เซอร์ แอนโทนี ฮ็อปกินส์: 29 ปีแห่งการรอคอยดับเบิลออสการ์ จากฮันนิบาล สู่ผู้ป่วยสมองเสื่อม

เซอร์ แอนโทนี ฮ็อปกินส์: 29 ปีแห่งการรอคอยดับเบิลออสการ์ จากฮันนิบาล สู่ผู้ป่วยสมองเสื่อม
“อรุณสวัสดิ์ครับ ตอนนี้ผมอยู่ที่บ้านเกิดของผมที่เวลส์ ในวันนี้ที่ผมอายุ 83 ปี ผมไม่คิดเลยครับว่าผมจะได้รับรางวัลนี้ ผมรู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณมากเลยครับ ผมอยากจะเอ่ยคำระลึกถึงแชดวิก โบสแมน ผู้ซึ่งจากลาเราไปก่อนล่วงหน้าอย่างรวดเร็วเหลือเกิน และอีกครั้งหนึ่งครับ ขอบคุณทุกคนมากครับ ผมไม่คิดเลยจริง ๆ เป็นเกียรติของผมอย่างยิ่งครับ ขอบคุณครับ” ท่ามกลางทุ่งหญ้าเขียวขจีในฟาร์มแห่งหนึ่งที่เวลส์ เช้าวันที่ 26 เมษายน 2021 คงจะเป็นวันที่สดใสและพิเศษมาก ๆ สำหรับเซอร์แอนโทนี ฮ็อปกินส์ (Anthony Hopkins) เพราะในวันนี้เขาตื่นมาและทราบผลว่าเขาได้รับรางวัลอะคาเดมี อะวอร์ดส หรือที่เรียกแบบลำลองว่า ‘ออสการ์’ ครั้งที่ 93 ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากบทคุณพ่อผู้มีภาวะโรคสมองเสื่อมในภาพยนตร์เรื่อง The Father ซึ่งเป็นรางวัลออสการ์สาขานี้รางวัลที่สองที่เขาได้รับ หลังจากที่เมื่อ 29 ปีที่แล้ว เขาเคยได้รางวัลนี้จากบท ดร.ฮันนิบาล เล็กเตอร์ ฆาตกรต่อเนื่องอันเลื่องชื่อ จากภาพยนตร์เรื่อง The Silence of the Lambs เซอร์ แอนโทนี ฮ็อปกินส์: 29 ปีแห่งการรอคอยดับเบิลออสการ์ จากฮันนิบาล สู่ผู้ป่วยสมองเสื่อม ในวันที่เขาทราบว่าได้รับรางวัลนี้ แม้จะยินดีกับตัวเอง แต่ก็ไม่ลืมที่จะแสดงความยินดีกับแชดวิก โบสแมน นักแสดงผู้ล่วงลับที่เข้าชิงสาขาเดียวกันจากภาพยนตร์เรื่อง Ma Rainey’s Black Bottom อันแสดงให้เห็นถึงสปิริตของนักแสดงที่แม้ว่าตนเองจะเป็นผู้ชนะ แต่ก็เห็นเกียรติกับนักแสดงคนอื่นที่เป็นผู้ถูกเสนอชื่อแข่งขันในเวทีเดียวกัน ภาพเบื้องหน้า แม้ว่าผู้คนจะยกย่องบทบาทการแสดงอันหลากหลายและยอดเยี่ยมของเขา แต่จุดเริ่มต้นชีวิตของฮ็อปกินส์ตั้งแต่วัยเด็ก  เขาไม่ใช่คนที่คิดว่าตัวเองนั้นเก่งกาจเรื่องอะไรเท่าไรนัก นอกจากการแสดงแล้ว_ผมไม่เก่งอะไรอีกเลย กาซีโมโด-คนค่อม ผู้ตีระฆังแห่งน็อทร์-ดาม จากวรรณกรรมของวิคตอร์ อูโก ในภาพยนตร์ The Hunchback of Notre-Dame (ภาพยนตร์ทางทีวีเมื่อปี 1982), ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้อื้อฉาวจากภาพยนตร์ Nixon (1995), พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ในเรื่อง The Two Popes (2019) ไปจนถึงโอดิน เทพองค์สำคัญแห่งนอร์ส พระบิดาแห่งธอร์ ใน Thor: Ragnarok (2017) บทบาทอันหลากหลายตั้งแต่ คนธรรมดา ฆาตกรต่อเนื่องอัจฉริยะ ชายผู้มีภาวะสมองเสื่อม ประธานาธิบดี สันตะปาปา ไปจนถึงเทพนอร์ส ล้วนแล้วแต่เป็นการเสกสรรปั้นแต่งมาจากฝีมือของเซอร์ ฟิลลิป แอนโทนี ฮ็อปกินส์ (Sir Phillip Anthony Hokins หรือ แอนโทนี ฮ็อปกินส์ ทั้งสิ้น ซึ่งส่งให้เขาประสบความสำเร็จในอาชีพด้านการแสดงมากมาย  จนในปี 1993 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัศวินจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะที่เขาได้ทำคุณประโยชน์ทางด้านศิลปะ หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงวางปลายดาบลงบนไหล่ทั้ง 2 ข้างของแอนโทนี นับแต่นั้นมาเขาจึงเป็นที่เรียกขานอย่างกว้างขวางว่า ‘เซอร์ แอนโทนี ฮ็อปกินส์’ แต่เมื่อไหร่ที่เขาถูกถามถึงยศศักดิ์อัศวินและคำนำหน้าว่า ‘เซอร์’ เขากลับตอบว่า “เรียกผมแค่ โทนี ก็พอ ผมยังไม่ค่อยเข้าใจเลยว่าเขาให้ยศนี้กับผมทำไม แต่มันก็เป็นเรื่องดีนั่นแหละครับ แต่ผมแค่ใช้คำนี้ (คำว่า เซอร์) ที่อเมริกันเท่านั้นนะ คือพวกคนอเมริกันยืนกรานว่าจะเรียกผมแบบนี้ แล้วถ้าผมไม่ให้เขาเรียก เขาจะรู้สึกไม่ดีกัน” เซอร์แอนโทนี เดิมทีเป็นชาวเวลส์ เขาเกิดที่เวลส์ ในวันที่ 31 ธันวาคม วันสุดท้ายของปี 1937 เราได้เห็นภาพเขาในวันที่ประสบความสำเร็จมากมาย แต่ในวัยเด็กนั้น เด็กชายแอนโทนีไม่ค่อยจะมั่นใจในตัวเองในเรื่องความเก่งเท่าไรนัก เขามองตัวเองว่าเป็นคนเรียนไม่เก่ง ทำอะไรก็ไม่ค่อยจะสำเร็จในโรงเรียน  “ครูของผมคนหนึ่งเคยพูดถึงผมว่า ตอนเป็นเด็กผมเป็นเด็กที่ดูลึกลับ ผมไม่ค่อยพูดกับเด็กคนอื่น ผมไม่เล่นกีฬา (กับเพื่อน ๆ) ผมไม่ไปงานแสดงละครเวทีของโรงเรียนด้วยซ้ำ ก็ตอนนั้นผมเบื่อกับการที่ต้องถูกเรียกว่า ไอ้หน้าโง่ ตอนนั้นผมคิดว่า วันหนึ่งผมจะทำให้ทุกคนเห็น แล้วตอนนี้ผมเป็นคนคนนี้ ผมประสบความสำเร็จในงานของผมแล้ว” แม้แต่อาชีพนักอบขนมที่สืบต่อมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่มาถึงคุณพ่อ แต่พอมาถึงรุ่นของเซอร์แอนโทนี เขากลับเป็นนักอบขนมที่ไม่ได้เรื่องเอาซะเลย  “มีแค่พระเจ้าเท่านั้นละครับที่รู้ (ว่าผมถูกลิขิตมาให้เป็นนักแสดง...ผมอบขนมไม่เก่งเหมือนพ่อและปู่ของผม) หนำซ้ำตอนผมเป็นเด็ก ผมทำอะไรก็ไม่ได้เรื่องสักอย่าง ตอนอยู่ที่โรงเรียนน่ะหรอ ผมถูกมองเป็นพวกเด็กโง่ด้วยซ้ำนะครับ แล้วอยู่ดี ๆ ผมก็ได้เข้ามาอยู่ในวงการ (บันเทิง) นี้แบบตกกระไดพลอยโจน” เพชรก็คือเพชร ที่รอวันเปล่งประกาย ปี 1955 มีการเปิดรับผู้เข้าสมัครเพื่อชิงทุนการศึกษาของโรงเรียนสอนดนตรีและการแสดง Cardiff’s College of Music & Drama ไม่มีใครรู้ได้ว่า อะไรที่จุดประกายความคิดให้หนุ่มน้อยแอนโทนี ซึ่งในขณะนั้นตัดสินใจไปสมัครชิงทุนนี้ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เคยเรียนรู้ศิลปะการแสดงใด ๆ มาก่อนเลย แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่ดลใจให้เด็กหนุ่มแอนโทนีไปสมัครทุนนี้ เราทุกคนคงต้องกล่าวขอบคุณกับสิ่งนั้น เพราะนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกใบนี้ อย่างที่เซอร์แอนโทนีได้กล่าวไว้ คงจะมีเพียงแต่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่า เซอร์แอนโทนีได้ถูกลิขิตมาเพื่อให้เกิดมาเป็นนักแสดง หากแต่ความลับในการเข้าถึงบทบาทที่ทำให้พวกเราต่างเชื่อในทุก ๆ บทบาทที่เขาแสดงนั่นก็คือ...การด้นสด (improvise)  การด้นสด คืออาวุธสำคัญของเขาในการทำมาหากินในสายอาชีพนี้ หากแต่การด้นสดของเซอร์แอนโทนี ไม่ใช่การแสดงสดแบบฉาบฉวยเอาหน้างาน แต่กลับตรงกันข้าม การด้นสดแบบเซอร์แอนโทนี คือการด้นสดแบบธรรมชาติที่มีการตระเตรียมตัวมาก่อนการเข้าฉากเป็นอย่างดี “คือผมเป็นคนประเภทที่จะศึกษาบทของตัวเองอย่างลึกซึ้งซะจนผมรู้สึกว่าบทหรือคำพูดนั้นน่ะทำปฏิกิริยาเคมีบางอย่างกับสมองผม...ผมเชื่อในเรื่องการศึกษาบทนะ คือถ้าคุณเข้าใจบทอย่างถ่องแท้แล้วคุณจะด้นสด (improvise) จนมันดูเสมือนเหตุการณ์จริงได้ ซึ่งจริง ๆ มันง่ายนะ คุณจะไม่ต้องเสแสร้งว่าแสดงเลย...คือจะให้ผมทำเป็นแสดง ผมทำไม่ได้นะ” ฉะนั้นแล้วการด้นสดแบบฉบับเซอร์แอนโทนี บังเกิดจากความมีวินัยและรับผิดชอบในการเรียนรู้บทที่ตัวเองได้ บวกกับความใส่ใจเข้าอกเข้าใจตัวละครนั้น ๆ การแสดงของเขาเลยดูเป็นธรรมชาติจนกล่าวได้ว่า ไม่ได้ดูเหมือนเป็นการแสดงเลย แต่เหมือนเป็นตัวละครตัวนั้นจริง ๆ ทั้งหมดนี้เซอร์แอนโทนีเคยกล่าวเอาไว้ว่า เขาคงต้องยกเครดิตให้กับนักแสดงและทีมงานคนอื่นด้วยที่อนุญาตและสนับสนุนให้เขาสามารถแสดงในแบบด้นสดได้ ยกตัวอย่างในภาพยนตร์เรื่อง Thor เขาสามารถเล่นเป็นเทพโอดินได้เพราะองค์ประกอบรอบข้างเป็นใจให้เขาคิดว่าตัวเองด้นสดเป็นโอดินได้โดยอัตโนมัติ “ในเรื่อง Thor (ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้า) คุณมีคริส เฮมส์เวิร์ธ (Chris Hemsworth) ซึ่งดูเหมือนเทพเจ้าธอร์ตัวเป็น ๆ แถมผู้กำกับ...ยังจับผมใส่ชุดเกราะ จัดการเติมหนวดเคราให้ผม ให้ผมนั่งอยู่บนบัลลังก์ ให้ผมตะโกนสั่ง (ใครก็ได้) อีก”  องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เขาเป็นโอดินได้อย่างแนบเนียน เซอร์แอนโทนีก็คงจะบอกเป็นนัยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาแสดงมันออกมาได้อย่างแนบเนียนเช่นนี้ เกิดจากทั้งตัวเขา ทั้งบรรยากาศรอบข้างอย่างผู้ร่วมแสดงและจากทีมงาน ดนตรี_ศิลปะ_ตัวโน้ตและชีวิต เรื่องการแสดงไม่เป็นสองรองใคร แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชายผู้นี้มีเสน่ห์มากขึ้นอีก ก็ตรงที่เขามีความสามารถทางศิลปะด้านอื่นๆ อีก เช่นการเล่นเปียโน การแต่งเพลง และการวาดรูปอีกด้วย  โดยเฉพาะการเล่นเปียโน หากเราติดตามเซอร์แอนโทนี ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว คงจะได้เห็นเซอร์แอนโทนีบรรจงพรมนิ้วลงบนแป้นเสียงของเปียโนอย่างนุ่มนวลให้ได้ฟังกันอยู่บ่อย ๆ (บางครั้งก็จะมีเจ้าเหมียวนิปโล – Niblo แมวน้อยของเซอร์แอนโทนีนั่งอยู่บนตักเป็นผู้ฟังอย่างเคลิบเคลิ้มอีกด้วย) เซอร์แอนโทนีเรียนเปียโนตั้งแต่เด็ก อาจจะเพราะว่าเป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่ง คุณแม่ของเด็กชายแอนโทนีเลยคิดจะผลักดันลูกชายให้เดินทางสายดนตรีแทน เธอจึงส่งเสียให้ลูกชายได้เรียนเปียโนตั้งแต่ยังเด็ก แถมยังลงทุนซื้อเปียโนมาตั้งไว้ที่บ้านเพื่อให้ลูกชายได้ฝึกซ้อม “ผมเริ่มเล่นเปียโนตั้งแต่ยังเด็กเลยนะ น่าจะสักตอน 5 ขวบได้ แม่ผมส่งผมเรียนเปียโน...แล้วผมก็พยายามเล่นเพลงที่มันยาก ๆ นะ...แต่ผมไม่เคยมีความทะยานอยากจะไปเล่นที่คาร์เนกีฮอลล์เลย ผมแค่อยากเล่นเปียโนเพื่อความรื่นรมย์ของตัวผมเองมากกว่า” เราอาจจะคุ้นตากับเซอร์แอนโทนีในฐานะนักแสดง แต่นักฟังเพลง โดยเฉพาะคอเพลงคลาสสิกน่าจะรู้จักเซอร์แอนโทนีในฐานะนักแต่งเพลงเพิ่มเข้าไปด้วยอีกหนึ่งบทบาท เพราะแท้จริงแล้วเซอร์แอนโทนีเคยแต่งเพลงไว้มากมายหลายเพลง เช่น Distant Star (1986) จนปี 2012 เซอร์แอนโทนีแต่งเพลงคลาสสิกไว้หลายเพลงจนสามารถรวบรวมเป็นอัลบั้มได้ (อัลบั้ม Composer) “ผมชอบการแต่งเพลงนะ ถ้าตอนนั้นผมเรียนเก่งพอ ผมคงได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยดนตรีไปแล้ว” คงจะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่พระเจ้ากำหนดไว้แล้วให้หนุ่มน้อยแอนโทนีเรียนหนังสือไม่เก่งที่โรงเรียน จนไม่ได้เข้าเรียนโรงเรียนดนตรี มิเช่นนั้นเราคงจะไม่ได้เห็นนักแสดงชายเจ้าบทบาทคนนี้ แม้จะมีงานด้านนี้ออกมาบ้าง แต่ที่สุดแล้วแม้เซอร์แอนโทนีจะไม่ได้เป็นนักเปียโนคลาสสิกแบบฟูลไทม์ตามที่คุณแม่ของเขาคาดหวังเอาไว้ อย่างไรก็ตาม เขายังคงเล่นเปียโนวันละ 4 ชั่วโมง เขายังคงอ่านหนังสือ วาดรูป เพื่อฝึกจิตใจและสมองให้แจ่มใสอยู่เสมอ  ฮันนิบาล_เล็กเตอร์_ชีวิตของซูเปอร์สตาร์เริ่มที่อายุ 50 หลายต่อหลายบทที่น่าจดจำของเซอร์แอนโทนี พวกเราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพจำที่ทุกคนจำเซอร์แอนโทนีและส่งให้เขาได้รางวัลออสการ์ตัวแรก คือบท ดอกเตอร์ ฮันนิบาล เล็กเตอร์ ในปี 1992 จากเรื่อง The Silence of the Lambs บทฆาตกรต่อเนื่องอัจฉริยะโรคจิตกินเนื้อคน  แม้เราจะรู้สึกถึงรังสีอำมหิตของฆาตกรอัจฉริยะปกคลุมอยู่ทั้งเรื่องเพราะความยอดเยี่ยมในการแสดงของเขา แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาปรากฏตัวในเรื่องนี้เพียงแค่ประมาณ 16 นาทีเท่านั้น แต่การสวมบทดอกเตอร์ฮันนิบาลของเซอร์แอนโทนีเพียงเท่านี้ก็ทำเอาคนทั่วทั้งโลกต่างโจษจันและกล่าวขานถึงความน่าสะพรึงของตัวละครนี้จวบจนถึงปัจจุบัน เซอร์ แอนโทนี ฮ็อปกินส์: 29 ปีแห่งการรอคอยดับเบิลออสการ์ จากฮันนิบาล สู่ผู้ป่วยสมองเสื่อม มีคำกล่าวที่ว่า เมื่อไหร่ที่เราเจออะไรที่ใช่ หัวใจมันจะบอกกับเราเอง ก็คงจะเหมือนกับตอนที่เซอร์แอนโทนีได้อ่านบทฮันนิบาลเป็นครั้งแรก เซอร์แอนโทนีโทรฯ หาเอเย่นต์ตัวเองในทันทีแล้วพูดว่า “บทนี้มันเยี่ยมมากเลย ผมไม่อยากจะอ่านมันอีกต่อไปแล้ว (ผมอยากจะตกลงเล่นมันเลย)...ผมรู้เลยว่าจะต้องเล่นบทนี้ยังไง ผมรู้ว่าจะต้องทำยังไงให้คนกลัว ยิ่งดูนุ่มนวล ยิ่งเงียบมากเท่าไรยิ่งดูน่ากลัวขึ้นเท่านั้น” แล้วเซอร์แอนโทนีก็ได้รับข้อเสนอให้เล่นบทนี้ในวันรุ่งขึ้น แต่อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าเซอร์แอนโทนีจะศึกษาตัวละครและบทเป็นอย่างดีจนซึมลึกเข้าไปจนถึงสมองของเขา กับบทฮันนิบาล เล็กเตอร์ก็เช่นเดียวกัน หากเพียงแต่ที่ต่างออกไปคือในเรื่องนี้เซอร์แอนโทนีออกความคิดเห็นหลายต่อหลายอย่างกับผู้กำกับเกี่ยวกับดอกเตอร์ฮันนิบาล เพื่อสร้างความแตกต่าง อย่างเช่นที่เขาคุยกับผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นคือ โจนาธาน เดมมี ใจความว่า ผู้กำกับ: “คุณอยากจะอยู่ตรงไหนในฉากแรกที่คุณเจอกับโจดี้ (โจดี้ ฟอสเตอร์-แสดงเป็นคลาริส สตาร์ลิง เจ้าหน้าที่ FBI ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้)” เซอร์แอนโทนี: “ยืนอยู่ตรงกลางห้องขังเลย” ผู้กำกับ: “ยืนหรอ? คุณไม่อยากนั่งอ่านหนังสือหรอ? ทำไมอยากยืนล่ะ?” เซอร์แอนโทนี: “เพราะผมจะได้กลิ่นของเธอโชยมาตั้งแต่ตอนที่เธอเดินตามทางเดินมาแล้วไง” ผู้กำกับ : “คุณนี่มันประหลาดคน” แล้วเราก็ได้เห็นฉากสำคัญ การพบกันครั้งแรกของดอกเตอร์ฮันนิบาลกับเจ้าหน้าที่ FBI คลาริส ด้วยการที่ฮันนิบาลยืนรอเธออยู่ที่กลางห้องขังจริง ๆ อีกหนึ่งความขนหัวลุกที่ออกมาจากจินตนาการของเซอร์แอนโทนี จากการเล่นบทดอกเตอร์ฮันนิบาลก็คือ เขาไม่ได้กะพริบตาเลยแม้แต่ครั้งเดียวตลอดการเล่นเป็นตัวละครนี้ คำถามสำคัญที่นักข่าวเคยถามเขาจึงเป็นคำถามที่ว่า ทำไมเขาจึงไม่กะพริบตาเลยตอนที่เล่นเป็นฮันนิบาล? “ผมคิดว่ามันเป็นทริกอย่างหนึ่งนะ ถ้าคุณไม่กะพริบตา คุณจะสะกดคนดูได้ อันที่จริงการไม่กะพริบตามันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นนะครับ ผมก็แค่อยู่เฉย ๆ เท่านั้นเอง” การอยู่เฉย ๆ ของเซอร์แอนโทนีในบทฮันนิบาลมันไม่เป็นเพียงแค่ “การอยู่เฉย ๆ” คนที่เคยดูหนังเรื่องนี้คงต่างทราบกันดีว่า ทุกการปรากฏตัวของเซอร์แอนโทนี มันเสมือนกับมีลำแสงแห่งความน่าสะพรึงกลัวอย่างบอกไม่ถูกทุกครั้ง และ 16 นาทีทองคำในการแสดงเป็น ดร.ฮันนิบาล เล็กเตอร์นี่เอง ที่ผลักดันให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำครั้งแรกในชีวิตในวัย 55 ปี เมื่อปี 1992 พอภาพตัดเลยต้องตัดแอลกอฮอล์ ชีวิตนอกจอ เขาเคยเป็นคนดื่มหนัก สมัยวัยรุ่นเซอร์แอนโทนีเคยดื่มค่อนข้างหนัก แต่พอตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน ในปี 2021 นับเป็นเวลาก็ 45 ปีแล้วที่เซอร์แอนโทนี ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์จนเมามายอีกเลย  เหตุการณ์เปลี่ยนชีวิตที่ทำให้เขาตัดสินใจว่าจะหันหลังให้กับน้ำเมาตลอดไป เกิดขึ้นในปี 1975 ตอนที่เขาตื่นมาที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองฟีนิกซ์ ในรัฐแอริโซนา โดยไม่รู้ตัวว่าเขามาถึงที่นี่ได้อย่างไร เพราะภาพสุดท้ายที่จำได้คือเขาอยู่ที่ลอสแอนเจลิสไม่ใช่เหรอ “ตอนนั้นผมเหมือนกำลังมุ่งหน้าเดินไปสู่หายนะ ผมดื่มเหล้าแบบเอาเป็นเอาตาย... (พอผมตื่นขึ้นที่โรงแรมแห่งนั้นในฟีนิกซ์) มันเหมือนกับมีข้อความบางอย่างวิ่งเข้ามาในหัวผม ถามผมว่า คุณอยากจะอยู่ต่อหรืออยากตาย? แล้วผมก็ตอบไปว่า ผมอยากอยู่ต่อ” ความคิดนั้นทำให้เขาได้ไปต่อ เพื่อแสดงผลงานให้โลกเห็น จากนั้นเป็นต้นมาเซอร์แอนโทนีใช้ชีวิตแบบศิลปินรักสุขภาพ ดื่มน้ำเปล่ากับโทนิคตอนไปบาร์ และไม่เคยกลับไปเมามายไร้สติอีกเลย ทั้งจากรางวัล คำชื่นชมและการยอมรับจากคนดูและจากสังคมในบทบาทการแสดงของเซอร์แอนโทนี ดูเหมือนว่าเขาได้ประสบความสำเร็จในสายงานครบทุกอย่างตามที่ชีวิตของนักแสดงคนหนึ่งจะใฝ่ฝันถึง หากแต่เซอร์แอนโทนี อัศวินทางศิลปะผู้นี้กลับมีความคิดที่ต่างออกไป “มันเป็นเรื่องดีนะครับที่ผมได้รางวัลออสการ์ (ในปี 1992) แต่ตอนนี้ (ตุ๊กตาออสการ์) มันก็เป็นแค่ตุ๊กตาที่เริ่มมีสนิมขึ้น ไม่ได้แวววาว แล้วมันก็ถูกตั้งอยู่ในตู้เก็บของใกล้ ๆ กับทีวีเท่านั้นเองน่ะครับ เราอย่าไปจริงจังกับมันมากเลย อย่างไรเสีย เดี๋ยวเราก็ต้องตายครับ ...ผมไปที่สุสานแอร์ลิงตันที่ที่ฝังศพอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี มาครับ แล้วผมก็คิดว่าช่วงสมัยอันยิ่งใหญ่ของการเป็นประธานาธิบดีของเขา (ของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี) ในที่สุดมันก็ผ่านไปเหลือไว้เพียงแต่ฝุ่นผง ไม่มีอะไรสลักสำคัญยิ่งใหญ่อีกต่อไป มีแต่ความสงบนี่แหละครับที่จริงแท้” อย่างไรก็ตาม 29 ปีผ่านไป รางวัลออสการ์จาก The Silence of the Lambs อาจจะสนิมขึ้น แต่รางวัลออสการ์จาก The Father ที่ได้รับมาอย่างใหม่แกะกล่องอยู่ในวันนี้ (อ่านบทความว่าด้วยภาพยนตร์ The Father ได้ที่ The Father – เมื่อใบไม้ร่วงหล่นจากต้นความทรงจำ - https://thepeople.co/the-father/) ถ้าคุณเชื่อว่าทุกอย่างถูกลิขิตมาแล้วจากใครสักคนที่อยู่เบื้องบน เรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตเซอร์แอนโทนีอาจจะดูเข้าล็อกพอดิบพอดี แต่หากคุณเชื่อว่าชีวิตนี้ เราลิขิตเอง เรื่องราวเส้นทางของเซอร์แอนโทนี ที่ผกผันพเนจรจากเด็กชายแอนโทนี ผู้ไม่เอาไหนในโรงเรียนมาจนเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลกในวันนี้ ก็ยังเป็นเรื่องเล่าแบบนี้ได้เช่นกัน ความขยัน ความมีวินัย และการเอาใจใส่การงานของตัวเอง ทำให้เขาได้ยืนกล่าวคำขอบคุณทุกคนที่ทุ่งหญ้าในประเทศเวลส์ หลังจาก 29 ปีแห่งการรอคอย...ออสการ์ที่ 2 ที่มา: https://people.com/movies/oscars-2021-anthony-hopkins-wins-best-actor/ http://awards.bafta.org/keyword-search?keywords=Anthony%20Hopkins https://www.chicagotribune.com/news/ct-xpm-1993-02-23-9303184625-story.html https://www.augustman.com/sg/culture/veteran-actor-anthony-hopkins/ https://www.classicfm.com/music-news/coronavirus/anthony-hopkins-playing-piano-cat-quarantine/ https://www.newyorker.com/culture/the-new-yorker-interview/anthony-hopkins-remembers-it-all https://www.cbr.com/silence-of-the-lambs-anthony-hopkins-never-blinks/ https://www.newsday.com/entertainment/celebrities/anthony-hopkins-sobriety-45-years-1.50105691 https://gulfnews.com/lifestyle/community/these-actors-won-oscars-with-less-than-16-minutes-of-screen-time-1.2092282 เรื่อง: มณีเนตร วรชนะนันท์