ยันตระ: ย้อนตำนานพระดังเจ้าเสน่ห์ที่กลายร่างเป็น ‘สมียันดะ’

ยันตระ: ย้อนตำนานพระดังเจ้าเสน่ห์ที่กลายร่างเป็น ‘สมียันดะ’

ยันตระ: ย้อนตำนานพระดังเจ้าเสน่ห์ที่กลายร่างเป็น ‘สมียันดะ’

ฉาวลั่นปฐพีแต่ยังมีคนกราบ! จมูกที่เป็นสันโด่งรับกับใบหน้าที่กลมมน ริมฝีปากบนและล่างเข้ารูป ไม่หนาและไม่บางจนเกินไป ฟันขาวเรียงซี่อย่างลงตัว ดวงตากลมโตที่มองต่ำเป็นนิจ คิ้วนั้นแม้จะโกนขนออกก็ยังทิ้งรอยคมเข้ม ผิวขาวแต่ไม่ซีด ศีรษะแม้โกนเกลี้ยงเกลาแต่ก็ไม่ล้าน สิ่งที่บรรยายนี้คือพิมพ์นิยมของชายหน้าตาดีในทศวรรษหนึ่ง และทั้งหมดนั้นคือรูปลักษณ์ของ “พระยันตระ” พระสงฆ์ที่โด่งดังขีดสุดในห้วงทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา และเมื่อผสมกับน้ำเสียงนุ่มนวลอบอุ่นขณะเปล่งคำออกมา จึงไม่แปลกที่เส้นทางที่มุ่งหน้าไปสำนักป่าสุญญตาราม  บ้านเกริงกระเวีย อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี จะเคยประสบภาวะจราจรติดขัดกลางดง เพราะคนแห่แหนไปฟังธรรมจากปากของพระหนุ่มสักครั้งในชีวิต ขณะที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดปรากฏการณ์สนามหลวงแตกมาแล้วเพียงเพราะมีข่าวว่าพระยันตระจะมาเทศน์   จุดเริ่มต้น ‘ฤาษียันตระ’ ไม่มีใครรู้ว่า ‘วินัย ละอองสุวรรณ’ มีชีวิตวัยเด็กเป็นอย่างไร จู่ ๆ เขาเป็นที่รู้จักของชาวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราชบ้านเกิดในฐานะของฤาษีชีพรตที่ดำรงตนเป็นนักบวชป่า และเริ่มแสดงธรรมคล้ายกับพระพุทธเจ้าจนสะสมลูกศิษย์ลูกหาจำนวนหนึ่งที่เชื่อมั่นว่านี่คือหน่อเนื้อของพุทธะอย่างแท้จริง แต่เมื่อความนิยมเพิ่มมากขึ้น ชื่อเสียงขจรขจายกว้างไกลไปจังหวัดใกล้เคียง  "ท่านยันตระ ได้พิสูจน์สัจจะแห่งธรรมในรูปแบบของ พระนอกระบบเป็นเวลา 4 ปี จนมั่นใจแจ่มชัดว่า เส้นทางที่พระพุทธองค์ ทรงชี้นำนั้น คือ มรรคาแห่งอิสรภาพอย่างแน่แท้ และเมื่อประเมินผล จากวัตรปฏิบัติแล้ว เห็นสมควรที่จะสวม เครื่องแบบของ "พุทธบุตร" ได้อย่างไม่ละอายแก่ใจ เพราะผ้ากาสาวพัสตร์นั้น เป็นอาภรณ์อันสูงส่ง ของผู้บริสุทธิ์และพากเพียร วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2517  ตรงกับวันวิสาขบูชา เวลาเที่ยงคืน นักพรตชุดขาว ผมยาว ผู้มุ่งมั่นได้ทำพิธี เข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่ง ของพระรัตนตรัยโดยสมบูรณ์ ที่วัดรัตนาราม อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช "จากบัดนั้นจนบัดนี้ ท่านได้ทำหน้าที่บุตรแห่งพุทธะ ออกจาริกเผยแพร่ธรรม อย่างกว้างขวาง จนเกียรติคุณขจรขจาย ไปทั่วประเทศและแดนใกล้ไกล" (สารคดี, ธันวาคม 2534) นายวินัยสละเคราและเส้นผมอุปสมบทเป็นภิกษุในนามที่อุปัชฌาย์ตั้งให้คือ “พระวินัย อมโร” หรือ “อมโรถิกขุ” แต่ในห้วงที่พระวินัยออกธุดงค์และแสดงธรรมโปรดญาติโยมนั้น มักจะเรียกขานตนเองว่า “พระยันตระ” ซึ่งแปลว่าผู้ไกลจากกิเลส ที่เคยใช้มาตั้งแต่ยังเป็นฤๅษียันตระ และเพียงไม่นานเขาก็มีพระสงฆ์คอยอุปัฏฐากรับใช้ แม้จะมีพรรษาแก่กล้ากว่าตนก็ตาม   เปลี่ยนร่างเป็น ‘พระยันตระ’ จากนครศรีธรรมราช พระยันตระเริ่มออกธุดงค์ และสร้างลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากในย่านภาคใต้ตอนบนจนถึงภาคตะวันตก ตั้งแต่ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี ไปที่ไหนก็สร้างที่พักสงฆ์ไว้ (บางแห่งว่าเพราะเป็นข้อจำกัดของพระสายธรรมยุติก) และเริ่มก่อตั้งสำนักป่าสุญญตาราม ที่เกริงกระเวีย และชื่อเสียงของพระยันตระเริ่มแผ่ขยายมาถึงกรุงเทพฯ และเข้าสู่กลางใจของชนชั้นกลางที่ใฝ่หาธรรม ทุก ๆ วันหยุดจึงมีคณะรถทัวร์และรถเบ็นซ์ส่วนตัววิ่งเข้าป่าเมืองกาญจน์กันอย่างแน่นหนา ผู้คนเอาผ้าขาวรองให้เหยียบ แล้วนำไปบูชา เอาดอกบัวมาให้เสกแล้วกลับไปต้มน้ำกินรักษาโรค จากแค่ไปแล้วกลับ พุทธศาสนิกชนเริ่มไปกันบ่อยขึ้นและค้างคืนเข้าปริวาสกรรม ได้ฟังธรรมจากพระยันตระในทุกวัน นอกจากนี้ชื่อเสียงของพระยันตระได้รับการจับตามองจากสื่อมวลชนสายศาสนา นำเรื่องของพระยันตระไปเขียนถึง จึงทำให้พระหนุ่มผู้นี้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว จนครั้งหนึ่งมีกำหนดการว่าพระยันตระจะมาแสดงธรรมที่ท้องสนามหลวง ก็ทำให้ท้องทุ่งใจกลางเมืองแน่นขนัดไปด้วยผู้คนอย่างรวดเร็ว "ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีปฏิปทาศีลจารวัตรที่งดงาม สมควรกราบไหว้บูชาอย่างแท้จริง ท่านเป็นเนื้อนาบุญ ของพระพุทธศาสนา เป็นสมณะที่เจริญธรรม ตามรอยยุคลบาทพระบรมศาสดา ด้วยดวงใจบริสุทธิ์ที่ตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว" (คอลัมน์ "อริยะและโลกที่ ๖" ข่าวสด, 13 มกราคม 2537)   พลุไฟแห่งศรัทธาจากไทยสู่ต่างประเทศ จากประเทศไทย ความศรัทธาของพระยันตระเคลื่อนขยายไปต่างประเทศ มีการนิมนต์พระหนุ่มนักเทศน์ชื่อดังไปแสดงธรรมอยู่บ่อยครั้ง จากแรกเริ่มในชุมชนคนไทยในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย และขยับจากความนิยมของคนไทยไปสู่ฝรั่งต่างชาติ ซึ่งยุคนั้นเริ่มมีพระธรรมทูตไทยไปเผยแพร่ศาสนาบ้างแล้ว แต่ความนิยมกับพระยันตระเหมือนไฟลามทุ่ง แม้แต่ฝรั่งต่างชาติยังชื่นชม  "เคยมาศึกษาพุทธศาสนา ที่พม่าถึงขนาดลงทุนบวชชี แต่รู้สึกว่าไม่เห็นแบบอย่างที่ดี จนเมื่อพบท่านที่ออสเตรเลีย ศรัทธาในวัตรปฏิบัติ จึงติดตามมาศึกษาที่เมืองไทย" (เอลิซาเบธ กอกี้ ชาวออสเตรียที่ย้ายไปอยู่ที่ออสเตรเลีย บริจาคที่ดิน 250 ไร่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เพื่อสร้างเป็นสำนักป่าสุญญตาราม ให้สัมภาษณ์ สารคดี ธันวาคม 2534) พระยันตระไปที่ไหนก็มีทั้งพระติดตามเป็นขบวน และญาติโยมที่คอยอุปัฏฐากรับใช้จำนวนมาก จึงเริ่มมีการสร้างสำนักสงฆ์ในประเทศต่าง ๆ และทุกแห่งที่สร้างไว้มักใช้ชื่อ “สุญญตา” เสมอ เป็นอันรู้กันว่าเป็นสาขาของสำนักป่าสุญญตารามของพระยันตระ แต่ความนิยมที่พุ่งสูงราวกับพลุเฉลิมฉลองนั้น ก็ถึงครามอดดับลง และเป็นการมอดดับที่พาความศรัทธาต่อคณะสงฆ์ไทยดำดิ่งลงในหุบเหวอันมืดมิดด้วย   ตำนานความแผดจ้า มอดไหม้ และร่วงหล่น 10 มกราคม 2537 สีกากลุ่มหนึ่งปรากฏตัวขึ้นเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อสมเด็จพระสังฆราชฯ และอธิบดีกรมการศาสนา หนังสือร้องเรียนฉบับนั้นระบุว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2536 พระอาจารย์ยันตระ อมโรภิกขุ เดินทางไปเทศนา ที่ทวีปยุโรป ระหว่างลงเรือเดินสมุทร พระยันตระแสดง ความไม่สำรวม และมีอาจาระไม่เหมาะสมกับสมณเพศต่อสุภาพสตรี นี่คือจุดเริ่มต้นมหากาพย์เกี่ยวกับพระยันตระ อมโรภิกขุ พระสงฆ์วัย 43 ปีขณะนั้นที่ต่อเนื่องยาวนานต่อมาอีกหลายปี เป็นความรับรู้ใหม่ซึ่งก่อตัวขึ้นมาเบียดแทรกความทรงจำเดิมจนสะเทือนความรู้สึกของผู้คนที่เคยเคารพบูชากราบไหว้ 16 มกราคม 2537 คล้อยหลังไม่กี่วัน หนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งถือเป็นสื่อที่สร้างชื่อเสียงให้พระยันตระ ก็ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างมุ่งมั่นเพื่อขุดคุ้ยเรื่องดังกล่าวยาวนานข้ามปีและต่อเนื่องอีกหลายปี ท่ามกลางชื่อเสียงของพระยันตระและลูกศิษย์ลูกหาเต็มเมือง ข้อมูลก็เริ่มหลั่งไหลสู่ความรับรู้ของผู้คน พร้อมกับการเปิดตัวละครได้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อาทิ เทปบันทึกการสนทนา ระหว่างพระยันตระกับนางจันทิมา (ขอสงวนนามสกุล) หนึ่งในสีกาที่ร้องเรียนว่า พระยันตระล่อลวงเสพเมถุนด้วย, เอกสารของหม่อมรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) อดีตโยมอุปัฏฐากคนสำคัญ ที่กล่าวถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมต่อความเป็นพระสงฆ์ ในขณะที่เดินทางไปต่างประเทศ ยังมีข้อกล่าวหาที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาว่าพระยันตระมีเพศสัมพันธ์ กับนางแก้วตา (ขอสงวนนามสกุล) บนดาดฟ้าเรือเดินสมุทรไวกิ้งไลน์ระหว่างทางจากกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ไปยังกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์, พระยันตระ จับต้องกายนางสาวซูซาน ฝรั่งลูกศิษย์ด้วยความกำหนัด ณ กุฏิริมน้ำ วัดป่าสุญญตาราม เมืองบันดานูน ประเทศออสเตรเลีย, พระยันตระ เข้าไปหานางสาวอีวา ฝรั่งสาวลูกศิษย์อีกรายในรถตู้ของเธอบนท้องถนนกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย, ร่วมหลับนอน กับนางสาวอีวา และพร่ำพูดถึงความรักต่อนางสาวอีวาทางโทรศัพท์ (มีหลักฐานเป็นเทปบันทึกเสียง) ฯลฯ หลากเรื่องราวเกี่ยวกับพระยันตระ ทำให้สังคมไทยในช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยความตื่นเต้น สับสน สงสัยใคร่รู้ โกรธเกรี้ยว และเศร้าหมอง ลูกศิษย์บางคนเสียชีวิตลงด้วยความเศร้าสลด และอีกบางคนถึงกับเสียชีวิตไปด้วยอาการช็อก   ถอดจีวรพระยันตระ   ห้วงแรกสังคมพุทธไทยและในมหาเถรสมาคมไม่เชื่อว่า พระยันตระกระทำผิดต่อวินัยสถานหนักจริงอย่างที่กล่าวอ้าง ส่วนพระยันตระปฏิเสธเรื่องนี้และประกาศจะต่อสู้เพื่อล้างมลทินจนได้รับขนานนามจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดว่า “สมียันดะ” บ้างว่าเป็นขบวนการจ้องทำลายพุทธศาสนาจากชาวพุทธนอกรีตที่ร่วมมือกับสองสตรีชาวอเมริกันโดยใช้พระยันตระเป็นเหยื่อรายใหญ่ เพราะเป็นพระดังมีคนนับถือทั้งประเทศ (นสพ.ข่าวสด 16 มกราคม 2537) กระทั่งหลักฐานเริ่มปรากฏ เมื่อนางจันทิมาพา ‘เด็กหญิง’ ซึ่งอ้างว่าเป็นบุตรสาวของเธอมาแสดงตัว พร้อมกับนำภาพถ่ายการใช้ชีวิตเยี่ยงสามีภรรยามาเปิดเผย ต่อมานางจันทิมาได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอธิกรณ์พระยันตระ (ปลายเดือนมกราคม 2537), มีการท้าให้ตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ถึงความเป็นพ่อลูกกันระหว่างพระยันตระกับเด็กหญิงคนดังกล่าว  มีการเปิดเผยหลักฐานชิ้นสำคัญคือสลิปบัตรเครดิตที่มีโยมอุปัฏฐากบริจาคให้ ซึ่งถูกนำไปใช้ในสถานบริการทางเพศ สถานบริการอาบอบนวด ในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งหลักฐานการเปิดโรงแรมและเช่ารถร่วมกับสตรีเพียงสองต่อสอง ฯลฯ ทำให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมที่ตอนแรกบ่ายเบี่ยงจะตรวจสอบข้อเท็จจริงมาโดยตลอด ก็มีมติเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2537 ให้พระยันตระ พ้นจากสมณเพศด้วยสาเหตุ "ประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับพรหมจรรย์"   เปิดตำนาน ‘จิ๊กเขียว’ ศรัทธาไม่แคลนคลอน  เรื่องน่าจะจบลงง่ายดาย หากนายวินัยหรืออดีตพระยันตระที่โดนจับสึกไปแล้วจะไม่ประกาศตัวว่าเป็นพระสงฆ์อยู่เช่นเดิม ทั้งยังครองจีวรอย่างสงฆ์ เพียงเปลี่ยนจากสีกลักเป็นสีเขียวแก่จนได้ฉายาใหม่จากสื่อว่า “จิ้งเขียว” จึงถูกฟ้องร้องข้อหาหมิ่นองค์สมเด็จพระสังฆราช และแต่งกายเลียนแบบสงฆ์  ส่วนคดีฟ้องร้องของนางจันทิมาที่เรียกร้องให้ตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ว่าบุตรของเธอมีสายสัมพันธ์ทางสายเลือดกับอดีตพระสงฆ์ชื่อดังหรือไม่ ก็ถูกอดีตพระยันตระปฏิเสธที่จะตรวจเลือดพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ก่อนจะหนีหายจากหน้าสื่อไประยะหนึ่ง ก่อนพบว่าเขาเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว แม้ว่าหนังสือเดินทางตัวจริงจะถูกเพิกถอนเพราะมีคดี แต่พบว่าเขาใช้หนังสือเดินทางปลอมเดินทางเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา กลายเป็นผู้ร้ายข้ามแดนที่พุทธศาสนิกชนไทยจำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่ารัฐบาลไทยสามารถนำตัวมาลงโทษได้หรือไม่  หลังจากหายเงียบจากหน้าสื่อไประยหนึ่ง อดีตพระยันตระก็เปิดเผยตัวอีกครั้งที่ชายหาดเมืองซานดิอาโก สหรัฐอเมริกา ในภาพเป็นการเล่นวอลเลย์บอลชายหาดกับฝรั่ง จนหนังสือพิมพ์ข่าวสดวันที่ 9 มิ.ย. 2542 นำเสนอข่าวว่า "สมียันดะ-จิ้งเขียว ซ่าไม่เลิก ล่าสุดห่มจีวรเ ล่นวอลเลย์บอลกับฝรั่ง ที่ริมชายหาด เมืองซานดิเอโก อเมริกา อย่างสนุกสนาน แฉสุดแสบ แต่งตัวพิลึกพิลั่น สวมกางเกงยืด-เสื้อสีดำ แล้วห่มผ้าเหลืองรุ่มร่าม แถมสวมหมวกไหมพรม เหมือนพระทิเบต ออกตระเวนหลอกล่อ ให้คนเข้าสำนักสุญญตา..." แต่ในห้วงเวลาที่อดีตพระยันตระต้องคดี ความศรัทธาต่อตัวเขามลายหายสูญหรือไม่ พบว่าในกลุ่มลูกศิษย์ผู้ศรัทธายังคงเชื่อมั่นอย่างแน่แน่วว่าอดีตพระยันตระถูกกลั่นแกล้งเล่นงานจากพวกนอกรีตมารศาสนา อย่างที่ปรากฎในข่าวว่า ช่วงปี 2538 แม้สำนักป่าสุญญตาราม เกริงกระเวียจะเงียบเหงาเนื่องจากลูกศิษย์ลูกหาพยายามหลีกเลี่ยงจากการถูกติดตามของสื่อมวลชน แต่ลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งก็ยังออกทำกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ ส่วนพื้นที่นครศรีธรรมราชบ้านเกิด มีอดีตพระลูกศิษย์อยู่จำนวนมาก และแสดงธรรมชี้ชวนให้ญาติโยมเชื่อว่า พระยันตระเป็นพระที่ดี ปฏิบัติธรรมเคร่งครัด แต่ถูกมารศาสนาในเมืองไทยรุมทำลาย คนไทยควรสำนึกในบุญคุณของท่าน ที่เผยแผ่พุทธศาสนาออกไปทั่วโลก ศิษย์เอกอีกคนหนึ่งที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า "หากอาจารย์กลับมา คงจะกลับมาแบบยิ่งใหญ่ และเรียกศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน อีกครั้งหนึ่ง"   คดีหมดอายุความ สู่จุดเริ่มต้นบทใหม่ในร่างเดิม ‘ฤาษียันตระ’ นับแต่ปี 2541 ที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือถึงกรมสนธิสัญญา และกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เรื่องที่ทางการไทย จะยื่นฟ้องดำเนินคดีอดีตพระยันตระ ข้อหาใช้หนังสือเดินทางปลอม เพื่อให้สหรัฐอเมริกา ส่งตัวผู้ต้องหากลับประเทศ แต่ทางสหรัฐอเมริกา ยังไม่ให้คำตอบกลับมาว่า คดีดังกล่าวเข้าข่ายความผิด ที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่ แต่เรื่องราวของพระยันตระก็ค่อย ๆ จางหายไปจากความรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ แต่กลุ่มลูกศิษย์ผู้ศรัทธายังจัดงานฉลองวันคล้ายวันเกิดให้อดีตพระยันตระอย่างต่อเนื่อง เหมือนเป็นการรอการกลับมาของอดีตพระยันตระ หนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับ 9 มิถุนายน 2542 รายงานว่า อดีตพระยันตระใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในสำนักสุญญตาราม เมืองเอสคอนดิโด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีสาวกคนสนิท คอยติดตามรับใช้เหมือนเคย มีคนไทยที่ยังศรัทธา เดินทางไปทำบุญอยู่บ้างประปราย ส่วนนางจันทิมาและเด็กหญิงที่อ้างว่าเป็นลูกของอดีตพระยันตระซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ชั้น ป.6 พักอยู่ที่ จ.จันทบุรี โดยนางจันทิมามีอาชีพรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า เรื่องราวล่วงเลยผ่านมา 20 ปีจนถึงปี 2557 คดีอดีตพระยันตระก็หมดอายุความลงทุกคดี และเกิดกระแสฮือฮาขึ้นอีกครั้งเมื่ออดีตพระยันตระปรากฏตัวด้วยผมเผ้าหนวดเคราขาวโพลนยาวเฟื้อยนุ่งห่มด้วยผ้าสีเขียวขี้ม้าแปลกตาเดินทางกลับเข้าประเทศ ในฐานะคนปกติไม่มีคดีความติดตัว โดยมาพักที่บ้านเกิดที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยเปิดบ้านแสดงธรรมะให้ประชาชนที่มีจิตศรัทธาแห่เข้ามาฟังธรรมกันเป็นจำนวนมาก เป็นเครื่องชี้ว่า ไม่ว่าอดีตพระยันตระจะเคยต้องมลทินเพียงใดก็ไม่อาจทำลายศรัทธาของลูกศิษลูกหาตัวจริงลงได้ และการกลับมาเมืองไทยครั้งที่ 2 เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ที่นายวินัย หรืออดีตพระยันตระได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โปรดศรัทธาลูกศิษย์ลูกหาทั้งญาติโยมและพระสงฆ์ ทั้งยังปรากฏภาพในวงสำรับอาหารเพลร่วมกับพระสงฆ์ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อยถึงความเหมาะสม แต่ก็ชวนให้ขบคิดไม่น้อยว่า ความจริงอดีตพระยันตระที่สังคมไทยรู้จักและถูกจับสึกไปแล้วแต่ไม่ได้ถูกทำลายลง แต่เขากลับคืนสู่รากเหง้า ‘ฤาษียันตระ’ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของตนเองเมื่อหลายทศวรรษก่อน   พระดังต้องข่าวฉาว เรื่องเล่าซ้ำซากในสังคมพุทธไทย กรณีของอดีตพระยันตระ เป็นบทพิสูจน์หนึ่งของปัญหาชาวพุทธไทย เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปัญหาพระชื่อดังต้องข่าวฉาว แล้วยังกลับมามีที่ยืนอยู่ท่ามกลางลูกศิษย์ของตนเองได้ แต่หลาย ๆ คนเช่น อดีต ‘พระนิกร ธรรมวาที’ พระนักเทศน์เสียงทองแห่งยุคสมัยต้นทศวรรษ 2530 และถูกเปิดโปงว่าอยู่มีสัมพันธ์กับสีกาและมีบุตรด้วยกัน หลังจากถูกจับสึกและใช้ชีวิตอย่างคฤหัสถ์นานหลายปีจนเสียชีวิต วันเผาศพก็มีลูกศิษย์ลูกหานับพันไปร่วมงาน สะท้อนว่าความนิยมไม่ได้ตกต่ำจมดินอย่างที่คนนอกเข้าใจ หรืออดีต ‘พระภาวนาพุทโธ’ อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพราน ดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการสงฆ์ไทยผู้สร้างตำนานมังกรตะกายฟ้า แต่โดยขุดคุ้ยข่าวฉาวกรณีข่มขืนเด็กหญิงชาวเขาจนถูกจับสึกติดคุกจนแก่ แต่ตอนติดคุกก็ยังมีเงินฝากกว่าสิบล้านที่ลูกศิษย์ลูกหามอบให้ พอพ้นโทษออกมาก็กลับมาใช้ชีวิตอยู่ในวัดสามพรานโดยการโอบอุ้มของศิษยานุศิษย์ แถมมีพระสงฆ์ไปกราบไหว้ราวกับเป็นอริยสงฆ์ กรณีของพระดัง ๆ ที่เคยเป็นข่าวฉาว สื่อมวลชนที่ตามขุดคุ้ยต่างพบเจอประสบการณ์คล้ายคลึงกัน คือถูกฟ้องร้อง ข่มขู่ คุกคาม เพราะสังคมพุทธไทยที่แสวงหาพระเด่นพระดัง มีเส้นบาง ๆ คั่นกลางระหว่างความศรัทธาและงมงาย ทำให้พระสงฆ์อยู่ในสถานะเหนือคนธรรมดาทั้งที่เป็นเพียงสมมติสงฆ์ พร้อมยกความเชื่อเป็นสิ่งเปราะบางแตะต้องวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ หรือขุดคุ้ยไม่ได้ แม้ใต้พรมความศรัทธานั้นยังมีอีกหลายเรื่องราวซุกซ่อนอยู่ ขณะเดียวกัน กรณีของอดีตพระยันตระยังเป็นบทเรียนชั้นดีว่า บทบาทของมหาเถรสมาคมนั้นไม่สามารถใช้อำนาจที่มีจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที กระบวนการยุติธรรมก็ล่าช้า จนส่งผลให้อดีตพระดังรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง หาช่องเอาตัวรอดจากวิกฤตโดยการไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์และรอวันหมดอายุความ ปล่อยให้ปัญหาคลุมเครือเช่นนั้นทำให้ตนเองยังมีที่ยืนในอนาคต เพราะอย่างน้อยยังมีลูกศิษย์ที่หลับหูหลับตาศรัทธาตัวเองอีกมากมายในบ้านเมืองนี้.   เรื่องโดย: กัณฐ์ นครสุขาลัย ภาพ: https://www.facebook.com/SunnataramCaliforniaPhraAjahnYantraAmaro/photos/2195967897155347 อ้างอิง : "นักเดินทางอิสระ ท่านยันตระ อมโรภิกขุ" สารคดี ปีที่ 7 ฉบับที่ 82, ธ.ค. 2534 ข้อเขียน ย้อนรอย 15 ปีสารคดี "ยันตระ อมโรภิกขุ" โดย กุลธิดา สามะพุทธิ และวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 14 และ 16 ม.ค. 2537 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ 24 เม.ย. 2557 รายการข่าวดังข้ามเวลา ตอน นารีพิฆาต พิฆาตนารี สำนักข่าวไทย อสมท