‘บิล คลินตัน’ กับการ ‘โกหก’ ที่ทำให้ถูกดำเนินการถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี

‘บิล คลินตัน’ กับการ ‘โกหก’ ที่ทำให้ถูกดำเนินการถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี

‘บิล คลินตัน’ กับการ ‘โกหก’ ที่ทำให้ถูกดำเนินการถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี พ่วงโยงกับกรณีโมนิกา ลูวินสกี (Monica Lewinsky) นักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาวแฉเรื่องเธอถูกแสวงประโยชน์ทางเพศโดยบิล คลินตัน

  • บิล คลินตัน ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีเคยตกเป็นข่าวคดีฉาวเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศกับโมนิกา ลูวินสกี นักศึกษาฝึกงาน
  • อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในครั้งนั้นถูกชี้นำให้สังคมเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แม้ว่าการ ‘โกหก’ เพื่อปกปิดเรื่องฉาวจะเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมก็ตาม

กระแส #MeToo ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ชายที่มีอำนาจเป็นผู้บริหารในองค์กรต่าง ๆ ต้องออกจากตำแหน่ง หรือสูญเสียสถานภาพเดิมไปกันหลายคน กับข้อกล่าวหาประพฤติไม่เหมาะสมทางเพศ ตั้งแต่การใช้สถานะที่เหนือกว่าฉวยโอกาสลวนลามไปจนถึงการข่มขืนลูกจ้างหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

ความเคลื่อนไหวทางสังคมในครั้งนี้ทำให้หลายคนหวนนึกถึงกรณีอื้อฉาวในปี 1998 ซึ่งทำให้ บิล คลินตัน (Bill Clinton) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตในขณะนั้นต้องเผชิญกับกระบวนการถอดถอนจากตำแหน่ง

โมนิกา ลูวินสกี (Monica Lewinsky) อดีตเด็กฝึกงานทำเนียบขาวซึ่งมีสัมพันธ์ทางเพศกับคลินตัน เคยพูดถึงความสัมพันธ์ครั้งนั้นว่ามันเป็นความสัมพันธ์ที่มาจากความยินยอมทั้งสองฝ่าย แต่หลังเกิดกระแส #MeToo เธอให้ความเห็นผ่าน Vanity Fair ว่าตอนนี้เธอก็ไม่แน่ใจแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความยินยอมหรือความจำยอมกันแน่

“เขาเป็นเจ้านายของฉัน เขาคือคนที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก เขาอายุมากกว่าฉัน 27 ปี กับประสบการณ์ชีวิตที่รู้อะไรมากกว่าฉัน ตอนนั้นเขาอยู่ในจุดสูงสุดของชีวิตการงาน ส่วนฉันเพิ่งจะได้ทำงานแรกหลังจบมหาวิทยาลัย”

อย่างไรก็ดี ตอนนั้นการแสวงประโยชน์ทางเพศของผู้มีอำนาจไม่ได้ถูกเพ่งเล็งมากเหมือนตอนนี้ (ซึ่งรุนแรงถึงขนาดทำให้ผู้ชายหลายคนต้องพ้นจากตำแหน่งโดยไม่ต้องขึ้นไปโต้แย้งถึงชั้นศาล) ความสัมพันธ์ของทั้งคู่แม้จะอื้อฉาวแต่ก็ไม่ได้เป็นหัวใจหลักที่ทำให้คลินตันถูกดำเนินการถอดถอน แต่เป็นเพราะการเบิกความเท็จ และการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

ที่มาที่ไปของคดีนี้เริ่มมาจาก พอลลา โจนส์ (Paula Jones) อดีตเจ้าหน้าที่รัฐอาร์คันซอยื่นฟ้อง บิล คลินตัน ด้วยข้อหาคุกคามทางเพศในเดือนพฤษภาคม 1994 (ซึ่งคลินตันเพิ่งรับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกได้ราวปีครึ่ง) โดยเธอกล่าวหาว่า เมื่อปี 1991 คลินตันเมื่อยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ ได้ล่อลวงเธอซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาให้เข้าไปหาในห้องพักของโรงแรมแห่งหนึ่งก่อนที่เขาจะใช้มือลวนลามและพยายามจะจูบเธอ จากนั้นเขาจึงได้ถอดกางเกงออกและขอให้เธอใช้ปากสำเร็จความใคร่ให้

ฝ่ายคลินตันให้การปฏิเสธอ้างว่าเขา “จำไม่ได้” ว่าเคยมีเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น แม้จะยอมรับว่าเขาอาจเคยเจอเธอในโรงแรมที่เกิดเหตุก็ตาม

ฝ่ายของโจนส์พยายามต่อสู้โดยเชิญเจ้าหน้าที่หญิงหลายคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของคลินตันมาให้การ รวมถึงโมนิกา ลูวินสกี เด็กฝึกงานทำเนียบขาว เพื่อดูว่ามีผู้หญิงคนไหนเคยถูกคุกคามเช่นเดียวกันบ้าง ซึ่งหากพบว่ามีจริง ก็จะทำให้ข้อกล่าวหาของเธอมีน้ำหนักมากขึ้น เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า คลินตันมี “นิสัย” ชอบแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

ด้านทีมทนายของคลินตันพยายามใช้เทคนิคทั้งข้อกฎหมายและการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อเอาชนะคดี เช่นการยื้อคดีให้ศาลเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปเป็นช่วงหลังจากที่เขาลงจากตำแหน่งไปแล้ว (ซึ่งศาลฎีกายืนยันว่า ประธานาธิบดีก็สามารถถูกฟ้องในคดีที่มูลเหตุเกิดขึ้นก่อนรับตำแหน่งได้) และการซ้อมพยาน

และในการเบิกความต่อศาลในเดือนมกราคม 1998 ทั้งคลินตัน และลูวินสกีให้การตรงกันว่าพวกเขาไม่เคยมีสัมพันธ์ทางเพศ ในเดือนเมษายนปีเดียวกันศาลก็มีคำสั่งยกฟ้องโดยอ้างว่า โจนส์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนได้รับความเสียหายเพียงใด และการกระทำของคลินตันก็ยังไม่เข้าลักษณะเป็นการคุกคามทางเพศ

แต่คดีของคลินตันก็ยังไม่จบง่าย ๆ เมื่อเคนเน็ธ สตาร์ (Kenneth Starr) เจ้าหน้าที่สอบสวนอิสระของกระทรวงยุติธรรมไปได้บันทึกเทปมาจาก ลินดา ทริปป์ (Linda Tripp) อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวซึ่งมีความสนิทสนมกับลูวินสกี และรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างคลินตัน กับลูวินสกี รวมถึงหลักฐานความสัมพันธ์ที่ลูวินสกีเก็บงำไว้ (คราบน้ำกามของคลินตัน) เพราะลูวินสกีเป็นคนเล่าให้เธอฟังเอง เธอจึงได้แอบบันทึกการสนทนาเอาไว้ ซึ่งกลายมาเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการเอาผิดฐานเบิกความเท็จ และขัดขวางกระบวนการยุติธรรมจนจำไปสู่กระบวนการถอดถอนคลินตันออกจากตำแหน่ง

เมื่อได้หลักฐานเด็ดมา สตาร์จึงไปต่อรองเสนอว่าจะไม่ดำเนินคดีกับลูวินสกีหากเธอยอมขึ้นให้การตามข้อเท็จจริงและยื่นหลักฐานเป็นชุดของเธอที่เธออ้างว่าเปื้อนน้ำกามของคลินตัน

ในการให้การต่อคณะลูกขุนใหญ่เมื่อเดือนสิงหาคม 1998 คลินตันต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะกดดันเมื่อรู้แล้วว่าลูวินสกี ได้เจรจากับฝ่ายของสตาร์ และยังมีหลักฐานเด็ดเป็นชุดเดรสเปื้อนน้ำกามที่ผลพิสูจน์ดีเอ็นเออาจออกมาตรงกับเขาได้ คลินตันจึงต้องยอมรับเป็นครั้งแรกว่าเขามีความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมกับลูวินสกี

“เป็นความจริงที่ผมมีความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมกับคุณลูวินสกี ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ผิด มันแสดงถึงการขาดความยั้งคิดและความผิดพลาดส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองเบิกความเท็จต่อศาลในเดือนมกราคม โดยอ้างเรื่อง “ไวยากรณ์”

คลินตันบอกว่า ที่เขาเคยให้การว่า “เราสองคนไม่ได้มีอะไรกัน” เป็นความจริง เพราะทั้งคู่ตอนนั้นไม่ได้มีอะไรกันแล้ว โดยอธิบายว่า

“...ถ้า is (กริยาช่วยใช้กับรูปประโยคสื่อถึงสถานการณ์ปัจจุบัน) ในที่นี้หมายถึงการไม่ได้มีอะไรกันทั้งในปัจจุบันและอดีตมันก็เรื่องนึง แต่ถ้ามันหมายถึง ตอนนี้ไม่ได้มีอะไรกันมันก็ย่อมเป็นการเบิกความตามความจริงโดยสมบูรณ์”

แม้จะดูเหมือนเพลี่ยงพล้ำแต่เหตุการณ์นี้กลับทำให้คลินตัน มีความมั่นคงทางการเมืองสูงยิ่งขึ้น ผลสำรวจโดย CNN/USA Today/Gallup พบว่าประชาชนกว่า 64% ให้การสนับสนุนคลินตันต่อไป มีเพียง 31% ที่บอกว่าเขาสมควรถูกถอดถอน

ขณะเดียวกัน ระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาญัตติถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งอยู่นั้น ก็เข้าสู่ช่วงของการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งเดโมแครตคว้าที่นั่งได้เพิ่มอีก 5 ที่นั่งอย่างพลิกความคาดหมาย ผลสำรวจของผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ก็ระบุว่าพวกเขาไม่ต้องการให้สภาคองเกรสพิจารณาถอดถอน หรือให้คลินตันต้องลาออก แต่ทางสภาผู้แทนราษฎรก็ยังคงเดินหน้าต่อ

ระหว่างนั้น คลินตันได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับโจนส์ โดยยอมจ่ายค่าทดแทนเป็นจำนวน 850,000 ดอลลาร์ แต่ไม่ยอมรับผิดในทุกข้อกล่าวหา สถานการณ์ในตะวันออกกลางก็มีส่วนทำให้การลงมติของสภาผู้แทนราษฎรต้องยืดระยะเวลาออกไป เมื่อเขาสั่งโจมตีทางอากาศต่ออิรัก หลังซัดดัม ฮุสเซน ปฏิเสธที่จะให้ผู้ตรวจการของสหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบอาวุธ

วันที่ 19 ธันวาคม 1998 สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ถอดถอนคลินตันจากกรณีเบิกความเท็จต่อคณะลูกขุนใหญ่ในเดือนสิงหาคม และขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายคลินตันยืนยันว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงวันสุดท้ายตามกำหนดวาระ ส่วนความเห็นของประชาชนชัดเจนว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการถอดถอน เมื่อคะแนนนิยมของคลินตันพุ่งขึ้นเป็น 73% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับแต่วันที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

แม้ตอนนั้นฝ่ายรีพับลิกันจะเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา (แต่ไม่ถึงสองในสามของเสียงทั้งหมดซึ่งเป็นจำนวนเสียงที่จำเป็นสำหรับการถอดถอนประธานาธิบดี โดยตอนนั้นรีพับลิกันมี 55 เสียง เดโมแครต 45) แต่ผลกลับไม่ได้ออกมาตามสมการ

เมื่อวุฒิสภาได้รับเรื่องต่อจากสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาถอดถอนคลินตันตามขั้นตอนโดยใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน และได้มีมติในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1999 ให้คลินตันไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ 55 เสียง ต่อ 45 เสียง โดยได้คะแนนจากฝ่ายรีพับลิกันมาเพิ่ม 10 เสียง ส่วนข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรมมีคะแนนเสียงเท่ากัน 50 ต่อ 50 การพิจารณาครั้งนี้จึงจบลงด้วยชัยชนะของคลินตัน

เหตุการณ์ในครั้งนั้นถูกชี้นำให้สังคมเห็นเป็นเรื่องส่วนตัว แม้จะเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม และคลินตันเองก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ผิด แต่คนในสมัยนั้นยังไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาที่จะกระทบต่อส่วนรวม แม้แต่การ ‘โกหก’ เพื่อปกปิดเรื่องฉาวที่เกิดขึ้นกับเด็กฝึกงานระหว่างที่ตนดำรงตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร คนสมัยนั้นก็ยังมองว่าอยู่ในข่ายความเป็นส่วนตัวอยู่

ฝ่ายเดโมแครตยังโจมตีเจ้าพนักงานสอบสวนว่าสิ้นเปลืองงบประมาณไปกว่า 70 ล้านดอลลาร์เพื่อเอาผิดกับข้อหา ‘เบิกความเท็จ’ หรือ ‘ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม’ ราวกับมันเป็นเรื่องเล็กน้อย

ในปี 2018 บิล คลินตัน ซึ่งออกมาชื่นชมการเคลื่อนไหวของขบวนการ #MeToo กับเขาด้วยก็ยังยืนยันว่าวิธีการรับมือกับเรื่องอื้อฉาวเมื่อยี่สิบปีก่อนถือว่าถูกต้องเหมาะสมดีแล้ว

“ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นประเด็นอะไรเพราะยังไงประชาชนก็ต้องรับฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่นึกเอาเอง” (NBC) และคลินตันก็ไม่คิดว่าเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนท่าทีอะไร

“ถ้าข้อเท็จจริงในวันนี้ยังเหมือนเดิม ผมก็ไม่เปลี่ยนหรอกครับ”

 

เรื่อง: อดิเทพ พันธ์ทอง

ภาพ: Getty Images