีเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ มีสายพันธุ์ดี ๆ เกิดขึ้น เมื่อใดก็ตามที่คุณออกกฎขึ้นมาทำลายความหลากหลาย ทำลายการกำเนิดสายพันธุ์ดี ๆ ในที่สุดเราก็อาจไม่มีข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆ หรือทุเรียนพันธุ์ดี เราอาจไม่มีมะม่วง มะขาม ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ ที่ถูกปรับปรุงพันธุ์จนหลากหลาย เพราะกว่าจะได้ทั้งหมดนี้ เกษตรกรเขาต้องเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ คัดเลือกเอาแต่เมล็ดพันธุ์ที่ดี แลกเปลี่ยนพันธุ์ระหว่างกัน แล้วค่อย ๆ ปรับปรุงพันธุ์ของตัวเองขึ้นมา ดังนั้น เมื่อฝั่งบริษัทบอกว่า อยากจะคุ้มครองเมล็ดพันธุ์ แล้วออกกฎกับชาวบ้านว่า นอกจากปลูกแล้วก็ห้ามเอาไปทำอย่างอื่นขาย ปลูกเสร็จได้ผลผลิตมาแล้ว ห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ พอถึงฤดูกาลใหม่ค่อยซื้อมาปลูกต่อ ก็เท่ากับว่าได้ทำลายหัวใจของการพัฒนา และการขยายสายพันธุ์แบบวิถีของชาวบ้านไปโดยสิ้นเชิง นอกจากจะระบุว่า ห้ามเก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อแล้ว รายละเอียดของอนุสัญญา UPOV 1991 ยังครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากพืชทั้งหมด สมมติว่าเราไปซื้อเมล็ดข้าวมา ข้าวพันธุ์นี้เป็นพันธุ์พืชใหม่ที่บริษัทขึ้นทะเบียน นอกจากปลูกจนเก็บเกี่ยวขาย เราจะไม่มีสิทธิ์เอาข้าวไปแปรรูปทำอย่างอื่นได้ต่อ จะทำเป็นข้าวหมาก ข้าวเกรียบ สาโท ก็ไม่ได้ เพราะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเจ้าของเมล็ดพันธุ์ข้าว หากถูกตรวจพบอาจโดนฟ้องเสียค่าปรับกันหน้าหงาย เพราะฉะนั้น กันเมล็ดไว้ปลูกต่อก็ไม่ได้ เอาไปแปรรูปทำอย่างอื่นต่อก็ไม่ได้ เกษตรกรจึงทำได้แค่รับข้าวเขามาปลูก แต่เหมือนไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรเลย คุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย? UPOV 1991 ยังคลอบคลุมไปถึงพืชทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่พืชสมุนไพร เมื่อใดก็ตามที่เรานำพืชสมุนไพรที่ได้รับการจดทะเบียนขอรับการคุ้มครองเป็นพันธุ์พืชใหม่มาปลูกขาย เราก็จะต้องเข้าสู่เงื่อนไขเดียวกัน ยกตัวอย่างพวกกัญชา เราก็จะไม่สามารถเอาไปวิจัยทำยารักษามะเร็ง หรือยารักษาอาการทางประสาทได้ กระท่อมก็เอาไปทำยาแก้ปวดไม่ได้แบบที่ญี่ปุ่นเขาจดสิทธิบัตร หมายความเราผลิตยาจากตรงนี้ไม่ได้เลย อนุสัญญานี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของพืชอย่างเดียว ก่อนหน้านี้ ในอนุสัญญาเก่า ระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชจะอยู่ที่ 12-17 ปี (แบ่งตามชนิดของพืช) แต่อนุสัญญา UPOV 1991 กลับยืดเวลาห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน ห้ามเก็บไว้ปลูกต่อ ห้ามแปรรูปและขยายพันธุ์ไปถึง 20-25 ปี ซึ่งเวลาที่ยาวนานขนาดนี้ คงเพียงพอให้เหล่านายทุนฟันกำไรไปจากภาคเกษตรกรรมของเราไม่น้อย เผลอ ๆ ถึงเวลาหมดอายุการผูกขาด บริษัทก็คงปล่อยพันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่ได้รับการปรับปรุงแล้วออกมาขายแข่งในท้องตลาด ซึ่งประเด็นการผูกขาดเช่นนี้ อันที่จริงก็เป็นปัญหาในภาคเกษตรกรรมของไทยมานานมากแล้ว โครงสร้างของตลาดเมล็ดพันธุ์ของไทยปัจจุบัน ถ้าแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ก็จะมีพวกพืชไร่ อย่างข้าวโพด ที่ถ้าย้อนไปเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว พันธุ์ข้าวโพดที่เราปลูกในไทย กว่า 90% พัฒนาโดยสถาบันราชการหรือก็คือของรัฐ แต่ในปัจจุบันข้าวโพดที่เราปลูกเพื่อเลี้ยงสัตว์ กว่า 90% เป็นของบริษัทเมล็ดพันธุ์พืช เช่นเดียวกับกลุ่มที่สอง กลุ่มผัก อันนี้สักประมาณ 70% มาจากบริษัทใหญ่แค่ 2 บริษัทเอง เรายังโชคดีอยู่หน่อยตรงที่ข้าวไทยเราประมาณครึ่งหนึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อเอง มีมาจากพันธุ์พื้นเมืองบ้าง จากราชการบ้าง ประมาณ 20% เท่านั้นที่มาจากบริษัทใหญ่ ข้าวไทยก็เลยเป็นพืชที่มีความหลากหลาย นี่คือผลประโยชน์ที่ชาวบ้านได้มาจาก พ.ร.บ.เก่า ที่เขาปล่อยให้เราทำการเกษตรแบบวิถีเดิม สำหรับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่ไม่โชคดีเช่นนี้ ก็อาจจะต้องบริโภคแต่พืชที่มาจากบริษัทเดียว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องอันตราย เพราะความหลากหลายทางชีวภาพได้ถูกทำลายลงไป คุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย? The People: แล้วความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญอย่างไร ทำไมเราจึงต้องปกป้องอย่างถึงที่สุด วิฑูรย์: เพราะความหลากหลายจะส่งผลต่อผู้บริโภคโดยตรง เมื่อลองสังเกตดูระบบอาหารที่เรากินอยู่ในปัจจุบัน เราอาจเห็นว่ามาจากพืชไม่กี่ชนิด เวลาเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ ผลิตภัณฑ์หลายอย่างทำจากข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง และมันฝรั่ง หากวัตถุดิบเหล่านี้ไม่หลากหลาย จะส่งผลร้ายต่อระบบโภชนาการของผู้คน ทุกวันนี้คนที่ยังขาดอาหารก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่คนที่ได้รับสารอาหารกับประสบปัญหาโภชนาการเกินจนไม่สมดุล ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพ สาเหตุที่โภชนาการไม่สมดุลก็มาจากการปรับปรุงพันธุกรรมพืชนี่ล่ะ เมื่อมีเพียงไม่กี่บริษัทที่สามารถส่งออกพืชสายพันธุ์เดิม ๆ ไปปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ก่อนจะส่งต่อสู่ปากท้องของผู้บริโภคได้ พวกเขาจึงถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านโภชนาการ เพราะบริษัทเหล่านี้ได้รับสิทธิ์ในการผูกขาด และมีอำนาจที่จะปรับปรุงพันธุ์พืชไปในทางใดก็ได้ พอพูดเรื่องผลกระทบจากการตัดต่อพันธุกรรมจะส่งผลอะไร เราก็พบว่าระบบอาหารมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน กว่าเราจะรู้ตัวว่าเราได้รับอาหารที่ไม่หลากหลาย ที่อาจทำให้เกิดปัญหาต่อร่างกายและสุขภาพ บางทีเราก็อาจเสียเวลาไปหลายปี หรือไม่ก็เกือบทั้งชีวิตแล้ว กว่าจะมีงานวิจัยสักชิ้นโผล่มาบอก เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาต้องศึกษาเรื่องนี้จากตัวอย่างไปเท่าไหร่ เบื้องหลังวงการนี้มันโหดร้ายมากเหมือนกัน นอกจากเรื่องผูกขาด ผลกระทบที่มีต่อเกษตรกร หลัก ๆ แล้วก็ยังมีเรื่องราคาเมล็ดพันธุ์ที่สูงขึ้น กระบวนการเหล่านี้สามารถพาให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นไปถึง 3-5 เท่า แล้วแต่ชนิดพืช เมื่อความต้องการมีมากและมีการผูกขาดอยู่ไม่กี่ราย เขาจึงตั้งราคาที่เท่าไหร่ก็ได้ แน่นอนว่าข้อนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเหล่าเกษตรกรโดยตรง ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ประมาณปีละ 2 หมื่นกว่าล้าน นี่เป็นการคิดทั้งระบบ ถ้าลองคิดว่าจะแพงขึ้นไปอีก 3-5 เท่า ชาวบ้านเกษตรกรจะเอาที่ไหนจ่าย แถมพอต้นทุนการผลิตแพงขึ้น เกษตรกรก็ยิ่งต้องขายแพงตาม ผลลัพธ์ที่ตามมาคือผู้บริโภคต้องซื้ออาหารในราคาที่แพงขึ้นไปอีก เรียกได้ว่ากระทบกันไปทั้งระบบ  คุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย? The People: นี่ไม่ใช่การเสนอให้มีการพิจารณาเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าเป็นครั้งแรก? วิฑูรย์: ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามผลักดันมาก่อน ช่วงประมาณปี 2017 (พ.ศ. 2560) ตอนนั้นใช้เหตุผลเดียวกันเลยว่า เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ความตกลงการค้าระหว่างประเทศ โดยมีการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อยกเลิกกฎหมายเดิม อันนั้นก็ร่างตาม UPOV 1991 นี่ล่ะ ตอนนั้นก็พยายามเสนอในช่วงที่ประเทศมีเรื่องใหญ่ต้องจัดการ อาศัยโอกาสช่วงชุลมุน แต่การฉวยเวลาในจังหวะของโควิด-19 อาจไม่ใช่เวลาที่ถูกต้องสักเท่าไหร่ ผมก็ไม่รู้เขาคิดอะไรอยู่ เพราะยิ่งภายใต้สภาวะโรคระบาด ปัญหาจากกลไกการค้าระหว่างประเทศ ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงเรื่องการพึ่งพาตนเองกันแล้ว หลายคนตระหนักว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกอย่างเดียวแล้วขาย อาจไม่ใช่ทางออกเรื่องปากท้องอีกต่อไป ช่วงเวลานี้ต้องเกษตรผสมผสาน ปลูกให้หลากหลาย การจะเสนอให้กลับไปเป็นแบบเดิม คือส่งเสริมบริษัทขนาดใหญ่ที่อยากให้ปลูกพืชไม่กี่ชนิด มันเหมือนขัดแย้งกับตัวสถานการณ์ปัจจุบัน การทำเกษตรกรรมเชิงหลากหลาย จะเป็นหนทางเอาตัวรอดในช่วงเวลาวิกฤตได้อย่างยั่งยืน แถมยังเสริมความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประเทศได้อีกด้วย   The People: ความมั่นคงทางอาหารในไทยมีแนวโน้มเป็นอย่างไร วิฑูรย์: ความมั่นคงทางอาหาร คือสภาวการณ์ที่คนทุกคนต้องได้รับอาหารอย่างเพียงพอ มีโภชนาการครบถ้วนและมีความปลอดภัย ทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างตอนนี้ที่เรากำลังเจอ มันฉุกเฉินอยู่ แต่กลายเป็นว่า ประเทศไทยที่ผลิตอาหารได้มากมายเพื่อส่งออก กลับต้องมาเข้าคิวรอรับอาหาร เราพึ่งพาตัวเองไม่ได้เลย อันนี้ไม่ใช่ความมั่นคงแล้ว เราผลิตอาหารส่งออกได้มากมาย มีบริษัทส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกตั้งอยู่ในประเทศไทย แต่ชาวบ้านกลับยังยากจนมีหนี้สิน ไม่มีจะกินแบบนี้ มันจะเรียกว่ามั่นคงได้หรือ หลังโควิด-19 ผมมองว่า ภูมิทัศน์เศรษฐกิจบ้านเราจะเปลี่ยนไปอีกมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการตื่นตัวเรื่องความมั่นคงและความสนใจหันมาทำธุรกิจแบบพึ่งตัวเองมากขึ้น สินค้าส่งออกหลายอย่างขายไม่ได้ เพราะเครื่องบินขนไม่ได้ การค้าจึงนิ่งสนิท หนทางเอาตัวรอดเดียวของเกษตรกรไทย หรืออาจรวมถึงเกษตรกรในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก จึงเป็นการลองเปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสาน ปลูกอะไรที่ตลาดต้องการ ปลูกหลาย ๆ อย่างในที่เดียวกัน นอกจากจะทำให้มีพืชผักไว้กินเองแล้ว ผลผลิตดังกล่าวก็ยังสร้างรายได้ให้ด้วย พอหันมาเน้นตลาดภายในที่ไม่ต้องปลูกเยอะ เอาตามแต่ความเหมาะสมของแต่ละชุมชน ต้นทุนก็จะได้ไม่สูงมาก สถานการณ์ตอนนี้จึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของภาคเกษตรกรรมไทยไปได้โดยสิ้นเชิ