Wonder Woman: ซูเปอร์ฮีโร “ผู้สนับสนุนให้ผู้หญิงยืนหยัดเพื่อตัวเอง...”

Wonder Woman: ซูเปอร์ฮีโร “ผู้สนับสนุนให้ผู้หญิงยืนหยัดเพื่อตัวเอง...”
“วันเดอร์ วูแมน สนับสนุนให้ผู้หญิงยืนหยัดเพื่อตัวเอง เรียนรู้จะต่อสู้ เข้มแข็ง และไม่จำเป็นเลยที่จะต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวหรือขึ้นอยู่กับผู้ชายคนใด” วิลเลียม โมลตัน มาร์สตัน ผู้ให้กำเนิดวันเดอร์ วูแมน กล่าวไว้เช่นนั้นภายหลังจากที่ วันเดอร์ วูแมน ปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนครั้งแรกในปี 1941 ผ่านลายเส้นของ เอช จี ปีเตอร์ และนับจากนั้น วันเดอร์ วูแมน ก็อยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลักมาอย่างยาวนาน ทั้งยังกลายเป็นไอคอนในหลาย ๆ ความหมาย ถูกตีความตามสถานการณ์และบริบทที่ไหลเลื่อน เปลี่ยนผ่านอยู่ตลอดเวลาในแต่ละยุค อย่างไรก็ตาม วันเดอร์ วูแมน ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งภายหลังค่ายดีซีสร้างหนังซูเปอร์ฮีโรในจักรวาลขึ้นมาใหม่ในทศวรรษที่ 21 และวันเดอร์ วูแมนปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรกใน Batman v Superman: Dawn of Justice (2016) แล้วจึงตามมาด้วยหนังเดี่ยวของเธอเองอย่าง  Wonder Woman (2017) ผ่านการกำกับของ แพ็ตตี เจนกินส์ และได้ กัล กาด็อต สวมบทเป็นวันเดอร์ วูแมน หรือ ไดอานา ปรินซ์ ตัวหนังสร้างปรากฏการณ์เป็นหนังทำเงินมากที่สุดติดอันดับหนึ่งในสิบของปี 2017 ได้อย่างน่าประทับใจ จากนั้นค่ายดีซีก็ส่งภาคต่อ Wonder Woman 1984 (2020) ออกฉายภายหลังโดนเลื่อนจากภาวะไวรัสโควิด-19 ระบาดมานานเกือบปี และมันกลายเป็นหนังแห่งความหวังของฮอลลีวูดที่น่าจะ ‘ทำเงิน’ ได้เข้าตาบ้างเพราะเข้าในช่วงเทศกาล ทั้งยังเป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่ฐานแฟนมหาศาล มากกว่านั้นมันคือการกลับมารวมตัวกันของเหล่าทีมงานที่เคยพา วันเดอร์ วูแมนไปอยู่ในใจคนดูนับล้านคนเมื่อ 3 ปีก่อน ทั้งยังได้ผู้กำกับคนเดิม ตลอดจนนักแสดงหลัก ๆ อย่าง กาด็อต และ คริส ไพน์ ที่ก็เรียกได้ว่ามันเป็นหนังที่อาวุธครบเครื่องด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่ WW84 ยังเสริมเครื่องด้วยนักแสดงแม่เหล็กอีกสองรายอย่าง คริสเต็น วิก, เปโดร ปาสคาล ทั้งยังใช้บริการพ่อมดแห่งวงการคอมโพเซอร์ ฮันส์ ซิมเมอร์ ในการทำดนตรีประกอบภาคนี้ด้วย ทั้งนี้ นอกเหนือจากเหล่าทีมงานเบอร์ต้น ๆ ของวงการ มีนักวิจารณ์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วันเดอร์ วูแมนภาคแรกประสบความสำเร็จมากขนาดนั้นไม่เพียงแค่งานมันแสนละเมียดและจับใจคนดู แต่มันยัง empowering คนดูผ่านการเล่าเรื่องอันแยบคาย โดยเฉพาะฉากที่ตัวไดอานา หรือวันเดอร์ วูแมนวิ่งฝ่าสนามเพลาะหรือ No man’s land ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เธอยืนกรานจะฝ่าดงกระสุนเข้าไปทั้งที่ สตีฟ เทรเวอร์ (ไพน์) ยืนกรานต่อหน้าว่าไม่มีทางที่มนุษย์คนใดจะฝ่าไปได้ หรือการที่แม้แต่ตัวหนังเองมีฉากที่เทรเวอร์ยืนเปลือยด้วยสีหน้างุนงงต่อหน้าไดอานา เจนกินส์ซึ่งใส่ฉากนี้เข้าไปบอกว่า “เพราะว่าหนังซูเปอร์ฮีโรผู้ชายส่วนมากชอบใส่ฉากสาวเปลือยมาน่ะสิ เราเลยทำบ้าง” อย่างไรก็ดี เราอยากย้อนกลับไปยังจุดกำเนิดของวันเดอร์ วูแมน ในช่วงปี 1940 นั้นค่ายดีซีเต็มไปด้วยตัวละครซูเปอร์ฮีโรหนุ่มมากมายทั้ง  Green Lantern, Superman และ Batman เวลานั้นภรรยาของมาร์สตันคือ อลิซาเบ็ธ ฮอลโลเวย์ จึงเสนอไอเดียถึงซูเปอร์ฮีโรหญิงอันเป็นที่รักของผู้คน “ตัวละครนี้จะไม่ปะทะด้วยกำปั้นหรือเพลิงไหม้ แต่จะด้วยความรัก” เธอบอก “และให้เธอเป็นผู้หญิงนะ” ภายหลัง มาร์สตันระบุว่า “กระทั่งผู้หญิงก็ไม่อยากเป็นผู้หญิงหรอกตราบเท่าที่ต้นแบบของการเป็นผู้หญิงมันขาดพลัง ขาดความแข็งแกร่งและขาดอำนาจ ไม่มีใครอยากเป็นผู้หญิงหรอก ไม่มีใครอยากจะอ่อนโยน หรือเจียมเนื้อเจียมตัว หรือเรียกร้องขอความสันติอย่างที่นิยามผู้หญิงที่ดีบอกไว้ ความแข็งแกร่งของผู้หญิงนั้นถูกลดทอนลงเพราะจุดอ่อนตรงนี้ ทางออกคือการสร้างตัวละครหญิงที่แข็งแกร่งเท่าเทียมกันกับซูเปอร์แมน ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือเสน่ห์และความสวยงามของผู้หญิงไงล่ะ” นับแต่นั้น ภายหลังที่ยอดมนุษย์หญิงปรากฏตัวในคอมิก ความที่เวลานั้นอเมริกาเดินหน้าเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มกำลัง เนื้อเรื่องโดยพื้นฐานของวันเดอร์ วูแมน จึงอยู่ภายใต้บริบทความขัดแย้งขนานใหญ่ และเต็มไปด้วยกลิ่นอายทางการเมืองและการต่อสู้  วันเดอร์ วูแมน ปรากฏตัวอยู่ในแวดวงคอมิกและงานภาพนานอยู่หลายทศวรรษทีเดียว ก่อนจะขยับขยายขึ้นมาเป็นซีรีส์ Wonder Woman ออกฉายระหว่างปี 1975-1979 และประสบความสำเร็จมหาศาลขนาดที่ว่าส่งให้ ลินดา คาร์เตอร์ ที่รับบทเป็นวันเดอร์ วูแมน กลายเป็นไอคอนไปโดยปริยาย และเป็นวันเดอร์ วูแมนที่อาจตราตรึงอยู่ในความทรงจำของชาวอเมริกันจำนวนมาก เพราะฉายติดต่อกัน 3 ซีซัน กับพล็อตที่สลับสับเปลี่ยนซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการตีความของผู้สร้าง แม้ว่าระหว่างนั้นจะมีหนังออกฉายทางโทรทัศน์อย่าง Wonder Woman (1974) มาตีคู่ขนานกันก็ตาม แต่เรตติงไม่ดีนัก ทั้งตัวละครในเรื่องก็ไม่น่าจดจำเท่าเวอร์ชันซีรีส์ อย่างไรก็ตาม ตัวหนังถูกสร้างออกมาห่างจากตัวต้นฉบับที่เป็นคอมิกอยู่มากจนหลาย ๆ ส่วนแทบไม่อิงกับเวอร์ชันคอมิกเลยแม้แต่นิด เห็นได้จากเครื่องแต่งกายของวันเดอร์ วูแมนที่แม้จะยังมีความเป็นอเมริกันสูง แต่ก็ห่างไกลกันลิบจากสิ่งที่มาร์สตันเคยออกแบบไว้ ลินดา คาร์เตอร์ กลายเป็นภาพจำของวันเดอร์ วูแมนมาอย่างยาวนานอีกหลายทศวรรษ กระทั่งเมื่อการประกาศเปิดตัวสร้างตัวละครนี้ใหม่ภายใต้สตูดิโอดีซี หลังจากปล่อย Man of Steel (2013) ที่เล่าถึงซูเปอร์แมนจนเป็นที่ครึกโครมมาแล้ว และชวนทึ่งกว่านั้นคือ ภายหลังการประกาศแคสติงตัวละครวันเดอร์ วูแมน นักแสดงสาวที่เข้าตาบทนี้ก็ไม่ใช่นักแสดงชาวอเมริกัน หากแต่เป็นชาวอิสราเอลอย่าง กัล กาด็อต ซึ่งทำเอาแฟน ๆ ตื่นตะลึงทันที ยังไม่นับเหล่าแฟน ๆ รุ่นเก๋าของคอมิก Wonder Woman ที่บอกว่า ตัวละครนี้เป็นภาพแทนของชาวอเมริกัน (อาจเพราะสร้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตัวละครถูกลากโยง ตีความผ่านการเมืองกับสงครามบ่อยครั้ง) มิหนำซ้ำ หลายคนยังบอกว่ากาด็อตผอมบางเกินไปที่จะรับบทนี้ ลงเอยที่เธอหายไปเข้ายิม 9 เดือน กลับมาพร้อมมัดกล้ามเนื้อและการปรากฏตัวอันแสนสง่างาม น่าจดจำใน Dawn of Justice กับสกอร์เพลง Is She Still With You? โดย ซิมเมอร์และจังกี เอ็กซ์แอล  ยังไม่นับว่า บทนี้ทำให้กาด็อตกลายมาเป็นนักแสดงแถวหน้าของฮอลลีวูด จากที่เคยเกือบ ๆ จะถอดใจไปหลายรอบเพราะเหนื่อยล้าจากการเดินทางและการแคสต์ที่ ‘ไปได้ไม่สวย’ เท่าไรนัก จนเธอเล่าว่าการคว้าบทนี้ได้เป็นเสมือนการต่อลมหายใจให้เธอในอุตสาหกรรมนี้ (อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการของเธอโทรศัพท์มาแจ้งข่าวนี้กับกาด็อตตอนเธออยู่บนเครื่องบินที่กำลังแลนดิ้ง ความจำกัดจำเขี่ยของพื้นที่และบริเวณโดยรอบนั้นทำให้เธอแสดงออกว่าดีใจไม่ได้มากนัก เลยหันไปกอดกับคนแปลกหน้าที่นั่งข้าง ๆ แทน) และนับจากนั้นเองที่ วันเดอร์ วูแมนได้รับการกลับมากล่าวถึงอีกครั้ง บวกกับภายหลังหนังปี 2017 ของเจนกินส์ออกฉาย ตัวละครนี้กลายเป็นไอคอนและกลายเป็นที่รักของผู้คนอีกครั้ง ทั้งมันยังผสานไปกับโลกอันเลื่อนไหลและพร้อมจะถูกตีความใหม่ ๆ อยู่เสมอ น่าจับตาว่าการมาเยือนของ WW84 จะถูกตีความว่าอย่างไรได้บ้างเช่นกัน