มองนัยของคติดอกไม้ประจำชาติ ทำไมขะแมร์ใช้ ดอกลำดวน ไทยใช้ ดอกราชพฤกษ์

มองนัยของคติดอกไม้ประจำชาติ ทำไมขะแมร์ใช้ ดอกลำดวน ไทยใช้ ดอกราชพฤกษ์

จากกรณี ดอกลำดวน ในภาพโปรโมตภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส 2 บทความนี้จะอภิปรายความเป็นมาของคติ ดอกไม้ประจำชาติ เพื่อค้นหาว่า ทำไมไทยถึงใช้ ดอกราชพฤกษ์ ทำไมขะแมร์ (กัมพูชา) ใช้ ดอกลำดวน ดอกลำดวนสำคัญอย่างไรต่อประวัติศาสตร์และวิถีวัฒนธรรมร่วมกัมพูชา-ไทย

  • ภาพโปรโมตภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส 2 ซึ่งภาพหนึ่งมีปรากฏดอกลำดวน นำมาสู่ข้อถกเถียงเรื่องความหมายของดอกลำดวน ในฐานะที่ดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชา
  • นอกจากการให้ความหมายแล้ว คติ “ดอกไม้ประจำชาติ” นำมาสู่คำถามว่า ทำไมไทยถึงใช้ ดอกราชพฤกษ์ ทำไมขะแมร์ใช้ ดอกลำดวน
  • และยังมีคำถามว่า ดอกลำดวน สำคัญอย่างไรต่อประวัติศาสตร์และวิถีวัฒนธรรมร่วมกัมพูชา-ไทย

(1) บทนำ: ทำไมจึงเกิดศึกชิงดอกไม้?

ยังไม่ทันได้เริ่มฉาย ภาพยนตร์เรื่อง “บุบเพสันนิวาส 2” ก็มีดราม่ากระหึ่มเมือง  เกิดศึกปะทะคารมกันระหว่างกัมพูชากับไทยผ่านสมรภูมิโซเชียล  เมื่อโปสเตอร์โปรโมตหนังมีภาพพระเอก (โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) กับนางเอก (เบลล่า-ราณี แคมเปน) ถือดอกลำดวนเพื่อสื่อความหมายแทนความรักที่ยั่งยืน  ก็ได้รับการทักท้วงจากผู้รักชาติบ้านเมืองชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่ง  เนื่องจากว่าดอกลำดวนถือเป็น “ดอกไม้ประจำชาติ” ของกัมพูชา 

ในทางกลับกัน  หากแม้นว่าทางฝ่ายกัมพูชาจัดภาพยนตร์อะไรออกมาแล้วมีภาพพระ-นางถือดอกราชพฤกษ์เป็นสิ่งแทนเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ที่อยากให้เป็นสิ่งบูรณาการและยั่งยืนในทำนองเดียวกันแล้วไซร้  เชื่อว่าจะมีผู้ชมชาวไทยจำนวนหนึ่งอาจเกิดอาการอดรนทนไม่ได้ขึ้นมาเช่นกัน  เพราะดอกราชพฤกษ์ถือเป็นดอกไม้ประจำชาติของไทย  ผู้อื่นนำเอาไปใช้ในทางรัก ๆ ใคร่ ๆ เป็นความรักแบบทางโลกย์ (Secular love) ย่อมสร้างความไม่พอใจให้แก่คนไทยบางกลุ่มได้ไม่ยาก     

คำถามแรกที่หลายคนอาจจะกำลังมีต่อเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ก็คือ ทำไมผู้กำกับตลอดจนทีมงานที่สร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมา ถึงไม่ใช้ “ดอกราชพฤกษ์” ซึ่งถือเป็นดอกไม้ประจำชาติของไทย  ไปใช้ดอกลำดวนให้มันเกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาด้วยเหตุอันใดฤาออเจ้า?

แต่หากพิจารณาความสำคัญของดอกไม้ในมิติทางประวัติศาสตร์ของสยาม-ไทยเองแล้ว ก็จะพบว่าดอกลำดวนนี้มีความสำคัญปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายทีเดียว โดยที่ภาพยนตร์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส 2” นี้ แม้จะเป็นเรื่องบันเทิงพระเอกหล่อ นางเอกน่ารัก ชวนออเจ้าเคลิ้มฟินอย่างไร เรื่องมันก็มีสิ่งที่จัดว่าเป็น “ไฟท์บังคับ”อยู่ที่การเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ หากขาดความสมจริงขึ้นมาก็อาจเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้ 

“ดอกราชพฤกษ์” เพิ่งถูกใช้เป็นดอกไม้ประจำชาติของไทย เมื่อ พ.ศ.2544 โดยมีพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นผู้ลงนาม รวมระยะเวลาเพียงแค่ 21 ปีมานี้เอง และในขณะเดียวกัน รัฐบาลกัมพูชาก็เพิ่งจะประกาศให้ “ดอกลำดวน” หรือ “ผการ็อมดวล” (ในภาษาขะแมร์) เป็นดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชา เมื่อ พ.ศ.2548  ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ทรงลงพระปรมาภิไธย รวมระยะเวลาที่ดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชาก็เพียง 17 ปีเท่านั้นเอง 

กลายเป็นว่าการสร้างดอกไม้ประจำชาตินี้  ไทยเป็นผู้ริเริ่มขึ้นมาก่อน 4 ปีให้หลังกัมพูชาจึงได้ทำของตนขึ้นบ้าง แม้จะใช้วัตถุหรือดอกไม้คนละชนิดกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็คือการสร้างดอกไม้ประจำชาติคืออยู่ในระบบคิดและปฏิบัติการแบบเดียวกัน กลายเป็นเรื่องทำนอง “ไทยเอาเยี่ยง-เขมรเอาอย่าง” แต่แล้วก็เป็นสิ่งย้อนคืนกลับมาให้โทษต่อความสัมพันธ์กับไทย นอกเหนือไปจากดราม่า สิ่งที่ควรทำคือการย้อนกลับมาทบทวนดูพี่ไทยของเราเองด้วยว่า ไปทำอะไรจนเขารู้สึกกระทบกระเทือนหรือไม่ อย่างไร?

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการอภิปรายปัญหาประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของคติ “ดอกไม้ประจำชาติ” เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมไทยถึงใช้ดอกราชพฤกษ์ ทำไมขะแมร์ใช้ดอกลำดวน  และดอกลำดวนที่มีดราม่ากันอยู่นี้มีความสำคัญอย่างไรต่อประวัติศาสตร์และวิถีวัฒนธรรมร่วมกัมพูชา-ไทย อะไรคือความแตกต่างที่นำมาสู่ความขัดแย้งในลักษณะนี้ 

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เข้าใจและตระหนักถึงความละเอียดอ่อนของประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมในลำดับถัดไป          

(2) ราชพฤกษ์: จาก “ต้นไม้มงคล” สู่ “ดอกไม้ประจำชาติ” (ของไทย)    

เมื่อถูกทำให้เป็นเรื่อง “ของชาติ” หรือ “ประจำชาติ” ขึ้นมา ก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ทุกชนิดเป็นอันต้องเคลมความเป็นเจ้าของย้อนหลังกลับไปสู่อดีต 

ถ้าเป็นกัมพูชาก็จะอ้างกลับไปสู่สมัยอาณาจักรเมืองพระนคร ถ้าเป็นไทยก็มักจะอ้างกลับไปที่กรุงศรีอยุธยา แน่นอนว่าสิ่งนี้ก่อปัญหาให้กับประชาคมอาเซียน แต่ทั้งนี้อย่าลืมว่าอาเซียนนั่นแหละคือตัวแปรสำคัญหนึ่งที่จะเร่งปฏิกิริยาของลัทธิชาตินิยมอีกระลอกหนึ่ง 

ถึงอาเซียนจะพูดถึงการยกเลิกสลายพรมแดนของรัฐชาติ แต่ทว่าชาตินิยมได้สถาปนาตัวเองในฐานะรากฐานการอธิบายทุกสรรพสิ่งในลักษณะเดียวกับที่ศาสนาเคยเป็นหรือทำมาก่อน ดังนั้น ต่อให้เลิกพรมแดนของรัฐชาติก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐชาติกับชาตินิยมจะสูญสิ้นไปด้วย เพราะยังมีเครื่องมืออื่น ๆ อีก     

จริงอยู่ว่าเรื่องพืชพรรณดอกไม้ดูเผิน ๆ อาจเป็นเรื่องของธรรมชาติที่มีทั่วไป แต่ก็เป็นเวลานานนมมาแล้วเช่นกันที่มนุษย์เข้าไปมีบทบาทกำหนดธรรมชาติประเภทนี้ตั้งแต่ในนามของเกษตรกรรมจนถึงวิทยาศาสตร์ ก่อนหน้าวิทยาศาสตร์ (หรือแม้แต่ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์ชี้นำความคิดผู้คนอย่างในปัจจุบัน) ผู้คนก็จัดการกับพืชพรรณธรรมชาติโดยการใช้คติความเชื่อ ลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับพืชเก่าแก่พอ ๆ กับลัทธิความเชื่อที่นับถือสัตว์ (Animism) และหรือความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพชน (Ancestor warship) 

เมื่อสังคมมนุษย์หันมานับถือศาสนา คติความเชื่อเกี่ยวกับพืชก็ยังคงมีบทบาทแทรกอยู่กับลัทธิศาสนา ดังจะเห็นได้จากคติความเชื่อของชาวพุทธที่มีต่อต้นโพธิ์และมี “ดอกบัว” เป็นดอกไม้สำคัญประจำศาสนา ในขณะเดียวกันศาสนาพราหมณ์ฮินดูก็มี “ดอกดาวเรือง” และก็นับถือต้นโพธิ์มาก่อนพุทธ 

คริสต์กับอิสลามมี “ดอกกุหลาบ” เป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน แต่นับคริสต์มี “ต้นคริสต์มาส” อิสลามมี “ต้นซักกุม” (ต้นไม้ที่ถูกสาปงอกมาจากนรก) กับคติเรื่อง “ต้นไม้แห่งชีวิต” (Tree of life)     

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่าชาตินิยมถูกใช้ในลักษณะที่พยายามสถาปนาตนเองให้เป็นรากฐานคำอธิบายทุกสรรพสิ่งแบบศาสนา พูดอีกนัยหนึ่งก็คือพยายามจะ “ก๊อปปี้-เพส” (copy-paste) หรือลอกการบ้านศาสนา ดังนั้น ของที่มีอยู่ในจำพวกพืชพรรณธรรมชาติ ดอกไม้ ต้นไม้ใบหญ้า อะไรพวกนี้ ชาตินิยมก็จะเข้าไปอธิบายหรือแสดงความเป็นเจ้าของกับเขาด้วย 

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่ากระบวนการอธิบายพืชพรรณธรรมชาติของชาตินิยมเข้าไปแทนที่ศาสนาได้ล่าช้ากว่าเมื่อเทียบกับอันอื่น นั่นอาจจะเป็นเพราะศาสนายังคงกุมคำอธิบายพืชพรรณธรรมชาติไว้อย่างเหนียวแน่น  ไม่ยอมปล่อยให้ชาตินิยมหรืออื่นใดครอบครองได้โดยง่าย เพราะศาสนามีจุดแข็งอย่างหนึ่งอยู่ที่การยกเรื่อง “เข้าถึงธรรมชาติ” และเพราะความจริงของศาสนาก็อ้างเป็นอย่างเดียวกับธรรมชาติ    

“ต้นราชพฤกษ์” หรือ “ต้นคูน” (Ratchaphruek or Cassia Fistula Linn.) เดิมไม่ใช่พืชของไทย เป็นต้นไม้พื้นเมืองของแถบเอเชียใต้ บริเวณตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย พม่า และศรีลังกา โดยนิยมปลูกกันมากในเขตร้อน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง เป็นไม้จำพวก Cassia มีชื่อเรียกว่า Cassia Donosa ในประเทศไทยพบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ มีมากทางภาคเหนือและอีสาน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ คนอีสานรู้จักมานานและเรียกว่า “ต้นคูน” (คูน แปลว่า กตัญญูรู้คุณ)  

ราชพฤกษ์เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบสูง 5-15 เมตร ลำต้นค่อนข้างเปลาตรงเปลือกนอกสีเทาอมน้ำตาล สีเทาอมขาวหรือสีนวล เรียบ เกลี้ยงหรือแตกล่อนเป็นสะเก็ดโต ๆ บ้าง เปลือกในสีเหลือง เรือนยอดรูปไข่หรือรูปร่ม ค่อนข้างทึบ แตกกิ่งต่ำ แผ่กว้าง ให้ร่มเงาดี เนื้อไม้แปรรูปใช้ทำเสา สากตำข้าว ล้อเกวียน คันไถ เครื่องกลึง ชาวล้านนาและคนอีสานนิยมใช้เปลือก เนื้อไม้ และผลมาทำสีย้อมให้สีเหลือง ใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายและผ้าไหม [1]

พืชจากเอเชียใต้นี้มีผู้นำเอามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่เป็นที่ปรากฏ การส่งเสริมให้ปลูกโดยทางการเริ่มต้นเมื่อมีการประกาศให้เป็น “ต้นไม้ประจำชาติ” เมื่อ พ.ศ.2506 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยกระทรวงเกษตรและกรมป่าไม้ ได้จัดประชุมเรื่อง “การกำหนดต้นไม้และสัตว์ประจำชาติ ครั้งที่ 2/2506” เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2506 ผลการประชุมครั้งนั้นได้มีมติเอกฉันท์ให้ต้นราชพฤกษ์เป็น “ต้นไม้ประจำชาติไทย” และในคราวเดียวกันนั้นก็ได้มีการกำหนดให้ “ช้างเผือก” เป็น “สัตว์มงคลประจำชาติไทย” ด้วย 

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น เคยมีการถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเดิมเคยเป็น “วันชาติ” มาเป็น “วันปลูกต้นไม้แห่งชาติ” โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2495 เป็นต้นมา

เมื่อ “วันชาติ 24 มิถุนา” กลายไปเป็น “วันปลูกต้นไม้แห่งชาติ” ไปแล้ว เพื่อให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันธรรมดา ก็ได้เปลี่ยนมาใช้วันเข้าพรรษาของทุกปีเป็น “วันปลูกต้นไม้แห่งชาติ” แทน ต่อมาเมื่อรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศให้ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ประจำชาติ ต้นราชพฤกษ์ก็ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกเนื่องในวันปลูกต้นไม้แห่งชาตินั้นสืบมา [2]  

ด้วยเหตุผลว่า “ต้นราชพฤกษ์” ออกดอกสีเหลืองชูช่อ ดูสง่างาม อีกทั้งยังมีสีตรงกับสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงมีสมญาอีกอย่างว่าเป็น “ต้นไม้ของในหลวง” มีความเชื่อในท้องถิ่นว่าเป็น “ต้นไม้มงคล” ควรปลูกไว้ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ และหากปลูกไว้ในบ้านจะช่วยให้มีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อ โดยใช้ใบทำน้ำพระพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ [3]

ต่อมาเมื่อพ.ศ.2544 คณะรัฐมนตรีร่วมกับหน่วยงานสำคัญอาทิ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชุมพิจารณามีมติเห็นชอบออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง “การกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติไทย 3 สิ่ง” ลงนามโดย พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2544 คือ ดอกไม้ สัตว์และสถาปัตยกรรม โดยกำหนดให้ดอกไม้ประจำชาติคือ ดอกราชพฤกษ์ สัตว์ประจำชาติคือ “ช้างไทย” และสถาปัตยกรรมประจำชาติคือ “ศาลาไทย”  

เหตุผลที่เลือกดอกราชพฤกษ์  ตามผลสรุปการศึกษาและรวบรวมข้อมูลโดยกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตร ระบุว่า

1.) เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันแพร่หลายสามารถขึ้นได้ทุกภาคของประเทศไทย  

2.) ใช้ประโยชน์ได้มากเช่นฝักเป็นสมุนไพรที่มีค่ายิ่งในตำรับแพทย์แผนโบราณและแก่นแข็งใช้ทำเสาเรือนได้ดี  

3.) มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีของชาวไทยเพราะเป็นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนามและอาถรรพ์ แก่นไม้เคยใช้พิธีสำคัญๆ มาก่อนเช่น พิธีลงหลักเมืองใช้เป็นเสาเอกในการก่อสร้างพระตำหนัก ทำคธาจอมพลและยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร นอกจากนี้อินทรธนูของข้าราชการพลเรือนก็จำลองจากช่อราชพฤกษ์เป็นเครื่องหมาย  

4.) มีอายุยืนนานและทนทาน  

5.) มีทรวดทรงและพุ่มงามมีดอกเหลืองอร่ามเต็มต้น เป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา [4]

(3) “ผการ็อมดวล” (ดอกลำดวน) ในวิถีวัฒนธรรมของกัมพูชา

ผู้คนในประเทศกัมพูชานิยมปลูกต้นลำดวนไว้ตกแต่งตามเคหสถานบ้านเรือน และตามบริเวณสวนสาธารณะ ด้วยเหตุว่าดอกมีกลิ่นหอม คนขะแมร์โบราณนิยมใช้ดอกลำดวนมาเป็นวัตถุดิบในการทำสีขี้ผึ้งสำหรับทาริมฝีปากของสุภาพสตรี  

ส่วนลำต้นของลำดวนยังสามารถใช้สำหรับเป็นวัสดุในการก่อสร้างบ้านเรือนตลอดจนใช้ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และใช้เป็นฟืนสำหรับหุงหาอาหารได้อีกด้วย ในช่วงฤดูกาลที่ผลของลำดวนสุก คนชนบทของกัมพูชาจะเดินทางเข้าป่าเพื่อเก็บผลลำดวนสุกมาขาย เป็นรายได้เลี้ยงชีพ  

กล่าวกันว่ากลิ่นหอมของดอกลำดวนเป็นที่ตรึงใจแก่ผู้ที่ได้สูดดมกลิ่น นักกวีนิพนธ์ชาวเขมรจึงได้นำดอกลำดวนไปใช้ในการเปรียบเทียบความงดงาม และหอมหวนกับสตรี ดังจะเห็นได้จากบทเพลงในหลายบทเพลง อาทิ Rumdul Kraties และ Rumdul Pursat  

“ผการ็อมดวล” หรือ “ร็อมดวล” หมายถึง “ดอกลำดวน” ที่ปรากฏนำมาใช้ประพันธ์ในบทเจรียงกันตรึมหรือบทร้องของชาวเขมร และชาวอีสานใต้ในประเทศไทย มักใช้ในพิธีมงคลต่าง ๆ เป็นที่นิยมและปรากฏในบทร้องทั้งเก่าและใหม่ที่เเต่งขึ้นสำหรับร้องกันตรึม สะท้อนให้เห็นว่าเป็นดอกไม้ทรงคุณค่าในเรื่องความหอม ความงามของกลีบดอกที่เเข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมแม้จะผลิดอกในช่วงฤดูร้อนแต่ความหอม และความงามต่างเป็นที่หมายปอง เปรียบได้กับความงามของหญิงที่มีกิตติศัพท์เรื่องความงามเฉกเช่นกลิ่นหอมของดอกลำดวนที่ฟุ้งขจรไปทั่ว

ในหลายพื้นที่ในประเทศกัมพูชาได้รับการตั้งชื่อตามดอกไม้ชนิดนี้ เช่น ตำบล Rumdoul และ Ou Rumduol ต่อมาในปี พ.ศ.2548 (ค.ศ.2005) กษัตริย์สีหมุนีของกัมพูชา ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ดอกลำดวนเป็น “ดอกไม้ประจำชาติ” ของกัมพูชา

นอกจากนี้ลำดวนยังเป็นชื่อที่ชาวกัมพูชานำไปตั้งชื่อให้กับพันธุ์ข้าวที่ปลูกกันในประเทศ ชื่อว่า “ข้าวหอมพันธุ์ดอกลำดวล” และเมื่อการประกวดพันธุ์ข้าวเมื่อ พ.ศ.2555 (ค.ศ.2012) ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ข้าวหอมกัมพูชาพันธุ์ดอกลำดวน คว้ารางวัลที่ 1 แซงหน้าข้าวหอมมะลิของไทย ข้าวหอมพื้นเมืองพันธุ์ดอกลำดวน (Rumduon) ซึ่งเป็นข้าวจ้าวเม็ดเล็ก กลิ่นหอมจัด รสนุ่มนวล เมื่อปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ กล่าวคือ ใช้ปุ๋ยคอก และไม่ใช้สารเคมี หรือยาฆ่าแมลงใด ๆ ตลอดฤดูกาล

ข้าวหอมพื้นเมืองลำดวนได้ชื่อว่าเป็นข้าวคุณภาพดีที่สุดในประเทศกัมพูชา มีราคาแพง และยังปลูกได้น้อย เกือบทั้งหมดส่งออกผ่านพ่อค้าคนกลางไปยังตลาดในยุโรปรับ และข้าวหอมพันธุ์ “ดอกลำดวน” ยังเคยได้รับรางวัลร่วมกับข้าวหอมมะลิของไทยในเวทีการประชุมข้าวโลก World Rice Conference ประจำปี พ.ศ.2557 (ค.ศ.2014) และเป็นความหวังใหม่ของวงการตลาดข้าวของกัมพูชาอีกด้วย [5] ในขณะที่ข้าวไทยนั้นมีชะตากรรม “ดรอป” ลงยิ่งกว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกเสียอีก และก็แน่นอนว่าโดยชื่อ (ลำดวน) ที่กลายไปเป็นสิ่งที่ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศในระดับสากลเช่นนี้ ย่อมมีผลให้เกิดความภาคภูมิใจในแบบฉบับของชาตินิยม

(4)  ความหมายของ “ดอกลำดวน” : ขะแมร์-Nationalization & ไทยแลนด์-Localization

การสร้างของประจำชาติอย่างใดก็ตามอาจจะง่าย เป็นไปได้จริง และไม่เป็นชนวนเหตุสร้างความขุ่นข้องหมองใจแก่เพื่อนบ้าน ก็ต่อเมื่อของสิ่งนั้นเป็นของที่มีอยู่แต่เฉพาะภายในประเทศ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะไทยกับกัมพูชามีสายสัมพันธ์เกาะเกี่ยวแนบแน่นกันมานมนาน ของอย่างใดกัมพูชามี ไทย ลาว เวียดนาม ก็มักจะมีด้วยเหมือนกันเป็นปกติ เจ้าดอกลำดวนนี้ก็เช่นกัน

ในเขตอีสานใต้ที่อยู่สังกัดประเทศไทยในปัจจุบัน อดีตคือถิ่นฐานบ้านช่องของชาวขะแมร์เช่นเดียวกับที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมร แถมยังเป็นดินแดนของวงศ์กษัตริย์ที่เรียกว่า “ราชวงศ์มหิธรปุระ” ซึ่งเป็นวงศ์กษัตริย์ของกัมพูชาระดับ “มหาราช” ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กัมพูชาทั้งสองพระองค์ อย่างพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัดในกลางพุทธศตวรรษที่ 17 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างปราสาทนครธมในต้นพุทธศตวรรษที่ 18

กลุ่มชาติพันธุ์ขะแมร์-กวยในแถบเทอกเขาพนมดงเร็ก ก็มีวิถีวัฒนธรรมร่วมกับชาวขะแมร์ในประเทศกัมพูชา ความนิยมในการใช้ประโยชน์จากดอกลำดวนเป็นสัญลักษณ์ก็พบมากในดินแดนแถบนี้ จังหวัดสุรินทร์มีบ้านลำดวน ตำบลลำดวน อำเภอลำดวน เป็นเมืองเก่าที่มีตำนานและแหล่งโบราณสถานที่เรียกว่า “เมืองสุรพินทนิคม” [6]

ในจังหวัดศรีสะเกษยิ่งมีอะไรต่ออะไรเกี่ยวข้องหรือใช้ดอกลำดวนเป็นสัญลักษณ์กันมาช้านาน จารึกปราสาทพระวิหารได้เรียกบริเวณที่ตรงกับเขตจังหวัดศรีสะเกษในอดีตเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ว่า “ดงลำดวน” [7] ตำบลบ้านที่ตั้งของปราสาทสระกำแพงใหญ่ (ในอำเภออุทุมพรพิสัยในปัจจุบัน) ก็เคยมีชื่อเรียกเต็มว่า “บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน” หรือ “บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนใหญ่” เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ให้ตั้งบ้านนี้ขึ้นเป็นเมืองก็เรียกว่า “เมืองนครลำดวน” หรือ “ศรีนครลำดวน” เจ้าเมืองคือ “ตากะจะ” ก็ได้รับพระราชทานนามว่า “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” [8]

จากความสำคัญในมิติทางประวัติศาสตร์  ก็เกิดเป็นนามมงคลในท้องถิ่นศรีสะเกษ ต้นและดอกลำดวนใช้เป็น “ต้นไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ” และ “ดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ” ตราประจำจังหวัดศรีสะเกษจึงประกอบด้วย 2 สิ่งสำคัญคือ รูปปราสาท (ปรางค์เดี่ยวคล้ายปราสาทสระกำแพงน้อย) ใต้ปราสาทมีรูปดอกลำดวน 1 ดอก และมีใบ 6 ใบ สื่อความหมายแทนว่า ศรีสะเกษมีปราสาทหินแบบขะแมร์ (หรือขอม) เป็นอันมาก จนได้ชื่อว่า “เมืองร้อยกู่” (คนอีสานนิยมเรียกปราสาท หรือเจดีย์ปรางค์ ว่า “กู่”) และเป็น “ดินแดนแห่งดงลำดวนทั้ง 6” หมายถึง 6 อำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ คือ อำเภอเมือง, ขุขันธ์, กันทรลักษ์, กันทรารมย์, อุทุมพรพิสัย และราษีไศล เป็นต้น [9]   

ตามมาด้วยคำขวัญของจังหวัดศรีสะเกษที่มีคำว่า “เขตดงลำดวน” ที่ว่า “แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี” และจังหวัดศรีสะเกษยังมีสถานที่ที่ปลูกต้นลำดวนในเชิงอนุรักษ์ไว้มากที่สุดในโลกคือ “สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์” กว่า 40,000 ต้น บนเนื้อที่กว่า 237 ไร่ ในช่วงระหว่างที่ต้นลำดวนออกดอกบานสะพรั่งราวปลายเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีการจัดงานเทศกาลประจำปีของศรีสะเกษที่เรียกว่า “เทศกาลดอกลำดวน” (โดยมากมักจัดในเดือนมีนาคม) 

(5) “ดอกลำดวน” ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย (อยุธยา-รัตนโกสินทร์)

ไม่ใช่แต่เฉพาะศรีสะเกษ หมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยอย่างกรุงศรีอยุธยาและจนถึงกรุงเทพมหานครก็มี “ดอกลำดวน” ปรากฏชื่อและสรรพคุณในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะหลักฐานประเภทวรรณกรรม ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้

“ลิลิตพระลอ” ซึ่งเนื้อเรื่องความตอนกล่าวถึงสภาพบ้านเมืองของล้านนา แต่เป็นบทประพันธ์จากกวีชาวกรุงศรีอยุธยาตามสำนวนคนในภาคกลาง มีกล่าวถึงความหอมของ “ดอกลำดวน” เปรียบเหมือนกลิ่นของนางผู้เป็นที่รักและคิดถึงดังนี้:

ยามไร้เด็ดดอกหญ้า         แซมผม พระเอย

หอมบ่หอมทัดดม              ดั่งบ้า

สุกรมลำดวนชม                 เชยกลิ่น พระเอย

หอมกลิ่นเรียมโอ้อ้า           กลิ่นแก้วติดใจ” [10]

นักรักบันลือกรุงอย่าง “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์” (เจ้าฟ้ากุ้ง) ก็มีบทเปรียบความหอมของดอกลำดวนกับนางผู้เป็นที่รักเช่นกัน โดยมีปรากฏอยู่ในวรรณกรรม 2 ชิ้น ที่ได้รับการยกย่องเป็นวรรณกรรมชั้นเลิศของอยุธยาตอนปลาย คือ “กาพย์เห่เรือ” และ “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก”

“กาพย์เห่เรือ” :

“ลำดวนหวลหอมตระหลบ       กลิ่นอายอบสบนาสา

นึกถวิลกลิ่นบุหงา                  รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง

รวยรินกลิ่นรำเพย                   คิดพี่เคยเชยกลิ่นปราง

นั่งแนบแอบเอวบาง                ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน” [11]

“กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” :

“ลำดวนเจ้าเคยร้อย      กรองเปนสร้อยลำดวนถวาย

เรียมชมดมสบาย         พี่เอาสร้อยห้อยคอนาง

                   

ลำดวนปลิดกิ่งก้าน               สนสาย

กรองสร้อยลำดวนถวาย         ค่ำเช้า

ชูชมดมกลิ่นสบาย                 ใจพี่

เอาสร้อยห้อยคอเจ้า              แนบหน้าชมโฉมฯ” [12]

อนึ่ง ถ้านางผู้เป็นที่รักและหวนคิดคำนึงหาอยู่ในกาพย์ทั้งสองข้างต้นนี้คือ “เจ้าฟ้าสังวาล” กวีบทนี้อาจเป็นร่องรอยหลักฐานแสดงว่าทั้งสองทรงมี “ซัมติง” กันมาก่อนแล้วก็เป็นได้ เพราะบทที่ว่า “พี่เคยเชยกลิ่นปราง  นั่งแนบแอบเอวบาง  ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน” หรืออย่าง “เอาสร้อยห้อยคอเจ้า แนบหน้าชมโฉม” นั้น ออกจะดู “ติดเรท” ยิ่งกว่าบทกวีอันโด่งดังอื่น ๆ บางบทเสียอีก

ออกจากเรื่องของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เจ้านายนักรักสมัยอยุธยาปลาย มาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น วรรณกรรมที่มี “ดอกลำดวน” ปรากฏก็มีเช่น “อิเหนา” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จะแตกต่างจากขนบการกล่าวถึง “ดอกลำดวน” อยู่บ้าง ในแง่ที่วรรณกรรมสมัยอยุธยาดังตัวอย่างที่หยิบยกมาแสดงข้างต้น เป็นการกล่าวในเชิงเปรียบเปรยความหอมของดอกลำดวนกับความเย้ายวนรัญจวนใจที่มีชายหนุ่มมีต่อนางผู้เป็นที่รัก แต่พระราชนิพนธ์ “อิเหนา” เป็นการกล่าวถึง “ดอกลำดวน” ในแง่มุมที่เป็นดอกไม้โดยตรงดังนี้:

“ลำดวนออกดอกดกทุกกิ่งก้าน   บ้างตูมบานแย้มกลีบกล้า

โฉมยงทรงเด็ดออกมา              ประทานสองกัลยาพี่นาง” [13]

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยที่ใช้ “ดอกลำดวน” เป็นความเปรียบอยู่นั้นเอง ก็พบหลักฐานเกี่ยวกับการปลูกและเพาะพันธุ์ดอกไม้ ทำให้เกิดความกระจ่างว่า “ความเปรียบ” (Metaphor) ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมของอยุธยานั้น มีที่มาจากความสำคัญของดอกไม้ที่มีในชีวิตจริงนั่นเอง ดังที่ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า:

“ดอกไม้และต้นไม้ประดับสวนของเรา (ฝรั่งเศส-ผู้อ้าง) โดยมากไม่เป็นที่รู้จักของชาวสยาม  แม้กระนั้นชาวสยามก็ยังมีดอกไม้พรรณอื่นๆ ที่แปลกกว่าของเราที่ชื่นตาชื่นใจทั้งงามทั้งหอม” [14]  

ในทำนองเดียวกัน ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น บันทึกของเซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ผู้เข้ามาทำสนธิสัญญาในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็กล่าวถึงการปลูกดอกไม้ไว้ใช้ประโยชน์จากความหอมของมัน (สำหรับยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีสกัดน้ำหอม) เช่นกันดังนี้:

“ในเมืองสยามมีความต้องการใช้ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมเป็นจำนวนมาก และก็แน่นอนแหละมีการปลูกไม้ตัดดอกกันอย่างกว้างขวางด้วย ดอกไม้จะถูกใช้ในการทางศาสนาบูชาพระในวัดวาอาราม ให้เป็นของกำนัลแก่บุคคล สตรีและเด็ก ใช้เป็นของประดับ ให้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน ดอกไม้นั้นส่วนใหญ่จะใช้ตกแต่งประดับประดาในการแห่แหนและงานพิธี ฉะนั้น การทำสวนดอกไม้จึงเป็นอาชีพแรกๆ ที่คนชนบทสนใจทำกัน” [15]

ยังไม่นับกับที่มีการทำขนมที่เรียกว่า “ขนมกลีบดอกลำดวน” ถือเป็นขนมในงานมงคล นอกจากความหวานอร่อยแล้ว ในเชิงสัญลักษณ์ ขนมกลีบลำดวนยังมีการให้ความหมายในทางที่ดี หมายถึงเครื่องช่วยทำให้ชื่อเสียงขจรขจายไปไกล และมีความหมายถึงการสร้างความงดงามให้กับชีวิตคู่ นิยมใช้ประกอบพิธีงานแต่งงาน 

เข้าใจว่า “บุพเพสันนิวาส 2” ก็ใช้กลีบลำดวนในแง่ความหมายดังกล่าวนี้ เป็นขนบเดียวกับที่ปรากฏในวรรณกรรมสมัยอยุธยา อย่างไรก็ตาม ของอย่างเดียวกันเมื่อต่างที่ต่างเวลากัน  ความหมายก็แตกต่างกัน ไม่ต้องอื่นไกล “ดอกจำปา” ซึ่งถือเป็น “ดอกไม้ประจำชาติของลาว” แต่ในไทย มันกลับเป็น “ดอกลั่นทม” ดังนี้เป็นต้น   

(6) บทสรุปและส่งท้าย: ชาตินิยม vs. วัฒนธรรมร่วม หรือว่าชาตินี้เราคงรักกันไม่ได้?   

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นน่าจะเพียงพอแก่การยืนยันได้เป็นมั่นเหมาะแล้วว่า ไทยเองก็มีเรื่องผูกพันกับเจ้าดอกลำดวนนี้ไม่น้อยไปกว่าประชาชนชาวกัมพูชา เพียงแต่ว่าการสร้างชาติทั้งของไทยและกัมพูชามีผลทำให้ “วัตถุทางวัฒนธรรม” อันนี้ถูกแบ่งแยกไปตามเส้นพรมแดนของรัฐชาติ ประกอบกับความแตกต่างในสถานภาพทางชาติพันธุ์ระหว่างขะแมร์ในประเทศกัมพูชากับขะแมร์ในประเทศไทย “ดอกลำดวน” เป็นชื่อที่สร้างความภาคภูมิใจในระดับนานาชาติผ่านพันธุ์ข้าวที่ชนะการประกวดระดับโลก ชื่อที่ไม่ใช่แค่ชื่อ หากแต่คือ “นามมงคล” ตามคติทางศาสนา ผสมรวมกับอัตลักษณ์ความเป็นชาติ (National identity) ที่เกิดนับตั้งแต่หลังจากประกาศเป็น “ดอกไม้ประจำชาติ” เป็นต้นมา 

ขณะเดียวกันที่อีกฝั่งหนึ่ง ขะแมร์ในท้องถิ่นอีสานก็มีการสร้างประเพณีประดิษฐ์ผ่านการใช้ดอกลำดวนเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน แต่คนละเงื่อนไขและคนละตัวแปร ดอกลำดวนถือเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ขะแมร์ในไทยโดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ 

อย่างไรก็ตาม ดอกลำดวนไม่ใช่สิ่งเดียวที่สื่อถึงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ขะแมร์ อิทธิพลขะแมร์พบเห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่สถาปัตยกรรมตามเมืองโบราณในอยุธยาและภาคกลาง ภาษาและราชาศัพท์ พิธีกรรม เครื่องแต่งกายอย่างโจงกระเบน เป็นต้น   

ถึงแม้ว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะหลงเหลือมรดกขะแมร์โบราณอยู่มากทั้งแบบวัฒนธรรมและแบบตัวเป็น ๆ คือกลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพชนที่ถูกกวาดต้อนมาจากกัมพูชาในอดีต แต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็มี “ไฟท์บังคับ” ในการที่ต้องใช้ “ต้นหมัน” เป็นพืชประจำจังหวัด เพราะตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) เมื่อคราวสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 ได้ขุดพบสังข์ปทักขิณาวัตรที่ใต้ต้นหมันแห่งหนึ่งในบริเวณเกาะหนองโสน (บึงพระรามในปัจจุบัน) ถือเป็นมงคลนิมิตจึงทรงให้สร้างมหาปราสาทขึ้น ณ บริเวณนั้น [16]

เมื่อท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม แต่งเนื้อร้องบทเพลงขับขานอันเป็นที่จดจำกันขึ้นใจอย่างเพลงที่ขึ้นต้นว่า “ขวัญใจดอกไม้ของชาติ งามวิลาศนวยนาถร่ายรำ” เมื่อ พ.ศ.2487 คำว่า “ดอกไม้ของชาติ” ในที่นั้นหมายถึงผู้หญิง ทำนองจะยกย่องบทบาทสตรีในฐานะที่มีบทบาทสร้างชาติคู่เคียงมากับผู้ชาย “ดอกไม้ของชาติ” ในที่นั้นยังไม่ใช่ดอกไม้ที่เป็นพืช เป็นความเปรียบถึงผู้หญิงตามแบบฉบับที่อยากให้เป็น และการแต่งเพลงนี้ก็เพื่อประกอบท่วงท่าร่ายรำ ซึ่งถือเป็นรูปแบบความบันเทิงหนึ่งสำหรับปลอบโยนผู้คนที่เพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาไม่นาน [17]

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบเผด็จการทหารในช่วงหลังรัฐประหาร พ.ศ.2490 ชาติที่ถูกยึดกุมโดยอีกกลุ่มที่มีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์ตรงข้ามกับคณะราษฎร ก็ได้เริ่มสร้าง “ต้นไม้ประจำชาติ” ขึ้นมา ต้นไม้ที่เป็นพืชที่ปลูกกันเนื่องใน “วันปลูกต้นไม้ประจำชาติ 24 มิถุนา” แทนที่ “วันชาติ 24 มิถุนา” แต่หลายปีต่อมา รัฐบาลที่ประกาศกำหนดดอกไม้ประจำชาติคือรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร           

“ดอกลำดวน” ในสังคมไทยอาจมีประวัติศาสตร์ย้อนหลังกลับไปจนถึงกรุงศรีอยุธยาดังที่หยิบยกหลักฐานมาแสดงไว้ข้างต้น และในส่วนของศรีสะเกษกล่าวได้ว่า “ดอกลำดวน” คืออัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่น แต่นั่นอยู่นอกการอ้างอิงของภาพยนตร์ที่เป็นต้นเรื่องอย่าง “บุพเพสันนิวาส 2” ปัญหามันเกิดจากการที่ดอกลำดวนมีความหมายที่แตกต่างกันระหว่างกัมพูชาและไทย

กัมพูชาได้ประดิษฐ์สร้างให้ดอกลำดวนมีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็นชาติ เป็นนามมงคลที่พาให้พันธุ์ข้าวจากผืนนาของประเทศดังไกลในต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสและยุโรป เป็นของสูงส่งที่ควรแก่การเคารพ 

ขณะที่ไทยยังมองดอกลำดวนตามความหมายแบบเก่าที่ปรากฏในวรรณกรรมในอดีต เป็นเรื่องความรักของหนุ่มสาว ในขณะดอกไม้ที่จัดว่าอยู่ในสถานะเดียวกับดอกลำดวนในกัมพูชาอย่างดอกราชพฤกษ์นั้นไม่ค่อยพบว่ามีผู้ผลิตสื่อบันเทิงนำมาใช้สื่อความหมายถึงความรักในแบบเดียวกัน

สำหรับดราม่าที่เกิดขึ้นนี้ ที่จริงเป็นดราม่าเกี่ยวกับ “ความหมายของดอกลำดวน” ที่ต่างกันระหว่างของสิ่งเดียวกันนี้ของผู้คนสองประเทศ ซึ่งมีอัตลักษณ์ความเป็นชาติเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดนิยาม การสร้างสื่อวัฒนธรรมบันเทิงจึงควรคำนึงถึงความแตกต่างทางความหมายของ “วัตถุทางวัฒนธรรม” นั้นด้วย 

หมายเหตุ: ภาพประกอบเนื้อหาเป็นภาพโปสเตอร์จากเฟซบุ๊กเพจ GDH ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพถ่ายต้นราชพฤกษ์ จาก NATION PHOTO

เชิงอรรถ

[1] ไม่ระบุนามผู้เขียน. “ที่มา ดอกไม้ประจำชาติ” (ออนไลน์) https://chirarat.wordpress.com/2008/08/08/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2-%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%97/ (เสิร์ชเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565).

[2] ส. พลายน้อย (สมบัติ พลายน้อย). พืชพรรณไม้มงคล. (กรุงเทพฯ: อักษรพิทยา, 2540), น. 95.

[3] ไม่ระบุนามผู้เขียน. “ดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติไทย” (ออนไลน์) https://docs.google.com/document/preview?hgd=1&id=1dkhJfuSUpt-hzXnO2WQYa0cI2SnYzRtQN62OFuIiAYk (เสิร์ชเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565).

[4] ไม่ระบุนามผู้เขียน. “ที่มา ดอกไม้ประจำชาติ” (ออนไลน์), อ้างแล้ว.

[5] อุทยานหลวงราชพฤกษ์. “เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ 4 ลำดวน ดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชา (Rumdul is the National Flower of Cambodia)” (ออนไลน์) https://www.royalparkrajapruek.org/Knowledge/view/24 (เสิร์ชเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565).

[6] วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสุรินทร์. (กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2544), น. 18.

[7] จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 17-18. (กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), น. 94.

[8] เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2546), น. 130. 

[9] วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดศรีสะเกษ. (กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2544), น. 102-103.

[10] “ลิลิตพระลอ” วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 1. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2540), น. 429.  

[11] “กาพย์เห่เรือ” ใน วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 3. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2545), น. 204-205. 

[12] “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” เล่มเดียวกัน, น. 283.

[13] สามารถสืบค้นดูตัวบทดังกล่าวนี้ได้จาก https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf

[14] ซิมง เดอ ลาลูแบร์. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2552), น. 76.

[15] เซอร์จอห์น เบาว์ริง. ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม 1 The Kingdom and People of Siam. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547), น. 203.

[16] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2552), น. 5.

[17] ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์. วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย: การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมความบันเทิงในสังคมกรุงเทพฯ พ.ศ.2491-2500. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549), บทที่ 1.