03 ต.ค. 2565 | 16:45 น.
อัลบั้มคู่ของ Cocktail ชุดแรกคือ Fate αlpha ออกมาเมื่อปี 2564 มีเพลง ‘ดึงดัน’ ซึ่งร่วมงานกับ ตั๊ก - ศิริพร อยู่ยอด และล่าสุดคือ Fate Ωmega ปล่อยออกมาในปีนี้ (2565) เบื้องหลังการทำงานอัลบั้มสำหรับวงที่มีนักร้องเป็นหัวหน้าค่ายมีไอเดียและมุมมองที่น่าสนใจหลายด้าน
ในยุคที่สถานการณ์แวดล้อมนำความท้าทายมาสู่ศิลปินในหลายด้าน จุดประสงค์ของการทำอัลบั้มใหม่สำหรับ Cocktail ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องการประกอบอาชีพ กลับเป็นว่า ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งคือ “ความอยากทำ”
โอม - ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำของ Cocktail อธิบายว่า
“Just want to do it เราแค่อยากทำเฉย ๆ เลย ไม่มีอย่างอื่นเลย เพราะว่าถ้าเอากันตรง ๆ ผมว่าเราเดินทางมาถึงยุคที่เราผ่านยุคสมัยมาพอสมควร ผมว่ามันผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดมาด้วย ไม่ได้บอกว่าอาจจะดีกว่านี้ไม่ได้ แต่ว่ามันมี Golden Age ของมัน ของวัย
คือคำว่า Golden Age สำหรับผมไม่ใช่ว่า วงอาจจะสำเร็จมากกว่านั้นก็ได้ใครจะไปรู้ แต่ว่ามันมีช่วงเวลาที่มันดี มันพร้อมด้วยวัย ถึงด้วยกาล แล้วถึงด้วยวัย ถึงด้วยความเหมาะสมของบรรยากาศทั้งปวงกับวงดนตรีวงหนึ่ง
ซึ่งตอนนี้ต่อให้เรารู้สึกถ้าเราบังเอิญจะดังมากไปกว่าเดิม ผมก็รู้สึกไม่ได้อยู่ในวัยที่เป็น Golden Age ของตัวเองแล้วขนาดนั้น จริง ๆ วงที่มาถึงระดับประมาณนี้ ผมมองด้วยสภาพตาม Fact ที่มีอยู่ เราค่อนข้างเสถียร คือคนดูก็ไม่ได้ Need เพลงใหม่จากเรา เขา Happy ที่จะมาดูโชว์ เขามี Imprint (รอยประทับ) ในหัวอยู่แล้วว่าเขาชอบแบบนี้ ชอบเพลงนี้เป็นอย่างนี้ Happy แบบนี้
เพราะฉะนั้น เรารู้สึกต่อให้เราเติมเพลงใหม่หรือไม่เติมเพลงใหม่ งานก็ไม่ได้ลดลง อยู่เสถียร รายได้หรือการเลี้ยงชีพ ไม่ได้เปลี่ยนแปลง คือมันอยู่ในระดับที่เสถียร ถ้าโชคดีอาจเสถียรไปสัก 4 – 5 ปี แต่ว่าจะให้เราอยู่ไปเบื่อ ๆเราก็อยากทำอะไร มันก็มีความคิดที่ต้องระบายออก มีเรื่องที่อยากทำ มีเรื่องที่อยากจะเล่าให้คนฟัง จะมีคนฟังหรือไม่ฟัง ไม่สำคัญเท่าว่าเราตอนนี้มีอะไรอยู่ในใจแล้วอยากเอาออกไป
เรื่องเลี้ยงชีพมันเป็นเรื่องที่พอมันเริ่มเสถียร เราวางแผนไว้ดีจัดการไว้ดีแล้ว พอมันนิ่งมันเปิดโอกาสให้เราออกไป Explore อะไรอีกได้เยอะพอสมควร
ผมว่านี่ก็เป็น Reward ชีวิตที่เราอดทนอดกลั้นด้วย เป็นช่วงเวลาหนึ่ง แล้วก็ทำงานหนัก ถึงเวลาที่เราจะทำงานเพื่อแสวงหาอะไรบางอย่าง คือที่ผ่านมาไม่ใช่ไม่จริงใจกับงาน คือจริงใจกับงาน แต่ว่าความรู้สึกในงานมันจะคนละแบบกัน ความผ่อนคลายมันจะคนละแบบกัน หมายถึงว่าที่เราอาจจะทำงานผ่อนคลายมากขึ้นบ้าง”
เมื่อพื้นฐานแนวคิดผลิตชิ้นงานมาจาก ‘ทำสิ่งที่อยากทำ’ นั่นจึงทำให้ผลผลิตที่ออกมาผสมผสานกันอย่างหลากหลาย แบบชัดเจนคือ “มีลูกทุ่งอยู่ในนั้น มีเพื่อชีวิตอยู่ในนั้น มีความ Rock Electronic อยู่ในนั้น มันคือเป็น Versatile (หลากหลาย) มาก มันมีหลายอย่างอยู่ในนั้น
“เราเล่นดนตรีหลากหลายมากตามความชอบ ให้เห็นว่า แกนกลางมันคือสิ่งที่เราเล่า เรื่องที่เราเล่า”
เชา - ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย มือกีตาร์ของ Cocktail ขยายความอีกว่า อัลบั้มก่อนหน้าจะถูกจำกัดด้วยจำนวนเพลงประมาณหนึ่งด้วย ใน 10 เพลงนี้บางทีเราต้องค่อนข้างคัดเลือกมาเล็กน้อย เพื่อจะให้มันเป็นหัวลูกศร ให้ความเข้มข้นมันอยู่
“อัลบั้มนี้พอจำนวนเพลงมันเยอะขึ้น มันทำให้เราได้ทดลองอะไรเยอะขึ้นด้วย อันนั้นเป็นความแตกต่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนว่า คุณจะไม่ได้ Rock แบบนี้ มันต้องมีแบบเดียว ๆ แต่มันจะเห็นในหลาย ๆ รูปแบบ เรามีพื้นที่มากขึ้น” มือกีตาร์ของวงเล่า
เมื่อความหลากหลายคือสิ่งที่อยากทำ คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ แล้วสิ่งที่ทำให้ต้องการให้ผลงานมีความหลากหลายคืออะไร และมีที่มาจากไหน?
คำตอบนี้ โอม รับหน้าที่อธิบาย
“ถ้าคำตอบมัน Simple (ง่าย) มาก Simple จนน่าตกใจ ผมไม่กวนนะ แต่คำตอบมัน Simple จริง ๆ เพราะเป็นคนอย่างนั้นแค่นั้นเลย อัลบั้มนี้ตอนแรกชื่อ เรียกกันแรก ๆ คือสะดวกแบบนี้ ชื่ออัลบั้มสะดวกแบบนี้ ไม่มีคำตอบลึกซึ้ง บางทีเคยเป็นไหม เรารู้สึกว่าต้องทำแบบนี้ ก็ฉันชอบแบบนี้ มันหาเหตุผลอธิบายไม่ได้
บางทีเรารู้สึกมันสวยหรูเกินไปที่จะพูดให้มันดูสวยงามว่า เพราะอุดมการณ์นี้ เพราะอย่างนี้ แต่เพราะเราเป็นคนอย่างนี้ และนี่เราก็สื่องานโดยที่เราไม่คิดอะไรซับซ้อนเลย
แล้วหลัง ๆ พอยิ่งแก่ขึ้น ยิ่งรู้สึกเลย ผมจะไม่วิพากษ์งานตัวเองเยอะว่าที่มาที่ไปเราซ่อนอะไรไว้ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว งานมันออกจากมือผมไป พอไปถึงมือพี่ ไม่ว่าผมจะอธิบายมากแค่ไหนถ้าพี่ไม่เชื่อ แล้วพี่คิดว่าผมเล่าแบบนี้พี่ก็ไม่เชื่อ แล้วผมว่านั่นแหละสีสันของมัน คืองานศิลปะมีชีวิตอยู่จากการถูกตีความซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์กันไม่จบไม่สิ้นต่อไป ถูกของเขา ก็ให้มันเป็นอย่างนั้น”
ไม่ใช่แค่แนวดนตรีที่หลากหลาย ความพิเศษอีกอย่างของงานชุดนี้คือ แขกรับเชิญมาร่วมงานดนตรีที่มีตั้งแต่ศิลปินรุ่นใหญ่ จนถึงคนรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมในห้วงสมัยปัจจุบัน
“ง่ายมากเลยครับ อยากทำอะไรกับใคร...ในช่วงชีวิตที่เล่นดนตรีมันต้องมีคนที่แบบอยากร้องเพลงกับเขา อยากเล่นกับเขา อยากให้เขากำกับ MV เรา อยากให้เขาวาดปกเรา ผมเคยส่งจดหมายไปหา ส่งอีเมลไปหาตัวแทนของอาจารย์ Yoshitaka Amano คนเขียนภาพปก Final Fantasy แล้วก็ส่งไปหาตัวแทนของคุณ Hirohiko Araki คนเขียนโจโจ้ (ล่าข้ามศตวรรษ) ว่า อยากได้งาน Art Work เขามาเป็นปก Cocktail แต่ราคาแบบว่า ลาก่อนมากเลย เราไม่มีเงินจ่ายขนาดนั้น (หัวเราะ) แต่คือเราอยากทำอะไร ทำ มีโอกาสก็อยากจะทำ” โอม กล่าว
ด้วยฐานคิดแสนจะเรียบง่ายแบบทำสิ่งที่ ‘อยากทำ’ อัลบั้ม FATE จึงเต็มไปด้วยความหลากหลายผสมผสานกันอยู่ในนั้น องค์ประกอบอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ Cocktail ร่วมงานกับนาฬิกา OMEGA (โอเมก้า)
การร่วมงานกันระหว่าง COCKTAIL กับแบรนด์ “นาฬิกา OMEGA (โอเมก้า)” ถือเป็นครั้งแรกที่แบรนด์นาฬิกาสุดหรูจากสวิตเซอร์แลนด์ร่วมงานกับศิลปินไทย โดยนำเอาเรื่องของเวลามาถ่ายทอดผ่านมิวสิกวิดีโอหลากหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลง ‘ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร’ และเพลง ‘ส่งเธอออกไป’ รวมถึงไลฟ์คอนเสิร์ต OMEGA Presents COCKTAIL COMIMG OF FATE คอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม FATE ชุดใหม่ของ COCKTAIL ที่อลังการงานสร้างโดยมีกิมมิกของเวลามาสร้างสรรค์เป็น CG กลางทะเล
และล่าสุดในเพลง ‘ฉันเดินเพื่อมาพบเธอ’ โดยหลอมรวมระหว่างเรื่องราว เสียงดนตรี และแนวคิดว่าด้วยเวลา นำพาผู้ฟังและผู้ชมมิวสิกวิดีโอหมุนเวลาย้อนกลับไปหวนคิดถึงใครคนหนึ่งในความทรงจำอีกครั้ง
‘ฉันเดินทางเพื่อมาพบเธอ’ เป็นเพลงช้าความหมายดีอีกหนึ่งเพลง เนื้อหาจะพาคนฟังหวนคิดถึงคนที่เคยมีความทรงจำดี ๆ ร่วมกัน และยังคงหวังว่าจะได้เจอคนนั้นอีกครั้ง ถึงแม้ว่าการพบกันมันอาจจะเป็นครั้งสุดท้าย...จะไม่ได้เจอกันอีกต่อไปแล้วก็ตาม
วงปล่อยมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ไปเมื่อต้นเดือนกันยายน 2565 จนถึงตอนนี้ก็ทำยอดวิวทะลุ 2 ล้านวิวไปแล้ว เนื้อหาใน MV พาผู้ชมไปสัมผัสกับเรื่องราวของตัวละครนำเรื่องที่นั่งรถไฟและหมุนเข็มนาฬิกาย้อนเวลาไปในอดีต สัมผัสความทรงจำกับผู้หญิงที่เขารัก (แสดงโดย เหม่เหม ธัญญวีร์) ก่อนที่เวลาจะหยุดลงที่ปัจจุบัน
เรื่องราวที่ผสมผสานกันไประหว่างผลงานเชิงศิลป์กับการหลอมรวมชิ้นงานเพื่อเป้าประสงค์ในเชิงพาณิชย์นั้นเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของศิลปินในยุคนี้ สำหรับ Cocktail ที่มีนักร้องนำเป็นหัวหน้าค่ายเพลง การยืนยันว่าจะทำสิ่งที่อยากทำภายใต้บริบทการทำงานกับบริษัทใหญ่ต้องผ่านอะไรมาไม่น้อยทีเดียว
“อย่าว่ามัน Fight (สู้) กับบริษัทเลย ทุกคนต้อง Fight For Your Own Ideal (สู้เพื่อจุดยืนของตัวเอง) ทั้งนั้น ทุกคนมีมุมมองของตัวเอง ทุกคน Fight เพื่อที่แสดงเหตุผลของตัวเอง แล้วก็ทางตึก (บริษัท) ก็จะมีเหตุผลของเขา เราก็จะมีเหตุผลของเรา แล้วเราก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกันว่า ความเห็นของเขาและเรา อะไรมันต้องให้น้ำหนัก เพราะอย่าลืมว่าเราลงทุนความคิด เขาลงทุนเงิน เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน
บางสิ่งเราก็ต้องตอบเขาให้ได้ว่า การลงทุนนั้นจะคุ้มค่าด้วยเหตุใด ด้วยอะไรอย่างนี้เหมือนกัน นั่นเป็นความจริงที่เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน แต่ว่าความสำเร็จส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ตึก Invest (ลงทุน) ในสิ่งนี้ด้วย”
โอม เล่าถึงประสบการณ์และแนวคิดทำงานให้ฟังอย่างน่าคิดอีกว่า
“ผมมีความรู้สึกว่าเราในฐานะที่เป็นค่ายอย่าง Gene Lab เราเชื่อใน Management (การบริหารจัดการ) เราไม่ Intervene (แทรกแซง) กับ Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) แต่เราเลือกที่จะลงทุนในอัตราส่วนที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อที่เรามี ศิลปินนำเสนองานให้เราดูว่าอยากจะนำเสนออันนี้ 1 2 3 4 แต่เราเลือกศิลปิน
เราจะเลือกศิลปินที่มีความเข้าใจอยู่แล้วว่า เมื่อคุณเดินเข้ามาเป็นค่ายใหญ่ คุณต้องเข้าใจว่าสิ่งที่คุณทำเมื่อเราลงทุน มันเป็น Commercial (พาณิชย์) ด้วยส่วนหนึ่ง และมันไม่ใช่ว่าตึกต้องแสวงหาเงินอย่างเดียว ทำไมตึกต้องกำไร เพราะว่ายังมีคนอีกมากมายที่ทำงานให้คุณ เขาก็ต้องมีเงินเดือน เขาก็ต้องมีสิ่งนี้มาหล่อเลี้ยงเหมือนกัน จะว่าแผนกบัญชี แผนกกฎหมาย มันดูเหมือนไม่เกี่ยวกับงานศิลปะโดยตรงแต่ว่าองคาพยพที่มันห้อมล้อมคุณภาพชีวิตของศิลปินที่อยู่ในตึก มันประกอบด้วยคนทำงานอีกมหาศาล 700 กว่าชีวิตในแกรมมี่ทำงานเพื่อให้ศิลปินวงหนึ่งออกไปอยู่หน้าฉากอย่างสมศักดิ์ศรีได้
ทีนี้พอเขามีความเข้าใจอยู่แล้วว่ามันอาจจะมีบางอย่างที่ต่างคนต่างเสียนะ มีต่างคนต่างได้ ต่างคนต่างเสีย แต่ว่าโดยรวมแล้วเรา Benefit (ได้ประโยชน์) ร่วมกันหรือเปล่า เราไม่ใช่เจ้านายกับลูกน้องแต่เราเป็น Partner กัน คนหนึ่งลงทุนเงิน คนหนึ่งลงทุนสมอง คุณเอาสมองคุณมาให้เราดู เราประเมินความเสี่ยงในการลงทุนของเรา
หลัก ๆ เราจะประเมินว่าสิ่งนี้เราควรลงทุนมากน้อยแค่ไหน เราก็ไม่รู้ว่ามันจะมากน้อยแค่ไหน แต่เราก็เดา อย่างเพลงนี้เรามองว่าไม่น่าจะ Return (ได้สิ่งตอบแทน) เยอะ เราก็จะลงทุนใน Scale ที่เล็ก แล้วเขาก็จะมีสิทธิ์เถียงว่าแต่ผมคิดว่าอย่างนี้ ๆ เราก็ต้องมาชั่งเหตุผลกัน ถ้าสุดท้ายค่ายไม่ Buy แล้วบังเอิญเพลงดัง อันนี้มุมมองคนทั่วไปจะมีความรู้สึกว่าแบบ นี่ไงค่ายเสีย ค่ายบอกแล้ว มันน่าจะดัง ค่ายดันไม่เชื่อว่ามันจะดัง
แต่ถามจริง ค่ายขาดทุนเหรอครับ ถ้าเพลงมันดังขึ้นมาทั้งที่ลงทุนไปน้อย ค่ายกำไรอยู่ดี ผมไม่เคยรู้สึกว่าเสียหน้าอะไรนะ ถ้าผมจะต้องเข้าไปทำนายเพลงไหน Invest น้อย เพราะไม่ว่าจะทายผิดหรือถูก ถ้าทายถูกมันก็คุ้ม ทายถูกแล้วคิดว่ามันไม่ดัง ปกติเพลงสมมติลงทุนล้านนึง เพลงนี้เราคิดว่ามันไม่น่าทำงาน ก็เลยบอกว่าขอลด Scale แต่อยากให้ทำนะ ขอลดเหลือ 3 แสน ปรากฏเพลงนี้ดังเท่าเพลงที่เราลงล้านนึงเลย ผมกำไร
แต่ถ้าผมถูก ผมก็ไม่ขาดทุน เพราะว่าผมได้กดมันลงมาแล้ว ผมรู้สึกว่ามันมีแต่ได้ การประเมินความเสี่ยงมันเป็นไปได้หมด แล้วถ้าศิลปินมีความสำเร็จต่อให้เขามาเยาะเย้ยเรา เราจะบอกเยาะเย้ยเราไปทำไม เรายินดีกับคุณ ความสำเร็จของคุณคือเรา เพราะเราเป็น Partner กัน
เราไม่ได้อยากห้าม เราไม่ค่อยอยากจะห้าม ยิ่งศิลปิน เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่การเลือกตั้งแต่ต้นแล้วว่าศิลปินคนนี้มีแนวโน้มที่จะสอดคล้องกับการทำ เราต้องมองว่าเราทำธุรกิจ เราต้องเลือกศิลปินที่เราเชื่อว่าเราเลือกมาเราทำธุรกิจได้ ไม่ใช่เลือกคนที่เขาทำธุรกิจไม่ได้แล้วมาบอกเขาให้เขาเปลี่ยน อย่างนั้นคุณไม่แฟร์ กับเขาเลย”
หากมองอัลบั้มนี้เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง นักร้องนำของ Cocktail ยังบอกอีกว่า ความสำเร็จของอัลบั้มนี้ก็ยังอยู่บนฐานคิดว่า ‘ได้ทำสิ่งที่อยากทำ’ แค่นั้นก็คือความสำเร็จแล้ว
“ถ้าชุดนี้ เกณฑ์สำเร็จคือได้ทำ ทำเสร็จแล้วคือสำเร็จแล้ว ชุดนี้อย่างนั้นครับ เพราะอย่างว่า เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องอื่น ๆ เราไม่ได้น่ากลุ้มใจในเรื่องมีงานไหม มีอะไรไหม ก็กลุ้มบ้าง กลุ้มบางวันว่าเล่นไม่ดีเลย วันนี้เหนื่อยแล้ว แก่แล้ว วันนี้ปวดหลังจังเลย (หัวเราะ)”
นี่คือตัวตนและการทำงานของ Cocktail กับยุค FATE ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด เศรษฐกิจ และสังคม ที่ล้วนเป็นสิ่งท้าทายสำหรับทุกธุรกิจ
“มันผ่านมาถึงวันนี้ ผมคิดน้อยลงเยอะเลยเรื่องพวกนี้ เราคิดอะไรซับซ้อนมาเยอะแล้ว แล้วก็ผ่านอะไรมาเยอะ เห็นยุคสมัยผ่านไป เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสิ่งแวดล้อมรอบตัว สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดใหม่ แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปอีกรอบก็มี
นอกจากความมั่นคงใด ๆ ที่ผมอยากจะให้วงดนตรีวงนี้ มันสามารถสร้างชีวิตให้คนเหล่านี้ที่อยู่ด้วยกัน 10 กว่าชีวิต รวมถึงคนเบื้องหลังด้วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้วก็ดำรงชีพด้วยสิ่งที่หาเลี้ยงมาได้จนหมดอายุขัยอย่างมีความสุข
นอกเหนือไปกว่านั้น มันวันต่อวันมากเลย ผมไม่ได้มองอะไรไกล ผมแค่รู้สึกว่าอย่างน้อยเราต้องเล่นอย่างที่เรารู้สึก รู้สึกอะไรก็ทำอย่างนั้นแหละ ก้าวต่อไปคือมันแค่นี้ครับ แล้วผมว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้ผมจะรู้เอง
เดี๋ยวพรุ่งนี้ผมจะรู้ เอาตอนนี้ก่อน ตอนนี้ยังต้องถามตัวเองทุกวันว่า เราไม่ได้ตื่นมาโกหกตัวเองอยู่ เราไม่ได้พยามกลายเป็นคนอื่น หรือพยายามจะกลายเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เป็น เราทำงานที่เราเชื่อ ทำงานอย่างที่เราเป็นจริง ๆ นะ
เพราะว่าที่น่ากลัวที่สุดคือคนหลอกตัวเอง เวลาคนหลอกตัวเองอาการของโรคข้อแรกคือจะไม่รู้ว่าตัวเองหลอกตัวเองอยู่
ผมอาจจะหลอกตัวเองอยู่ก็ได้นะ ใครจะรู้” โอม กล่าวทิ้งท้าย