โยชิโกะ โอคาดะ นักแสดงญี่ปุ่นหนีเผด็จการทหารไปถูกทรมานในโซเวียต

โยชิโกะ โอคาดะ นักแสดงญี่ปุ่นหนีเผด็จการทหารไปถูกทรมานในโซเวียต
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น ญี่ปุ่นกับโซเวียตต่างแข่งขันกันแผ่อิทธิพลครอบงำภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเอเชีย ซึ่งก่อนหน้านั้นในยุคที่รัสเซียยังอยู่ใต้ระบอบซาร์ ทั้งสองประเทศเคยทำสงครามกันมาก่อน ซึ่งรัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นมิตรเท่าใดนัก ยิ่งญี่ปุ่นแสดงความทะเยอทะยานทางการทหารรุกรานแมนจูเรียแล้วตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นในปี 1932 โซเวียตยิ่งรู้สึกว่าตนกำลังถูกคุกคามจากจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น การทำสนธิสัญญาร่วมต้านคอมมิวนิสต์ (Anti-Comintern Pact) ในปี 1936 กับนาซีเยอรมนีก็ยิ่งถือเป็นการประกาศตนเป็นปฏิปักษ์ต่อโซเวียตอย่างชัดเจน รัฐบาลโซเวียตจึงไม่ค่อยเชื่อใจคนญี่ปุ่นเท่าใดนัก ไม่เว้นแม้กระทั่งชาวญี่ปุ่นผู้ฝักใฝ่ลัทธิมาร์กซ์และต้องการเดินทางมาใช้ชีวิตยังดินแดนสังคมนิยมในอุดมคติ ซึ่ง โยชิโกะ โอคาดะ (Yoshiko Okada) นักแสดงชื่อดังชาวญี่ปุ่น ก็นับเป็นกรณีตัวอย่างของเหยื่อความรุนแรงภายใต้ระบอบสตาลิน จากข้อมูลของ คาโตะ เทตซึโอะ ผู้ค้นคว้าเรื่อง เหยื่อชาวญี่ปุ่นจากความทารุณของผู้ศรัทธาสตาลินในสหภาพโซเวียต (The Japanese Victimes of Stalinist Terror in the USSR) โอคาดะเป็นนักแสดงภาพยนตร์และละครเวทีที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 1930 เธอตกหลุมรัก เรียวคิจิ ซูกิโมโตะ (Ryuokichi Sukimoto) ผู้กำกับละครเวทีผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งคู่ต้องการหลีกหนีรัฐบาลเผด็จการทหารของญี่ปุ่นที่จำกัดการแสดงความเห็นและผลงานศิลปะ จึงตัดสินใจที่จะพากันหนีไปใช้ชีวิตร่วมกันในโซเวียต (แม้ว่าทั้งคู่ต่างมีคู่ครองอยู่ก่อนแล้ว) ทั้งคู่จึงร่วมกันเดินทางลี้ภัยในปี 1938 (ซูกิโมโตะเคยพยายามเดินทางเข้าโซเวียตครั้งแรกในปี 1932 โดยได้รับความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นแต่ไม่ประสบความสำเร็จ) โดยโอคาดะคาดหวังว่าจะได้เจอกับสองผู้กำกับที่ลี้ภัยไปก่อนหน้าคือ โยชิ ฮิจิคาตะ (Yoshi Hijikata) และ เซคิ ซาโนะ (Seki Sano) โดยมิได้รู้เลยว่า ผู้กำกับทั้งสองต่างถูกเนรเทศไปก่อนหน้านั้นแล้ว โอคาดะและซูกิโมโตะก็เหมือนผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่วาดฝันชีวิตในสังคมอุดมคติไว้อย่างสวยหรูโดยไม่รู้ว่าสภาพเป็นอยู่ที่แท้จริงหลังม่านเหล็กเป็นอย่างไร และช่วงเวลาที่พวกเขาเดินทางเข้าไปก็เป็นช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด เป็นระยะที่เรียกกันว่า "Great Purge" หรือการกำจัดศัตรูทางการเมืองครั้งใหญ่ของ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียตในขณะนั้น ซึ่งเหยื่อที่ถูกกำจัดก็ล้วนเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง      เหล่าคอมมิวนิสต์ชาวญี่ปุ่นในมอสโควหลายคนก็ต้องข้อหาเป็นสายลับให้จักรวรรดินิยมญี่ปุ่น เนื่องจากความพยายามแย่งชิงอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น มีการใช้หลักฐานเท็จสร้างข้อกล่าวหาตามอำเภอใจและใช้การทรมานเพื่อให้รับสารภาพหรือซัดทอดทำให้เหยื่อผู้บริสุทธิ์หลายรายต้องโทษทัณฑ์อย่างสาหัสบ้างก็ต้องโทษตาย เมื่อทั้งคู่สามารถหลบเลี่ยงสายตาของเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นฝ่าหิมะที่ตกหนักในช่วงเดือนมกราคมข้ามพรมแดนไปยังตอนเหนือของเกาะซาฮาลิน (Sakhalin) ได้สำเร็จ (ญี่ปุ่นยึดตอนใต้ของเกาะไว้ได้หลังชนะสงครามในปี 1905 ก่อนต้องเสียดินแดนที่ยึดครองไว้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) พวกเธอก็ถูกจับกุมไว้โดยเจ้าหน้าที่โซเวียต ทั้งคู่ถูกจับแยกห้องจองจำและสอบสวนด้วยการทรมาน ซูกิโมโตะพยายามจะอธิบายกับสหายร่วมอุดมการณ์ว่าเขาเองคือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น แต่สำหรับเจ้าหน้าที่โซเวียตสมัยนั้น คนญี่ปุ่นทุกคนถูกมองเป็นสายลับของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นทั้งสิ้น ฝ่ายโอคาดะพยายามขอพบฮิจิคาตะและซาโนะสหายที่อพยพล่วงหน้ามาก่อน แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเพราะสองผู้กำกับถูกเนรเทศไปแล้วด้วยข้อหา "คนต่างชาติที่เป็นอันตรายต่อระบอบสังคมนิยม"   หลังการสอบสวนสิ้นสุดลง โอคาดะถูกตัดสินโทษให้เข้ากูลัก (Gulag - ค่ายบังคับใช้แรงงาน) ถูกใช้แรงงานหนักเป็นเวลานาน 10 ปี แต่ซูกิโมโตะโชคไม่ดีเหมือนคนรัก เขาถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในเดือนตุลาคม 1939 ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากโอคาดะถูกทรมานให้ซัดทอดผู้สมรู้ร่วมคิด เธอจึงกล่าวหาว่า ซาโนะคนที่เธอเรียกหาขณะถูกสอบสวนนั้นแท้จริงเป็นสายลับของญี่ปุ่น เซโวลอด เมียฮอยด์ (Vsevolod Meyerhold) ผู้กำกับละครเวทีชื่อดังซึ่งทำงานร่วมกับซาโนะจึงถูกต้องสงสัยว่าเป็นสายให้ญี่ปุ่นด้วย ทำให้เขาถูกจับกุมและถูกยิงเป้าด้วยเช่นกัน เข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1950 หลังพ้นโทษโอคาดะจึงได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาญี่ปุ่นให้กับวิทยุมอสโคว พร้อมกับทำหน้าที่เป็นผู้กำกับละครเวที และได้เป็นนักแสดงและผู้กำกับร่วมในภาพยนตร์เรื่อง Ten Thousand Boys ภาพยนตร์โซเวียตเรื่องแรกที่ฉายภาพของชาวญี่ปุ่นในแง่ดี เนื่องจากระยะเวลานั้นเป็นช่วงที่โซเวียตพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นอีกครั้ง โอคาดะจึงเป็นตัวอย่างของผู้ที่พยายามหนีรัฐเผด็จการเพื่อไปพึ่งพิงรัฐเผด็จการอีกแห่งโดยไม่รู้ว่าจะมีอะไรรออยู่ข้างหน้า แต่เธอยังโชคดีที่สามารถรอดพ้นจากโทษตายมาได้ และยังพอมีประโยชน์ให้รัฐเผด็จการใช้งานกาลต่อมา ไม่เหมือนนักโทษการเมืองอีกหลายรายที่พยายามรักษาชีวิตจากเงื้อมมือเผด็จการในบ้านเกิดหนีไปกบดานในต่างแดน แต่ก็ไม่สามารถรักษาชีวิตเอาไว้ได้ เหมือนเช่นซูกิโมโตะคนรักที่เธอหนีตามด้วยกันมา