เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ นักแสดงผู้ศึกษาปรัชญาศาสนาพุทธ

เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ นักแสดงผู้ศึกษาปรัชญาศาสนาพุทธ

นักแสดงผู้ศึกษาปรัชญาศาสนาพุทธ

ตามธรรมเนียม GAP Year ในประเทศฝั่งตะวันตก หลังเรียนจบมัธยมฯ เด็กหลายคนมักจะยังไม่สมัครเข้ามหาวิทยาลัยทันที แต่จะใช้เวลา 1 ปีต่อจากนี้เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการออกเดินทางท่องเที่ยว, เรียนทักษะพิเศษเพิ่มเติม หรือทำงานอาสาสมัครเพื่อท้าทายและเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ตัวเอง เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) ก็เช่นกัน สำหรับเด็กหนุ่มในวัย 19 ปี เขาเลือกเดินทางไปยังเมืองดาร์จีลิง ประเทศอินเดีย เพื่อเป็นครูอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษในวัดธิเบตนาน 5 เดือน และนั่นก็เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้เขาได้รู้จักปรัชญาศาสนาพุทธ “มันเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นธรรมเท่าไหร่ จริงๆ แล้วพวกท่านสอนผมเกี่ยวกับการสำรวจลึกและความหยั่งรู้ ซึ่งมันมีคุณค่ามากกว่าที่ผมสอนภาษาอังกฤษพวกเขาเสียอีก” ที่นั่น เขาอาศัยในอารามเล็กๆ ที่ชั้นบนสุดเป็นโบสถ์ ส่วนตัวเองอยู่ห้องชั้นล่างที่ค่อนข้างอับชื้นและมีแมงมุมตัวใหญ่เกาะอยู่ริมผนัง มันเป็นวัดที่อยู่บนเขาท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงาม เพียงเปิดหน้าต่างก็จะพบก้อนเมฆคล้ายควันน้ำแข็งลอยเข้ามาในห้อง แต่ละวันคัมเบอร์แบตช์ได้รับอาหารเพียงน้อยนิด ทำให้ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างจำกัด แต่สิ่งที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับเขาคือการได้ฝึกสมาธิ ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อชีวิตจนถึงทุกวันนี้ “ผมหลงใหลแนวคิดของการทำสมาธิและความหมายของมัน” เขากล่าว “สมาธิเป็นเรื่องที่น่าทึ่งเมื่อคุณอยู่ในสภาวะสงบนิ่งและมีการไตร่ตรองครุ่นคิด ประสาทสัมผัสของคุณจะไวและเฉียบคมมากขึ้น” คัมเบอร์แบตช์กล่าวถึงพระที่วัดไว้ว่า พวกท่านเป็นมิตร เฉลียวฉลาด และมีอารมณ์ขันอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตามการสอนภาษาอังกฤษแก่พวกเขาก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน คัมเบอร์แบตช์ต้องสร้างกระดานดำด้วยตัวเองซึ่งไม่มีครูคนไหนเคยทำมาก่อน สอนพระ 12 รูปที่มีช่วงอายุระหว่าง 8 ถึง 40 ปีในห้องที่ความเงียบเป็นสิ่งสำคัญ และมีบทลงโทษหรือการให้รางวัลที่เข้มงวดชัดเจน “พวกท่านสอนผมเกี่ยวกับความเรียบง่ายของธรรมชาติมนุษย์ แต่ก็ยังเป็นเรื่องของมนุษย์ทั่วไป เช่น วันหนึ่งมีสุนัขสองตัววิ่งวนอยู่หลังวัด พวกเขาต่างหัวเราะเรียก ‘คุณ คุณ มานี่เร็ว คุณ มาเร็ว!’ และผมก็เห็นสุนัขสองตัวติดกันคล้าย Pushmi-Pullyu (ตัวละครสัตว์สองหัวของ Dr. Dolittle) พวกท่านเพียงยืนหัวเราะ ตลกดีที่พวกท่านมองมันเป็น ‘ภาพที่สวยงาม’ นอกจากนี้พวกท่านยังดูภาพยนตร์ Braveheart ซึ่งเป็นหนังที่โหดเหี้ยมเกินกว่าพระทิเบตจะดูได้ ท่านมองชาวสก็อตแลนด์เป็นเหมือนชาวทิเบตที่ถูกกดขี่ และมองอังกฤษเป็นประเทศจีน” ปัจจุบันคัมเบอร์แบตช์นิยามตัวเองว่านับถือศาสนาพุทธในเชิงปรัชญา ซึ่งการทำสมาธิมีประโยชน์อย่างมากต่ออาชีพการแสดงของตัวเอง “ความนิ่งสงบเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแสดง ดังนั้นผมจึงทำสมาธิก่อนแสดงเสมอ ความสงบเป็นช่วงเวลาที่หายากมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราอยู่ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผมประทับใจแนวคิดของศาสนาพุทธ และเห็นประโยชน์จากการการนั่งสมาธิ มันทำให้ผมหลุดออกมาจากความสับสนวุ่นวาย สงบ และเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น บางครั้งการเป็นนักแสดง คุณกำลังมองหาการทำงานอย่างไร้ขีดจำกัด คุณต้องสามารถจดจำบทท่ามกลางความวุ่นวายให้ได้ การทำสมาธิจึงเป็นหลักการท่ีทำให้คุณสงบและไร้ความกังวล” คัมเบอร์แบตช์ยกตัวอย่างตัวละคร เชอร์ล็อก โฮมส์ จากซีรีส์ Sherlock ว่าเป็นตัวละครที่น่าสนใจ เพราะเชอร์ล็อกต้องการสมาธิตลอดเวลา เขาจึงมักปิดกั้นเสียงรบกวนจากภายนอกด้วยการสีไวโอลิน หนึ่งในนั้นคือกริยาหยาบคายเวลาตะโกนให้คนอื่น ‘หุบปาก’ ตลอดเวลา "ผมคิดว่ามันก็เหมือนในโลกแห่งความจริง – ในฐานะนักแสดง คุณต้องสามารถปิดการรบกวนเรื่องอื่นๆ ให้ได้ มีช่วงเวลาที่ผมทำได้นะ เช่น คืนหนึ่งในการแสดงละครเวที The City by Martin Crimp มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นมาในกลุ่มคนดูนานกว่า 5 นาที นั่นทำให้ผมต้องใช้สมาธิเป็นอย่างมาก!” [caption id="attachment_11831" align="alignnone" width="735"] เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ นักแสดงผู้ศึกษาปรัชญาศาสนาพุทธ The Buddhist Life of Benedict Cumberbatch[/caption]   หลายๆ บทสัมภาษณ์ คัมเบอร์แบตช์จึงมักกล่าวถึงเรื่องราววัย 19 ว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิต เช่น ใน Wall Street Journal ที่บอกว่าเป็นการสร้างตัวตนใหม่ให้กับเด็กชายคนหนึ่ง หรือการนั่งคุยกับ ทอม ยอร์ก ฟรอนต์แมนวง Radiohead ในนิตยสาร Interview ที่บอกว่า รู้สึกอยากขอบคุณพระทิเบตที่สอนประสบการณ์ที่สวยงามสุดในชีวิต ก่อนจะกลับมายังบ้านเกิดตัวเอง พระทิเบตท่านหนึ่งบอกกับเขาว่า “อย่าโทษตัวเอง คุณกำลังจะกลับไปเป็นนักเรียนที่มหาวิทยาลัย คุณจำเป็นต้องมีประสบการณ์ และคุณต้องสนุกไปกับมัน อย่าตัดสินใจตัวเอง และอย่าใช้ชีวิตอยู่กับความรู้สึกผิดหรือความเสียใจเป็นอันขาด” ไม่นานมานี้ คัมเบอร์แบตช์มีโอกาสได้พากย์เสียง Walk With Me สารคดีที่เล่าเรื่องนักบวชและผู้ปฏิบัติธรรมทั้งชายและหญิงในหมู่บ้านพลัม ชุมชนพุทธศาสนิกชนนิกายเซนในประเทศฝรั่งเศสของ ติช นัท ฮันห์ โดยเป็นการอ่านข้อเขียนจากหนังสือ "แผ่นดินหอม" (Fragrant Palm Leaves) ประกอบการดำเนินเรื่อง ทั้งนี้ผู้กำกับสารคดีชาวอังกฤษ-ฝรั่งเศส แม็กซ์ พิวจ์ ให้สัมภาษณ์กับ Voice TV ถึงเหตุผลที่เลือกคัมเบอร์แบตช์ไว้ว่า “ส่วนตัวคัมเบอร์แบตช์ซาบซึ้งคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ เอามากๆ ตอนเสนองานนี้แก่เขา ผมคิดแค่ว่าเสียงเขาดีเท่านั้นเอง อยู่ๆ เขาก็บอกว่า เขาพกหนังสือติช นัท ฮันห์ ติดตัวมา 1 ปีแล้ว และจะยอมทำทุกอย่างเพื่องานนี้” ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ความสำเร็จของ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถทางการแสดงที่เขาสั่งสมมาตั้งแต่สมัยละครเวที ซีรี่ส์โทรทัศน์ ก่อนจะโลดแล่นในวงการฮอลลีวูดเต็มตัว ทว่าอีกหนึ่งเคล็ดลับก็คือการเรียนรู้ปรัชญาศาสนาพุทธตั้งแต่อายุ 19 ปีนั่นเอง ประสบการณ์ที่สร้างตัวตนชายหนุ่มคนนี้ให้นิ่งสงบ อ่อนโยน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

สำหรับผม ความสุขคือการดำรงอยู่ในทุกๆ ช่วงเวลาในชีวิต เพราะเพียงแค่คุณกำลังมองหาความสุขละก็ คุณจะไม่มีความสุขเลย

  ที่มา