ยุวรัตน์ กมลเวชช กกต. รุ่นดรีมทีม “เสือ” ตัวจริง ไม่ใช่ “เสือกระดาษ”

ยุวรัตน์ กมลเวชช กกต. รุ่นดรีมทีม “เสือ” ตัวจริง ไม่ใช่ “เสือกระดาษ”

‘ยุวรัตน์ กมลเวชช’ กกต. รุ่นดรีมทีม ทำงานแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ทำให้ กกต. ชุดแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยถูกยกย่องเป็น กกต. รุ่นดรีมทีม 5 เสือ กกต. ของจริง ไม่ใช่เสือกระดาษ

‘ใบแดง 15 ใบ และใบเหลือง 71 ใบ’ นี่ไม่ใช่สถิติรวมใบแดงใบเหลืองในการแข่งขันฟุตบอลลีกไหน แต่เป็นผลงานของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ ‘กกต.’ ชุดที่ 1 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี 2544 (การเลือกตั้งครั้งนี้ นายทักษิณ ชินวัตร ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)

การทำงานแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ทำให้ กกต. ชุดแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้รับการยกให้เป็น ‘กกต. รุ่นดรีมทีม’ เป็น 5 เสือ กกต. ของจริง ไม่ใช่เสือกระดาษ ยิ่งในยามที่ กกต. รุ่นหลัง ๆ ถูกตั้งคำถามและถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำหน้าที่มากขึ้นเรื่อย ๆ 

ไหนจะกรณีอย่างสูตรคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อที่ยังไม่ลงตัว ทั้งที่ผ่านการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม ปี 2562 มาแล้วเดือนกว่า ก็ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะนึกถึง กกต. ชุดแรก

ย้อนกลับไปหลังวิกฤต พฤษภา ในปี 2535 เกิดกระแสปฏิรูปการเมืองจนนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และมี กกต. ชุดแรก เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่บริหารจัดการเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทย มีที่มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เป็นกรรมการ 5 คน ประกอบด้วย นายธีรศักดิ์ กรรณสูต (ประธาน กกต.), นายสวัสดิ์ โชติพานิช, นายยุวรัตน์ กมลเวชช, นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น และ นายโคทม อารียา

นายยุวรัตน์ รับผิดชอบฝ่ายจัดการการเลือกตั้ง เขาคือ 1 ใน 5 เสือ กกต. ที่มีบทบาทโดดเด่นในยามนั้น ด้วยบุคลิกการทำงานแบบถึงลูกถึงคน ผิด-ถูก ว่ากันตรง ๆ แฟร์ ๆ การันตีได้จากการแจกใบแดงใบเหลืองแบบไม่อั้น ไม่มีคำว่าพรรคพวก ไม่เกรงกลัวอิทธิพลคนดังทางการเมืองคนใด

นายบุญมาก ศิริเนาวกุล อดีตนักการเมืองชื่อดัง จ.ราชบุรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการในขณะนั้น คือนักการเมืองรายแรกที่โดนใบแดงจาก กกต. ด้วยข้อหาจ่ายเงินซื้อเสียง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนายบุญมาก ต่อมานายบุญมากฟ้องกลับ กกต. โดยเรียกค่าเสียหายถึง 100 ล้านบาท คดีนี้ต่อสู้กันจนถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งที่สุดศาลพิพากษาให้นายบุญมากมีความผิดจริง

ย้อนไปวัยเด็กของนายยุวรัตน์ เขาเกิดเมื่อปี 2476 เติบโตในครอบครัวข้าราชการ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 5 คน พื้นเพเป็นคนจังหวัดชุมพร ก่อนติดตามครอบครัวไปอยู่จังหวัดแพร่ จากนั้นย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ในกรุงเทพฯ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.วันชัย เรืองตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ก่อนไปศึกษาต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

เขาเป็นคนหัวดี เรียนเก่งตั้งแต่เด็ก สอบเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งแต่ยังใช้คำนำหน้าเป็น 'ด.ช.ยุวรัตน์' หลังจบปริญญาตรีได้บรรจุเป็นข้าราชการทันที ในตำแหน่งปลัดอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ด้วยวัยแค่ 19 ปี และเป็นนายอำเภอเมื่ออายุเพียง 23 ปี ก่อนได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากไม่ได้ส่งวิทยานิพนธ์ เพราะช่วงนั้นติดพันทำงานที่เมืองไทยจึงไม่จบ แต่ก็มีดีกรีปริญญาโทอีกใบจากประเทศฟิลิปปินส์

ด้านเส้นทางการทำงานนั้น เรียกได้ว่านายยุวรัตน์เติบโตเป็นลูกหม้อกระทรวงมหาดไทย ดูแลจัดการเลือกตั้งตามลำดับเรื่อยมา เคยเป็นหัวหน้าแผนกเลือกตั้งในกระทรวงมหาดไทย ปี 2499 ในยุคที่ขึ้นชื่อว่าอันธพาลครองเมือง มีบางช่วงถูกโยกย้ายไปเป็นอธิบดีกรมแรงงาน ก่อนกลับมาเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2536

หลังเกษียณ นายยุวรัตน์ไม่อยากเป็น กกต. และไม่คิดจะมายุ่งเกี่ยวการเมือง แต่ผู้ใหญ่ขอร้องกึ่งบังคับ เพราะเห็นว่าผ่านประสบการณ์ในฐานะผู้ปฏิบัติมาก่อน จึงปฏิเสธไม่ได้ โดยนายยุวรัตน์ ปฏิบัติงานในบทบาท กกต. ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ปี 2540 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2544

หลังพ้นวาระ นายยุวรัตน์ เคยมีชื่อติดโผ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในคณะรัฐมนตรียุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมถึงกระแสถูกทาบเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. อีกครั้งเมื่อปี 2549 แต่เจ้าตัวออกมาปฏิเสธข่าวลือ พร้อมตั้งเงื่อนไขว่าต้องมี นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา และ นายโคทม อารียา สองอดีต กกต. ที่เคยร่วมงานกันมาก่อนอยู่ด้วย เขาจึงจะรับพิจารณาข้อเสนอ แต่ท้ายสุดข่าวก็เงียบหายไป

หากเปรียบกับคำกล่าวที่ว่า ตัวตนของคนมักสะท้อนผ่านวิธีคิด นายยุวรัตน์เคยพูดถึงหลักการทำงานในฐานะ กกต. ไว้ว่า...

“การเลือกตั้งเป็นแค่วิธีการหนึ่งที่จะทำให้ได้คนเข้าไปแทนที่ ไม่ใช่วิธีการที่จะทำให้ได้คนดีเข้าไปสภา และ กกต. ต้องมีความยุติธรรมในการปฏิบัติ ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีตำแหน่งอะไร เพราะมนุษย์นั้นทนไม่ได้ ถ้าได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานที่แตกต่างกัน”

Update (กองบรรณาธิการ): มีรายงานว่า นายยุวรัตน์ เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2562 ขณะอายุ 86 ปี รายงานข่าวเผยว่า นายยุวรัตน์ ไม่มีอาการเจ็บป่วย และถึงแก่กรรมโดยสงบขณะนอนหลับ

 

เรื่อง: วันเพ็ญ มอลเลอร์

ภาพประกอบ: อภิญญา มาลยาภรณ์

หมายเหตุ: เนื้อหานี้ทีมงาน The People เรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทความเดิมที่เผยแพร่เมื่อพ.ค. 2559

ที่มา:

เนื้อหาบางส่วนจากรายการ Newsy ทางช่องบางอ้อ ชาแนล เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2557

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

สุดอาลัย สิ้น "ยุวรัตน์ กมลเวชช" อดีต กกต.ชุดดรีมทีม วัย 86. ไทยรัฐ. เว็บไซต์. เผยแพร่เมื่อ 5 มิถุนายน 2562. เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2565.