เตียวก๊ก: ปรมาจารย์ผู้วิเศษก่อกบฏโพกผ้าเหลืองด้วยศรัทธาและประชานิยม

เตียวก๊ก: ปรมาจารย์ผู้วิเศษก่อกบฏโพกผ้าเหลืองด้วยศรัทธาและประชานิยม
ก่อนจะแตกหักกันเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์จีนที่ดีที่สุดในโลกเล่มหนึ่งอย่าง ‘สามก๊ก’ ก่อนที่ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกจะถูกโค่นล้มโดยโจผี ลูกชายแท้ ๆ ของโจโฉ และก่อนที่ตั๋งโต๊ะจะเคลื่อนพลชายแดนเข้าเมืองหลวงและไม่ยกทัพกลับอีกเลย มีเหตุการณ์ที่เปรียบดั่งเป็นสารตั้งต้นของสามก๊กที่เป็นตัวจุดประกายให้ขุนศึกในบรรดาแว่นแคว้นต่าง ๆ สามารถสะสมกำลังพลทหารโดยถูกต้องและชอบธรรมจนเกิดเป็นความยุ่งเหยิงในอนาคต และเหตุการณ์ที่เรากำลังพูดถึงอยู่คือ ‘กบฏโพกผ้าเหลือง’   ขันทีเรืองอำนาจและจุดเริ่มต้นของจุดจบราชวงศ์ฮั่น นับเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นและหมุนเวียนไปมาไม่รู้จบในระบบราชวงศ์จีน แม้จะฝ่าฟันด้วยเลือด เนื้อ และชีวิตไพร่พลมากมายจนสามารถก่อตั้งราชวงศ์ได้สำเร็จ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าคำสาปเดิมที่ไม่เคยจากไปไหนและกัดกินทุก ๆ ราชวงศ์จีนในประวัติศาสตร์ก็กลับมาอีกครั้ง ทุก ๆ การสืบทอดที่ผ่านไปจากรุ่นสู่รุ่น อำนาจของราชวงศ์ก็ค่อย ๆ เสื่อมถอยไปตามเวลาและจำนวนการสืบทอดที่มากขึ้น ขันทีในบทบาทที่เปรียบเสมือนทาสที่คอยรับใช้ใกล้ชิดสมาชิกราชวงศ์ภายในก็ค่อยไต่ขั้นบันไดอำนาจและเริ่มมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของราชวงศ์อย่างช้า ๆ นานวันเข้า สายสลิงที่มีไว้เชิดฮ่องเต้ก็ค่อย ๆ แข็งแรงมากขึ้น จนท้ายที่สุดผู้ที่มีบทบาทเป็นผู้รับใช้ในคราวแรกกลับกลายเป็นผู้มีอิทธิพลอันดับต้น ๆ ในราชสำนัก เหตุการณ์เหล่านี้ก็เกิดขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของ ‘สิบขันที’ และ พระเจ้าเลนเต้ (Emperor Ling of Han) เนื่องจากความผูกพันที่อุ้มชูทายาทผู้สืบทอดบัลลังก์มาตั้งแต่เด็ก เมื่อถึงคราวที่สมาชิกราชวงศ์ที่ตนเคยได้ดูแลมานั้นเถลิงอำนาจ ขันทีเหล่านั้นก็ได้ดิบได้ดีตามไปด้วย และเมื่ออำนาจและอิทธิพลของขันที - ผู้ถูกกดขี่และลิดรอนสิทธิ์ทั้งร่างกายและจิตใจ - ก็ได้โอกาสที่จะไขว่คว้าสนองกิเลสในลาภยศเงินทองเปรียบดั่งปรสิตที่คอยจูงมือจักรพรรดิให้ทำตามประสงค์ของขันทีเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้เองจึงก่อให้เกิดคอร์รัปชันครั้งยิ่งใหญ่บนอาณาจักรจีนอันกว้างใหญ่ไพศาล ขุนนางก็โกงกินไม่แยแสทุกข์ยากของราษฎรที่นอกจากจะต้องใช้ชีวิตกับความยากจน ยังต้องเอาชีวิตรอดจากภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมจนทำให้ขาดแคลนทรัพยากรในการค้าขายและประทังชีวิตไปมาก ซ้ำร้ายยังต้องพบกับขุนศึกท้องถิ่นที่กดขี่เอาเปรียบราษฎรผ่านภาษีและการขูดรีดมากมาย สถานะทางราชสำนักที่ร่วงโรยผสานกับสภาพการเป็นอยู่ของราษฎรที่ยากจนจึงก่อให้เกิดความสิ้นหวังแทบจะทุกหย่อมหญ้า รอเพียงใครสักคนก้าวขาเข้ามาเพื่อนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่พวกเขาทุกคน   เตียวก๊กกับผู้วิเศษ ในขณะเดียวกัน ณ เมืองกิลกกุ๋น มีพี่น้องแซ่เตียวจำนวนสามคนนามว่า ‘เตียวก๊ก’ (Zhang Jue) ‘เตียวโป้’ (Zhang Bao) และ ‘เตียวเหลียง’ (Zhang Liang) มีอยู่วันหนึ่งที่เตียวก๊กเดินทางไปหายาสมุนไพรบนภูเขาลูกหนึ่ง เขาได้พบเจอกับผู้เฒ่าผู้หนึ่งที่มีหน้าตาอ่อนเยาว์ดั่งทารก เขาได้เดินนำพาเตียวก๊กเข้าไปในถ้ำถ้ำหนึ่ง และ ณ ที่นั้นเขาได้มอบตำราหนึ่งนามว่า ‘ไทแผงเยาสุด’ (The Essential Art of Great Peace) “ตำรานี้ท่านเอาไปช่วยทำนุบำรุงคนทั้งปวงให้อยู่เย็นเป็นสุข ถ้าตัวคิดร้ายมิซื่อตรงต่อแผ่นดิน ภัยอันตรายจะถึงตัว” เตียวก๊กเอ่ยถามผู้เฒ่าว่าชื่อใด เป็นใคร มาจากไหน ท่านผู้นั้นตอบกลับว่า “เราเป็นเทพยดา” หลังจากนั้นก็ลอยหายไปกับสายลม หลังจากนำกลับมาที่บ้านแล้วศึกษาทั้งวันทั้งคืน เตียวก๊กก็สามารถเรียกลมคุมฝนได้ตามใจต้องการ ด้วยเหตุนี้เตียวก๊กจึงตั้งตนเป็น ‘โต๋หยิน’ หรือ ‘พราหมณ์มีความรู้’ (Great Teacher) นอกจากนั้นเตียวก๊กยังสามารถเขียนเลขยันต์ต่าง ๆ ที่ได้มาจากตำราไปแจกชาวบ้านและช่วยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บให้มลายหายไป ผู้คนที่สิ้นหวังทั้งหลายเห็นเตียวก๊กเป็นดั่งแสงสว่างที่สาดส่องเข้ามาในช่วงเวลาที่หันซ้ายก็เจอขุนศึกขูดรีด หันขวาก็เจอภัยธรรมชาติ มองขึ้นฟ้าก็เห็นแต่ความเสื่อมโทรม ก้มลงดินก็เจอแต่ความยากจนแร้นแค้นของตนเอง   กบฏโพกผ้าเหลืองลุกฮือ ประชาชนมากมายที่ได้เห็นอภินิหารของเตียวก๊กก็หลั่งไหลพรั่งพรูเข้ามาขอเป็นลูกศิษย์ของผู้วิเศษท่านนี้ ทุกครั้งที่เตียวก๊กไปรักษาตามเมือง จะได้คนเลื่อมใสศรัทธาและขอเข้าร่วมเป็นศิษย์เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ครั้นจำนวนมากถึงระดับหนึ่งจึงเริ่มเปลี่ยนสำนักตนเป็นการซ่องสุมกำลังพลตามตำบลน้อยใหญ่ในภาคเหนือ มีธงบอกชื่อพร้อมรบ “เมื่อการพร้อมฉะนี้ควรจะคิดเอาแผ่นดิน ครั้นจะมิคิดการบัดนี้ก็เสียดายดูมิควร” การดำเนินการขั้นถัดไปของเตียวก๊กคือการตั้งตนเป็น ‘จงกุ๋น’ หรือ ‘พระยา’ แล้วออกอุบายให้ลูกศิษย์ปล่อยข่าวและนำปูนขาวไปเขียนหน้าประตูบ้านต่าง ๆ ทั้งแปดหัวเมืองว่า ปีชวดนี้จะถึงคราวที่ราษฎรจะเป็นสุขพ้นภัยจากเรื่องร้ายจากสถานการณ์ปัจจุบัน ต่อมา อุบายเตียวก๊กนับว่าเป็นผล ชาวบ้านจากหัวเมืองทั้งแปดนับถือบูชาเตียวก๊กแทบจะทุกบ้านเรือน การใหญ่ของเตียวก๊กที่ในคราวแรกอาจไม่แม้แต่จะกล้าหวังก็เริ่มก่อรูปขึ้นร่างแลดูชัดขึ้นเรื่อย ๆ “เมืองพระเจ้าเลนเต้จะสาบสูญฉิบหายแล้ว ผู้มีบุญจะมาเสวยสมบัติใหม่ คนทั้งปวงจงทำตามคำเทพยดาทำนายเถิด จะได้อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ในปีคริสต์ศักราช 184 หลังจากซ่องสุมไพร่พลและอาวุธจนพร้อม สามพี่น้องก็ดำเนินการประกาศตนเป็นปรปักษ์ต่อราชวงศ์ฮั่น โดยเตียวก๊กตั้งตนเป็นพระยาสวรรค์ (General of Heaven) เตียวโป้เป็นพระยาแผ่นดิน (General of Earth) และเตียวเหลียงเป็นเจ้าพระยามนุษย์ (General of People) ราษฎรที่เข้าร่วมก็เห็นด้วยกับเจตจำนงนี้ เตียวก๊กจึงหยิบเอาผ้าสีเหลืองขึ้นมาโพกที่หัวเป็นสัญลักษณ์และสีของผู้มีบุญตนใหม่ที่จะมาเสวยสุขแทน เหล่าไพร่พลราษฎรก็พากันโพกผ้าเหลืองตาม ๆ กัน แล้วประกาศตั้งตนเป็นโจรกว่าห้าแสนคนไหลทะลักทั่วแว่นแคว้นต่าง ๆ พร้อมโห่ร้องตะโกนว่า
ฟ้าครามสิ้นแล้ว ฟ้าเหลืองขึ้นแทน ปีชวดนี้แล ใต้ฟ้ารุ่งเรือง
เรื่องราวการกบฏครั้งนี้ยิ่งใหญ่และมีจำนวนมากจนราชสำนักต้องประกาศให้ขุนศึก เจ้าเมือง เจ้าแคว้น หรือแม้แต่ผู้กล้าทั่วหล้าช่วยกันปราบกบฏเหล่านี้ แล้วจะตอบแทนด้วยบำเหน็จบำนาญ แถมยังแต่งตั้งยศถาบรรดาศักดิ์ให้เป็นขุนนาง แต่ด้วยระยะเวลาไม่นาน เตียวก๊ก เตียวโป้ เตียวเหลียง และเหล่ากบฏผ้าเหลืองก็ถูกกำจัดจนราบคาบหมดสิ้น แต่ความวุ่นวายแตกแยกยังคงไม่หมดไป ซ้ำร้ายมันคือจุดเริ่มต้นของกลียุคและความยุ่งเหยิงบนแผ่นดินจีนเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ คำถามที่ตามมาคือ ‘อะไรกันแน่คือตัวการของปัญหาที่แท้จริง?’ *ยึดตามบทประพันธ์ ‘สามก๊ก’ ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)​ และยาขอบเป็นหลัก โดยมีเนื้อหาบางส่วนนำมาจากฉบับละครโทรทัศน์ปี พ.ศ. 2553 ภาพ: สามก๊ก (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2537) อ้างอิง: สามก๊ก ฉบับสมบูรณ์ (พ.ศ. 2487) โดย หลัว กวั้นจง, แปลโดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน) สามก๊ก ฉบับวณิพก: ตั๋งโต๊ะ-ผู้ถูกสาปแช่งทั้งสิบทิศ.--พิมพ์ครั้งที่ 15.--กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า 2545, 2547.