เยฟเกนี คัลดี ช่างภาพทหารผู้ถ่ายภาพ ปักธงโซเวียตเหนือรัฐสภานาซี

เยฟเกนี คัลดี ช่างภาพทหารผู้ถ่ายภาพ ปักธงโซเวียตเหนือรัฐสภานาซี
หนึ่งในภาพถ่ายที่โดดเด่นที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 คงหนีไม่พ้นภาพการปักธงชาติสหรัฐฯ ของกลุ่มทหารอเมริกันเหนือเกาะอิโวจิมา ด้วยฝีมือของ โจ โรเซนธัล (Joe Rosenthal) ช่างภาพอเมริกัน ซึ่งกลายมาเป็นภาพสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของสหรัฐฯ เหนือกองทัพญี่ปุ่น (ตอนถ่ายยังไม่ชนะแต่ให้ความหวังว่าสันติภาพอยู่แค่เอื้อมแล้ว)  งานชิ้นนี้ถูกนำไปผลิตซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าในสื่อหลายรูปแบบ นอกจากจะทำให้โรเซนธัลได้รับรางวัลพูลิตเซอร์แล้ว มันยังเป็นภาพปลุกใจให้รักชาติที่สำคัญที่สุดภาพหนึ่งของสหรัฐฯ ในฝั่งโซเวียตก็มีภาพถ่ายที่ทรงพลังไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นก็คือภาพการปักธงโซเวียตเหนือรัฐสภานาซีในกรุงเบอร์ลิน ฝีมือของ เยฟเกนี คัลดี (Yevgeny Khaldei) ช่างภาพทหารชาวยูเครนที่ถ่ายภาพนี้หลังภาพปักธงที่อิโวจิมาราวสามเดือน โดยได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายของโรเซนธัลนั่นเอง ภาพของคัลดีเป็นภาพที่มีการจัดฉากเพื่อให้ภาพออกมาทรงพลังที่สุด ต่างจากภาพของโรเซนธัลที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีในยุคที่กล้องยังถ่ายได้ทีละภาพ ไม่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องเป็นสิบ ๆ ภาพในชั่ววินาทีเหมือนในยุคดิจิทัล (แม้จะมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการจัดฉาก แต่โรเซนธัลยืนยันว่าไม่ใช่และก็มีพยานหลักฐานช่วยยืนยัน - CNN แต่ภาพของคัลดีก็ทรงคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ไม่แพ้กัน มันคือสัญลักษณ์ของชัยชนะ การลงทัณฑ์ และการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อความรุนแรงของนาซี ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงชาวโซเวียตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาชนที่รอคอยสันติภาพ (ก่อนต้องเผชิญกับความขัดแย้งรูปแบบใหม่) ในการถ่ายภาพประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ คัลดีวางแผนตั้งแต่ทัพโซเวียตเคลื่อนพลเข้าสู่เบอร์ลิน เขาอยากจะได้ภาพที่สื่อถึงชัยชนะของกองทัพแดงเหนือกองทัพนาซี "ธงโซเวียต" จึงเป็นองค์ประกอบที่ขาดเสียไม่ได้ แต่ปรากฏว่ากองทัพของเขาไม่มีธงผืนใหญ่อย่างที่เขาต้องการ เขาจึงต้องเดินทางกลับไปยังมอสโคว ขอร้องให้ลุงที่เป็นช่างเย็บผ้าช่วยปักรูปค้อนและเคียวลงบนผ้าปูโต๊ะสีแดง  คัลดีให้ทหาร 3 นายติดตามเขาขึ้นไปบนอาคารรัฐสภาไรชส์ทาค ซึ่งเป็นโลเคชันที่เหมาะที่สุดเพราะมันเป็นเหมือนบัลลังก์แห่งอำนาจของนาซี และจัดท่าทางกำกับท่าทางของทหารที่ถือธงเพื่อให้ได้ภาพแห่งชัยชนะที่สง่างามที่สุด เขาถ่ายฉากนี้จนฟิล์มหมดม้วน เมื่อได้ภาพที่ต้องการเขายังทำการ "โฟโตช็อป" เล็กน้อยในห้องมืดด้วยการเพิ่มคอนทราสต์ (contrast - การตัดกันของสี) และเพิ่มหมอกควันเข้ามา ทำให้เหมือนทหารโซเวียตขึ้นไปปักธงหลังการสู้รบจบลงแบบ "หมาด ๆ" (Vox) ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงเห็นว่า ทหารที่ยืนอยู่ด้านล่างเพื่อช่วยจับ "อเล็กเซ เบเรสต์" (Alexei Berest) ทหารเชื้อสายยูเครนผู้ถือธงโซเวียตนั้นสวมนาฬิกาบนแขนทั้งสองข้าง ก็ขอให้คัลดีช่วยลบนาฬิกาบนข้อมือของทหารนายนี้ออกสักข้างหนึ่ง เพราะกลัวว่าภาพลักษณ์ "ฮีโร" ของทหารโซเวียตผู้ปราบนาซีจะเสียหาย เนื่องจากคนอาจจะคิดได้ว่า ทหารรายนี้ไปฉกนาฬิกาของคนตายมาเป็นของตัวเองหรือไม่? หรือใช้กำลังชิงทรัพย์มาจากศัตรูหรือเปล่า? คัลดีจึงต้องอาศัยทักษะทางหัตถกรรมค่อย ๆ ใช้เข็มเขี่ยฟิล์มเพื่อให้นาฬิกาที่เกินจำนวนคนปกติจะสวมใส่หายไปจากภาพ จนได้ภาพที่มีการคัดสรรอย่างดีที่สุดเพื่อป่าวประกาศชัยชนะของโซเวียต ซึ่งแม้ว่ามันจะเป็นภาพที่มีการแต่งเติมและจัดฉาก แต่ ไมลส์ บาร์ธ (Miles Barth) อดีตภัณฑารักษ์แผนกจดหมายเหตุ แห่งศูนย์กลางภาพถ่ายนานาชาติในแมนฮัตตันยืนยันว่า คุณค่าของภาพภาพนี้มิได้ด้อยค่าลงไปจากการกระทำดังกล่าว (The New York Times) สำหรับชีวิตส่วนตัวของคัลดี เขาเกิดในครอบครัวชาวยิวออร์โธดอกซ์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1917 ในเวลาใกล้เคียงกับการปฏิวัติรัสเซีย หนึ่งปีต่อมาแม่ของเขาถูกยิงตายในเหตุการณ์ตามล่าชาวยิว และในปี 1941 พ่อกับน้อง ๆ ของเขาก็ถูกฆ่าตายระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของกองทัพนาซีผู้รุกราน  เขาเริ่มทำงานรับจ้างตั้งแต่อายุ 11 ปี ด้วยความชื่นชอบการถ่ายภาพมากเขาลองทำกล้องถ่ายภาพขึ้นเองด้วยกล่องกระดาษกับแว่นตาของยาย จนปี 1936 เขาไปขอทำงานกับ Tass สำนักข่าวของโซเวียตและได้ถ่ายภาพสำคัญ ๆ จนกระทั่งจบสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นเพียงสามปีเขาก็ต้องออกจากงาน และเมื่อได้งานใหม่กับหนังสือพิมพ์ Pravda เขาก็ต้องออกจากงานอีกรอบในปี 1978 สาเหตุก็น่าจะมาจากการที่เขาเป็นยิว คัลดีไม่ได้รับเครดิตมากนักในฐานะช่างภาพในโซเวียต และไม่เคยได้ส่วนแบ่งรายได้จากภาพถ่ายอันโด่งดังของเขาเลย แม้ว่ามันจะถูกนำไปผลิตซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ว่าจะเป็นแสตมป์ หรือภาพที่ระลึก และใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยเงินบำนาญเพียงเดือนละ 24 ดอลลาร์ แต่ในสหรัฐฯ เขาได้รับคำชื่นชมไม่น้อยโดยเฉพาะในหมู่ชาวยิว มีการจัดแสดงภาพของเขาในพิพิธภัณฑ์ชาวยิวในนิวยอร์กเมื่อปี 1997 (ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในปลายปีเดียวกัน) อย่างไรก็ดี ในการให้สัมภาษณ์ในกรุงมอสโควเมื่อปี 1995 คัลดีที่ผิดหวังกับความล้มเหลวของระบบคอมมิวนิสต์เมื่อถูกถามว่า ถ้าเลือกได้เขาจะย้ายไปอยู่สหรัฐฯ ที่ที่ช่างภาพผู้เปี่ยมความสามารถอย่างเขาสามารถรวยได้ง่าย ๆ ด้วยกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่? เขาตอบกลับไปว่า "ผมคือชาวรัสเซียทั้งหัวใจ ผมไม่เคยคิดเรื่องเงิน ผมแค่ชอบถ่ายรูปเท่านั้น" (The New York Times)