องค์การอนามัยโลก การเมือง "จีนเดียว" ใน WHO ทำโควิด-19 ระบาดหนัก

องค์การอนามัยโลก การเมือง "จีนเดียว" ใน WHO ทำโควิด-19 ระบาดหนัก
"ไต้หวัน" หรือ สาธารณรัฐจีน เป็นหนึ่งในรัฐที่ร่วมก่อตั้งองค์การสหประชาชาติหรือ UN หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง แต่แล้ว รัฐบาลสาธารณรัฐจีนก็พ่ายให้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ จนต้องหนีไปตั้งรัฐบาลบนเกาะไต้หวัน และถูกเตะโด่งออกจาก UN ในปี 1971 รัฐบาลสองจีนยื่นคำขาดว่า UN จะต้องเลือกจีนใดจีนหนึ่งเท่านั้น ภายหลัง "ไต้หวัน" พยายามจะกลับเข้าไปเป็นสมาชิก UN อีกครั้งแต่ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด ยิ่งเข้าศตวรรษที่ 21 จีนแผ่นดินใหญ่มีอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารในระดับโลกเป็นอย่างสูง โอกาสที่ไต้หวันจะได้เป็นสมาชิก UN จึงน้อยลงไปอีก  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว สถานการณ์การระบาดของ "โควิด-19" อาจไม่เลวร้ายอย่างที่เป็นอยู่ ก็เป็นได้ ทำไมนะหรือ? ก็เพราะไต้หวันเป็นประเทศแรก เอ๊ะ! ต้องพูดว่าเขตการปกครองแรกสินะ ที่มองเห็นความผิดปกติของอาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจที่พบในอู่ฮั่น และเริ่มตั้งการ์ดสูงไว้ก่อน โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ว่ามันอาจเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายระหว่างคนสู่คนได้ โดยมีการสั่งให้ตรวจวัดอุณหภูมิ รวมถึงการตรวจที่เข้มข้นยิ่งกว่านั้นหากพบกรณีที่ควรพึงระวัง ในผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางจากอู่ฮั่น ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2019 (Taipei Times) วันเดียวกับที่ฝ่ายสาธารณสุขเมืองอู่ฮั่นประกาศการพบอาการปวดบวมเนื่องจากเชื้อไวรัส แต่ "ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน" (Wuhan Municipal Health Commission) ณ ขณะนั้นมีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อแล้วราว 30 ราย มีอาการสาหัสไม่ถึง 10 ราย เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เป็นการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน แต่ทางการจีนก็ไม่ยืนยันว่าเป็นสัตว์ชนิดใด  ตอนนั้น องค์การอนามัยโลก หรือ WHO องค์กรสาธารณสุขนานาชาติใต้ปีกของ UN ออกมาชื่นชมการทำงานของจีนว่า "กระบวนการขั้นต้นในการระบุตัวไวรัสชนิดใหม่ที่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น ถือเป็นความสำเร็จอันน่าทึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขยายขีดความสามารถในการรับมือกับการระบาดครั้งใหม่ของจีน" (รายงานวันที่ 8 มกราคม 2020 ของ The New York Times) แต่ความสำเร็จดังกล่าวเป็นเหมือนภาพลวงตา เมื่อคำนึงถึงระดับการระบาดในปัจจุบัน (ณ วันที่ 8 เมษายน 2020) ที่มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วอย่างน้อย 1.4 ล้านราย และเสียชีวิตไปไม่น้อยกว่า 80,000 ราย  จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า รัฐบาลจีนมีการปกปิดข้อมูลการระบาดในอู่ฮั่นหรือไม่? ตัวเลขการระบาดที่มีเพียงหลักสิบในชั่วระยะเวลา 1 สัปดาห์ หลังการยืนยันเชื้ออันเป็นสาเหตุ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกพากันเชื่อตามแถลงการณ์ของฝ่ายจีนว่ามันไม่น่าจะใช่โรคระบาดที่ติดต่อจากคนสู่คนจริง ๆ  การออกมาชื่นชมการทำงานของจีน และการไม่แนะนำให้มีการเพิ่มระดับการเฝ้าระวังการเดินทางและการค้ากับจีนของ WHO ก็ยิ่งทำให้โลกเกิดความชะล่าใจกับการระบาดในครั้งนี้  ขณะที่ฝั่งไต้หวันกลับกระตือรือร้นเป็นอย่างหนัก ในวันที่ 6 มกราคม ณ เวลานั้นจีนยังยืนยันว่า "ไม่มีหลักฐานการติดต่อระหว่างคนสู่คน" และ "ไม่พบอาการป่วยใด ๆ ในบุคลากรทางการแพทย์" แต่ศูนย์ควบคุมโรคของไต้หวันชี้ว่า "การเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคปอดบวมที่เกิดขึ้นในจีนขณะนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างโปร่งใส" และมีแผนที่จะให้เจ้าหน้าที่ของไต้หวันลงพื้นที่ไปสำรวจอู่ฮั่นเอง (Taiwan CDC) วันที่ 9 มกราคม ศูนย์ควบคุมโรคของไต้หวัน ประกาศว่า หลังประกาศมาตรการเฝ้าระวังเที่ยวบินจากอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ปีกลาย มีเที่ยวบินทั้งหมด 14 เที่ยวบินที่บินมาลงไต้หวัน เจ้าหน้าที่ทำการตรวจผู้โดยสารและลูกเรือไปทั้งหมด 1,317 คน พบผู้แสดงอาการ 10 คน ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล 1 คน อีก 9 คน อาการไม่มาก แต่ก็ให้เจ้าหน้าที่คอยติดตามอาการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไต้หวันไม่เคยตัดความเป็นไปได้เรื่องโอกาสการติดต่อระหว่างคนสู่คน แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนยังคงต่ำ และทางการจีนอ้างว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับตลาดสดอันเป็นแหล่งระบาด แต่การประกาศพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม ตามด้วยที่ญี่ปุ่นในอีกสองวันต่อมา (ซึ่งล้วนเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับตลาดสด)  ประกอบกับการลงพื้นที่อู่ฮั่นของเจ้าหน้าที่ไต้หวันในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งแม้จะไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากฝ่ายจีน เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วย หรือตลาดสดที่ถูกอ้างว่าเป็นต้นตอของการระบาด (Reuters) แต่ก็ได้รับรู้ข้อมูลการติดเชื้อในครอบครัวสองครอบครัวซึ่งมีสมาชิกครอบครัวทำงานในตลาดสด ก็ยิ่งทำให้พวกเขาเชื่อว่า การติดเชื้อระหว่างคนสู่คนมีความเป็นไปได้สูง ณ วันที่ 15 มกราคม ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนยังอยู่ที่ราว 40 คน และมีผู้เสียชีวิตเพียง 1 ราย (ตามตัวเลขที่ฝ่ายจีนเปิดเผย) ไต้หวันก็ประกาศขึ้นบัญชีโรคร้ายปริศนาให้เป็นโรคติดต่อบัญชีที่ 5 ซึ่งบังคับให้แพทย์และโรงพยาบาลต้องรายงานการตรวจพบภายใน 24 ชั่วโมง (Focus Taiwan) มาตรการเหล่านี้มีขึ้นตั้งแต่ยังไม่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในไต้หวันแม้แต่รายเดียว ขณะที่องค์กรนานาชาติอย่าง WHO ก็ยังคงเดินตามหลังข้อมูลที่มาจากฝ่ายจีนเป็นหลัก และน่าจะอัพเดตข้อมูลค่อนข้างช้า เห็นได้จาก รายงานสถานการณ์ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 21 มกราคม 2020 WHO ยังคงแนะนำให้ระมัดระวังความเสี่ยงในการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนเป็นหลัก ขณะที่จีนออกมายอมรับเป็นครั้งแรกในวันที่ 20 มกราคม ว่า "โควิด-19" เป็นโรคติดต่อที่สามารถระบาดจากคนสู่คนได้ (Xinhua) ต้องรอถึงวันที่ 23 มกราคม (พบผู้ติดเชื้อแล้วราว 600 คน) กว่าที่ WHO จะออกมากล่าวว่า "แหล่งที่มาชั้นต้นของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังคงเป็นปริศนา อย่างไรก็ดี เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การระบาดมิได้เป็นผลมาจากการสัมผัสใกล้ชิดตลาดอาหารทะเลหัวหนานในอู่ฮั่น เนื่องจากในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยกว่า 15% ที่รายงานว่าเคยไปตลาดหัวหนาน ขณะนี้มีหลักฐานหนักแน่นกว่าว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 แพร่ระบาดจากคนสู่คนซึ่งพบได้ในทุกช่วงอายุ ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดเป็นกลุ่มในครอบครัวยังรวมถึงกลุ่มบุคคลที่ไม่เคยเดินทางไปอู่ฮั่นด้วย ดังรายงานที่พบในกวางตุ้ง" หลายประเทศที่รอคำแนะนำจาก WHO จึงต้องรอให้สถานการณ์ในจีนย่ำแย่ถึงขีดสุด จนไม่อาจพูดได้อีกต่อไปแล้วว่า “ไม่มีหลักฐานการติดต่อระหว่างคนสู่คน” และต้องรอจนถึงวันที่ 30 มกราคม กว่าที่ WHO จะประกาศว่า การระบาดของ โควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก ซึ่ง ณ ขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อแพร่กระจายไปหลายประเทศ มีผู้ติดเชื้อรวมแล้วราว 8,000 คน ในทางกลับกัน ไต้หวัน (และอีกหลายประเทศเอเชียตะวันออก) เคยประสบกับปัญหาการ “ปกปิด” ข้อมูลของรัฐบาลจีนมาแล้ว กับคราวที่เกิดการระบาดของ SARS ในช่วงปี 2002 ถึง 2003 จึงตั้งข้อสงสัยมาตั้งแต่ต้นว่า ข้อมูลการระบาดของโควิด-19 ที่ออกมาจากรัฐบาลจีนขาดความ “โปร่งใส” และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด สั่งระงับการส่งออกเครื่องมือและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น และสั่งจับตาคนเข้าเมืองจากพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันที่ไต้หวันยังไม่พบผู้ติดเชื้อแม้แต่คนเดียว ทำให้ถึงวันที่ 8 เมษายน ไต้หวันพบผู้ติดเชื้อเพียง 379 ราย และเสียชีวิต 5 ราย  แม้ WHO จะเอ่ยปากชมจีนที่สามารถระบุตัวไวรัสอันเป็นต้นเหตุได้อย่างรวดเร็ว แต่ความสามารถในการควบคุมโรคของไต้หวันกลับไม่ได้รับการกล่าวถึงเลยจากองค์กรสาธารณสุขระหว่างประเทศ ด้วยเหตุเพราะการเมือง “จีนเดียว”  ภาวะดังกล่าวทำให้การเอ่ยถึงไต้หวันเป็นเหมือนสิ่ง “ต้องห้าม” เหมือนเช่นการให้สัมภาษณ์ของ ดร.บรูซ อัลเวิร์ด (Bruce Aylward) เจ้าหน้าที่อาวุโสของ WHO กับ RTHK สื่อฮ่องกง เมื่อเขานิ่งเงียบเมื่อถูกถามว่า “WHO จะพิจารณารับไต้หวันเป็นสมาชิกหรือไม่?” ก่อนบอกว่า “ไม่ได้ยินคำถาม”  เมื่อผู้สัมภาษณ์จะถามซ้ำ เขากลับบอกให้ถามคำถามอื่น ก่อนตัดสัญญาณไป เมื่อสื่อพยายามติดต่อเขาอีกครั้งและถามความเห็นว่า ไต้หวันรับมือสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง อัลเวิร์ดตอบกลับว่า "เราคุยเรื่องจีนกันไปแล้ว ซึ่งถ้าคุณมองจีนในภาพรวมก็จะเห็นว่า พวกเขาทำได้ค่อนข้างดี" และแม้ว่า ทาง WHO จะอ้างว่า มีความร่วมมือเป็นอย่างดีระหว่างองค์กรกับไต้หวัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างกันเป็นไปอย่างเหมาะสม แต่ทางไต้หวันกล่าวว่า WHO พูดความจริงไม่หมด เช่น ตอนที่ไต้หวันขอข้อมูลไปยัง WHO ในปลายเดือนธันวาคม สอบถามถึงโอกาสการระบาดระหว่างคนสู่คนก็ถูกเพิกเฉย (รับรู้แต่ไม่ตอบกลับ)  ในรายงานของ Bloomberg เมื่อวันที่ 30 มีนาคม กล่าวว่า ทางไต้หวันได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่พวกเขาใช้ในการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสให้กับ WHO มาโดยตลอด ในทางกลับกันไต้หวันไม่ได้ข้อมูลใด ๆ จากทางฝั่ง WHO เลย และกรณีที่ WHO อ้างว่า ในการประชุมของ WHO เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากไต้หวัน 2 คน ก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขไต้หวันกล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองได้เดินทางไปยังเจนีวาที่ตั้งสำนักงานของ WHO จริง แต่ไม่ได้เข้าไปนั่งในห้องประชุม ทำได้เพียงนั่งดูการประชุมผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้น "ระหว่างปี 2009 ถึง 2019 เรายื่นเรื่องถึง WHO เพื่อขอเข้าร่วมประชุมทางเทคนิคจำนวน 187 ครั้ง แต่เราได้รับเชิญเพียงแค่ 57 ครั้งเท่านั้น" กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันกล่าว ก่อนเสริมว่า "มันแสดงให้เห็นว่าฝ่ายบริหารของ WHO ตั้งข้อจำกัดกับไต้หวันด้วยเหตุผลทางการเมือง"  เมื่อหันไปทางฝั่งจีน เกิ่ง ส่วง (Geng Shuang) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กลับประณามไต้หวันว่า พยายามใช้การระบาดของโควิด-19 เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และย้ำถึงจุดยืนของ WHO ที่จะต้องติดต่อกับไต้หวันบนหลักการ "จีนเดียว" (Reuters) ความสำเร็จของไต้หวันในการรับมือกับโควิด-19 จึงอาจกล่าวได้ว่า อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก เพราะเพื่อนบ้านต้นตอโรคระบาดก็ขาดความโปร่งใส ไม่ยอมให้ความร่วมมือเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ขณะเดียวกันไม่อาจพึ่งองค์การสาธารณสุขนานาชาติอย่าง WHO ที่ภักดีกับหลักการจีนเดียว ไม่ยอมให้ไต้หวันมีปากมีเสียงแสดงความเห็น หรือยื่นข้อเสนอต่อเวทีที่ประชุม ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่หวังพึ่ง WHO ก็พากันติดเชื้อกันถ้วนหน้า กับความ “ไว้ใจ” ข้อมูลที่มาจากจีน แม้จะเห็นได้ว่าจีนมีเจตนาปิดบังความรุนแรงของการระบาด กว่า WHO จะเตือนประชาคมโลกว่า มันเป็นโรคระบาดที่ติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ก็ล่วงเข้าสู่ปลายเดือนมกราคม ซึ่งถึงตอนนั้น อู่ฮั่นก็เต็มไปด้วยผู้ติดเชื้อ เนื่องจากจีนไม่ยอมรับว่ามันเป็นโรคติดต่อระหว่างคนสู่คนง่าย ๆ ปล่อยให้คนฉลองปีใหม่กันอย่างเต็มที่ ก่อนออกเดินทางไปเที่ยวทั่วประเทศ และทั่วโลก   (ขยายความเพิ่มเติม 9 เมษายน เวลา 16.37 น. - จีนรับว่า โควิด-19 ระบาดระหว่างคนสู่คนเมื่อวันที่ 20 มกราคม และสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นวันที่ 23 มกราคม แต่ก่อนหน้านั้น บริษัทห้างร้านหลายแห่งมีการจัดโต๊ะจีนฉลองปีใหม่ ก่อนวันหยุดยาว เช่นการจัดโต๊ะจีน 10,000 ครอบครัวในย่าน Baibuting ของอู่ฮั่น ในวันที่ 19 มกราคม ซึ่งมีผู้ร่วมงานนับแสนคน - South China Morning Post) ในทางกลับกัน หากไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของ WHO ได้มีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลเช่นเดียวกับชาติสมาชิก ก็จะเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถพิจารณาข้อมูลร่วมกัน ด้วยประสบการณ์ของไต้หวันย่อมทำให้พวกเขาสามารถนำเสนอ เรียกหาข้อมูลที่จำเป็น รวมไปถึงท้วงติงหากพบเห็นสิ่งที่น่าเคลือบแคลงใจ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับประชาคมโลก และโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นก็อาจจะเบาบางกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นได้