Zootopia (2016): สังคมเท่าเทียมที่เปิดกว้างและหลากหลาย โลกที่กระต่ายสามารถเป็นตำรวจได้

Zootopia (2016): สังคมเท่าเทียมที่เปิดกว้างและหลากหลาย โลกที่กระต่ายสามารถเป็นตำรวจได้
Zootopia (2016) คือแอนิเมชันจาก “วอลท์ดิสนีย์” ที่ต้องบอกว่าเฟี้ยวมาก เพราะสามารถดึงหนังมาดูให้สนุกในหลายระดับ ทั้งดูเอาสนุกแบบนิทานสอนใจก็ได้ หรือจะมองในแบบถอดรหัสวัฒนธรรมทางสังคมออกมาอธิบายยิ่งมีความน่าสนใจมากขึ้น หนึ่งในคนที่เราต้องให้เครดิตสำหรับโปรเจ็กต์นี้ก็คือ จาเร็ด บุช เจ้าของหัวหน้าทีมครีเอทีฟตอนทำ Big Hero 6(ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมในปี 2015) มาถึงคิวของ Zootopia บุชนำทีมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้คมคายมาก ๆ ในเชิงพื้นผิว ความสนุกของ Zootopia คือการนำเสนอภาพการ "มองโลกในแง่บวก” ผ่านสังคมที่ “เราจะเลือกเป็นอะไรก็ได้” ในโลกของ Zootopia โลกที่สัตว์ที่เป็น “เหยื่อ” และ “ผู้ล่า” ซึ่งในอดีตมีความขัดแย้งกัน ได้มาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป็นโลกในอุดมคติที่สะท้อนออกมาให้เห็นตั้งแต่ในชื่อเรื่อง คำว่า Zootopia คือการนำคำว่า Zoo ซึ่งหมายถึงสวนสัตว์ มาผสมกับกับว่า Utopia(ยูโทเปีย) อันหมายถึงสังคมในอุดมคติที่ทุกคนปรารถนา ตัวเอกของเรื่องคือ จูดี้ ฮอปป์ กระต่ายสาวผู้ทำอาชีพตำรวจ และ นิค สุนัขจิ้งจอกที่อาศัยความกะล่อนในการทำมาหากินเล็ก ๆ น้อย ๆ (และกลับใจเป็น “คนดี” ในตอนหลัง) ซึ่งทั้งสองต้องร่วมกันสืบสวนคดีหนึ่ง ที่นอกจากจะพิสูจน์ให้คนเห็นว่า ใครคือคนร้ายในคดีที่พวกเขาตามหาแล้ว ยังจะต้องพิสูจน์ว่า ทั้งฮอปป์(กระต่าย) และ นิค(สุนัขจิ้งจอก) นั้นมีความสามารถเกินกว่าที่สังคมคาดหวัง เพราะในโลกของ Zootopia กระต่ายส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกร ซึ่งจูดี้ เป็นกระต่ายตัวแรกที่ฟันฝ่าตัวเองมาทำหน้าที่ตำรวจ ส่วนสุนัขจิ้งจอกนั้น ถูกสังคมมองว่ามีความเจ้าเล่ห์ ไม่น่าเชื่อถืออยู่แล้ว ท่ามกลางความสนุกในการติดตามตัวละครทั้งสองตัวดังกล่าวไขคดี Zootopia ได้สะท้อนถึง “รหัสวัฒนธรรม” บางอย่างผ่านสร้างโลกเพื่อให้เรามองว่า การมองผู้คนแบบเหมารวม หรือมองแบบ Stereotype ในโลกที่พัฒนาแล้วมันมีปัญหาในตัวมันเองอยู่ เพราะเพียงมันมองผ่านรูปลักษณ์ หรือภาพจำเหมารวม มันไม่อาจจะทำให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของคนในสังคมได้ ในสโลแกน “ใครจะเป็นอะไรก็ได้” กับการวางโลกบนฐานเหมารวมในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีนัยน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมันดูจะไปคนละเรื่องเลย สังคมใน Zootopia ดูจะมีระเบียบของมันบางอย่าง กลุ่มสัตว์แต่ละชนิดนี้ จะทำหน้าที่ที่ตนถนัด (ซึ่งก็เป็นการวางคาแรกเตอร์ของสัตว์ต่าง ๆ แบบ Stereotype ผ่านสายตาของมนุษย์อยู่ดี) กระต่าย ทำหน้าที่เป็นเกษตรกร ปลูกผักปลูกหญ้าขาย, สัตว์ใหญ่บึกบึน อย่างเช่น ควาย และเสือ ทำหน้าที่เป็นตำรวจคอยดูแลพลเมือง หรืออย่าง สิงโต ที่มนุษย์มองว่าเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของผู้นำ ก็เป็นนายกเทศมนตรีดูแลเมืองตามท้องเรื่อง แต่ที่ชวนหัวที่สุดก็คือ การนำ สล็อธ ซึ่งเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวเชื่องช้ามาทำงานที่กรมการขนส่ง จนกลายเป็นฉากจำในเรื่องและมีนัยการเหน็บเหน็บปัญหา Red Tape หรือปัญหาการทำงานเชื่องช้าของระบบราชการทั้งโลก มีเพียง ฮอปป์ เท่านั้น ที่นำเสนอความเป็นไปได้ที่จะหลุดออกมาจากภาพเหมารวมเหล่านั้น ด้วยการเลือกทำอาชีพตำรวจที่เหมาะกับสัตว์ร่างกายกำยำทั้งที่ตนเองบอบบางเพราะเป็นกระต่าย ด้วยความเชื่อมั่นว่า ตนสามารถฝันที่จะเป็นอะไรก็ได้ ตัวตนของฮอปป์เอง ในแง่นี้จึงเป็นคาแรกเตอร์ที่พยายามเข้ามา “เขย่า” ระเบียบเก่าของ Zootopia เพื่อชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร สังคมควรมี “โอกาส” ให้ทุกคนสามารถบรรลุศักยภาพของตนเองโดยไม่ผูกติดภาพ Stereotype ที่ทำให้การมองคนแบบลดทอนความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันในสังคมเสรีนิยม (ไม่สิ, ในบริบทของ Zootopia ต้องบอกว่า ลดทอนความเป็น “สัตว์” ที่เท่าเทียม ใช่ไหม?) ภาวะในโลก Zootopia ในลักษณะนี้ จึงดู “จริง” (real) พอ ๆ กับโลกที่เป็นจริง โลกที่เป็นจริงที่ในหลายส่วนของโลกไม่ได้มีโอกาสและความเท่าเทียม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ “ใครจะเป็นอะไรก็ได้” คนส่วนใหญ่ถูกมองในแง่เหมารวม อย่างเช่นฝั่งอินเดีย ยังมีระบบวรรณะที่ชนชั้นล่าง ๆ จะขยับฐานะทางสังคมขึ้นมาได้ยาก เราอยู่ในโลกที่บางส่วนของโลกยังมอง คนสีผิวที่ต่างกัน, ผู้ลี้ภัย หรือเพศสภาพที่แตกต่างด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ ทั้งในบางประเทศ ชนชั้นปกครองยังมองว่าผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่การศึกษาที่ไม่เพียงพอจนไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนบ้านเมืองให้เป็นระบบประชาธิปไตยแบบเต็มขั้น ท่ามกลางวิธีการมองแบบ “เหมารวม” เหล่านี้ ทำให้เราฉุกใจคิดว่า ในขณะที่เราสนุกสนานกับโลกของภาพยนตร์ Zootopia อยากเอาใจช่วยให้ฮอปป์ได้เป็นตำรวจตามที่เธอใฝ่ฝัน แต่ในโลกความเป็นจริง แม้หลายสังคมจะมีความพยายามยกระดับความเท่าเทียม ยอมรับในความแตกต่าง และสร้างโอกาสที่เปิดกว้างให้กับพลเมืองในรัฐ แต่ในอีกหลายสังคม หรือหลายประเทศ มันคนละแบบกับภาพยนตร์เลย... นี่อาจจะทำให้เราต้องย้อนกับมามองชื่อเรื่องที่มีคำว่า Utopia ผสมอยู่ หรือว่า Utopia จะเป็นเพียงสังคมในอุดมคติที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยในโลกความจริง