ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือขั้นต่ำที่สังคมไทยจะยอมรับได้

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือขั้นต่ำที่สังคมไทยจะยอมรับได้
การถ่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ออกไปของ ส.ส. ฟากรัฐบาลและ ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช. ดูเหมือนกำลังจะนำประเทศเข้าสู่ทางตันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากมีการจัดชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นระยะในหลาย ๆ พื้นที่ ทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับพ่ายแพ้การโหวตโดยพรรคร่วมรัฐบาลจับมือส.ว. ยื้อวาระให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อซื้อเวลาไปอีก 1 เดือน อีกหนึ่งองค์กรสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก็คือ 'โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน' หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไอลอว์ (iLaw) โดยมี 'ยิ่งชีพ อัชฌานนท์' เป็นตัวตั้งตัวตี โดยเริ่มรณรงค์ตั้งแต่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563 และปิดรับในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563 ซึ่งการล่ารายชื่อตลอดระยะเวลา 43 วัน มีผู้ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า 1 แสนรายชื่อ โดยไอลอว์นั้นทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย "ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 คือมันถูกวางรากฐานให้เป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี การวางกลไกให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยากจนแทบจะแก้ไขไม่ได้ การรักษาไว้ซึ่งอำนาจตามคำสั่งของประกาศ คสช. ที่เป็นคณะรัฐประหาร เรื่องพวกนี้ล้วนขัดกับหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานทั้งหมด" ยิ่งชีพกล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 เมื่อเราถามถึงข้ออ้างที่ทางฝ่ายที่ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นกล่าวว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ได้ผ่านการทำประชามติของประชาชนมาแล้ว ยิ่งชีพมองเรื่องนี้ว่า "บรรยากาศในการทำประชามติครั้งนั้นมันยิ่งกว่าคำว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ทุกคนทราบกันดีมีการจับกุมคนรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก ผมเพิ่งมีโอกาสไปออกรายการกับแกนนำกลุ่มไทยภักดี เขาก็อ้างเรื่องการผ่านประชามติของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่พอเราถามถึงหลักการที่จะแก้ไขเขาเลี่ยงที่จะไม่ตอบและยังท่องคำเดิม ๆ คือการผ่านประชามติ กับคนอีกกลุ่มที่อ้างว่าจะรีบแก้รัฐธรรมนูญทำไมไม่รีบแก้ปัญหาปากท้องก่อน คือต้องทำความเข้าใจว่าเราสามารถแก้ไขทั้งสองสิ่งนี้ไปพร้อมกันได้ ไม่ใช่ว่าต้องทำเรื่องหนึ่งแล้วทิ้งอีกเรื่องหนึ่ง และการแก้ไขปัญหาปากท้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล" จุดเริ่มต้นในการสนใจด้านกฎหมายของยิ่งชีพ ที่ตัดสินใจเข้าศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือเมื่อครั้งเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เขาชอบวิชาสังคมศึกษา ประกอบกับการที่เห็นคุณพ่อที่ทำอาชีพทนายความในสำนักกฎหมายเป็นต้นแบบ ทำให้ตัดสินใจสอบเข้าเรียนด้านกฎหมาย เพราะหวังว่าจบมาจะได้ทำงานในสำนักกฎหมายของคุณพ่อในภายภาคหน้า แต่จุดเปลี่ยนจริง ๆ ของยิ่งชีพก็คือ ในรั้วธรรมศาสตร์นั้นเขาผ่านงานกิจกรรมนักศึกษาที่หลากหลายตั้งแต่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุมนุมเชียร์และแปรอักษร และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มอิสระ 'เพาะรัก' อีกด้วย "จริง ๆ พอเข้ามาศึกษาที่นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เราก็พบว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจให้ทำเยอะมากนอกคณะ ไม่ใช่แค่วิชาที่เรียน พอสักระยะเรารู้สึกว่าเรามีความสุขกับการที่ได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการออกค่ายอาสา การทำสื่อ" ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือขั้นต่ำที่สังคมไทยจะยอมรับได้ ระหว่างศึกษาที่ธรรมศาสตร์ เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 แล้วได้เห็นการทำรัฐประหาร 2549 เหตุการณ์นั้นเปลี่ยนมุมมองของยิ่งชีพ ต่อสังคมและการเมืองไทย "สิ่งที่เราได้เห็นก็คือการละเมิดหลักการทุก ๆ อย่าง จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อกำจัดคุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) เราได้เห็นกลไกการใช้อำนาจที่แปลกประหลาดและผิดไปจากหลักการค่อนข้างมาก จริง ๆ คำว่าตุลาการภิวัตน์ ถ้าถูกนำไปใช้อย่างถูกต้องเช่นการตีความกฎหมายตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เราจะเห็นว่ามีการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตในการตีความ จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งแน่นอนว่ามันให้ผลตรงกันข้ามในความน่าเชื่อถือของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย" เมื่อถามว่า การเรียนนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ แหล่งบ่มเพาะนักกฎหมายชั้นนำของประเทศนั้น เวลาเห็นนักกฎหมายรุ่นใหญ่หลายคนที่ไปทำงานรับใช้เผด็จการ หรือร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เขามองอย่างไร "มันมีสองความรู้สึกครับ ความรู้สึกแรกคือโกรธ ผมมองว่านักกฎหมายที่ไปรับใช้คณะรัฐประหารนั้น แทบไม่แตกต่างกับทหารที่เป็นแกนนำในการยึดอำนาจเลยด้วยซ้ำ และอีกความรู้สึกก็คือผมทึ่งมาก ๆ ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นจะใช้เทคนิคทางกฎหมายในการบิดเบือนเพื่อซ่อนเร้นให้ผลประโยชน์ย้อนกลับมาที่ตัวเองได้เสมอ" ยิ่งชีพกล่าว แล้วทำไมถึงตัดสินใจเข้ามาทำงานภาคประชาสังคม แทนที่จะไปสอบข้าราชการ หรือไปอยู่ตามสำนักกฎหมายชื่อดัง "อาจเพราะในรั้วธรรมศาสตร์เราสนุกกับการทำกิจกรรมมากกว่าการเรียน เราไปเรียนเพื่อไปสอบให้มันผ่านไปให้ได้ แต่ชีวิตของเราจริง ๆ ชอบในด้านนี้ การทำงานอาสา การออกค่าย การรณรงค์ให้ความรู้ด้านกฎหมายกับประชาชน เมื่อมีโอกาสหลังเรียนจบในการทำงานด้านพัฒนาสังคมกับภาคประชาสังคม เราจึงไม่ปฏิเสธงานด้านนี้เลย "คุณเชื่อไหมว่า 11 ปีที่เราผลักดันไอลอว์มา ยังไม่เคยมีกฎหมายใด ๆ จากภาคประชาชนที่ถูกนำไปใช้เลย คุณว่าแปลกไหม แถมบางเรื่องที่เราเสนอและผลักดันกลับได้ผลตรงกันข้าม เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ กลายเป็นว่ารัฐบาลยุค คสช. ไปแก้ไขให้มันมีความเข้มข้นในการบังคับใช้ต่อประชาชนมากขึ้น” ยิ่งชีพ ถอดบทเรียนการทำงานของเขาด้วยความแปลกใจว่าทำไมเสียงของประชาชนถูกละเลย ตลอด 43 วันในการล่ารายชื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดอะไรขึ้นบ้าง ยิ่งชีพเล่าให้ฟังว่า "ตอนแรกเราเองก็ไม่กล้าคิดว่า 50,000 รายชื่อจะทำได้จริงไหม เพราะถ้าทำไม่ได้มันก็สะท้อนว่าหรือประชาชนเขาไม่เห็นด้วยกับเรา แต่พอถึงเวลาจริง ๆ ในระยะเวลา 43 วันมันน่าตื่นเต้นและตื้นตันมาก ๆ เราได้เห็นการตื่นตัวของประชาชนที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราได้เห็นความทุ่มเทของทีมงาน วันชุมนุมใหญ่ 19 กันยายนที่ผ่านมาเราได้มาเกิน 10,000 รายชื่อจากการทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำของทีมงาน หรือทางไอลอว์เองเราไปเปิดตู้ไปรษณีย์กัน 2-3 วันครั้ง พอเราเปิดตู้ไปรษณีย์ออกมาเราเห็นรายชื่อที่ส่งมา 2-3 พันรายชื่อต่อวัน เราเห็นความพยายามของประชาชนที่บางคนพรินต์เอกสารเอง เขียนเอง เย็บแม็กมาเองเพื่อส่งมาให้เรา เราขอบคุณประชาชนทุกคนมาก ๆ ครับ" เมื่อถามยิ่งชีพว่าถึงเวลาที่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนจะยกระดับสู่การเดินลงถนนเพื่อจัดการชุมนุมหรือยัง เขาตอบว่า "คำถามนี้คุณต้องไปถามรัฐบาล ผมตอบไม่ได้ ก็เพราะว่าทั้งพรรคฝ่ายค้านเขาก็เสนอทางออกในเชิงกลไกรัฐสภาไว้แล้ว และภาคประชาชนอย่างพวกเราเองก็เสนอทางออกไว้ให้แล้วเช่นกัน แต่ถ้าหากรัฐบาลยังดึงดันที่จะรักษาอำนาจ ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการยกระดับ สำหรับผมมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจ ส.ว. ยกเลิกมรดก คสช. ทั้งประกาศคำสั่งและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางไว้ นี่เป็นขั้นต่ำที่สังคมไทยยอมรับได้ ส่วนจะไปสู่ระดับการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอันนั้นเป็นเป้าหมายขั้นสูงที่เราคาดหวังไว้ ยิ่งชีพทิ้งท้ายถึงกระแสความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษา นักเรียน และประชาชนว่า "ถ้าเทียบกับรุ่นผมตอนเป็นนักศึกษา เด็กรุ่นนี้มาไกลมาก ๆ เราจะเห็นการตื่นตัวทางการเมืองขนาดใหญ่ การกระจายตัวของการจัดชุมนุมย่อย ๆ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับโรงเรียน ระดับมหาวิทยาลัยแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ผมคิดว่าหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกให้ความสนใจการเมืองไทยในช่วงนี้ เพราะเหตุนี้ เราจะเห็นคนสลับมาเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมหน้าใหม่ ๆ ซึ่งมันไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อนในสังคมไทย ถือว่าเป็นความหวังที่น่าสนใจครับ" เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ