ไซออน คลาร์ก: ชีวิตไร้ขีดจำกัดของนักมวยปล้ำที่มีร่างกายเพียงครึ่ง

ไซออน คลาร์ก: ชีวิตไร้ขีดจำกัดของนักมวยปล้ำที่มีร่างกายเพียงครึ่ง
“ผมแค่อยากให้พวกเขาเลิกสงสารผมสักที ไม่รู้สิ มันรู้สึกเหมือนทนไม่ได้ ผมเคลื่อนไหวร่างกายได้มากกว่าพวกเขาบางคนเสียอีก ดังนั้น ช่วยหยุดพูดว่า ‘โอ้ ฉันรู้สึกเสียใจกับเขา’ ทีเถอะ ผมขอร้อง” เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพยายามทำอะไรแล้วไม่สำเร็จ หรือคิดไว้ก่อนแล้วว่าตัวเองคงทำไม่ได้ เรามักจะเหมาเอาว่ามีสาเหตุมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ฐานะ การเลี้ยงดู หรือการศึกษา มาตอกย้ำว่าที่เราไปถึงตรงนั้นไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดมาขัดขวางเต็มไปหมด แต่ ไซออน คลาร์ก (Zion Clark) ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทันทีที่เขาค้นพบว่าตัวเองชอบเล่นมวยปล้ำและมีอาชีพนี้เป็นความฝัน ข้อจำกัดเหล่านั้นก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป แม้ว่าคลาร์กจะไม่มีร่างกาย ‘ท่อนล่าง’ เหมือนคนอื่น ๆ ก็ตาม ไซออน คลาร์ก เป็นเด็กหนุ่มเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน วัย 23 ปี เขาเกิดมาพร้อมกับภาวะกระดูกสันหลังส่วนปลายไม่มีพัฒนาการ (Caudal Regression Syndrome) ที่ทำให้ร่างกายส่วนล่างตั้งแต่บริเวณเอวลงมาของเขาพิการแต่กำเนิด และเป็นเหตุผลที่ทำให้เขากลายเป็นเด็กกำพร้ามาตั้งแต่เกิด เพราะพ่อและแม่ไม่สามารถดูแลเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษอย่างเขาไหว “ผมไม่เคยเห็นหน้าพ่อแม่ ไม่ได้อยากจะเห็นด้วย ตั้งแต่เล็กจนโตมา ผมก็อยู่แต่ในบ้านอุปถัมภ์” ตั้งแต่เด็ก คลาร์กบอกว่า เขาไม่ได้นิสัยดีนัก เพราะความแตกต่างทางร่างกาย ทำให้เขาโดนทำร้าย กลั่นแกล้ง และถูกคนอื่นกีดกันออกจากสังคมจากเด็กคนอื่น ๆ อยู่เสมอ ความรู้สึกแปลกแยกทำให้คลาร์กค่อย ๆ สร้างเกราะป้องกันตัวเองขึ้นมา เขากลายเป็นเด็กก้าวร้าว มนุษยสัมพันธ์แย่ และเข้ากับเด็กคนอื่นไม่ได้ คลาร์กย้ายจากบ้านอุปถัมภ์แห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่งหนึ่ง เป็นเด็กใหม่ในโรงเรียนมาตลอดหลายปี โชคดีที่ การเล่นมวยปล้ำ ทำให้เขายังมีสังคมอยู่ “ผมรู้จักมวยปล้ำมาตั้งแต่เด็ก มันเป็นกีฬาที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไร แค่มีร่างกายแข็งแรงพอจะกดคู่ต่อสู้ลงพื้น คุณก็มีสิทธิ์ชนะได้” กติกาแบบนี้ช่างเหมาะกับร่างกายของเขา จากตอนแรกที่คลาร์กเล่นกับเพื่อนเพื่อความสนุก แต่เพราะตอนเกรดสอง ครูศิลปะคนหนึ่งบอกว่าคลาร์กมีพรสวรรค์พอจะเป็นกีฬาได้ ทันทีที่เข้าเรียน ม.ปลาย คลาร์กเลยตัดสินใจลองสมัครเข้าชมรมมวยปล้ำของโรงเรียนแมสซิลอน วอร์ชิงตัน (Massillon Washington High School) ทางตอนเหนือของรัฐโอไฮโอ  “ตอนผมเจอเขาครั้งแรก ไซออนเดินมาตามทางเดินพร้อมกับขาเทียม” กิล โดนาฮิว (Gil Donahue) ครูฝึกมวยปล้ำของคลาร์ก เล่า “ขาเทียมนั่นมันเจาะไปในเนื้อ ทำให้เขามีแผลยาวและลึก มันดูน่าอึดอัด แต่เขาก็ต้องทนเพราะครอบครัวในตอนนั้นบังคับให้ใส่” ช่วงแรกที่โดนาฮิวเจอกับคลาร์ก เขาบอกว่า เด็กคนนี้มีกำแพงที่กันไม่ให้ใครเข้าใกล้ แต่หากอยากได้รับความไว้ใจ เขาต้องเข้าหาคลาร์กด้วยวิธีที่ไม่ต่างจากเด็กคนอื่น ไซออน คลาร์ก: ชีวิตไร้ขีดจำกัดของนักมวยปล้ำที่มีร่างกายเพียงครึ่ง “ผมเกลียดขาเทียมนั่น มันคือสิ่งที่ทำให้ผมดูเหมือนคนทั่วไป ทั้งที่ผมแค่อยากให้พวกเขามองผมเหมือน ‘ตัวผมเอง’” คลาร์กบอกว่าทุกครั้งที่เขาได้เล่นมวยปล้ำ มันเป็นตอนที่เขาได้สลัดขาเทียมออกและใช้แค่ร่างกายที่สั่งได้ดั่งใจ นั่นคือช่วงเวลาที่ทำให้คลาร์กรู้สึกเป็นอิสระที่สุด “ปีแรกที่เข้าชมรม ผมไม่เคยชนะใครเลย ทุกคนดูเหมือนยักษ์ที่เก่งมาก และถ้าผมอยากให้พวกเขาล้มลง ผมคงยอมแพ้ไม่ได้” โดนาฮิวปฏิบัติกับคลาร์กเหมือนเด็กทั่วไป ไม่แสดงออกว่าสงสารหรือเห็นใจ แค่แนะนำและผลักดันเขาให้เป็นนักกีฬาที่ดีขึ้น ทั้งสองเริ่มฝึกมวยปล้ำอย่างจริงจังและค่อย ๆ พัฒนาเทคนิคในการใช้สภาพร่างกายอันจำกัดให้เป็นประโยชน์ในการต่อสู้ โดนาฮิวมักจะหาวิธีใช้แขน หัวไหล่ และช่วงเอวใหม่ ๆ มาให้คลาร์กลองฝึก เพื่อค้นหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากร่างกายของเขา หลังการฝึกแสนเข้มงวดผ่านพ้นไป คลาร์กก็เริ่มเข้าใจวิธีใช้ร่างกายของตัวเอง แม้จะมีส่วนสูงต่างกันมาก ขอแค่สามารถทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงมานอนที่พื้นได้ ก็แทบไม่มีอะไรต่างกันแล้ว คลาร์กเริ่มเอาชนะเพื่อน ๆ ในทีม รวมถึงเริ่มลงแข่งในสนามมวยปล้ำระดับมัธยมปลายได้ ชัยชนะเล็ก ๆ เริ่มกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้คลาร์กเริ่มมีความฝัน เขาอยากจะเป็นนักมวยปล้ำอาชีพมากกว่าการยอมรับจากคนอื่น มันเหมือนผมยอมรับตัวเองมากขึ้น หลายครั้งที่ผมพยายามยั้งตัวเองไม่ให้ฝันใหญ่ แต่ชัยชนะทำให้ผมมั่นใจว่าผมเป็นนักกีฬาอาชีพได้” “เวลาหลายคนตกใจที่ผมสามารถลุกมาทำอะไรที่พวกเขาคิดว่าผมทำไม่ได้ มันทำให้ผมรู้สึกโกรธ ผมโตมาแบบนี้ ไม่ได้รู้สึกด้อยอะไร แต่ทุกครั้งเวลาลงแข่ง หลายคนก็จะเริ่มซุบซิบนินทาและมองมาที่ผม” แม้จะหงุดหงิดกับสายตาของคนอื่นบ้าง แต่ตอนแข่งคลาร์กบอกว่า เขาพยายามจะลืมทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วโฟกัสแค่การล้มคู่แข่งตรงหน้า มันทำให้เขาได้รับชัยชนะกลับมา ท่ามกลางสายตาตกอกตกใจของกรรมการและผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ คลาร์กฝึกฝนร่างกายอย่างหนัก แม้จะไม่มีร่างกายท่อนล่าง แต่เขาก็ออกกำลังกายท่อนบนอย่างสม่ำเสมอ มือที่ทำหน้าที่หยิบจับสิ่งของรวมถึงเป็นขาที่ใช้เดิน ค่อย ๆ มีเรี่ยวแรงมากพอจะพาให้เขาเคลื่อนไหวได้ดั่งใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ปี 2016 คลาร์กที่เรียนอยู่ปีสุดท้ายมีโอกาสลงแข่งมวยปล้ำระดับ ม.ปลาย แถมยังเข้ารอบไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ หากผ่านรอบนี้ไปได้ คลาร์กจะกลายเป็นตัวแทนของเมืองไปแข่งระดับรัฐต่อ  ไซออน คลาร์ก: ชีวิตไร้ขีดจำกัดของนักมวยปล้ำที่มีร่างกายเพียงครึ่ง คลาร์กตั้งความหวังไว้มากมาย แต่โชคร้ายที่ดูเหมือนคู่ต่อสู้คราวนี้จะตึงมือเขาไปหน่อย แม้จะผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่นาน แต่สุดท้าย แจ็ก กอร์แมน (Jack Gorman) เจ้าของสถิติชนะ 40 แพ้ 2 ก็สามารถกดไซออน คลาร์ก ลงกับพื้นจนได้ โค้ชโดนาฮิวถึงกับรีบวิ่งไปอุ้มเขาขึ้นมากอด “เขาร้องไห้หนักมาก แต่เหมือนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ นี่มันอาจจะดูดราม่ามากไป แต่เด็กคนนั้นฝึกอย่างหนัก สุดท้ายกลับคิดว่าตัวเองล้มเหลว ผมรู้สึกแย่ไปกับเขาจริง ๆ” โดนาฮิวเล่าว่า ขณะนั้นคนดูมากมายลุกขึ้นปรบมือให้คลาร์ก แต่เหมือนเขาจะไม่ทันรู้ตัวเพราะกำลังผิดหวังอย่างหนัก ความเสียใจทำให้คลาร์กหยุดพักการซ้อมไปช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายเขาก็กลับมาอีกครั้ง “ก็ไม่ใช่ไม่เสียใจหรอก แต่ผมแค่ต้องอยู่กับมันให้ได้ มองกลับไปในอดีตมากก็คงไม่ต้องทำอะไร อย่าหาข้ออ้างให้ตัวเองเลย ก็แค่ฝึกต่อไป จดจ่อกับแต่ละนัด โฟกัสกับคู่แข่งตรงหน้า มันก็เหมือนกับมวยปล้ำนั่นล่ะ” คลาร์กฝึกซ้อมและแข่งขันต่ออีกหลายนัดก่อนจบม.ปลาย สถิติของเขาหลังการแข่งครั้งสุดท้ายคือชนะ 35 แพ้ 15 ถือเป็นสถิติของนักกีฬาที่มีฝีมือมากคนหนึ่ง หลังเรียนจบ ม.ปลาย คลาร์กย้ายเข้าไปอยู่กับครอบครัวของคุณแม่ลูกสองชื่อ คิมเบอร์ลี ฮอว์กินส์ (Kimberli Hawkins) เธอพบกับคลาร์กหลังจากเขาพ่ายแพ้ในการแข่งระดับม.ปลายได้ไม่นาน และคิดว่าเด็กคนนี้ช่างโดดเดี่ยว น่าสงสารเกินกว่าจะปล่อยไปเผชิญกับโลกที่เลวร้ายได้ ทั้งความรัก ความเข้าใจที่เธอมอบให้เขามากมาย ทำให้คลาร์กเปิดใจให้กับคนในครอบครัวนี้มากกว่าที่อื่น (คลาร์กอยู่กับครอบครัวนี้มาจนถึงปัจจุบัน) "คิมเบอลีทำให้ผมนึกถึงอนาคตมากขึ้น เธอทำให้ผมอยากเรียนมหาวิทยาลัยขึ้นมา" 
คลาร์กสมัครเข้าเรียนต่อที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเคนต์สเตต วิทยาเขตทัสคาราวาส (Kent State University,Tuscarawas) เขาตัดสินใจเข้าทีม Golden Eagles ชมรมมวยปล้ำของมหาวิทยาลัย และกลายเป็นสุดยอดนักมวยปล้ำ อันดับที่ 8 ของสมาคมมวยปล้ำวิทยาลัย (Collegiate Wrestling Association) สมาคมที่เป็นศูนย์กลางของนักมวยปล้ำมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
ปี 2019 คลาร์กยังผ่านการคัดตัวเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่จะได้ลงแข่งใน Tokyo Olympics ปี 2020 แต่น่าเสียดายที่การแข่งเลื่อนออกไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 ตำนานของนักกีฬาครึ่งร่างจึงต้องเลื่อนออกไปก่อน
    ที่มา https://zionclark.com/ https://face2faceafrica.com/article/the-inspirational-journey-of-21-year-old-wrestler-zion-clark-who-was-born-without-legs https://www.kent.edu/kent/news/success/kent-state-tuscarawas-golden-eagles-wrestler-zion-clark-makes-no-excuses https://www.gazetadopovo.com.br/wiseup-news/zion-clark-was-born-without-his-legs-but-that-did-not-stop-him-from-becoming-a-winning-athlete/ http://www.espn.com/espn/feature/story/_/id/15273815/the-unbelievable-story-high-school-wrestler-zion-shaver https://www.inspiremore.com/zion-clark-legless-athlete/