04 ส.ค. 2565 | 13:45 น.
- โรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าจากตะวันตกที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ และแปรรูปสู่ตัวละครในสื่อร่วมสมัยอย่างภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส ๒ มีข้อมูลหลายส่วนที่ยังคลาดเคลื่อนและคลุมเครืออยู่บ้าง
- นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ หรือ นายหันแตร เป็นพ่อค้า นายห้าง และพระสหายคนโปรด ทำให้เขาเป็นชาวต่างชาติที่มีอิทธิพลในบางกอกนานร่วม 2 ทศวรรษ
- พฤติกรรมและลักษณะส่วนตัวบางอย่างของเขามีส่วนทำให้พบจุดเปลี่ยนในชีวิตเมื่อพยายามขายเรือกลไฟให้สยาม
(1) บทนำ: ตะวันตกในสยาม และ Siam as an internal Western
“บุพเพสันนิวาส2” เริ่มต้นมาด้วยเรื่องของเด็กหนุ่มชื่อ “เมธัส” กับปืนที่ปรากฏชื่อผู้เกี่ยวข้องคือ “หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช” ซึ่งเป็นราชทินนามของ “โรเบิร์ต ฮันเตอร์” (Robert Hunter) หรือ “นายห้างหันแตร” หรือ “มิสเตอร์ฮันเตอร์” พ่อค้าฝรั่งที่เข้ามาเปิดกิจการค้าขายอยู่ในสยามในสมัยต้นรัชกาลที่ 3
นับเป็นอีกครั้งที่ปืนตะวันตกถูกจัดประเภท (classify) ให้เป็น “อาวุธวิเศษ” ในประวัติศาสตร์สังคมของยุโรป ญี่ปุ่น และละตินอเมริกา ปืนอาจเป็นอาวุธที่มีผลเปลี่ยนสภาพการต่อสู้ทางชนชั้น ทำให้ชาวนาที่ไม่มีทักษะดาบสามารถสังหารอัศวินหรือซามูไรได้ในพริบตาเพียงลั่นไก ปืนจึงเป็นอาวุธเปลี่ยนโลกเปลี่ยนระบบสังคม
แต่ในประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น อาวุธปืนถูกนำเข้าและควบคุมโดยชนชั้นนำมาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะในช่วงที่มีศึกสงครามกับเพื่อนบ้านมาก การนำเข้าอาวุธปืนได้ตามปริมาณความต้องการ ย่อมหมายถึงชัยชนะต่อข้าศึกศัตรู (ที่เป็นคนพื้นเมือง) และนั่นก็ทำให้ผู้ที่มีบทบาทนำเข้าอาวุธชนิดนี้เข้ามาได้รับการอวยยศอวยตำแหน่งเป็น “คุณหลวง” (หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช)
ประกอบกับชนชั้นนำสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์ยัง “ซีเรียส” ที่จะขับเน้นภาพลักษณ์การเป็นผู้ฟื้นฟูราชอาณาจักรจากความเพพังที่สืบเนื่องมาจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้ง พ.ศ.2310 อีกทั้งยังใช้ประเด็นนี้เป็นความชอบธรรมในการเปลี่ยนผ่านจากธนบุรีมาสู่รัตนโกสินทร์ นับช่วงเวลาจาก พ.ศ.2367 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ และเป็นปีเดียวกับที่ฮันเตอร์และคณะ เดินทางออกจากสิงคโปร์เข้ามากรุงเทพฯ ย้อนหลังกลับไปปีที่สถาปนากรุงเทพฯ ก็เป็นระยะเวลาเพียง 42 ปี และถ้าจะนับรวมช่วงที่ฮันเตอร์อยู่สยามก็จะเป็นเวลา 62 ปี เพราะฮันเตอร์อยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2367-2387 เป็นเวลากว่า 20 ปี
สำหรับชนชั้นนำต้นกรุงเทพฯ กรุงศรีอยุธยามีภาพประทับในความทรงจำและมุมมองว่าเป็น “ยุคบ้านเมืองดี” ถือเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจในการสถาปนากรุงเทพฯ กษัตริย์อยุธยาในฐานะพญาจักรพรรดิราชก็เป็น “ไอดอล” ของกษัตริย์กรุงเทพฯ ลักษณะที่เป็นบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรืองจากการค้า มีชาวต่างชาติแล่นเรือเข้ามา ตั้งถิ่นฐาน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมในหลายมิติอย่างที่เรียกว่า “สิบสองภาษานานาชาติ” ก็เป็นเป้าหมายที่มีไว้พุ่งชนของชนชั้นนำในช่วงนั้น
ความโหยหาอดีต (nostalgia) เช่นนี้เป็นที่มาของการต้อนรับชาวต่างชาติ จะกีดกันและขับไล่ออกไปก็แต่เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในแล้วพ่ายแพ้เท่านั้น ด้านอื่นนั้นแม้กระทั่งบทบาทองครักษ์ร่างยักษ์ก็เป็นสิ่งที่เปิดรับหรือยอมรับกันได้ ไม่จำเป็นที่ต้องสวมหน้ากากแบบ “ขุนยุทธมาตย์” ในภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส2 นี้แต่อย่างใดเลย ยิ่งพูดไทยคล่องคงเป็นที่โปรดปรานมากแน่ ๆ
ในยุคที่มีการติดต่อเชื่อมโยงกันในระดับโลกสากลอย่างในช่วงหลังมานี้ ฝรั่งต่างชาติโดยเฉพาะที่เป็นชาวอังกฤษ จะรู้สึกอย่างไรที่ได้รู้ว่าหนังทำรายได้สูงในไทยนั้นเป็นหนังที่มีเนื้อหาสร้างความเกลียดชังต่อพวกเขา เขาจะมองประเทศไทยและคนไทยอย่างไร อยากชวนเขามากินมาเที่ยวประเทศไทยเพื่อเศรษฐกิจรายได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับเหยียดพวกเขาเป็นศัตรูกันมาแต่ชาติปางที่แล้ว ในขณะที่เราสร้างประเด็นพากันเหยียดบุลลี่คนอื่น เรากลับไม่ได้ตรวจสอบตัวเราเองเท่าไหร่เลยว่าเราเป็นในสิ่งที่เราเกลียดด้วยตัวเราเองเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะตำหนิทีมเขียนบทได้อย่างไร ในเมื่อมีการล็อคไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องและท้ายเรื่องแล้วว่า เป็นแค่เรื่องแต่งและประวัติศาสตร์มีหลายมุมมอง ซึ่งก็ใช่! ถูกต้อง! ถ้าไม่ใช่การสับสนระหว่าง “ประวัติศาสตร์” กับ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ก็เป็นเรื่องปกติที่นวนิยาย ละคร หรือภาพยนตร์ จะนำเสนอแบบหนึ่ง แต่พอไปดูประวัติศาสตร์จากหลักฐานก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างออกไป นอกเหนือจากที่ภาพยนตร์ได้นำเสนอไป บุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์ต้นกรุงเทพฯ ท่านนี้ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกพอสมควรที่ยังไม่เป็นที่รับรู้กัน
ที่สำคัญต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า นักประวัติศาสตร์เองก็ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องมากพอที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ จะให้นักประวัติศาสตร์สนใจทุกเรื่องเขียนทุกอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ เรื่องของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ เป็นเรื่องหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนเช่นนั้น เลยเกิดช่องว่างหรือ “วัตถุดิบ” อย่างดีให้กับการแต่งเสริมเติมความหรือผลิตมานำเสนอได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ยังไม่นับกับที่หนังก็คือหนัง ต้องมุ่งความบันเทิงเป็นหลักก็จริง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะควรละเลยเรื่องที่ปรากฏมีในหลักฐานอยู่ทนโท่ เรื่องบันเทิงก็มีผลต่อความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ (Historical perception) มากยิ่งกว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiography)
ดังนั้น ก็ขออย่าแปลกใจ ถ้าท่านจะพบว่าสิ่งที่ผู้เขียนกำลังนำเสนออยู่ในลำดับต่อไปนี้ จะเป็นประเด็นเรื่องที่ท่านไม่ได้รับรู้มาจากภาพยนตร์หรือละครเรื่องใด เพราะเรื่องต่อไปนี้ถูกกำกับความคิดและจินตนาการด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์” ส่วนท่านที่ยังไม่ได้รับชมภาพยนตร์ก็สบายใจได้ในแง่ว่า จะไม่พบการสปอยล์เนื้อเรื่อง แต่ท่านอาจจะหงุดหงิดที่พบว่าเรื่องราวมันช่างต่างกันราวกับเป็นคนละเรื่อง
(2) ความเฟื่องฟูและยุคตกต่ำของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ และคณะ ช่วงต้นกรุงเทพฯ (The rise and fall of the Hunter and Co.’s trades in early Bangkok)
ช่วงก่อนทำสนธิสัญญาเบาว์ริงนั้น การค้าต่างประเทศรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงเดียวกับที่สยามฟื้นตัวจากความเสียหายที่เรื้อรังยาวนานของการสลายตัวของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา กลุ่มที่ขึ้นสู่อำนาจภายใต้การนำของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) เป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยมีบทบาทมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 2 ณ พ.ศ.2367 นั้นเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ากรุงเทพฯ มีศักยภาพที่จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาคเฉกเช่นที่อยุธยาและธนบุรีเคยเป็นมาก่อน พ่อค้าต่างชาติกลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นตรงนี้หนึ่งในนั้นก็คือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ และคณะ (Robert Hunter & co.)
เมื่อเทียบกับการค้าฝั่งโลกตะวันออกซึ่งสยามมีกับจีนแล้ว สยามมีตัวแทนมากมาย รัชกาลที่ 3 เองก็ทรงสนับสนุนการค้ากับจีน จนเกิดยุครุ่งเรืองของจีนในสยามอีกยุคหนึ่ง สำหรับการค้าฝั่งตะวันตก จริงอยู่ว่ากรมท่าขวาภายใต้การนำของขุนนางเชื้อสายเปอร์เชียยังคงมีบทบาท
แต่เมื่อถึงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา ขุนนางกลุ่มนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำสยามเสียเอง ศักยภาพในการติดต่อประสานกับโลกตะวันตกกลายเป็นทักษะที่ “ดรอปลง” ไม่ได้ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นเฉกอะหมัด
เอกสารสนธิสัญญาหลายฉบับในช่วงรัชกาลที่ 2-4 ที่ต้องอาศัยล่ามแปลแทนที่พวกเขาจะแปลหรือสื่อสารกับชาวต่างชาติต่างภาษาได้ด้วยตัวเองเฉกเช่นบรรพชนของพวกเขานั้น เป็นสิ่งยืนยันอยู่ในตัวสำหรับเรื่องนี้
ในกรุงเทพฯ มีชุมชนลูกครึ่งโปรตุเกสที่ซางตาครุ้ส กุฎีจีน แต่พวกเขาก็ไม่ได้มีฐานะจนมีเรือแล่นไปมาค้าขายกับต่างประเทศได้ สภาพความขาดแคลนดังกล่าวนี้ของกรุงเทพฯ ในอีกด้านหนึ่งถือเป็น “โอกาสทอง” สำหรับผู้บุกเบิกจากโลกตะวันตก
สิบปีแรกหลังจากเข้ามาดำเนินธุรกิจแล้วจะพบว่าฮันเตอร์ไม่มีคู่แข่ง เขาสามารถเป็นตัวแทนติดต่อประสานผลประโยชน์ระหว่างราชสำนักสยามกับชาติตะวันตก ตามบันทึกของนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley, M.D.) หรือ “หมอบรัดเลย์” ในช่วงแรกที่รุ่งเรืองอยู่นั้นฮันเตอร์เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยจนถึงกับมีเสียงเล่าลือกันในบางกอกว่า เขาเป็น “พระสหาย” คนโปรดคนหนึ่งของในหลวงรัชกาลที่ 3 [1] ในอีกที่หนึ่งหมอบรัดเลย์กล่าวไว้ว่า “ม. ฮันเตอร์ เป็นผู้ที่มีคนยำเกรงมาก” [2]
ความที่เขาเป็น “พระสหายคนโปรด” เข้านอกออกในกับราชสำนัก ต้องการสินค้าสิ่งใดจากต่างประเทศ ก็จะทรงให้เขาเป็นผู้นำเข้ามา ทำให้ “โรเบิร์ต ฮันเตอร์ เป็นชาวต่างชาติที่ทรงอำนาจและอิทธิพลที่สุดในบางกอกเกือบตลอดเวลายี่สิบปี” [3]
เรือกำปั่นของราชสำนักที่ต่อขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ก็เนื่องจากทรงให้ฮันเตอร์เป็นผู้ตั้งชื่อ การค้ากับราชสำนักให้ผลกำไรงามแก่เขา สินค้าที่ฮันเตอร์นำเข้ามาหลักๆ เลยก็ได้แก่ เรือ, อาวุธปืนตะวันตก, ชาจากจีน, ผ้าไหมเบงกอล, ผ้าฝ้ายอินเดีย, พรมผืนงาม, เครื่องเขินญี่ปุ่น, เครื่องถ้วยชาม, แก้วเจียระไน ที่สำคัญเขาได้รับอนุญาตให้นำข้าวกับพริกไทยไปขายที่สิงคโปร์และมลายู
โรงสินค้าของเขาที่คนไทยเรียก “ห้างหันแตร” “ตึกฝรั่ง” แต่ชาวต่างประเทศนิยมเรียกทับศัพท์ว่า “แฟคตอรี” (Factory) สร้างอย่างใหญ่โต เป็นหนึ่งในอาคารพาณิชย์แบบตะวันตกเพียงไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ บันทึกของจอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล (George Windsor Earl) นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งเคยมาพำนักอยู่ที่ห้างนี้ได้บรรยายถึงลักษณะของอาคารแห่งนี้ว่า
“ตัวโรงงานเป็นอาคารก่อด้วยอิฐขัดสีขาว สูงสองชั้น มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม 3 ด้าน เป็นอิฐขัด ส่วนที่สี่เป็นกำแพงอิฐคั่นอยู่ ชั้นล่างเป็นห้องเก็บของ ห้องครัว และห้องของคนใช้ ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่ของชาวยุโรปที่มาเยือนกรุงเทพฯ ชั้นล่างของตัวอาคารและสนาม อยู่ในสภาพสกปรกมาก เพราะเป็นที่คุมขังนักโทษชาวมาเลย์จากปัตตานีที่มาจากคาบสมุทร” [4]
พนักงานของห้างหันแตรมีหลากหลายชนชาติ โดยมากเป็นคนลูกครึ่งโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ในย่านใกล้กับที่ตั้งของห้าง นอกจากนั้นมีชาวเบงกอล มลายู และจีนก็มีมาก โดยเฉพาะจีนแต้จิ๋ว มาเก๊า และไหหลำ ซึ่งชำนาญทางเรือ ชาวสยามมีน้อยคน บางคนก็โดดเด่นเช่นกัปตันเรือ “เฟรนด์ส” ที่กะลาสีเรือชาวต่างประเทศเรียกว่า “กัปตันแจ๊ค” ที่ทำงานกับฮันเตอร์อยู่หลายปี จนพูดภาษาอังกฤษคล่อง หมอบรัดเลย์เคยบันทึกถึงความสามารถด้านภาษาของกัปตันเรือชาวสยามผู้นี้ในเชิงขบขันเช่นว่า:
““กัปตันแจ๊ค” เขาภูมิใจอย่างยิ่งที่สามารถพูดภาษาอังกฤษผิดๆ ถูกๆ ได้นิดหน่อย และร้องเพลงบทแรกของเพลงชาติอังกฤษได้ ไม่มีอะไรจะทำให้เขารู้สึกถูกหมิ่นประมาทเท่ากับการพูดกับเขาด้วยภาษาสยาม และหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น คำตอบของเขาต่อการปรามาสนั้นจะเป็นประโยคภาษาอังกฤษความว่า “ฉันพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าอย่างท่านพูดภาษาสยาม” เสมอ ซึ่งที่จริงก็ออกจะเป็นความจริง เพราะถ้ายกเว้นฮันเตอร์และพวกมิชชันนารีแล้ว มีชาวต่างชาติน้อยคนนักที่จะสามารถเข้าถึงสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าการรู้ภาษาไทยอย่างแตกฉาน” [5]
ด้านชีวิตส่วนตัว, ฮันเตอร์แต่งงานกับแองเจลีน่า ทรัพย์ (Angelina Sap) สาวงามผู้เป็นชาวชุมชนลูกครึ่งโปรตุเกสในบางกอก ที่น่าสนใจคือทรัพย์อ้างว่าครอบครัวนางเป็นทายาทของคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือออกญาวิไชยเยนทร์ อัครมหาเสนบดีในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ตรงนี้อาจเป็นเรื่องหนึ่งซึ่งยืนยันได้ว่าภาพพจน์ของฟอลคอนในช่วงต้นกรุงเทพฯ มิได้เป็นไปในแง่ลบ หาใช่เป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์อยุธยาไม่ นอกเหนือจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เคยตั้งป้อมปราการสำคัญของกรุงธนบุรีแห่งหนึ่งว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์”
ฮันเตอร์กับทรัพย์มีบุตรชายด้วยกันคนหนึ่งชื่อเดียวกับเขา แต่ผู้คนนิยมเรียกว่า “ฮันเตอร์ที่ 2” เมื่อเติบใหญ่ถึงวัยอันควร บิดาได้ส่งไปศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศอังกฤษ ฮันเตอร์ที่ 2 มีบุตรชาย 1 คน ชื่อ “โรเบิร์ตที่ 3” และมีบุตรสาวที่เกิดกับภรรยาน้อยชื่อ “โนรี” (บางแหล่งว่า “โนราห์”) เมื่อฮันเตอร์ที่ 1 ต้องอพยพออกนอกประเทศไป ฮันเตอร์ที่ 2 ก็สืบทอดกิจการค้าของบิดาต่อมาและขยายไปยังกัมพูชา
ตามบันทึกของเซอร์จอห์น เบาว์ริง เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2398 ได้ระบุว่า เมื่อเรือที่จะนำเขามาสู่กรุงเทพฯ เพื่อทำสนธิสัญญากับรัชกาลที่ 4 นั้นแล่นเข้าสู่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว “เราสังเกตเห็นเรือลำหนึ่งประกอบด้วยฝีพาย 20 นาย แต่งกายในเครื่องแบบชาวโคชินจีน มร. ฮันเตอร์ทำหน้าที่ล่ามอยู่บนเรือลำนั้น” [6]
“มร. ฮันเตอร์” ตามบันทึกของเบาว์ริง อาจถูกนำไปใช้อ้างอิงว่าฮันเตอร์ยังอยู่สยามจนถึงช่วงที่มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง แต่ที่จริงเขาย้ายประเทศไปกัลกัตตาตั้งแต่ พ.ศ.2387 แล้ว “มร. ฮันเตอร์” ที่ว่านั้นคือ “ฮันเตอร์ที่ 2” บุตรชายของเขา
การแต่งงานกับแองเจลีน่า ทรัพย์ มีส่วนช่วยให้ธุรกิจของห้างฮันเตอร์ดำเนินไปอย่างราบรื่นและรุ่งเรือง เพราะความสามารถในการติดต่อประสานตั้งแต่ในระดับชุมชนจนถึงราชสำนัก เป็นธรรมดาที่พ่อค้าต่างชาติซึ่งมักจะเป็นผู้ชาย ไม่ได้นำเอาภรรยาจากเมืองแม่มาด้วย จะนิยมมีภรรยาเป็นชาวพื้นถิ่นที่เข้ามาตั้งกิจการค้า เพื่อประโยชน์ในการติดต่อประสานและเข้าถึงสังคมภายในพื้นถิ่น
กรณีโรเบิร์ต ฮันเตอร์ หรือ “ฮันเตอร์ที่ 1” ไม่ปรากฏว่าเขาเคยแต่งงานมีลูกเมียมาก่อนหน้าที่จะเข้ามาสยาม ก็ยิ่งง่ายที่เขาจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมบางกอก ผ่านการแต่งงานกับหญิงงามพูดภาษาอังกฤษคล่องคนหนึ่ง
ด้านอุปนิสัยใจคอ, บันทึกชิ้นเดียวกันนี้ของเอิร์ลกล่าวว่า “มิสเตอร์ฮันเตอร์เป็นเพื่อนที่น่าคบมากที่สุด” [7] หมอบรัดเลย์ก็กล่าวถึงเขาในทำนองเดียวกันเช่นว่า “มิสเตอร์ฮันเตอร์เป็นที่รู้จักกันดีทั่วเมือง เนื่องจากความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเขา” [8]
ทั้งนี้หมอบรัดเลย์ก็บันทึกไว้เช่นกันเกี่ยวกับนิสัยส่วนตัวที่ “ต่อมาได้นำเขาไปสู่จุดจบ” นิสัยที่ว่าคือความเป็นคนโมโหร้ายและติดสุราจนได้ชื่อ “ขี้เมาเลื่องลือ” คือมีชื่อกระฉ่อนในด้านการเป็นนักเลงสุรา [9]
(3) โรเบิร์ต ฮันเตอร์ & มายาคติ (Myth) เกี่ยวกับฝรั่งในสยาม
อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า การฟื้นยุคบ้านเมืองดีประกอบกับมีกษัตริย์อยุธยาเป็น “มหาไอดอล” และพยายามจะสร้างบ้านแปงเมืองให้เป็น “สังคมเมืองท่านานาชาติ” ตามแบบที่กรุงศรีอยุธยาเคยเป็น ส่งผลดีให้กรุงเทพฯ ช่วงต้น เปิดรับการเข้ามาของชาวต่างชาติ และในวงการค้านานาชาติสมัยนั้นที่มีการแล่นเรือติดต่อไปมากันอยู่ตลอด เรื่องนี้ย่อมเป็นที่ล่วงรู้ระบือไกลในทั่วน่านน้ำเอเชียใต้และอุษาคเนย์
ขณะเดียวกันก็ย่อมเป็นที่หอมหวนแก่คนภายนอกให้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อประกอบธุรกิจตั้งตัวกัน โรเบิร์ต ฮันเตอร์ และคณะ เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น
เนื่องจากขาดแคลนงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง องค์ความรู้และความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฮันเตอร์ถูกเข้าใจว่าเป็นชาวอังกฤษ ทั้ง ๆ ที่โดยกำเนิดเขามาจากเมืองกรีน สก็อตแลนด์ พูดง่าย ๆ คือเขาเป็นชาวสก็อต และไม่ใช่อังกฤษคนแรกที่เข้ามากรุงรัตนโกสินทร์ ต้นทางของความเข้าใจผิดนี้มีที่มาจาก 2 แหล่ง คือ
(1) เอกสารของทางการสยาม โดยเฉพาะ “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์” ซึ่งมักจะระบุเรียกฮันเตอร์ว่า “หันแตรอังกฤษ” [10]
(2) บทความของเอดีย์ มัวร์ (Adey Moore) ที่เสนอต่อที่ประชุมสยามสมาคมตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2358 (ค.ศ.1915) ต่อมาตีพิมพ์ใน The Journal of the Siam Society ปีเดียวกัน [11] งานชิ้นนี้กี่ปีมาแล้วลองเอา 2022 ลบ 1915 ดู แล้วท่านจะตกตะลึงว่าเป็นได้อย่างไรที่ข้อมูลเมื่อกว่า 107 ปีมาแล้วยังเป็นองค์ความรู้หลักโดยไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์
แถมการดัดแปลงมาสู่โลกภาพยนตร์ก็ยังคงอาศัยข้อมูลจากงานชิ้นนี้เป็นหลัก อย่างไรก็ตามน่าสังเกตว่าในพากษ์ภาษาไทย งานของมัวร์ชิ้นนี้เพิ่งจะแปลเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ.2538 โดยกรมศิลปากร [12] และดูเหมือนว่า “บุพเพสันนิวาส2” จะอาศัยข้อมูลจากงานชิ้นนี้เป็นหลัก
ก่อนหน้าคณะของฮันเตอร์ ยังมีชาวอังกฤษและยุโรปอีกหลายคนเข้ามา เพียงแต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีก็มีอย่างพระยาราชกะปิตัน-ฟรานซิส ไลท์ (Francis Light) ชาวอังกฤษที่เข้ามาตั้งแต่สมัยธนบุรี ผลัดแผ่นดินมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ก็อยู่ต่อมา ไลท์น่าจะถือเป็นพ่อค้าชาวอังกฤษคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ (ถ้าจะหาคนแรกกันให้ได้น่ะนะ) อีกคนคือ จอห์น ครอว์เฟิด (John Crawford) ทูตของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (The British East India Company or EIC) ที่คนไทยสมัยโน้นนิยมเรียกว่า “การะฝัด” เข้ามาเมื่อ พ.ศ.2364 (ค.ศ.1821) สมัยปลายรัชกาลที่ 2
หลังฮันเตอร์เข้ามาได้เพียงปีเดียว บริษัทอีไอซีของอังกฤษก็ได้ส่งเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) หรือที่คนไทยเรียก “หันตรีบารนี” เข้ามาอีกเมื่อ พ.ศ.2368 ภายใต้สนธิสัญญาเบอร์นีนี้เองเป็นผลให้การค้าของฮันเตอร์รุ่งเรืองอยู่ได้กว่าสองทศวรรษ จนกล่าวได้ว่าก่อนหน้าที่รัชกาลที่ 4 จะตัดสินพระทัยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงเมื่อ พ.ศ.2398 นั้น มีการค้าของพ่อค้าเอกชนชาวยุโรปรุ่งเรืองและตกต่ำมีขึ้นลงตามสภาพอยู่ในสยามมาก่อนแล้วระยะหนึ่ง
บันทึกของจอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล (George Windsor Earl) ระบุชัดเจนถึงเชื้อชาติของฮันเตอร์ว่าเขาเป็นชาวสก็อตไม่ใช่ผู้ดีอังกฤษ แต่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวยุโรปในสิงคโปร์และสยาม แน่นอนลำพังข้อมูลจากบันทึกของเอิร์ลยังไม่อาจสรุปได้มั่นคง แต่เมื่อข้อมูลนี้สอดคล้องกับบันทึกของหมอบรัดเลย์ ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับเอิร์ล ทำให้ข้อมูลของเอิร์ลพอจะรับเชื่อได้บ้าง เกี่ยวกับการเข้ามาของฮันเตอร์
เอิร์ลเคยมีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “เมื่อหลายปีก่อน มีพ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในกรุงเทพฯ มากมาย แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเหลือแต่มิสเตอร์ฮันเตอร์คนเดียวเท่านั้นที่เป็นชาวยุโรปที่อยู่ในกรุงเทพฯ” [13]
การเข้ามาของฮันเตอร์เองก็ไม่ใช่มาแบบตัวคนเดียวเดี่ยวโดด เขามีหุ้นส่วนร่วมเข้ามาด้วย ที่ปรากฏชื่อมี 2 คน คือ เจมส์ เฮย์ส (James Hays) และคริสโตเฟอร์ ฮาร์วีย์ (Christopher Harvey) หลังจากที่ฮันเตอร์เดินทางย้ายประเทศออกจากสยามไป ทั้งสองยังคงดำเนินกิจการห้างหันแตรสืบต่อมา
เจมส์ เฮย์ส ยังมีบทบาทต่อราชสำนักในฐานะล่ามแปลภาษาอังกฤษและเป็นตัวแทนติดต่อประสานกับชาวยุโรป ฝ่ายไทยมักเรียกเขาว่า “เสมียนยิ้ม” (Samien Jim) หรือ “มิสเตอร์ยิ้ม” (Mister Jim)
การที่ฮันเตอร์จะเป็นคนอังกฤษหรือสก็อต ดูเผิน ๆ เหมือนจะไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร จะเขียนประนีประนอมว่าเป็น “ชาวอังกฤษเชื้อสายสก็อต” ก็ได้ แต่เอาจริงไม่ง่ายอย่างนั้นเพราะปรากฏว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นเกี่ยวโยงไปถึงสถานะบทบาทและอิทธิพลของเขาต่อที่มีต่ออังกฤษ
ฝ่ายสยามเข้าใจไปว่าเขามีอิทธิพลถึงขนาดเมื่อเกิดขัดแย้งกับสยามขึ้น เขาจะนำพาอังกฤษให้เข้ามาทำสงครามยึดครองสยาม พระราชพงศาวดารแต่งโดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ก็สะท้อนความเชื่อประเด็นนี้เอาไว้เช่นที่กล่าวถึงฮันเตอร์รวมทั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดังนี้:
“ในปีมะโรง ปลายปีนั้น (พ.ศ.2387-ผู้อ้าง) มีเหตุขึ้นด้วยหันแตรอังกฤษซึ่งเป็นหลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช เข้ามาตั้งค้าขายอยู่ที่กรุงเทพฯ เอากำปั่นไฟเข้ามาขายลำ 1 คิดราคา 2,000 ชั่ง เจ้าพนักงานไม่ซื้อ หันแตรพูดหยาบช้าว่าในหลวงรับสั่ง ถ้าเจ้าพนักงานไม่ซื้อ จะเอาเรือไปผูกไว้ที่หน้าตำหนักน้ำ ทรงทราบก็ขัดเคืองให้ไล่หันแตรไปเสีย ไม่ให้อยู่ในบ้านเมือง หันแตรออกไปจึงพูดอวดว่า จะออกไปฟ้องต่อคอเวอนเมนต์อังกฤษจะให้กำปั่นรบเข้ามาชำระความ” [14]
ความจริงจังของความเชื่อว่าฮันเตอร์จะสามารถให้อังกฤษเอา “กำปั่นรบเข้ามาชำระความ” ยังเห็นได้จากอีกเหตุการณ์สืบเนื่องต่อมาอย่างการปรับปรุงเมืองนครเขื่อนขันธ์กับสมุทรปราการ ให้เป็นเมืองป้อมปราการไว้สำหรับต่อสู้ป้องกันภัยรุกรานจากอังกฤษ (ที่คาดกันว่าอาจจะเกิดขึ้นในเวลานั้น) ดังความต่อไปนี้:
“เพราะฉะนั้น จึ่งโปรดให้กรมหลวงรักษรณเรศรไปทำเมืองนครเขื่อนขันธ์ เสริมป้อมมหาสังหาร ป้อมเพชรหึง ขึ้นอิกชั้น 1 ทำปีกกาขึ้นที่หน้าเมืองอีก 2 ตำบล ชื่อว่าปีกกาวงเดือน ที่เมืองสมุทรปราการ โปรดให้เจ้าพระยาพระคลังซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหม ลงไปทำปีกขึ้นอีก 2 ฟากแม่น้ำ” [15]
นอกจากนี้ ในแง่เครือข่ายการค้าโพ้นทะเล ตระกูลของฮันเตอร์ยังเคยร่ำรวยมีฐานะและบทบาทในการค้านานาชาติ ก็เพราะรุ่นปู่กับบิดาของเขาเคยเป็นพ่อค้านำเหล้ารัมจากยุโรปไปขายในอเมริกา แม้ว่าหลังการปฏิวัติอเมริกา ค.ศ.1776 ธุรกิจของตระกูลจะอยู่ในภาวะซบเซาลง เพราะรัฐบาลใหม่ของอเมริกาให้การสนับสนุนกลุ่มพ่อค้าและนักลงทุนภายในของตนเอง ไม่ไว้ใจพ่อค้าเอกชนที่ยังคงแล่นเรือติดต่อไปมาระหว่างอังกฤษกับอเมริกา แต่ตระกูลของเขาก็ยังพอมีเส้นสายกับฝั่งอเมริกา
บุคคลสำคัญชาวอเมริกันเมื่อเดินทางเข้ามาสยามก็จะมาติดต่อขอความช่วยเหลือและให้การรับรองหรือพำนักอยู่ที่โรงสินค้าของฮันเตอร์ที่บางกอก หนึ่งในนั้นคือมิชชันนารีคณะของหมอบรัดเลย์ เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการวางรากฐานของมิชชันนารีอเมริกัน โดยเป็นผู้พาหมอบรัดเลย์และคณะไปพบเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค) และพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) เพื่อ “วิ่งเต้น” หาที่ดินสำหรับสร้างโอสถศาลาจนแล้วเสร็จเมื่อพ.ศ.2378 [16]
ต้องเข้าใจว่าคนรุ่นรัชกาลที่ 3 ที่พอจะรับรู้เรื่องของโลกสากลขณะนั้นอยู่บ้าง ยังเป็นคนที่ได้ยินได้ฟังเรื่องราวการปฏิวัติอเมริกาสถาปนาระบอบสาธารณรัฐ สำหรับกลุ่มข้าราชการอาณานิคมของอังกฤษก็เป็นเรื่องปกติที่จะไม่ไว้ใจฮันเตอร์อยู่ด้วยเหมือนกัน กว่าที่เขาจะตัดสินใจลงนามเข้าเป็นคนในบังคับอังกฤษก็เมื่อมีเรื่องขัดแย้งกับสยาม จึงต้องการความคุ้มครอง ไม่ใช่การสวามิภักดิ์โดยปราศจากเงื่อนไข
อีกทั้งเหตุที่การพิพาทระหว่างฮันเตอร์กับผู้มีอำนาจของไทย เกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาเดียวกับที่พม่ากำลังถูกอังกฤษรุกรานและยึดไปเป็นเมืองขึ้น จึงอาจเป็นความหวั่นกลัวว่าสยามอาจต้องเผชิญภัยคุกคามจากอังกฤษไปด้วย และฮันเตอร์ก็รู้เรื่องนี้ดี จากบันทึกของหมอบรัดเลย์ก็ระบุว่า “เขาแสวงหาผลประโยชน์จากการที่สยามกลัวอังกฤษ” [17]
ในขณะเดียวกัน ช่วงนั้นสยามเองก็เป็นฝ่ายทำศึกล่าเมืองขึ้นอยู่โดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการขยายอำนาจเข้าไปในกัมพูชาและหัวเมืองมลายู เฉพาะศึกในกัมพูชาที่ไปปะทะกับเวียดนาม ก็เป็นเหตุผลมากพอแก่การปรับปรุงเมืองป้อมบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับการปรับปรุงหัวเมืองในภาคตะวันออกที่เป็นกันชนอย่างปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ที่ก็ในช่วงไล่เลี่ยกับที่ปรับปรุงเมืองนครเขื่อนขันธ์กับสมุทรปราการ
ตรงนี้สรุปได้แบบสั้น ๆ รวบรัดก็คือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) อาจจะบันทึกพระราชพงศาวดารโดยการนำเอาการปรับปรุงนครเขื่อนขันธ์กับสมุทรปราการจากเดิมที่เป็นเหตุผลเพื่อป้องกันภัยเวียดนามมาเป็นภัยอังกฤษ สรุปในสรุป (อีกครั้ง) คือมีคนออกอาการ “ตื่นตูม” กันเกินเหตุไปเอง ฮันเตอร์ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะก่อเรื่องคุกคามสยามได้ถึงเพียงนั้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าผู้มีอำนาจฝ่ายสยามประเมินเขาสูงเกินจริง เพราะในสยามเวลานั้นไม่ได้มีแต่ฮันเตอร์คนเดียวที่แสวงหาผลประโยชน์จากการที่ชนชั้นนำสยามกำลังหวั่นกลัวภัยรุกรานจากอังกฤษ
(4) การพบแฝดสยาม อิน-จัน
เรื่องหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่พูดถึงแล้วในปัจจุบันเกี่ยวกับบทบาทของฮันเตอร์ แต่ ณ พ.ศ.2367 อันเป็นปีแรกที่เขาเข้ามาสยามนั้น นามของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ หรือนายห้างหันแตร มักเป็นที่พูดถึงระดับ “ทอล์คออฟเดอะทาวน์” เนื่องจากเขาเป็นผู้พบแฝดสยามอิน-จัน ขณะนั้นเด็กทั้งสองนี้ยังอายุเพียง 13 ปี ฮันเตอร์นำเด็กแฝดนี้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 3 และยังเป็นผู้จัดการส่งอิน-จันไปอเมริกา หมอบรัดเลย์ได้บันทึกเล่าเรื่องนี้เอาไว้ดังความต่อไปนี้:
“ฮันเตอร์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ค้นพบ แฝดสยามอันโด่งดัง ปีนั้นเป็นปีพ.ศ.2367 เมื่อเด็กคู่นั้นอายุเพียงสิบสามปี เขาเกิดเห็นแกเข้าเป็นครั้งแรกในเย็นวันหนึ่งตอนใกล้ค่ำ ขณะที่เขากำลังข้ามแม่น้ำจะกลับไปบ้านซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตก นัยน์ตาของเขาก็มองไปเห็นสิ่งแปลกประหลาดอย่างหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในน้ำ ห่างจากเรือของเขาไม่ไกล สิ่งนั้นเป็นตัวอะไรอย่างหนึ่งที่ดูแล้วมีสองหัว สี่แขน กับสี่ขา ซึ่งล้วนขยับเขยื้อนได้อย่างสัมพันธ์กันดี ขณะที่ฮันเตอร์จ้องดูอยู่ เจ้าสิ่งนั้นก็ปีนขึ้นไปบนเรือลำหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ และแล้วเขาก็นึกออกด้วยความอัศจรรย์ใจว่า สิ่งที่เขาจับตามองดูเมื่อครู่นี้ก็คือเด็กชายเล็กๆ สองคนที่มีหน้าอกเชื่อมติดกันนั่นเอง
เขาไม่ได้ทำความรู้จักกับเด็กทั้งสองในเย็นวันนั้น แต่ได้พบกันในคราวต่อมาและภายในเวลาไม่นานนักก็กลายเป็นมิตรกัน พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงคุ้นเคยกับเด็กทั้งสองเนื่องจากเขานั่นเอง และทรงส่งเด็กทั้งสองไปกัมพูชากับคณะทูตคณะหนึ่ง ฮันเตอร์ใฝ่ฝันที่จะส่งเด็กทั้งไปยุโรปและอเมริกา แต่พ่อแม่ของเด็กไม่เห็นด้วยกับแผนการของเขาอยู่เป็นหลายปี
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดฮันเตอร์ก็เอาชนะพ่อแม่เด็กสำเร็จ อันที่จริงก็คือด้วยการ “ซื้อ” เด็กทั้งสองตามที่นิยมทำกันในสยาม เพื่อจะได้ส่งไปยุโรปได้ เขาจัดทำในรูปหุ้นส่วน ประกอบด้วยฝาแฝดทั้งสอง ตัวเขาเองและกัปตันเอเบล คอฟฟิน แห่งอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ส่งเด็กทั้งสองไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป ต่อมาฝาแฝดทั้งสองเกิดบาดหมางกับกัปตันคอฟฟิน แต่ทั้งคู่ยังคงเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ต่อฮันเตอร์ และมักจะช่วยอ่านจดหมายยาวๆ ของเขาทั้งสองให้มารดาผู้อ่านหนังสือไม่ออกให้ฟังอยู่เสมอ” [18]
(5) ปืน, พระ และนักเลง
ช่วงที่ยังมีอำนาจและเป็นที่โปรดปรานอยู่นั้น ฮันเตอร์และพวกเคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับพระภิกษุ เนื่องจากเขากับเพื่อนชาวตะวันตกชื่นชมการล่าสัตว์ตามสไตล์แบบผู้ดีที่มาจากอังกฤษ เดินทางไปไหนมาไหนมักจะพกปืนติดตัวไปเที่ยวยิงนก แต่มีวันหนึ่งซึ่งหมอบรัดเลย์บันทึกไว้ว่าเป็นวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2378 บังเอิญว่าสถานที่ยิงนกนั้นอยู่ใกล้พระอารามและเป็นเวลายามเย็นซึ่งพระภิกษุกำลังปฏิบัติศาสนกิจ เมื่อมีเสียงปืนดังโป้งขึ้น พระภิกษุก็ยกกันจากโบสถ์ตรงมายังบุคคลผู้ลั่นไกปืนนั้น
ปรากฏว่าลูกน้องคนสนิทคนหนึ่งของฮันเตอร์คือ “กัปตันเวลเลอร์แห่งเรือพีรามัส” ได้ “ถูกพระวัดเกาะตีปางตาย” [19] ฮันเตอร์มิได้อยู่ในเหตุการณ์ เมื่อทราบเรื่องก็คว้าปืนวิ่งไปช่วยลูกน้องแต่ไม่ทัน เคราะห์ดีที่ฮันเตอร์เป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่เคารพยำเกรง และรู้กันว่าเขาเป็นชาวต่างชาติที่ในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดปราน ไม่เช่นนั้นฮันเตอร์ก็คงเป็นอีกคนที่จะโดน “พระตื้บ” เอาด้วยอีกคนเป็นแน่
เรื่องไม่จบเพียงเท่านั้น ระหว่างที่กัปตันเวลเลอร์รักษาตัวอยู่กับหมอบรัดเลย์ ในสภาพนอนหลับสลบไม่ได้สติ เป็นเรื่องใหญ่สำหรับฮันเตอร์หากกัปตันเรือเสียชีวิตหรือทุพพลภาพไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่บังคับบัญชาเรือได้ วันต่อมา (วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2378) ฮันเตอร์ได้ฟ้องร้องกลุ่มพระภิกษุดังกล่าว โดย “ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่กำลังไต่สวนกันอย่างเอาจริงเอาจัง ม.ฮันเตอร์คาดคั้นจะเอาเรื่องให้ได้” [20]
แต่คดีก็ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2378 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้ทรงตรัสสั่งให้พระราชาคณะประชุมหารือตัดสินอธิกรณ์โดยเร็ว เนื่องจากทรงไม่ต้องการจะให้เรื่องลุกลามบานปลายจนกลายเป็นเหตุทะเลาะวิวาทกันระหว่างชาวสยามกับยุโรป คณะสงฆ์ได้มติเห็นชอบกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งพระวชิรญาณภิกขุ (รัชกาลที่ 4 ในกาลต่อมา) เป็นประธานสงฆ์ในการตัดสินชำระความ [21]
ผลการชำระความออกมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2378 ใช้เวลาพิจารณากว่า 4 วัน “ปรากฏว่า แทนที่จะลงโทษประหารชีวิต กลับให้พระภิกษุนั่งกลางแดดพักหนึ่งในวันนั้น และต้องทำงานขั้นต่ำอีกเพียงไม่นานนัก นอกจากนั้นยังมีพระบรมราชโองการห้ามพระภิกษุมิให้แตะต้องชาวยุโรปหรือชาวต่างชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะถูกยั่วโทสะเพียงใดก็ตาม” [22]
อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าฮันเตอร์พอใจต่อคำตัดสินหรือไม่ เมื่อเวลเลอร์กลับฟื้นคืนสติและกลับเข้าทำงานประจำการบนเรือตามปกติได้แล้ว ฮันเตอร์ก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างใดต่อในส่วนของคดีความนี้ แม้เป็นคดีทะเลาะวิวาทถึงขั้นชกต่อยลงไม้ลงมือกันกับพระภิกษุสงฆ์ แต่ไม่เป็นผลให้เขาออกจากสยาม เหตุการณ์ที่มีผลให้เขาต้องตัดใจย้ายออกนอกประเทศไปเกิดขึ้นในอีก 9 ปีต่อมาคือใน พ.ศ.2387
(6) การนำเข้าเรือกลไฟลำแรก
ประเด็นหนึ่งซึ่งผู้บันทึกเกี่ยวกับโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ต่างพูดตรงกันก็คือการนำเข้าเรือกลไฟชื่อ “เอ็กเพรส” (Express) เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ฮันเตอร์ต้องออกไปจากสยาม แต่เรื่องนี้ก็มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาด้วย
แม้ว่า พ.ศ.2387 ซึ่งเป็นปีที่ฮันเตอร์นำเอาเรือกลไฟเข้ามาเสนอขายให้แก่ชนชั้นนำสยามนั้นจะเป็นปีเดียวกับที่เขาเข้ามาประกอบกิจการในสยามมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่าเขาเข้าใจระบบการเมืองภายในของสยามได้มากพอแต่อย่างใดเลย ที่เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เคยกล่าวว่า “มิศหันแตรรู้อย่างธรรมเนียม ณ กรุง ทุกสิ่งทุกประการ” [23] เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ที่ปรากฏแล้วต้องบอกว่าเป็นการกล่าวที่ออกจะเกินจริงไปสักหน่อย
ทั้งนี้อาจเพราะเขาไม่ได้พำนักอยู่ในสยามตลอด หากแต่แล่นเรือไปมาระหว่างกรุงเทพฯ กับสิงคโปร์และหัวเมืองมลายูอย่างปัตตานี กลันตัน ตรังกานู ที่สิงคโปร์เขาก็มีห้างค้าขายชื่อ “มอร์แกน, ฮันเตอร์ และคณะ” (Morgans, Hunter & Co.) จากบันทึกของจอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขา ฮันเตอร์ยังชอบแล่นเรือสำรวจหมู่เกาะต่างๆ ในอ่าวสยามทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก [24] พูดตามภาษาสมัยนั้นคือเป็นคน “เท้าไม่ติดพื้น” หมายถึงใช้ชีวิตอยู่แต่ในเรือหรือลอยลำอยู่ในทะเลเป็นหลัก
เรือเอ็กเพรสไม่ใช่เรือลำแรกที่เขานำเข้ามาขายในสยาม ก่อนหน้านั้นมีหลักฐานว่าฮันเตอร์ได้เคยนำเอาเรือกำปั่นตะวันตกเข้ามาขายอยู่บ้างแล้ว เรือที่สยามต่อขึ้นจากอู่ต่อเรือวัดระฆัง เมื่อเจ้าของต้องการจะขายต่อ ก็จะขายให้แก่ฮันเตอร์ จากนั้นฮันเตอร์จะให้พนักงานบรรทุกสินค้าใส่ลงเรือ เมื่อถึงจุดหมายก็ขายทั้งเรือและสินค้าที่บรรทุกเรือมานั้น แล้วกลับเรือลำอื่น
ตามบันทึกของจอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล ในระหว่างที่เขาเดินทางจะกลับอังกฤษอยู่นั้น ก็ได้ร่วมมาในเรือของฮันเตอร์ แล้วเขาพบว่า “มีลูกเรือหลายคนบนเรือของเรา ซึ่งเดินทางมาจากสยามด้วยเรือเล็กของมิสเตอร์ฮันเตอร์ เรือเล็กนั้นเมื่อถึงสิงคโปร์ เจ้าของก็ขายเรือนั้นต่อไป” [25]
ประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับการเข้ามาของเทคโนโลยีเรือกลไฟในไทย ที่ผ่านมามีความลักลั่นตรงที่มักให้ความสำคัญกับเรือรบหลวงที่ต่อขึ้นโดยคนไทยเมื่อพ.ศ.2398 สมัยรัชกาลที่ 4 แต่มีหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุ Bangkok Calendar ได้ระบุว่า “13 First Steamer arr, in Bangkok, 1844” หมายถึงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2387 (ค.ศ.1844) เรือกลไฟลำแรกได้แล่นเข้ามาถึงกรุงเทพฯ บันทึกนี้ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าเรือกลไฟลำแรกที่ว่านั้นคือเรือชื่ออะไร ใครเป็นกัปตัน และเข้ามาด้วยวัตถุประสงค์อย่างใด
แต่เมื่อผู้เขียนเทียบศักราชเหตุการณ์กับหลักฐานอื่น ๆ แล้วพบว่า เรือที่เข้ามาเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2387 ตามจดหมายเหตุ Bangkok Calendar นั้นก็คือเรือเอ็กเพรส กัปตันชื่อ “ปีเตอร์ บราวน์” (Peter Brown) ซึ่งเป็นเรือที่โรเบิร์ต ฮันเตอร์ นำเข้ามานั่นแหละ เพียงแต่หมอบรัดเลย์ผู้ซึ่งทันได้เห็นเหตุการณ์และรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะ “เพลย์เซฟ” บอกแค่วันเดือนปีที่เข้ามา ไม่ได้ให้รายละเอียด
ในประวัติศาสตร์ของเรือกลไฟ ลำแรกของโลกคือเรือ Charlotte Dundas สร้างโดยวิศกรชาวสก็อต เมื่อค.ศ.1801 (พ.ศ.2344) อีก 6 ปีต่อมามีการสร้างเรือกลไฟชนิดใช้ใบจักรข้างลำแรกคือเรือ The Clermont สร้างโดยวิศวกรชาวอเมริกันชื่อ “โรเบิร์ต ฟุลตัน” (Robert Fulton) เมื่อ ค.ศ.1807 (พ.ศ.2350) [26]
เรือเอ็กเพรสที่ฮันเตอร์นำเข้ามาเป็นแบบชนิดใบจักรข้างที่นิยมกันในหมู่พ่อค้าและนักเดินเรือชาวอเมริกัน ระยะเวลาจากปีที่มีการสร้างเรือ The Clermont สำเร็จกับปีที่เรือ Express เข้ามาสยาม ห่างกันเพียง 37 ปี ณ พ.ศ.2387 นั้นเรือชนิดนี้ยังไม่ได้ใช้แพร่หลายในน่านน้ำทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่าไรนัก
เมื่อเรือแล่นมาถึงได้ไปจอดเทียบท่าอยู่ที่หน้าบ้านพระคลัง ปรากฏว่ามีความยุ่งยากเกิดขึ้น พระคลังไม่ยอมสั่งซื้อโดยอ้างว่าราคาสูงเกินไป เมื่อฮันเตอร์นำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ทรงเห็นพ้องกับพระคลัง และครั้งนั้นมีการอภิปรายกันในที่ประชุมด้วยว่า ไม่ทรงเชื่อว่าเรือที่สร้างด้วยเหล็กจะลอยน้ำได้
ฮันเตอร์ไม่ยอมแพ้จึงได้มีการทดลองโดยใช้บาตรพระ แต่เมื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าบาตรนั้นลอยน้ำได้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากรมแสงปืนต้น ได้ทำการสำรวจเรือกลไฟเอ็กเพรส แล้วได้ทำหุ่นจำลองเพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทอดพระเนตร
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัสสั่งว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งซื้อเรือจากต่างประเทศ หากมีความต้องการเรือประเภทนี้เมื่อใด ก็สามารถต่อขึ้นใช้ได้เองภายในประเทศ [27]
เมื่อฮันเตอร์ไม่ยอมแพ้ และยืนกรานว่าพระคลังจะต้องสั่งซื้อ เพราะมีการตกลงกันไว้กับราชสำนักแล้วตนจึงได้สั่งนำเข้ามา แต่เมื่อเรือมาถึงกลับไม่ซื้อเช่นนี้ ทำไม่ถูกและตนจะต้องขาดทุน และด้วยอารมณ์โกรธ ฮันเตอร์ได้ต่อว่าต่อขานต่าง ๆ นานา ที่ทำให้ฝ่ายสยามรู้สึกรับไม่ได้ ก็คือการที่ฮันเตอร์ขู่ว่าถ้าสยามไม่ซื้อ ตนจะเอาไปขายให้แก่เวียดนาม ซึ่งเป็นศัตรูของสยาม (ในสงครามอานาม-สยามยุทธ์ ที่ยาวนาน)
สุดท้ายเรือเอ็กเพรสนั้นเองเป็นเรือที่ต้องนำฮันเตอร์ออกไปจากสยาม เมื่อแล่นถึงสิงคโปร์ จอดเทียบท่าได้สักพักหนึ่ง เขาก็ขายให้แก่เวียดนามด้วยราคาเดียวกับที่เคยเสนอให้แก่ราชสำนักสยาม คือ 2,000 ชั่ง (เท่ากับ 160,000 บาท) (บางแหล่งว่า 1,200 ชั่ง เท่ากับ 96,000 บาท) [28]
สรุปเรือกลไฟลำแรกเข้ามาสยามแบบ “มาแล้วก็ไป” ในปีเดียวกันนั้นเองคือ พ.ศ.2387 (ค.ศ.1844) การที่เรือลำนี้แล่นข้ามน้ำข้ามทะเลมาจอดเทียบท่าได้ถึงหน้าเรือนพระคลัง จนเป็นที่โจษจันกันทั่วเมืองขนาดนั้นแล้ว ยังมีผู้ไม่เชื่ออีกได้อย่างไรว่าเหล็กลอยน้ำได้ จนถึงกับต้องมีการพิสูจน์กันโดยทดลองเอาบาตรมาลอยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แจ้งเช่นนั้น การที่เรือลำนี้ “ปลิว” ไปอย่างง่ายดายราวกับลบสเตตัสในโซเชียลเช่นนั้นมีสาเหตุเบื้องลึกเบื้องหลังมาจากอะไรกันแน่?
(7) “เหล็กลอยน้ำ” กับปัญหาตามมา: ทำไมเรือกลไฟเอ็กเพรสจึงถูกปฏิเสธ?
เอกสารของฝ่ายสยามมักระบุว่า ฮันเตอร์อ้างว่าในหลวงรับสั่งให้ตนนำเรือเข้ามา แต่เจ้าพนักงาน (พระคลัง) กลับไม่ซื้อ (“ในหลวงรับสั่ง ถ้าเจ้าพนักงานไม่ซื้อ”) [29] เมื่อเทียบหลักฐานอื่นๆ เช่น บันทึกของหมอบรัดเลย์ ก็จะพบว่าสอดคล้องต้องกันในแง่ข้อมูล
ปัญหาคือเมื่อในหลวงรับสั่งแล้วทำไมพระคลังจึงไม่ซื้อ หรือฮันเตอร์จะเข้าใจผิดหรือคิดไปเองว่าทรงรับสั่งว่าจะซื้อ ในส่วนนี้นั้นยากจะตรวจสอบเพราะหลักฐานไม่เอื้อให้วิเคราะห์ไปถึงตรงนั้น เมื่อเรือมาถึงแล้วอีกทั้งยังพิสูจน์ให้เห็นกันแล้วว่าเหล็กลอยน้ำได้ ทำไมฝ่ายสยามโดยหน่วยงานเกี่ยวข้องคือพระคลัง จึงปฏิเสธที่จะซื้อไว้ใช้งาน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เองก็ทรงมีพระราชดำริเล็งเห็นการณ์ว่า ในยุคสมัยของพระองค์เรือสำเภากำลังเสื่อมสูญไป ดังนั้นในคราวจัดหาแบบอย่างเจดีย์ที่จะสร้างเมื่อคราวบูรณะวัดคอกกระบือ ซึ่งเป็นวัดเก่าสมัยอยุธยา มาเป็นวัดสมัยรัตนโกสินทร์ที่รู้จักกันในชื่อ “วัดยานนาวา” จึงทรงโปรดให้สร้างพระเจดีย์มีฐานเป็นรูปสำเภา ขนาดเท่าเรือจริงขึ้นไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ ณ วัดยานนาวานั้น ทรงมีพระราชดำรัสถึงเหตุผลว่า “คนภายหน้าอยากจะเห็นเรือสำเภาเป็นอย่างไรจะได้มาดู” ด้วยทรงระลึกถึงคติธรรมเปรียบเปรยที่ว่า พระเวสสันดรโพธิสัตว์อุปมาเหมือนสำเภายานนาวาในมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์กุมาร [30]
ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีคมนาคมที่สำคัญเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 24 นั้น เรื่องหลักเรื่องหนึ่งเลยก็คือการเข้ามามีบทบาทในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นของเทคโนโลยีเรือของชาติตะวันตก เรือสำเภาจีนที่เคยเทียบท่าเรือตามเมืองท่าต่าง ๆ ถูกแทนที่ด้วยเรือกำปั่นตะวันตก เพราะเป็นเรือมีประสิทธิภาพกว่า ในขณะที่โลกตะวันตกนั้นเรือกำปั่นได้เริ่มเสื่อมความนิยมลงเนื่องจากการเกิดเทคโนโลยีใหม่คือเรือกลไฟ [31]
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เรือสำเภายังคงต้องใช้กันอยู่ก็เพราะกฎหมายของราชวงศ์ชิงที่อนุญาตให้แต่เฉพาะเรือสำเภาแบบจีนเท่านั้นที่สามารถเข้าจอดเทียบท่าเรือของจีนได้ จึงเกิดการดัดแปลงเรือสำเภามาใช้ใบเรียกว่า “กำปั่นแปลง” หรือ “กำปั่นบ๊วย” คือเรือที่มีรูปลักษณ์ภายนอกแบบเรือสำเภาจีน แต่ภายในได้ใช้เทคโนโลยีของเรือกำปั่น
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ได้กระทบต่อสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว สยามปรับตัวโดยการหันมาต่อเรือกำปั่นกันมากขึ้น โดยมีแหล่งต่อเรือขนาดใหญ่อยู่ที่บริเวณหน้าวัดระฆัง กรุงเทพฯ กับอีกแห่งที่มีมาแต่เดิมเป็นแหล่งต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้นของเอเชียอยู่ที่จันทบุรี [32]
ในเมื่อชนชั้นนำสยามพยายามปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้อยู่ และเรือกลไฟก็เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิสูงก้าวล้ำนำสมัยที่สุดในเวลานั้น มีความเป็นไปได้ที่สยามจะมีคนคิดอ่านอยากสร้างเรือชนิดนี้ขึ้นมาไว้ใช้งานบ้าง แต่ขาดตัวแบบที่จะใช้ศึกษาและลอกเลียนแบบ การมีเรือชนิดนี้เข้ามาสักลำหนึ่งเพื่อศึกษาระบบกลไกการทำงานต่าง ๆ จึงตอบโจทย์ต่อเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรือเอ็กเพรสกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งที่ทำให้พ่อค้าที่ใช้เรือธงอังกฤษ ต้องอพยพย้ายประเทศออกไปจากสยาม ผู้ที่ตกเป็นจำเลยในเรื่องฐานที่ไม่ซื้อจนเกิดเรื่องคือพระคลัง เวลานั้นขุนนางผู้ใหญ่ของตระกูลบุนนาคคือ “ดิศ บุนนาค” เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นออกญาพระคลังควบกลาโหม จึงมีคำเรียก ดิศ บุนนาค เวลานั้นว่า “เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม”
เมื่อเซอร์เจมส์ บรุก (Sir James Brooke) เจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตเข้ามาแก้ไขสนธิสัญญากับสยาม เมื่อพ.ศ.2393 ดิศ บุนนาค ได้ตอบคำถามถึงกรณีความขัดแย้งกับฮันเตอร์อันเนื่องมาจากเรือกลไฟเอ็กเพรสเอาไว้ดังความต่อไปนี้:
“เมื่อ จ.ศ.1186 มิศหันแตรเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ ณ กรุง ก่อนลูกค้าอังกฤษทั้งปวง เมื่อแรกเข้ามาอยู่ก็ซื้อขายกับลูกค้าพานิชเรียบร้อยเป็นปรกติ หามีถ้อยความเกี่ยวข้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ต้องพระราชประสงค์ปืนใหญ่น้อยก็อุตส่าห์หาเข้ามาจำหน่าย ก็ได้ซื้อหาไว้เป็นกำลังสำหรับบ้านเมือง มิศหันแตรเข้ามาอยู่ ณ กรุง หลายปีจนได้ฝรั่งชาติพุทธเกต (โปรตุเกส-ผู้อ้าง) ที่กรุง เป็นภรรยา เกิดบุตรใหญ่ขึ้นแล้ว มิศหันแตรขอลาให้บุตรออกไปเรียนหนังสือที่เมืองวิลาศ เจ้าพนักงานก็ตามใจมิได้ขัดขวาง มิศหันแตรรู้อย่างธรรมเนียม ณ กรุง ทุกสิ่งทุกประการ
ครั้นนานมาคุ้นเคยกันเข้ากับพวกจีนคนร้าย ก็เอาฝิ่นซึ่งเป็นของต้องห้ามเข้ามาลักลอบซื้อขายกัน และจำหน่ายสิ่งของใดๆ ไปกับลูกค้าก็เป็นความเกี่ยวข้องกันเนืองๆ พูดจาข่มเหงลูกค้าหลายอย่าง แล้วมิศหันแตรพูดอวดว่า กำปั่นไฟใช้ได้รวดเร็วคล่องแคล่วนัก จึงเอากำปั่นไฟเข้ามาลำหนึ่ง ติดไฟขึ้นใช้กำปั่นให้ขุนนางและราษฎรดู ก็ไม่เห็นรวดเร็ว พอทัดกันกับเรือ 9 พาย 10 พาย ไม่เป็นอัศจรรย์นัก กำปั่นลำนั้นก็เป็นกำปั่นเก่าผุพังอยู่บ้างแล้ว จะขอขายให้ในหลวงเป็นราคา 1,200 ชั่ง เจ้าพนักงานไม่ซื้อไว้ก็โกรธว่ากล่าวเหลือเกินต่อเจ้าพนักงานต่างๆ ทำให้ผิดสัญญาซึ่งกะปิตันหันตรี บารนี (เฮนรี เบอร์นีย์-ผู้อ้าง) ทำไว้ เสนาบดีเห็นพร้อมกันว่าหันแตรพูดเหลือเกิน ก็ให้ขับไปเสียไม่ให้อยู่บ้านเมือง” [33]
ดูเหมือนว่า ดิศ บุนนาค จะพยายามอธิบายต่อเซอร์เจมส์ บรุก ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ปัญหาในระดับนโยบายหรือโครงสร้างอำนาจของสยาม หากแต่เป็นปัญหาระดับพฤติกรรมบุคคลของฮันเตอร์เอง ซึ่งทำให้ชาวสยามไม่อาจยอมรับได้ และการที่ยังมีชาวยุโรปคนอื่นได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อ ก็เป็นสิ่งสะท้อนว่าสยามมิได้กีดกันชาวต่างชาติ ดังที่ดิศ บุนนาค กล่าวต่อว่า:
“มิศเฮ (James Hays หุ้นส่วนของฮันเตอร์-ผู้อ้าง) พวกเดียวกันกับมิศหันแตร ไม่ได้ทำถ้อยความสิ่งไรให้เกี่ยวข้องการบ้านเมือง ก็ให้ได้อยู่ซื้อขายมาจนทุกวันนี้ มิศเฮก็ได้มาช่วยเจ้าพนักงานแปลหนังสือเขียนหนังสือฝรั่งอยู่บ้าง” [34]
นั่นคือคำอธิบายหลังเหตุการณ์โดยคนที่มีข้อพิพาทกับฮันเตอร์โดยตรง บันทึกของหมอบรัดเลย์ได้ให้คำตอบต่อเรื่องนี้โดยไม่ตั้งใจ เมื่ออ่านระหว่างบรรทัดเทียบลำดับเหตุการณ์ จะพบว่าบันทึกของหมอบรัดเลย์ได้ยืนยันว่า ตระกูลบุนนาคเวลานั้นได้กุมอุตสาหกรรมการต่อเรืออยู่ในสยามเวลานั้นแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ “ตำบลอู่ต่อเรือสยาม” ที่จันทบุรี [35]
การกุมเทคโนโลยีเรือกำปั่นเป็นที่มาของอำนาจและความมั่งคั่งของตระกูลบุนนาคในเวลานั้น ที่รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสว่า ถ้ามีความต้องการใช้เรือชนิดนี้ สยามก็สามารถต่อเรือขึ้นใช้เองได้นั้น ไม่ใช่เกินจริงแต่อย่างใดเลย
ดังจะเห็นได้จากการต่อเรือพระที่นั่งสยามอรสุมพล (Royal Siamese Seat) เมื่อพ.ศ.2398 ซึ่งเป็นเรือกลไฟลำแรกๆ ที่ต่อขึ้นโดยชาวสยาม ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) โดยสั่งซื้อเครื่องจักรและอะไหล่ประกอบส่วนต่างๆ จากนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อต่อเสร็จแล้ว ช่วง บุนนาค ได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2398 [36]
จอร์จ ฟินเลย์สัน (George Finlayson) นักเดินทางอีกคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เดินทางผ่านไปพบเห็นแหล่งต่อเรือของตระกูลบุนนาคที่จันทบุรีเมื่อพ.ศ.2363 ได้กล่าวถึงจันทบุรีว่าเป็นเมืองที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในราชอาณาจักสยาม มีท่าเรือเทียบท่าขนาดใหญ่ มีอุตสาหกรรมการต่อเรือสำเภาและกำปั่น มีพ่อค้าและช่างชาวจีนและเวียดนามคริสต์อาศัยอยู่มาก [37]
ตามรายงานของดี. อี. มัลลอค (D. E. Malloch) พ่อค้าอังกฤษ ที่เข้ามาค้าขายในสยามช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 (หลังจากฮันเตอร์ออกจากสยามไปแล้ว) ได้ระบุเกี่ยวกับอัตราราคาและค่าจ้างในการต่อเรือที่อู่ต่อเรือสยาม แขวงเมืองจันทบุรี คิดเป็นราคา 25 บาทต่อน้ำหนัก 1 ตัน ถ้าเป็นสำเภาจีนขนาดระวางจะอยู่ที่ 400-500 ตัน เมื่อบวกค่าจ้างและค่าวัสดุแล้วค่าใช้จ่ายในการต่อเรือสำเภา 1 ลำ จะตกอยู่ที่ราว 20,000 กว่าบาท แต่หากเป็นเรือกำปั่นตะวันตก อัตราค่าจ้างจะแพงขึ้นกว่าเรือสำเภาจีน ตกอยู่ที่ราว 30,000 บาทต่อ 1 ลำ ทั้งนี้โดยคิดคำนวณจากมาตรฐานการต่อเรือที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของช่างไม้ชาวยุโรปซึ่งมีลูกจ้างชาวจีนเป็นลูกมือช่วยเหลืออีกต่อหนึ่ง [38]
จะเห็นได้ว่า ราคาเรือกลไฟที่ฮันเตอร์เสนอขายนั้น มีราคาที่สูงเกินไปกว่าบรรดาเรือที่ต่อกันขึ้นในสยามเวลานั้นมาก อย่างแพงที่ต่อกันราคาอยู่ที่ 2-30,000 บาทต่อลำ แต่ราคาเรือกลไฟเอ็กเพรสอยู่ที่ 96,000 บาท (กรณี 1,200 ชั่ง) และบ้างก็ว่าสูงถึง 2,000 ชั่ง (160,000 บาท) ราคานี้ค่อนข้างแพงสำหรับสยามในเวลานั้น โดยที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะได้ประโยชน์หรือคุ้มที่จะซื้อไว้แค่ไหนอย่างไร หากใช้งานในระดับเดียวกับที่เรือกำปั่นซึ่งต่อได้เองอยู่ขณะนั้น ยิ่งเรือกลไฟเองก็ถูกเข้าใจโดยคนไทยในชื่อเรียกว่า “กำปั่นไฟ” อยู่ด้วย ก็ถือว่าไม่คุ้มค่าที่จะซื้อ ยกเว้นแต่มีสงคราม แต่ ณ ขณะนั้นสงครามอานาม-สยามยุทธ์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานก็จวนจะใกล้ยุติลงแล้ว สถานการณ์สงครามระหว่างจีนกับชาติตะวันตกในช่วงนั้นก็ยุติไปแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นความขัดแย้งคือการที่ฮันเตอร์ยืนกรานว่า ผู้มีอำนาจในสยามสั่งให้ตนนำเข้ามาแล้วก็ต้องซื้อตามที่สั่ง เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ ในฐานะพ่อค้าเขาก็มีสิทธิที่จะขายให้แก่ผู้อื่นต่อไป เพียงแต่ว่าลูกค้ารายถัดไปของเขาคือเวียดนาม ซึ่งเป็นศัตรูของสยามในเวลานั้น ประกอบกับลูกค้ารายแรกนั้นไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน แถมการนำเข้าเรือกลไฟยังไปขัดผลประโยชน์ของขุนนางใหญ่ตระกูลหนึ่งเข้าให้ เรือเอ็กเพรสเลยต้อง “ปลิว” ด้วยเหตุประการฉะนี้
(8) การค้าในช่วงครึ่งหลังของฮันเตอร์
เมื่อต้องหมดอำนาจวาสนาและออกจากสยามไป เรื่องอื่นๆ ที่ถูก “หมกเม็ด” อยู่ของฮันเตอร์ ก็ถูกขุดเอามารื้อฟื้น โดยเฉพาะเรื่องที่เขาละเมิดกฎหมายของสยาม ลอบค้าฝิ่นและน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามของสยาม แต่เรื่องกลับสะท้อนให้เห็นความยากลำบากในการประกอบธุรกิจภายใต้นโยบายผูกขาดการค้าของสยาม เป็นปัญหาลักษณะเดียวกับที่พ่อค้าต่างชาติเคยเผชิญมาก่อนในสมัยอยุธยา เพราะชนชั้นนำกุมการค้าสินค้าที่มีราคาขายได้กำไรในท้องตลาด ความสัมพันธ์กับราชสำนักจึงเป็นเรื่องหลักสำคัญ
แถมยังต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่หนักมาก ตามบันทึกของจอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล ได้ระบุว่า “ทุกวันนี้เรือสินค้าจากอังกฤษไม่ค่อยมากรุงเทพฯ เพราะภาษีปากเรือสูง” [39] เมื่อตรวจสอบกับเอกสารของเฮนรี เบอร์นีย์ (Henri Burney) พบว่าภาษีปากเรือที่ฮันเตอร์ต้องจ่ายให้แก่สยามนั้น ขาเข้าคิดราคาร้อยละ 8 ขาออกสูงถึงร้อยละ 20-50 ตามแต่ประเภทของสินค้า อีกทั้งเอกสารยังระบุด้วยว่า “การเก็บภาษีนี้พระคลังเป็นผู้ควบคุมเอง” [40]
การค้าข้าวนำเอาข้าวจากลุ่มเจ้าพระยาลงไปส่งขายให้แก่หัวเมืองมลายู ซึ่งเคยได้กำไรงาม แต่ปรากฏว่าในช่วงหลังไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสยามทำสงครามกับปัตตานี ดังที่จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล ประสบด้วยตนเองเมื่อติดเรือค้าข้าวของฮันเตอร์ลงไปยังหัวเมืองปักษ์ใต้ แล้วต้องพบว่าลูกค้าของฮันเตอร์ถูกกวาดต้อนไปกรุงเทพฯ จนหมดสิ้น ที่เหลือหลบหนีเข้าป่า เป็นอันว่าขายข้าวไม่ได้ ฮันเตอร์ต้องขนข้าวกลับมากรุงเทพฯ
เมื่อการค้าข้าวประสบปัญหาเช่นนั้น ฮันเตอร์ก็หันไปหาสินค้าต้องห้าม เรื่องนี้ไม่พ้นสายตาของหมอบรัดเลย์เช่นกัน ดังที่มีบันทึกว่า “เขา (ฮันเตอร์-ผู้อ้าง) พยายามลักลอบส่งน้ำตาลออกนอกประเทศโดยไม่ยอมเสียภาษี” [42]
แต่ทั้งฝิ่นและน้ำตาล ไม่อาจเทียบได้กับการนำเข้าเทคโนโลยีอย่างเรือกลไฟ เพราะถ้าฮันเตอร์ทำสำเร็จนั่นหมายถึงกำไรงามทีเดียว อันที่จริงกรณีเรือเอ็กเพรสไม่ใช่ครั้งแรกที่ฮันเตอร์ต้องมีข้อพิพาทกับผู้มีอำนาจในสยาม กรณีการสั่งนำเข้าพรมในพระราชวังก็มีประเด็นลักษณะคล้ายคลึงกัน
กล่าวคือราชสำนักเคยสั่งซื้อพรม โดยอนุญาตให้ฮันเตอร์นำเจ้าพนักงานเข้าไปวัดขนาดของพรมที่ต้องใช้ในพระราชวัง แต่เมื่อพรมมาถึงแล้วพบว่ามีราคาแพงและมีขนาดเล็กกว่าท้องพระโรง รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิเสธที่จะซื้อ ฮันเตอร์ไปเสนอขายให้แก่ผู้อื่น ก็ไม่มีใครซื้อ จนกระทั่งทรงรับสั่งให้พระคลังซื้อไปในราคาที่ไม่ได้กำไรมากนัก [43]
แต่ฮันเตอร์ไม่เพียงไม่เข็ดหลาบ เขากลับเล่นของที่ใหญ่ขึ้นกว่าพรมมาก และเมื่อการค้าขายตามปกติในช่วงหลังไม่ได้ให้ผลกำไรงามเหมือนอย่างช่วงแรก ๆ ความตึงเครียดนำพาให้เขาจ่อมจมอยู่กับสุรา จนกระทั่งเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ตามที่หมอบรัดเลย์ซึ่งเป็นผู้รักษาและเตือนเขาในเรื่องนี้อยู่ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงที่เขาต้องเจรจาเรื่องเรือเอ็กเพรสเมื่อ พ.ศ.2387 อยู่นั้น เขายังไม่ฟื้นจากอาการป่วยจาก “พิษเหล้า” [44] ด้วยสภาพจิตใจและความป่วยไข้ เขาไม่พร้อมที่จะเจรจาเรื่องสำคัญใหญ่โตเช่นนั้น เมื่อผิดหวังจึงบันดาลโทสะ ซึ่งกลายเป็น “เข้าทาง” ของฝ่ายที่เขาขัดแย้งผลประโยชน์อยู่ด้วยนั่นเอง
นั่นเป็นยุคที่การนำเข้าเทคโนโลยียังไม่มี “ส่วนต่าง” อำนาจและความมั่งคั่งของชนชั้นนำสยามยังอยู่กับการผลิตเทคโนโลยีขึ้นใช้เองภายในประเทศ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งยังคงสะท้อนสังคมไทยได้ดีจากเรื่องของฮันเตอร์ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหาก “ทุนข้ามชาติ” ต้องมา “ใส่เดี่ยว” กันกับ “ทุนขุนนาง” และ “กระฎุมพีศักดินา” ใครจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบหรือได้เปรียบ ใครจะอยู่ ใครจะต้องเป็นฝ่ายไป ชีวิตจริงนั้นยิ่งกว่าภาพยนตร์เสมอเชิงอรรถ:
[1] วิลเลียม แอล บรัดเลย์ (William L. Bradley). สยามแต่ปางก่อน: 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์ (Siam then: the foreign colony in Bangkok). แปลโดย ศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา และศรีลักษณ์ สง่าเมือง, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2547), น. 104.
[2] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2493), น. 23.
[3] วิลเลียม แอล บรัดเลย์ (William L. Bradley). สยามแต่ปางก่อน: 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์ (Siam then: the foreign colony in Bangkok), น. 96.
[4] จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล (George Windsor Earl). “การเดินทางไปสู่สยาม-กรุงเทพฯ” (บางส่วนจาก The Eastern Seas, or Voyages and Adventures in the Indian Archipalago 1832-33-34) ใน รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ชุดที่ 1. (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2539), น. 123.
[5] วิลเลียม แอล บรัดเลย์ (William L. Bradley). สยามแต่ปางก่อน: 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์ (Siam then: the foreign colony in Bangkok), น. 98.
[6] เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring). ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม เล่ม 2 (The Kingdom and People of Siam 2). (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547), น. 224.
[7] จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล (George Windsor Earl). “การเดินทางไปสู่สยาม-กรุงเทพฯ” (บางส่วนจาก The Eastern Seas, or Voyages and Adventures in the Indian Archipalago 1832-33-34), น. 116.
[8] วิลเลียม แอล บรัดเลย์ (William L. Bradley). สยามแต่ปางก่อน: 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์ (Siam then: the foreign colony in Bangkok), น. 96.
[9] เรื่องเดียวกัน, น. 101-102.
[10] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2538), น. 115.
[11] Adey Moore. “Robert Hunter an early British merchant in Bangkok” The Journal of the Siam Society. Vol.XI Part2: September, 1915.
[12] ดู กรมศิลปากร. รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ชุดที่ 3. (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2538), น. 43-80.
[13] จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล (George Windsor Earl). “การเดินทางไปสู่สยาม-กรุงเทพฯ” (บางส่วนจาก The Eastern Seas, or Voyages and Adventures in the Indian Archipalago 1832-33-34), น. 111-133.
[14] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3, น. 115-116.
[15] เรื่องเดียวกัน, น. 116.
[16] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม, น. 21-22.
[17] วิลเลียม แอล บรัดเลย์ (William L. Bradley). สยามแต่ปางก่อน: 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์ (Siam then: the foreign colony in Bangkok), น. 102.
[18] เรื่องเดียวกัน, น. 97-98.
[19] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม, น. 23.
[20] เรื่องเดียวกัน.
[21] วิลเลียม แอล บรัดเลย์ (William L. Bradley). สยามแต่ปางก่อน: 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์ (Siam then: the foreign colony in Bangkok), น. 100.
[22] เรื่องเดียวกัน.
[23] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 63 เรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2479), น. 186.
[24] จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล (George Windsor Earl). “การเดินทางไปสู่สยาม-กรุงเทพฯ” (บางส่วนจาก The Eastern Seas, or Voyages and Adventures in the Indian Archipalago 1832-33-34), น. 116.
[25] เรื่องเดียวกัน, น. 115.
[26] ดูรายละเอียดใน Cynthia O. Philip. Robert Fulton: A Biography. New York: F. Watts, 1985; James M. Flammang. Robert Fulton: Inventor and Steamboat Builder. New York: Enslow Publishers, 1999.
[27] ดูรายละเอียดหนังสือคำร้องของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ใน กรมศิลปากร. รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ชุดที่ 3. (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2538), น. 59-60.
[28] “จดหมายเหตุเรื่องเซอร์เชมสบรุก ทูตอังกฤษเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาเมื่อ พ.ศ.2393” ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 63 เรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2479), น. 187.
[29] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3, น. 115-116.
[30] กำพล จำปาพันธ์. “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของ “เมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก” พุทธศตวรรษที่ 22-24” (วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2563), น. 495.
[31] เรื่องเดียวกัน, น. 487-498.
[32] เรื่องเดียวกัน.
[33] “จดหมายเหตุเรื่องเซอร์เชมสบรุก ทูตอังกฤษเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาเมื่อ พ.ศ.2393” ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 63 เรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, น. 186-187.
[34] เรื่องเดียวกัน, น. 187.
[35] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม, น. 32.
[36] “ประวัติเรือกลไฟในประเทศไทย” ใน นานาสาระประวัติศาสตร์จากเอกสารต่างประเทศ เล่ม 2. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2556), น. 76.
[37] George Finlayson. The Mission to Siam and Hue 1821-1822. (Oxford: Oxford University Press, 1988), pp.255-256.
[38] ดี. อี. มัลลอค (D. E. Malloch). “ประเทศสยาม: ข้อสังเกตทั่วไปในเรื่องผลผลิต โดยเฉพาะเรื่องสินค้านำเข้าและสินค้าออก รวมทั้งแนวทางดำเนินธุรกิจการค้ากับชาวสยาม” (Siam: Some General Remarks on its Production and Particularly on its Imports and Exports and the Mode of Transacting Business of the People) ใน รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ชุดที่ 3. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2538), หน้า 98, 189.
[39] จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล (George Windsor Earl). “การเดินทางไปสู่สยาม-กรุงเทพฯ” (บางส่วนจาก The Eastern Seas, or Voyages and Adventures in the Indian Archipalago 1832-33-34), น. 131.
[40] “ภาษีปากเรือของมิสเตอร์ฮันเตอร์” ใน เอกสารของเฮนรี เบอร์นีย์ เล่ม 2 (พฤษภาคมถึงมิถุนายน 1826). แปลโดย สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2551), น. 121.
[41] จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล (George Windsor Earl). “การเดินทางไปสู่สยาม-กรุงเทพฯ” (บางส่วนจาก The Eastern Seas, or Voyages and Adventures in the Indian Archepalago 1832-33-34), น. 117-118.
[42] วิลเลียม แอล บรัดเลย์ (William L. Bradley). สยามแต่ปางก่อน: 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์ (Siam then: the foreign colony in Bangkok), น. 105.
[43] เรื่องเดียวกัน, น. 97.
[44] เรื่องเดียวกัน, น. 102.