‘ป๋าเต็ด’ ยุทธนา บุญอ้อม นักปั้นกว่า 30 ปี จากประกวด Hotwave ถึงยุคเทศกาลดนตรี Big Mountain

‘ป๋าเต็ด’ ยุทธนา บุญอ้อม นักปั้นกว่า 30 ปี จากประกวด Hotwave ถึงยุคเทศกาลดนตรี Big Mountain

เทศกาลดนตรี ‘Big Mountain’ มีเบื้องหลังความเป็นมาจากชายชื่อ ‘ป๋าเต็ด’ ยุทธนา บุญอ้อม ในเส้นทางกว่า 30 ปี เขาคือนักปั้นมาตั้งแต่ยุคเวทีประกวด Hotwave จนถึง Fat Radio

"ตอนแรกจริงๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจจะมาทำเรื่อง Music Festival ตั้งใจจะมาทำค่ายเพลงเล็กๆ ให้กับแกรมมี่ คือค่ายสนามหลวง แล้วก็...มีศิลปินคนหนึ่งที่เป็นศิลปิน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปินคนแรก ๆ ของสนามหลวงเลยที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนมากนะฮะ นั้นก็คือ ลุลา... “มันมีเทศกาลดนตรีเกิดขึ้นในเมืองไทยมากมายล่ะ หลายงานก็ทำได้ดีเลยด้วย เรามาทีหลัง เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าแบบ ทำ Mini Festival ไม่พอว่ะ มันต้องทำใหญ่เลยหวะ...ก็เลยเป็นที่มาของเทศกาลดนตรี Big Mountain”   เรื่องราวของป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ก่อนที่เราจะรู้จักกับเขาในรายการสัมภาษณ์ศิลปินทางออนไลน์อย่าง "ป๋าเต็ดทอล์ก" หากป๋าเต็ดมีเวลาเขียนใบสมัครงาน เราคงเห็นใบสมัครงานของเขาที่เต็มไปด้วยงานแห่งยุคสมัยมากมาย อย่างเช่น การปั้น Hotwave Music Awards ที่ทำให้โลกรู้จักวง Bodyslam, Fat Radio คลื่นวิทยุที่เคยเปิดเพลง "บุษบา" เพลงเดียวทั้งวันเพื่อขอโทษแฟนคลับที่เปลี่ยนแนวเพลงในการจัดรายการ และ Big Mountain Music Festival มันใหญ่มาก เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่เริ่มต้นมาจากจุดเล็กคือการเตรียมการจัดคอนเสิร์ตให้ลุลา จนในที่สุด...มันก็ใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่เห็น เรียกได้ว่าทั้งสามงานของป๋าเต็ดอยู่ในคาบเกี่ยวเวลาทั้งสามยุค 90s, 2000s และ 2010s และส่งผลถึงปัจจุบัน เรื่องราวงาน และชีวิต ที่อาการป่วยหนักของป๋าเต็ดในครั้งหนึ่ง ทำให้เขามองเห็นอีกมุมของชีวิตตัวเอง นี่คือบทสัมภาษณ์ของเขาป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม   ป๋าเต็ดยุค Hotwave Music Awards "Hot Wave Award เริ่มต้นขึ้นด้วยไอเดียที่ Simple มากเลยนะฮะ คือ... อ่า... เราเป็นรายการวิทยุสำหรับวัยรุ่น เราก็เลยอยากมีกิจกรรมสำหรับวัยรุ่น แล้วก็กิจกรรมหนึ่งที่เราเทียบจากตัวเราเองตอนที่เราเป็นวัยรุ่นว่าดนตรี โดยเฉพาะการตั้งวงดนตรี การเล่นดนตรีมันเป็นเรื่องที่ ผมเชื่อว่าวัยรุ่นที่รักดนตรีทุกคน มักจะทำอย่างงั้นกัน ก็เอาวงดนตรีมาประกวดกันน่าจะเหมาะ แต่ว่า... เรามองว่า วันนั้นนะ ณ วันนั้นที่ไม่มีเดอะสตาร์ ยังไม่มีเอเอฟ ยังไม่มีเดอะวอยซ์ อะไรอย่างนี้นะฮะ การประกวดวงดนตรีในมุมมองของผม ผมจะรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องน่าเบื่อมาก คือ... สมมติเราไปเดินสยามแล้วเห็นมีเวทีประกวดวงดนตรีอยู่ ณ วันนั้นนะ เราจะรู้สึก ทำไมกูต้องไปดูการประกวดวงดนตรีวะ ไอ้บนเวทีนั่น กูก็ไม่รู้จักซักคน เป็นใครมาก็ไม่รู้ แล้วอาจจะเล่นเก่งมากก็ได้ แต่แบบ สมมติเขาเล่นเพลงของใครซักคนนึง ก็เอาเพลง Impossible มาเล่น เอาเพลงอัสนี-วสันต์ มาเล่น แล้วเราก็จะรู้สึกว่า ทำไมกูต้องไปดูวะ ในเมื่อกูก็ไปดูอัสนี-วสันต์เล่นก็ได้ "การประกวดวงดนตรี ณ วันนั้นในความรู้สึกของผมมันก็เลยเป็นเหมือนกับ โอเคเล่นเก่งแหละ มาประชันกัน แล้วก็คนดู คนเชียร์ก็คือพวกเดียวกัน ญาติพี่น้องเท่านั้นเอง เพราะว่าคนอื่น มันไม่มีเหตุผลที่จะไปเชียร์เลย แต่... ในขณะเดียวกัน ทำไมเวลา ผมอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบนะฮะ ทำไมทุกวันนี้ ทั้ง ๆ ที่ผมเรียนจบแล้ว มีแข่งบอลจตุรมิตร ผมยังกลับไปเชียร์อยู่เลย ผมก็ไม่รู้จักนักบอลซักคนนึง แต่พอเห็นเขาใส่เสื้อสวนกุหลาบ ผมก็เชียร์ล่ะ โดยไม่ต้องรู้จักเลยว่าน้องเหล่านั้นคือใคร หรือเอาเรื่องใหญ่กว่านั้นก็คือ ทำไมทุกวันนี้ ถ้าฟุตบอลทีมชาติไทยแข่งเราก็ต้องเชียร์ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องรู้จักนักบอลนั้นเลยซักคนหนึ่ง ฟุตบอลอาจจะง่าย ต่อให้แข่งเปตองก็ได้ คือเราดูเปตองไม่เป็นเลย แต่ถ้าเรารู้ว่าทีมชาติไทยเข้าชิงเราก็เชียร์ โดนที่เราไม่จำเป็นต้องรู้จักอะไรเกี่ยวกับเปตองเลยด้วยซ้ำไป "เราก็เลยคิดว่า เฮ้ย! บางทีการผสมเรื่องนี้เข้าด้วยกัน มันอาจจะทำให้การประกวดวงดนตรีมันสนุกยิ่งขึ้น มันน่าติดตาม มันน่าเชียร์มากยิ่งขึ้น มันก็เลยกลายเป็นไอเดียว่า ถ้าวงดนตรีมาจากโรงเรียนเดียวกันใส่ยูนิฟอร์มของโรงเรียนขึ้นแข่งนะฮะ ในนามของโรงเรียน หรือ เอ่อ... ในนามของมีชื่อโรงเรียนปะอยู่ด้วย อาจจะไม่ใช่ทีมชาติ หรือเป็นทีมโรงเรียนด้วยซ้ำไป ก็เลยกลายเป็น Hot Wave Award นะฮะ สิ่งที่มันเกิดขึ้น มันเลยพิเศษกว่าการแข่งขันวงดนตรีโดยทั่วไป คือทุกคนจะรู้สึกว่า ต่อให้เราไม่รู้จักพวกเขาเลยเนี่ย เราก็สนใจที่จะดู เราก็สนใจที่จะเชียร์ เพราะว่าเขาได้พรีเซ็นต์สถาบัน หรือสิ่งที่เราผูกโยงอยู่ด้วยนะฮะ แล้วมันก็นำมาซึ่งความตั้งใจ ความพยายามที่จะทำให้ดีที่สุด เพื่อที่จะได้ เอ่อ... เอาชื่อเสียง กลับไปที่สถาบันของตัวเอง อันนี้คือจุดเริ่มต้น แล้วมันเลยทำให้เป็นการประกวดที่ประสบความสำเร็จ "แต่... สิ่งที่มันตามมาอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมว่าเป็นหัวใจที่ทำให้มันเกิดเป็นสถาบันทางด้านดนตรี มันคือ ในวันประกวด โดนเฉพาะวันชิงชนะเลิศ กรรมการที่มาตัดสิน ผมจะเลือกคนที่เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติว่าใครจะได้เป็นศิลปินในแต่ละค่ายนะฮะ คือเชิญมาทั้งวงการ แกรมมี่มีค่ายย่อยกี่ค่ายผมเชิญมาหมด เบเกอรี่ ค่ายเล็กค่ายน้อยตอนนั้น โดยเฉพาะช่วงบูมของอินดี้ช่วงแรก ประเทศไทยมีค่ายเพลงประมาณ 50 ค่าย คือค่ายไหนที่น่าสนใจผมชวนมาหมด สิ่งที่มันเกิดขึ้นมันเลยกลายเป็นว่า เมื่อการประกวดผ่านไปปั๊บ น้อง ๆ เหล่านี้เขาไม่ได้ประกวดเพื่อได้รางวัลชนะเลิศอย่างเดียว แต่ว่าเขาประกวดโดยผ่านสายตาของบรรดาแมวมองแต่ละค่ายทั้งหมดเลย มันเลยทำให้แชมป์ปีแรกกลายเป็นวงละอ่อน แล้วก็กลายเป็น Bodyslam ในที่สุด แชมป์ปีต่อมา ความจริงไม่ใช่แชมป์ด้วยซ้ำไป เป็นผู้เข้ารอบสุดท้ายเฉย ๆ ก็กลายเป็น Labanoon เอ่อ... ต่อมามีกะลา มี Clash มีต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีหลายคนที่เดินเข้ามาบอกผม แล้วก็บอกว่า... พี่ ผมเคยประกวด Hot Wave Award ด้วยนะ ผมยังจำไม่ได้ด้วยซ้ำไปนะฮะ ผมกล้าพูดได้ว่าทุกคนที่โตทัน Hot Wave Award แล้วยังอยู่ในวงการเพลงไทยตอนนี้ ผมว่าเกินครึ่ง เคยเกี่ยวข้องกับ Hot Wave Award ไม่มากก็น้อย Retrospect เนี่ย ประกวด Hot Wave Award น่าจะ ที่เขาบอกมา น่าจะอย่างน้อยก็สอง-สามครั้ง เพียงแต่ว่าเราไม่เคยเห็นเขาเลยในการประกวด เพราะว่ามันตกรอบทุกครั้งอะไรอย่างนี้เป็นต้น ผมว่านี่แหละ legacy ที่สำคัญ มันคล้าย ๆ กับว่า Hot Wave Award มันเป็นพื้นที่ที่เป็นประตูบานที่สำคัญมาก ที่ทำให้เขา ก้าวจากการเป็นนักดนตรีสมัครเล่น มาเป็นนักดนตรีอาชีพ ในวันที่มันยังไม่มี Youtube ในวันที่ยังไม่มี Facebook ในวันที่มันยังไม่มีพื้นที่อื่น ๆ Hot Wave Award มันเป็นประตูโดเรมอนเลยครับ มันแบบเล่นปึ้ง! กระโดดเปิดประตูปุ๊บ โผล่มา ออกเทปเลยทันทีนะฮะ"   ป๋าเต็ดยุค Fat Radio "ตอนนั้น เรามีคลื่น Hot Wave เป็นคลื่นอันดับหนึ่งของวัยรุ่น มีคลื่น Green Wave เป็นคลื่นอันดับหนึ่งของคลื่นผู้ใหญ่ ของคนฟังแบบผู้ใหญ่ ไอเดียตอนนั้นคือ เอ่อ... คนที่ คนที่เป็นวัยรุ่นเขาฟัง Hot Wave เพราะว่าเปิดเพลงใหม่ โฉ่งฉ่าง มีกิจกรรมที่สนุกสนานเฮฮา คนที่ฟัง Green Wave เพราะว่าเป็นคลื่นผู้ใหญ่ เปิดเพลงฟัง เปิดเพลงเพราะ พูดจาสุภาพเรียบร้อย เต็มไปด้วยสาระ ไอเดียของเรามันคือ คือผมเป็นคนมนุษย์เดินสายกลางมาแต่ไหนแต่ไร ผมจะรู้สึกว่า อ่าว... ถ้าเกิดสมมติว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่แต่อยากสนุก อยากฟังเพลงใหม่ แล้วพอเขาเปิดไปฟัง Hot Wave เขาก็จะรำคาญวิธีการบางอย่างที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบ เช่นเดียวกันคนที่เป็นวัยรุ่น อยากจะมีสาระ อยากจะฟังเรื่องราวที่เป็นสาระใน Green Wave แต่เขาก็ง่วงนอนกับวิธีการจัดรายการแบบ Green Wave ที่อาจจะไม่เหมาะกับวัยรุ่น ไอ้คนเหล่านี้เขาจะทำยังไง "เราก็เลยพยายามหาคลื่นที่อยู่ตรงกลาง กลายเป็นที่มาของ Fat Radio ที่มีสโลแกนว่า โต ๆ มัน ๆ โต ๆ ก็คือมีสาระ มัน ๆ ก็คือในขณะเดียวกันมันก็สนุกด้วย เป็นคลื่นที่อยู่ตรงกลางระหว่าง Hot Wave กับ Green Wave เพลงที่เปิดก็อยู่ตรงกลางระหว่างเพลงที่มันอินดี้สุดโต่ง กับเพลงป็อบที่บางครั้งมันก็น่าเบื่อ เพราะมันไปที่ไหน มันก็ได้ยินเพลงเดียวกันไปหมด มันก็เป็นการคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดจากฝั่งซ้ายสุดกับขวาสุดมารวมกันไว้ตรงกลาง ในแง่ของ Branding มันค่อนข้างชัดเจนมาก คือเปิด ตึ๊ม! แล้วรู้เรื่องเลยว่า โอเค มันมี Sound ที่แตกต่างจากคลื่นอื่น เรื่องราวที่พูดในรายการก็แตกต่างจากคลื่นอื่น เอ่อ... เพลงที่เปิดในรายการ หลายเพลงก็ไม่ได้ยินที่คลื่นอื่น มันก็เลยทำให้ เปิดฟังแล้วทำให้รู้ว่านี่คือ Fat Radio "ปัญหาคือ มัน ด้วยความที่มันแตกต่าง มันก็เลยทำให้รายได้มัน... มันไม่เข้าเป้า เรตติงมันไม่ดี เราก็เลยเกือบเจ๊งฮะตอนนั้น ตอนนั้นความจริงแล้วมันไม่ใช่ มันยังไม่มีระบบการวัดเรตติงที่ชัดเจนด้วยซ้ำ ตอนปีแรกของ Fat Fat Radio เรารู้แค่ว่าเราเดินไปขาย agency , agency ไม่รู้จัก มีคนฟังเหรอ เปิดอะไรวะ เพลงก็ไม่รู้จัก ศิลปินที่เปิดวงอะไรว่ะเนี่ย 2 Day Ago Kids คือใครว่ะ Paradox คือใครวะ เอ่อ... แม้กระทั่งวงอย่าง Big Ass บางทีก็ยังไม่ดังเลย วงที่เป็นวงดังของคลื่น Fat วง Pru คือใครว้า เอ่อ... เราก็เลยทนอยู่ 6 เดือนแล้วก็เงินทุนเริ่มหมด ก็ตัดสินใจว่า เฮ้ย! หรือว่าต้องเจ๊ง หรือว่าต้องเลิกทำ เราเลยไปตัดสินใจกันว่าต้องมีงานพิสูจน์ตนสักหนึ่งงาน ถ้าเกิดงานนี้มันไม่สามารถพิสูจน์ให้เรา ให้ agency เขาเชื่อได้ว่าเรามีคนฟัง ก็ต้องพิจารณาตัวเอง แล้วก็เลิกทำ เอ่อ... งานนี้มันต้องเป็นงานที่รวมคนที่ฟัง Fat Radio มาอยู่ด้วยกัน รวมเฉพาะ Content ที่เราใช้อยู่ใน Fat Radio รวมเฉพาะศิลปินที่เราเปิดอยู่ใน Fat Radio และก็รวมเฉพาะเรื่องราวที่เราพูดอยู่ใน Fat Radio นะฮะ เอ่อ... เราเลือกสถานที่จัดเป็นสถานที่ที่ไม่ใช่สถานที่ที่คนพลุกพล่าน เพราะเราอยากให้คนมั่นใจว่า ถ้าไปยืนอยู่ที่งานของเราวันนั้นแล้วเห็นใครก็ตามที่ยืนอยู่ที่นั่น แปลว่าเขาตั้งใจมาที่นั่นจริง ๆ เขาไม่ได้เดินผ่าน คือถ้าเราจัดที่สยาม คนเยอะ มันก็พิสูจน์ไมได้ว่าเขาจะไปชอปปิงอยู่แล้วรึเปล่า เราก็เลยเลือกจัดที่ สถานที่ตอนนั้นเรียกว่าโรงงานยาสูบเก่า เป็นตึกร้างอยู่แถวเจริญกรุง ซึ่ง เอ่อ... ปัจจุบันนี้รู้สึกจะอยู่ใกล้ ๆ กับ Asiatique นะฮะ เพื่อที่ว่าถ้าเกิดใครไปโผล่ที่โรงงานยาสูบเก่า วันนั้นแปลว่าเขาตั้งใจไปงานเรา "ศิลปินที่เล่นก็จะมีแต่ศิลปินที่เราเปิดอยู่ในรายการ เปิดเพลงเพลงไหน เราก็ชวนเขาไปเล่นบนเวที เขาเล่นเสร็จ เราก็ให้บูธเขา เอา CD เอาเทปไปขาย เราชวนคนที่ทำหนังสือทำมือ มาเปิดแผงขาย เนื่องจากว่าเราพูดเรื่องราวแบบนี้ เราชวนคนทำหนังสั้นมาทำโรงหนังเล็ก ๆ ในงาน แล้วก็เอาหนังสั้นมาฉาย หนังสือทำมือยุคนั้น บางเล่มมันก็ไม่ใช่หนังสือทำมือแล้ว แต่เป็น Magazine หนังสืออย่าง A Day หนังสืออย่าง Bioscope อย่างนี้ก็มาอยู่ในโซนหนังสือทำมือ ผู้กำกับอย่าง ปราบดา หยุ่นอย่างนี้ ก็เอาหนังสั้นมาฉาย ศิลปินที่เล่นก็อย่างที่บอกไปนะฮะ 2 Day Ago Kids , Groove Riders ยังไม่มีใครรู้จักหน้าตาเลย วง Pru ไม่มีใครเคยดูการแสดงสดมาก่อน ศิลปินอย่าง ฟักกลิ้งฮีโร่ ก็ขึ้นเวทีครั้งแรก ๆ ก็ที่ Fat Fat Festival ทั้งหมดนี้เราเรียกว่างาน Fat Festival แล้วปรากฏว่า งานที่เกิดขึ้น จัดเสาร์-อาทิตย์ วันเสาร์นี่คนมากันล้นหลาม ล้นหลามถึงขนาดที่มันเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง แต่ว่ามันก็เป็นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์อย่าง หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในยุคนั้น ซึ่งก็ทำให้วันอาทิตย์ก็ดึงคนที่เป็นกลุ่ม คนอีกแบบหนึ่งมางานเราเต็มไปหมดเลย คนหอบหิ้วซื้อของ ซื้ออะไรกันเยอะแยะไปหมด แล้วมันก็เลยทำให้ agency เชื่อ แล้วก็เริ่มซื้อโฆษณาเรา"   วันบุษบาแห่งชาติ "พอมันเข้าสู่ ช่วงเวลาแห่งการเช็คเรตติงเป็นเรื่องเป็นราว Fat Radio เป็นคลื่นที่ไม่ติด Top 10 ไม่ติดกระทั่ง Top 20 ด้วยซ้ำไป บรรดา agency โฆษณาที่เคยเชื่อเราว่ามันมีคนฟังแหละ เราเคยไป Fat Fest กันมา แต่ว่าพอดูเรตติง โห! มันมีคลื่นอื่นที่เรตติงดีกว่า ราคา spot ก็ราคาเดียวกันก็ ไปซื้อคลื่นอื่นดีกว่า ก็ได้เวลาที่ Fat Radio เริ่มเกิดปัญหาอีกครั้งหนึ่ง ตอนนั้นเราก็เลยปรึกษาหารือกัน "เราเริ่มต้องเปิดเพลงแบบที่คลื่นอื่นก็เปิดกันเยอะแยะ ไอ้เพลงที่เราปกติเราไม่เปิดกันก็ต้องเริ่มเปิดเพราะว่า... มันเป็นเพลงที่ก่อให้เกิดเรตติง ซึ่งก็จริงฮะ ทำแบบนี้อยู่ 2-3 เดือน เรตติง Fat Radio ก็ดีขึ้นจริง ๆ ดีขึ้นมาแบบ... เกือบจะติด Top 10 แล้ว ภายในเวลาไม่นานเลย ซึ่งอันนี้เราก็ต้องเคารพไอ้ทีมมนุษย์สร้างเรตติง เพราะว่ามันเก่งจริง ๆ แต่ปัญหาก็คือ หัวใจ ดีเอ็นเอ ความเป็น Fat Radio ก็หายไปด้วย คนฟังที่เคยเป็นกำลังสำคัญอง Fat Radio ก็เริ่มจะรู้สึกแบบ... ทำไมอ่ะ ทำไม Fat เป็นแบบนี้ มันเหมือนว่า Fat หักหลังเขา เขาสนับสนุนเรามาตั้งแต่ไม่มีใครฟังเราเลย "เราก็เลยประชุมกัน แล้วก็ตกลงกันว่าเรากลับไปเป็นเหมือนเดิมดีกว่า แต่... เราจะอยู่ได้ด้วยรายได้น้อย ๆ นี่แหละ ด้วยการเป็นคลื่นที่มีเรตติงต่ำ ๆ นี่แหละ เดี๋ยวเราหาวิธีอยู่ได้เอา เราก็ประหยัดหน่อย เราก็อย่าใช้เงินเยอะ ก็เลยจึงเกิดวิธีการที่จะบอกกับทุกคนว่า เราจะกลับมาเป็นเหมือนเก่าแล้ว ในการที่จะบอกอะไรแบบนี้ได้ ไอ้การจะเอาเงินไปซื้อคัทเอาท์ ไปซื้อโฆษณาทีวีเพื่อจะบอกว่า เฮ้! Fat Radio กลับมาเหมือนเดิมแล้วนะ เราก็ไม่มีตังค์ที่จะทำอย่างนั้น "ถ้าอย่างนั้น เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงให้เรา ในการไปช่วยบอกให้คนอื่นกลับมาฟัง ดังนั้นเราก็เลยคิดว่ามันก็ต้องทำอะไรก็ได้ให้มันเกิดขึ้นใน Fat Radio ที่มันแปลกประหลาดมากจนทำให้คนรู้สึกว่ามันต้องไปบอกต่อ มาช่วยกันฟังซิ มันเกิดอะไรขึ้นที่ Fat Radio วะ เราก็เลยตัดสินใจว่า เราจะทำให้วันหนึ่งวันเต็ม ๆ Fat Radio จะเปิดเพลงอยู่เพลงเดียว คือมันเป็นเรื่องหลอนประสาทมากอ่ะ ที่แบบ คุณฟังรายการวิทยุอยู่รายการหนึ่ง แล้วก็... เขาเปิดเพลงอยู่เพลงเดียวทั้งวัน ไม่เปลี่ยนเพลงเลย แล้วมันหลอนยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยที่ DJ ที่จัดรายการอยู่นั้น ก็ทำเป็นไม่รู้ตัวด้วยว่าเปิดเพลงอยู่เพลงเดียว "ผมเป็นคนเสนอเองว่า มันต้องเป็นเพลงบุษบาของ Modern Dog เพราะผมว่า... Modern Dog เป็นวงดนตรีที่นำวงการเพลงไทยเข้าสู่ยุคใหม่ของวงการเพลงไทยเลย จากยุคที่แกรมมี่ , อาร์เอส, คีตา เป็นคนสร้างบรรทัดฐานให้กับวงการเพลง Modern Dog เนี่ยเป็นวงแรกที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ แล้วก็เป็นหัวขบวนนำกบฏ เข้ามาสู่วงการเพลง ซิงเกิลแรกของ Modern Dog ก็คือเพลง บุษบา ผมยังจำความรู้สึกได้ ตอนนั้นผมยังเป็น DJ อยู่ที่ Hot Wave ตอนที่เปิดเพลงบุษบาเนี่ย ไอ้อินโทรเนี่ย เต่า เต้า เต๊า เตา เต้า เต่า เตา เนี่ย ผมรู้สึกได้ทันทีว่าแบบ เชี่ย วงการเพลงไทยมันต้องไม่เหมือนเดิมแน่ ๆ เลยหวะ "แล้วเราก็เปิดเพลงนี้ เราเลือกวันนั้น เราไม่ได้เป็นคนเรียก ต่อมาจึงมีคนเรียกวันนั้นว่าเป็นวัน บุษบาแห่งชาติ เราเปิดเพลงบุษบากันทั้งวัน มีคนนับให้ด้วยฮะว่าเปิดไปทั้งหมดกี่ครั้ง พอเปิดไปชั่วโมงแรกผ่านไป ก็โทรศัพท์เข้ามาในรายการเต็มไปหมดเลย พี่ อ่า... คลื่นเลยรึเปล่าครับ มีอะไรผิดปกติรึเปล่า ซึ่งเราเตี๊ยมกันไว้หมดแล้วทั้งทีม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะทำหน้าตาเฉยมาก เราจะ ไม่มีนะครับทุกอย่างปกติดีครับ แต่พี่เปิดเพลงเดิมมา 10 รอบแล้วนะพี่ เดี๋ยวนะฮะ เดี๋ยวผมไปเช็คก่อน ไม่นะครับ นี่เราก็เปิด เปิดตามปกติ เราเปิดเพลง Groove Riders อยู่ครับ นี่ไม่ใช่ Groove Riders พี่ นี่เพลงบุษบา แล้วก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไอ้คนที่ฟังอยู่ก็เริ่มโทรหาเพื่อน เฮ้ย มึงลองหมุนมาฟัง Fat Radio กูว่าแม่งมีอะไรแปลก ๆ แน่เลยว่ะ คนก็เริ่มฟัง เริ่มบอกต่อ เริ่มไปที่ social media ที่สุดในยุคนั้นก็คือ webboard ห้องเฉลิมกรุง ของ Pantip ก็เริ่มมีคนตั้งกระทู้แล้ว คลื่น Fat Radio เป็นอะไร เปิดเพลงบุษบาทั้งวัน "จนถึงตอนที่จะครบวัน คนหมุนมาฟัง Fat Radio กันเต็มไปหมด เพื่อรอฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วพอถึงเวลาที่เรากำหนดไว้ เราก็เฉลย ก็เป็นผมนี่แหละ เข้าไปประกาศว่า ขอโทษในทุกสิ่งที่ผ่านมา ขอโทษที่เราหลงผิดไป ตอนนี้เราจะกลับมาเป็น Fat Radio เหมือนเดิมแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราก็กลับมาเปิดเพลงเหมือนเดิม Fat Radio ก็เลยกลับมาเป็นเหมือนเดิม คนฟังก็กลับมา แล้วก็ผมว่า ไอ้วิธีการที่เราเลือก ไอ้บุษบาแห่งชาติเนี่ย มันเป็นวิธีที่คล้า ยๆ กับแบบ เป็นวิธีขอโทษที่ดีที่สุด"   ป๋าเต็ด ยุค “มันใหญ่มาก” "ตอนที่เริ่มทำ Big Mountain Music Festival ตอนนั้นผมอยู่ที่แกรมมี่แล้ว ผมกลับจากการไปทำ Fat Radio กลับมาทำที่แกรมมี่อีกครั้งหนึ่ง คุณไพบูลย์ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) โทรไปชวนมาทำค่ายสนามหลวง แล้วก็...มีศิลปินคนหนึ่งที่เป็นศิลปิน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปินคนแรก ๆ ของสนามหลวงเลยที่ประสบความสำเร็จอย่าชัดเจนมาก นั่นก็คือ ลุลา ตอนนั้นก็ปั้นลุลาซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่ประกวดใน Hot Wave Music Award ปีแรกด้วย ลุลา รู้สึกจะเป็นวงได้ที่ 2 เอ่อ... ความสำเร็จของลุลาทำให้ เราอยากทำคอนเสิร์ตให้ลุลา แต่ด้วยความที่ลุลาก็เป็นศิลปินใหม่มาก เราก็กลัวว่าจะไม่มีคนดู หรือมีแล้วมันขายบัตรไม่หมดเดี๋ยวเจ๊งอีก เราก็เลยจะทำให้มันดูว่าเป็น Mini Festival ก็แล้วกัน เอ่อ... มันต้องมีศิลปินคนอื่น ๆ มาด้วย จะได้ช่วยทำให้ตัวงานมันน่าสนใจขึ้น ไอ้ครั้นขึ้นรูปมาเป็น Mini Festival ตอนนั้นมันก็แบบมันไม่ใช่ยุคที่ผมเริ่มทำ Fat Fest คือ Fat Fest มันเป็นเทศกาลดนตรีแรก ๆ ของเมืองไทย แต่ว่าตอนที่จะทำคอนเสิร์ตให้ลุลา โอ้โห มันมีเทศกาลดนตรีเกิดขึ้นในเมืองไทยมากมาย หลายงานก็ทำได้ดีเลยด้วย เรามาทีหลัง เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าแบบ ทำ Mini Festival ไม่พอ มันต้องทำใหญ่เลยหวะ เราก็วิเคราะห์ว่า แล้วเทศกาลดนตรีอื่นมันเป็นอย่างไรบ้าง "เราก็พบว่า สิ่งหนึ่งที่มันคล้าย ๆ กันในทุกเทศกาลดนตรีก็คือ มันมักจะมีแค่เวทีเดียว จัดคืนเดียว อ่า... ถ้าจะมีข้อยกเว้นก็คือ Fat Fest แต่ Fat Fest มันเป็นงานที่แบบ... ไม่ Mass เป็นงานของคนรุ่นใหม่ที่สนใจดนตรีอีกแบบ ถ้าเราอยากจะทำงานแบบ Mass มีคนมาเยอะ ๆ มันยังไม่มี งาน Mass มันจะมีเวทีเดียว พอมีเวทีเดียวปัญหาตามมาก็คือศิลปินมันเหมือนกันหมดทุกงาน เพราะว่าการมีหนึ่งเวทีมันก็จะมีข้อจำกัดว่าก็จะมีศิลปินได้ประมาณเท่านี้ เวลาเล่นมันประมาณกี่โมงถึงกี่โมงมันก็คล้าย ๆ กัน สมมติมันมีศิลปินได้ประมาณ 8 วง เขาก็จะเลือก 8 วงที่ดีที่สุด ได้รับความนิยมที่สุดในยุคนั้น ซึ่งมันก็คือวงเดียวกัน ทุกคนก็จะนึกถึงไอ้ 8 วงนี้ มันก็... มันก็จะคล้ายๆ เปลี่ยนแค่ชื่องาน กับเปลี่ยนสถานที่ แต่ Line Up ของศิลปินคล้ายกันไปหมดนะ "ถ้าเราจะเอาชนะเขา เราก็ควรจะมีศิลปินเยอะกว่า การจะมีศิลปินเยอะกว่า งั้นเรามีเวทีเยอะกว่าก็แล้วกัน พอมีเวทีเยอะกว่าแล้ว งั้นเราเบิ้ลเป็น 2 วันก็แล้วกัน มันก็เลยทำให้ ปีแรกรู้สึกจะตั้งใจมี 7 เวที มี 2 วัน ศิลปินเป็น 100 เลย เราก็มั่นใจแล้ว โอเคงั้นศิลปินเราเยอะกว่าแล้วเว้ย แต่พอมีหลายเวทีมันก็ต้องอยู่ห่างกันพอสมควรเพราะว่าไม่งั้นเดี๋ยวเสียงตีกัน อยู่ห่างกันมันก็ต้องมีกิจกรรมพิเศษ ไปวางไว้ระหว่างเวทีต่าง ๆ ก็มีลานกางเตนท์ ทำเป็นหมู่บ้าน เดินกันไกลอาจจะเมื่อย มีพื้นที่ให้คนได้มานวดกัน จ้างหมอนวดไปลงในพื้นที่ มีที่ให้ชาร์จแบต มีอาหารการกิน มันก็เลยกลายเป็นเมืองขึ้นมานะฮะ แล้วก็สถานที่ทำได้มันก็อยู่ในหุบเขา มันก็ดูแบบ... โห เป็นเมืองในหุบเขา มันก็ มันก็ลงตัวเว้ย สถานที่มันอยู่ที่เขาใหญ่ก็เลยตั้งชื่อว่า Big Mountain ตอนที่ประชุมแผนกันหลังจากที่ได้ผังงานมาแล้ว กางแผนที่ออกมาบนเวทีแล้วก็ ผมมองลงไปแล้วก็ โหเว้ย... มันใหญ่มากหวะ แล้วก็ทุกคนก็ชอบคำนี้ เออหวะ พี่ มันใหญ่มากจริง ๆ ทำสโลแกนเลยก็แล้วกัน มันก็เลยกลายเป็น Big Mountain Music Festival มันใหญ่มาก แล้วก็เริ่มทำเป็นงานขึ้นมา จะเห็นได้ว่าลืมไปเลยว่า จริง ๆ ทั้งหมดทั้งปวงเริ่มจากจะทำคอนเสิร์ตลุลานะฮะ ตอนนั้นลืมไปแล้วจริง ๆ ก็กลายเป็นว่า ทำให้มันใหญ่ที่สุดไปเลย เป็น Big Mountain ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 10 ปี มันต้องเป็นเทศกาลดนตรีที่แบบมาตรฐานใหม่ของวงการเพลงไทย"   บทเรียนชีวิตของป๋าเต็ด "เมื่อปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา ผมป่วยหนัก ผมเกือบตาย ใช้คำว่าเกือบตาย ผมหัวใจวายนะฮะ อาการมันเรียกกว่า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน ถ้าไปโรงพยาบาลช้าไปนิดเดียวผมตายไปแล้ว ด้วยความที่ไปเร็วก็เลยรักษาได้อย่างทันท่วงที เอ่อ...คือการรักษาทางด้านร่างกาย ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีการแพทย์พัฒนาไปไกลมากแล้ว มันเลยรักษาได้ทัน วันนั้นผมขึ้นเตียงเขาทำบอลลูน คือไอ้ความอึดอัด ความป่วยมันหายไปในพริบตาเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้มาจากวันนั้นมันไม่ได้มาจากวิทยาการทางด้านการแพทย์เลยนะ มันเกิดจากการที่วันที่ผมนอนพักฟื้นอยู่ "คืนนั้นที่โรงพยาบาล มันทำให้ผมคิดได้ว่า เฮ้ย! เราแม่งโฟกัสผิดเรื่องมาตลอดชีวิตเลยหรือเปล่าวะ ความสุขที่แท้จริง เรื่องที่สำคัญที่สุด มันไม่ใช่เรื่องทำอย่างไรให้คนมาดูคอนเสิร์ตเราเยอะที่สุด ทำอย่างไร เอ่อ...เราจะทำรายได้ให้บริษัทมากที่สุด ทำอย่างไร เราจะได้กระเป๋า FREITAG ครบทุกรุ่นอย่างที่ต้องการ ทำอย่างไรเราจะได้ไปเที่ยวนู่น เราจะได้กินสิ่งนี้ ที่จริงเรื่องสำคัญที่สุดมันอยู่รอบ ๆ เตียงที่ผมนอนพักฟื้นอยู่นั่นเลย ผมมองไปแล้วก็มีภรรยากับลูกนั่งอยู่ข้าง ๆ ตลอดเวลา มีเพื่อน มีลูกน้องมาเยี่ยม มีกระเช้าดอกไม้ กระเข้าผลไม้เต็มห้องไปหมด โห...แทบไม่มีที่ให้มีที่ว่างเลยนะฮะ ใครมาไม่ได้ก็ส่งข้อความมาเต็มไปหมด ผมแชร์เรื่องอาการที่เกิดขึ้นกับตัวผมไปในเฟซบุ๊ก แค่งีบไป 4-5 ชั่วโมง ตื่นมานี่ โห! มีคนแชร์ไปเป็นหมื่น ๆ คือผมไม่เคยมีการถูกแชร์ในเฟซบุ๊กมากขนาดนั้นมาก่อน นักข่าวติดต่อมาเต็มไปหมด คือในที่สุด ผมทำงานอะไรเยอะแยะที่ผมมั่นใจว่ามันโคตรสำคัญมาทั้งชีวิต จะ Hot wave music award จะ Big Mountain จะอะไรก็ตาม ไม่เคยได้รับความสนใจเท่าวันนั้น เท่าโมเมนต์นั้นของผมเลย แล้วเขาสนใจในเรื่องนี้ เขาสนใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น มัน มันต้องทำอย่างไร มันต้องแก้ไขอย่างไร "ไอ้อาการที่มันเกิดขึ้นกับผม เพื่อน ๆ ทุกคนที่มาเยี่ยมผม เมื่อออกไปแล้วทำอยู่ 2 อย่าง ไม่ไปตรวจสุขภาพ ก็ไปออกกำลังกาย คือ คือไอ้สองสามคืนที่ผมนอนในโรงพยาบาลนั่นแหละ มันทำให้ผมรู้ว่าแบบ สิ่งที่มันมี มันคือคำที่หลายคนบอกกับผมแล้ว แต่แบบ เออ เราไม่เคยใส่ใจว่าแบบเราได้รับสิ่งหนึ่งมาเท่าเทียมกันทั้งโลกเลยนะ ทุกคน ก็คือร่างกายของเรา สิ่งที่มันทำให้เราไม่เท่ากัน มันเป็นเรื่องการทำพฤติกรรมที่เรามีต่อร่างกายของเราเองต่างหาก จริง ๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องมีพุง เราไม่จำเป็นต้องอ้วน เราไม่จำเป็นต้องเป็นโรคภัยไข้เจ็บอะไรต่าง ๆ นานา เพียงแต่ว่าเราใช้ชีวิตที่มันปกติ แล้วมันจะทำให้ความสุขมันตามมา ชีวิตมันราบเรียบ ความ รวม ๆ แล้วมันคือความสุขจริงๆ คือพอผมออกจากโรงพยาบาลสิ่งที่ผมทำก็คือเลิกบุหรี่ ปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภคทุกอย่าง ทั้งอาหาร และเครื่องดื่ม เริ่มออกกำลังหายอย่างเป็นประจำ ภายในเวลาแค่ 2 เดือนมั้งครับ ผมกลับไปตรวจสุขภาพอีกที ตัวเลขทุกอย่างมันเกือบจะเรียกว่าเป็นปกติหมดเลย การเปลี่ยนแปลงในร่างกายก็เห็นได้อย่างค่อนข้างชัด เรารู้สึกสดชื่นขึ้น เรารู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้น จนผมพอจะเรียกได้ว่าผมไม่เคยแข็งแรงอย่างนี้มาก่อน "มันรู้สึกว่ามันมีความสุขจริง ๆ มันทำให้รู้ว่านี่แหละมันคือเรื่องที่เราควรจะโฟกัส กับตัวเราเอง มันคือสิ่งเดียวที่เราดูแลมันได้ เราอาจจะรวยไม่ทัน Mark Zuckerberg แต่เรามีสุขภาพที่ดีเทียบเท่า Mark Zuckerberg ได้ ไม่หล่อเท่าณเดชน์ แต่เรามีสุขภาพดีเท่ากับณเดชน์ได้ด้วยตัวเราเองด้วย ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไรขนาดนั้นเลย"   เรื่อง: ณัฐกร เวียงอินทร์