หลัง 14 ตุลา’ สำรวจประวัติศาสตร์บนแผ่นฟิล์ม และการจัดการอดีตของคน 3 รุ่น

หลัง 14 ตุลา’ สำรวจประวัติศาสตร์บนแผ่นฟิล์ม และการจัดการอดีตของคน 3 รุ่น

สำรวจประวัติศาสตร์เรื่อง 14 ตุลาคม 2516 บนแผ่นฟิล์ม ดูภาพยนตร์กลุ่มหนึ่งที่มีเนื้อหาถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา’ พร้อมกับมองการจัดการอดีตของคน 3 รุ่น

  • ภาพยนตร์ชิ้นสำคัญที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีแง่มุมอะไรที่แฝงฝังอยู่บ้าง
  • บทความนี้จะพูดถึงภาพยนตร์ 3 เรื่องที่ถือเป็นตัวแทนทางความคิดของคน 3 รุ่น (แต่) มี 3 มุมมอง
  • ภาพยนตร์ชิ้นสำคัญเหล่านี้สะท้อนแง่มุมทาง ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘สำนึกต่ออดีต’ อย่างไรบ้าง

เมื่อเทียบกันภาพยนตร์เกี่ยวกับ 14 ตุลาคม 2516 มีจำนวนไม่มากนัก ผิดกับ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการผลิตขึ้นอยู่ตลอดโดยเฉพาะเมื่อปี 2552 (ดังที่ได้อภิปรายไปแล้วในบทความเรื่อง 6 ตุลา’ กับความทรงจำในสื่อ-วัฒนธรรมร่วมสมัย จากหนัง ถึงเพลง...) เพราะอะไรนั้น มุมมองแบบที่ผู้เขียนเคยใช้อธิบายในกรณี 6 ตุลา’ (ว่าทำไมถึงได้รับความนิยมสร้างเป็นภาพยนตร์กันมาก) ก็สามารถใช้อธิบายกรณี 14 ตุลา’ (ว่าทำไมถึงไม่นิยม) ได้เช่นกัน  
    
เนื่องจากทั้ง 14 ตุลา’ และ 6 ตุลา’ เป็นเหตุการณ์อดีตที่หากมองโดยยึดกรอบทางเวลาแล้ว  ต่างก็เป็นเหตุการณ์ที่สิ้นสุดไปแล้ว แต่เมื่อมองในแง่ ‘ประวัติศาสตร์’ ซึ่งแม้จะเป็นศาสตร์เกี่ยวกับอดีต แต่ประวัติศาสตร์ไม่เท่ากับอดีต ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องปัจจุบันด้วย ดังนั้นปัจจุบันเป็นอย่างไร ผู้คนมีความมุ่งหวังที่จะก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้าอย่างไร ก็จะเห็นได้จากประเด็นว่าพวกเขานำเอาประวัติศาสตร์ตรงไหนไปใช้กันอย่างไร   
    
6 ตุลา’ ในฐานะเป็นสัญลักษณ์และโครงเรื่องว่าด้วยความรุนแรงของชนชั้นนำรัฐ ยังคงมีพลังในการวิพากษ์สังคมประเทศนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยเลือกเดินมาบนเส้นทางเผด็จการทหาร นับแต่การรัฐประหาร พ.ศ.2549 เป็นต้นมา 

กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า 14 ตุลา’ ไม่มีพลัง ตรงข้าม มันมีพลังที่อาจสร้างความฮึกเหิมให้แก่ขบวนการประชาชนได้มาก แต่แล้วเกิดอะไรขึ้น ทำไม 14 ตุลา’ กลายเป็นอย่างที่มิตรสหายหลายท่านชอบนำเอามาล้อกันว่า “14 ตุลา’ วันวาเลนไทน์”  

เดิมความหมายของ 14 ตุลา’ คือ ‘วันมหาปิติ’ หรือ ‘วันแห่งชัยชนะของประชาชน’ แต่ไม่นานหลังจากขบวนนักศึกษายกย่องกันในแบบนั้น ก็เกิดอีกกระแสหนึ่งขึ้นมาตอบโต้ว่าเป็น ‘วันมหาวิปโยค’ กระแสที่สองนี้เป็นชนวนเหตุหลักเลยที่นำไปสู่อีกเหตุการณ์ในเดือนตุลาคมเมื่อ พ.ศ.2519  

3 รุ่น 3 มุมมอง

ในจำนวนภาพยนตร์เกี่ยวกับ 14 ตุลา’ ซึ่งมีไม่มากนักนั้น กล่าวได้ว่ามี 3 เรื่องที่ถือเป็นตัวแทนทางความคิดของคน 3 รุ่น (แต่) มี 3 มุมมอง คือ 

(1) ‘คู่กรรม 2’ ชื่อเรื่องในอังกฤษคือ ‘Sunset at Chaophraya 2’ สร้างจากนวนิยายของทมยันตี (วิมล ศิริไพบูลย์) เมื่อ พ.ศ.2539 กำกับการแสดงโดย บรรจง โกศัลวัฒน์  และเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง 3 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 เรื่องนี้นำเสนอ 14 ตุลา’ ตามมุมมองของกลุ่มขบวนการฝ่ายขวาในไทย แต่มีความสำคัญในฐานะเป็นมุมมองของ ‘ผู้เห็นเหตุการณ์’ (eyewitness)    

(2) ‘14 ตุลา’ สงครามประชาชน’ ชื่อภาษาอังกฤษคือ ‘The Moonhunter’ กำกับการแสดงโดย บัณฑิต ฤทธิ์กล ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2544 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา’ จึงเป็นเรื่องที่นำเสนอมุมมองของคนในเหตุการณ์  โดยบทบาทของเสกสรรค์นั้นก็มีลักษณะเป็น “ผู้กระทำการทางประวัติศาสตร์” (Historical actor)    

(3) ‘โคลิค เด็กเห็นผี’ ชื่อภาษาอังกฤษคือ ‘Colic’ ฉายเมื่อ พ.ศ. 2549 (ปีที่เกิดรัฐประหารพอดี)  กำกับการแสดงโดย พัชนนท์ ธรรมจิรา เขาเกิดปี พ.ศ.2514  จบการศึกษาจากสาขาภาพยนตร์และวีดีทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นคนอีกรุ่นไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือจะเรียกว่าเป็น ‘มุมมองของคนรุ่นใหม่’ ก็ได้  

‘คู่กรรม 2’: 6 ตุลา’ ใน 14 ตุลา’

โปสเตอร์ภาพยนตร์ คู่กรรม 2 ภาพจาก หอภาพยนตร์

‘คู่กรรม 2’ ตามฉบับนวนิยาย  เป็นภาคต่อจากภาค 1 ซึ่งเป็นท้องเรื่องเหตุการณ์สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เรื่องของโกโบริกับอังศุมาลิน ที่ทำเอารุ่นคุณลุงคุณป้าคุณย่าคุณยายสมัยโน้นฟินน้ำหมากกระจายกันมาแล้ว แต่สำหรับคนที่เคยผ่านตานวนิยายรุ่นหลัง 2475 มาบ้าง จะทราบว่าพล็อตเรื่องเป็นแบบเดียวกับ ‘เลือดสุพรรณ’ ของหลวงวิจิตรวาทการ ที่นางเอกสาวชาวไทยไปหลงรักและ ได้ กับพระเอกหนุ่มขุนศึกพม่าที่เพิ่งกลับจากตีกรุงศรีอยุธยาจนเสียกรุง พ.ศ.2310  

คนรุ่นหลวงวิจิตรวาทการก็เช่นเดียวกับ ‘ยาขอบ’ (โชติ แพร่พันธุ์) ผู้แต่งเรื่อง ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ที่นำเอากษัตริย์นักรบของพม่าอย่างพระเจ้าบุเรงนองมาเป็นพระเอกอย่าง ‘จะเด็ด’ พ่อรูปหล่อเมียเยอะ  เป็นมุมมองต่อพม่าชนิดที่ตรงกันข้ามกับ ‘ไทยรบพม่า’ ของชนชั้นนำสยามก่อนอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 ขณะที่กรณีโกโบริกับอังศุมาลินนั้นสะท้อนการยอมรับอำนาจในฐานะผู้พิชิต  

จะว่าไปอันที่จริงก็ไม่แปลกหรอก ถ้าย้อนกลับไปดูถึงกรุงศรีอยุธยา ผู้ชนะก็ได้ครอบครองสิ่งที่ตนเองปรารถนาเสมอนั่นแหล่ะ เป็นสังคมที่อำนาจเป็นใหญ่ โดยเฉพาะอำนาจที่ว่านั้นถ้าเป็นอำนาจแบบชายผู้พิชิต ยิ่งมีเสน่ห์ดึงดูด ต่อให้เขาได้อำนาจมาด้วยกำลังบังคับก็ไม่ถือว่าผิดและยอมรับได้  สิ่งนี้ตกทอดมาถึงละครหลังข่าวแนวพระเอกนักข่มขืนหรือ ‘ตบจูบ’ ด้วย    

‘คู่กรรม 2’ แสดงออกถึงมุมมองต่อเหตุการณ์จากสายตาของคนอีกฝั่งฟากทางการเมือง พูดง่าย ๆ คือเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาลภายใต้บงการของ 3 ทรราชย์ (ถนอม-ประภาส-ณรงค์) หรืออาจจะเรียกว่า ‘สลิ่มยุคตุลา’ ก็ไม่ผิดหรอก เราจึงได้เห็นอคติต่อนักศึกษาที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลในครั้งนั้น ถึงกับนำเสนอภาพให้ ‘ศราวณี’ นักศึกษาสาวจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กระตือรือล้นทางการเมือง กลายเป็นคนมีปัญหาทางจิตเวช เพ้อว่าตนเป็นคนพาเพื่อนไปตาย  

แน่นอน 14 ตุลา’ ในเหตุการณ์จริงนั้นมีการใช้กำลังอาวุธกับนักศึกษามือเปล่าเช่นกัน แต่ผลคือฝ่ายทหารต้องเป็นฝ่ายยอมถอนกำลังกลับเข้ากรมกองไป มีความรุนแรงเกิดขึ้นจนบางฝ่าย (ซึ่งผู้แต่งฉบับนวนิยายก็รวมอยู่ด้วย) แต่ทว่าสำหรับอีกฝั่งหนึ่งเหตุการณ์นี้มีความหมายคือชัยชนะของขบวนการนักศึกษาประชาชน หลังจากนั้นช่วง 3 ปีระหว่างตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519 เป็นช่วงเวลาสำคัญของสังคมไทยที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยเบ่งบาน’ เมื่อระลึกถึงเหตุการณ์จะไม่ได้มีแต่ด้านโศกนาฏกรรม มันมีด้านที่แฮปปี้เอนดิ้ง  

จากจุดนี้เท่ากับผู้แต่ง (ฉบับนวนิยาย) ทำให้เหตุการณ์มันหนักไปทางโศกนาฏกรรม บดบังด้านที่เป็นความสำเร็จของขบวนการนักศึกษาประชาชน แม้ว่าฉบับภาพยนตร์จะแก้ไขให้เรื่องจบลงตรงที่พระเอกคือ ‘กลินท์’ หรือ ‘โยอิจิ’ (ลูกของอังศุมาลินกับโกโบริ ในภาค 1) ต้องเสียชีวิตจากการไปช่วยนางเอก (ศราวณี) ในเหตุการณ์ที่ทหารเข้าสลายการชุมนุม อังศุมาลินต้องอยู่อย่างเดียวดาย สูญเสียสามี (โกโบริ) และลูกชายคนเดียว (กลินท์) ยังมาตายจากไปอีก ไม่ได้พบกับโกโบริที่ทางช้างเผือกเหมือนอย่างฉบับนวนิยาย  

แต่นั่นเรื่องมันยิ่งดูเป็นดราม่าโศกนาฏกรรม นางเอก/นักศึกษากับ 14 ตุลา’ คือความผิดพลาด คือ ‘วันมหาวิปโยค’ ที่ทำให้คนดี ๆ และพระเอ๊กพระเอกอย่างกลินท์ต้องมาจบชีวิตก่อนวัยอันควร  

ถ้าถามแบบนิทานอีสปว่า เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร ก็แน่นอนไม่พ้นแง่มุมว่า 14 ตุลา’ เป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก ซึ่งที่จริงเป็นการเอาพล็อตเรื่องของ 6 ตุลา’ ไปแทรกเป็น 14 ตุลา’ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าผู้แต่งฉบับนวนิยายนั้นมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์หลังนี้อย่างไร  

เท่านี้ก็เป็นการใช้ความรุนแรงอีกครั้งต่อการจัดการอดีต เป็นความรุนแรงทางสัญญะ  ซึ่งสามารถจะแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงทางกายภาพได้ตลอด  เพราะเป็นการแบ่งฝ่ายและสร้างความเกลียดชัง  มองโลกแบบดำ-ขาว ทำให้อีกฝ่ายเป็นยักษ์มารที่ต้องถูกกำจัด  ชนวนเหตุ 6 ตุลา’ เกี่ยวข้องกับจุดเริ่มจากตรงนี้ด้วย    

‘14 ตุลา’ สงครามประชาชน’: คนล่าจันทร์ กับ ‘สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์’ 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ 14 ตุลา สงครามประชาชน

ชื่อเรื่องดูเป็นสารคดีประวัติศาสตร์ เมื่อทนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่ไหว (แบบที่สมัยนี้เขาเรียก ‘ทัวร์ลง’ นั่นแหล่ะ) เพราะเนื้อเรื่องดันไปเน้นชีวประวัติของแกนนำบางคน  แน่นอนเขามีบทบาทแต่ไม่ใช่ทั้งหมด และการอธิบายเรื่องราวผ่านชีวประวัติและมุมมองของเขาเอง เกิดประเด็นว่าไปบดบังบทบาทของมวลมหาประชาชนเข้าให้  ผู้กำกับและทีมงานก็เลยแก้เขินโดยการใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Moonhunter” (คนล่าจันทร์)

ถึงแม้จะเป็นมุมมองของคนที่มีบทบาทในเหตุการณ์ ก็อย่าได้ทึกทักว่าจะช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มากนัก แม้แต่คนที่เกิดทันก็ไม่ใช่ว่าจะรับรู้เรื่องราวทุกอย่างได้หมดจดและเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นเวลาที่ใครมาถามว่าประวัติศาสตร์เรื่องนั้นเรื่องนี้ที่มีผู้ศึกษาประวัติศาสตร์นำเอามาเล่าหรือคนรุ่นหลังเขียน ก็อย่าได้เที่ยวไปถามเขาแบบโชว์สติปัญญาว่า ‘เกิดทันเหรอ?’ เพราะต่อให้เกิดทัน อย่างเหตุการณ์ในปี 2565 นี้ มีใครบ้างจะรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้  
    
เรื่องของเสกสรรค์เมื่อถูกนำเอามานำเสนอต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันตั้งแต่ 14 ตุลา’ กับการเข้าป่าร่วมกับพคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) 14 ตุลา’ กลายเป็นฉากหลังให้กับอีกเหตุการณ์ ทั้งที่สองเหตุการณ์นี้ต่างกัน แต่เมื่อตัวเอกของเรื่องผิดหวังกับพคท. อาจจะโดยข้อจำกัดของการนำเสนอในรูปของภาพยนตร์ ก็ทำให้ดูเป็นความผิดหวังและโศกนาฏกรรมที่สืบเนื่องกันมาจาก 14 ตุลา’ ไปด้วย  
    
‘พระจันทร์’ ที่ตัวเอก ‘ล่า’ อยู่ในเรื่องนี้คืออะไร? ถ้าแค่การโค่นล้มเผด็จการ 3 ทรราชย์ ก็คือล่าได้สำเร็จแล้ว แต่ ‘พระจันทร์’ ที่ว่าถ้าในบริบทของพคท. ย่อมต้องหมายถึงระบอบสังคมนิยม นั่นหมายความว่าตัวเอกเองก็ยอมรับว่าระบอบสังคมนิยมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  แต่ที่จริงมันเป็นไปไม่ได้หรือเพราะฝ่ายตรงข้ามยอมให้เป็นไม่ได้ต่างหาก  กลายเป็นว่าตัวเอกก็กลับมาคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำในอดีตนั้นเป็นความผิดพลาดที่ทำให้ตนต้องมากลายเป็น ‘สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์’ (คำของเสกสรรค์เอง)   
    
ฉากที่ตัวเอกก้มลงกราบพื้นดิน (ที่ภายหลัง คุณโทนี วูดซัม ก็ลอกเลียนแบบไปใช้) เมื่อกลับออกจากป่าคืนเมือง คืออะไร?  ได้รับการให้อภัยจากใครงั้นหรือ? ‘ชาติบ้านเมือง’ เป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของคนในขบวนการฝ่ายซ้ายไม่น้อยเลยทีเดียว ต่างฝ่ายต่างทำเพื่อชาติ ถึงจุดหนึ่งก็ให้อภัยกัน กราบกันงาม ๆ แล้วก็จบ ๆ กันไป มันง่ายขนาดนั้นเลยหรือ? แล้วเพื่อนพ้องที่ล้มหายตายจากไปนั้นล่ะ?        

‘โคลิค เด็กเห็นผี’: อดีตที่ตามหลอกหลอนและบทลงโทษเผด็จการ

ผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวที่เข้ากับบรรยากาศทางสังคมการเมืองหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549  เป็นผลงานของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีต แต่ได้ตั้งคำถามและเปิดประเด็นที่ไปไกลกว่าทั้งสองเรื่องข้างต้นเคยทำมา    

‘โคลิค เด็กเห็นผี’ เล่นกับ 14 ตุลา’ ในแง่สัญญะ ไม่ใช่ตัวเหตุการณ์จริงเหมือนอย่างสองเรื่องข้างต้น โดยนำเอาเรื่องของเด็กทารกแรกเกิดที่มีอาการผิดปกติร้องไห้ไม่หยุดเป็นเวลาราว 100 วันหลังคลอดออกจากท้องแม่มา ในทางการแพทย์พบอาการแบบนี้ในเด็กแรกเกิดบางคน  เป็นอาการที่เรียกกันตามศัพท์แพทย์ว่า ‘Colic’ โดยที่แพทย์แผนปัจจุบันไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ขณะที่ความเชื่อดั้งเดิมจะเชื่อว่าเป็นเพราะมีภูติวิญญาณจากชาติปางก่อนตามมาหลอกหลอนเด็กคนนั้น   

‘โคลิค เด็กเห็นผี’ เล่นกับความเชื่ออย่างหลังนี้ โดยนำเสนอว่าเหล่าภูติวิญญาณที่ตามมาหลอกหลอนเด็กคนนี้คือวิญญาณของนักศึกษาประชาชนที่ถูกฆ่าในเหตุการณ์ 14 ตุลา’ เพราะเด็กคนนี้คืออดีตนายทหารที่เข่นฆ่าประชาชนแล้วกลับชาติมาเกิดนั่นเอง

ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในแง่การนำเสนอว่าทำได้ไม่เนียนนัก บทและเนื้อเรื่องยังขาดความสมเหตุสมผล แต่ในแง่ไอเดียการใช้ 14 ตุลา’ มาเป็นสัญญะอดีตแล้ว ต้องยกให้เรื่องนี้มีความโดดเด่นและเล่นกับประเด็นปัญหาเชิงวิพากษ์ ที่อีก 2 เรื่องข้างต้นไม่ได้เล่น เรื่องแรก (คู่กรรม 2) อาจจะเป็นข้อยกเว้น เพราะต้นทางผู้แต่งไม่ได้ต้องการใช้มันวิพากษ์สังคมแต่อย่างใดอยู่แล้ว แต่เรื่องหลัง (14 ตุลา’ สงครามประชาชน) ซึ่งเป็นเรื่องของอดีตฝ่ายซ้ายนั้นกลับไม่ได้เล่นด้วยแถมยังมีบางอย่างไปลงอีหรอบเดียวกับเรื่องแรกไปอีก  

การวิพากษ์บทบาททหาร นำเสนอภาพทหารในฐานะผู้ร้ายมีมลทินติดตัวไปถึงอีกชาติภพหน้า ในแง่มุมนี้โดยที่นั่นเป็นปีแรกที่เกิดรัฐประหาร 2549 ด้วยนั้น ต้องถือว่าเป็นการกระทำที่โคตรจะกล้าหาญชาญชัยและมีความหวัง... 

ประวัติศาสตร์บนแผ่นฟิล์มกับการเคลื่อนย้ายสำนึกต่ออดีต

ไม่ใช่แต่เฉพาะกรณี ‘คู่กรรม2 ที่นำเอาเหตุการณ์ 6 ตุลา’ ไปสวมทับลงในเรื่อง 14 ตุลา’  มีหลายกรณีด้วยกันที่สะท้อนว่า “ประวัติศาสตร์บนแผ่นฟิล์ม นั้นมีลักษณะเดินเรื่องโดยแยกขาดจาก ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ว่าด้วย 14 ตุลา’ หรือ ‘ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา’ นอกฟิล์ม อีกทั้งผลงานภาพยนตร์ที่ผู้อดีตแกนนำนักศึกษามีส่วนร่วมในการสร้าง  

อันที่จริงเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยเพียงไม่กี่ท่านที่มีโอกาสได้รับชมและปรับปรุงแก้ไขงานภาพยนตร์เกี่ยวกับอัตชีวประวัติของตนเอง แต่ 14 ตุลา’ ก็เป็นประเด็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะเป็นแค่อัตชีวประวัติของใครบางคน หรือใครบางกลุ่มได้     

ในงานเล่มเรื่อง “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา’” ซึ่งปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งพยายามอธิบายความหลากหลายของกลุ่มก้อนทางความคิดที่มีส่วนร่วมต่อเหตุการณ์ 14 ตุลา' จะพบว่ามีหลายกลุ่มความคิดด้วยกัน อาจารย์ประจักษ์ใช้คำว่า ‘เครือข่ายวาทกรรม’ และในเครือข่ายวาทกรรมที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของเหตุการณ์นี้ จะพบว่าวาทกรรมของขบวนการฝ่ายขวาในสังคมไทยก็มีส่วนร่วมด้วยอย่างมาก โดยมีจุดสูงสุดที่สะท้อนเรื่องนี้ก็คือการนำเอาพระราชดำรัสเมื่อคราวสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 มาใช้เป็น ‘ม็อตโต้’  

บางท่านอาจจะมองว่าเป็นแค่เรื่องแทคติกหรือกลยุทธ์เล็กๆ โดยผู้ที่มีบทบาทในเรื่องนี้อย่างธีรยุทธ บุญมี ก็ไม่ได้มีแนวคิดสนับสนุนขบวนการฝ่ายขวาแต่อย่างใด หากแต่ต้องการนำเอาใช้อ้างเพื่อให้เกิดพลังแก่ขบวนการนักศึกษา แต่จากงานของอาจารย์ประจักษ์จะพบว่า ‘พลังตัวบท’ ของพระราชดำรัสดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับบทบาทของขบวนการฝ่ายขวามาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงก่อนหน้า 14 ตุลา’ ร่นไปจนถึงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475   

ความผิดฝาผิดตัวเช่นกันนี้ ทำให้อดีตมันสมองคณะราษฎรอย่างปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศส ทนไม่ไหว ต้องออกโรงมาตักเตือนแกนนำนักศึกษาด้วยบทความ ‘จงพิทักษ์เจตนารมย์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม 2516’ เพื่อเป็นการชี้แจงว่าเผด็จการ 3 ทรราชย์นั้นไม่ใช่ผลิตผลของคณะราษฎร พวกเขาไม่ได้สืบทอดอำนาจมาจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อย่างใด หากแต่สืบทอดมาจากอีกกลุ่มที่โค่นคณะราษฎรลงผ่านการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2490 บทความของปรีดีชิ้นนี้เท่ากับ ‘ตอกหน้า’ ผู้นำนักศึกษาสมัยนั้นว่า ‘อ่อนประวัติศาสตร์อย่างมาก’  

ในงานคลาสสิคของอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึง พ.ศ.2475’ ถึงแม้จะเป็นงานศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านโลกทัศน์ของชนชั้นนำสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากแนวคิดแบบจารีตมาสู่เข้ากับความทันสมัยภายใต้บริบทโลกยุคอาณานิคม แต่อาจารย์ก็ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ในบทสรุปที่หนึ่งถึงความเป็นไปไปได้ที่จะใช้กรอบคิดและวิธีการเดียวกับที่อาจารย์ใช้นี้ มาอธิบายการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ 14 ตุลา’ ได้เช่นกัน นักศึกษาปัญญาชนช่วงก่อน 14 ตุลา’ มีสำนึกต่ออดีตและมองตนเองในฐานะ ‘ผู้กระทำการทางประวัติศาสตร์’ ได้อย่างไร 

คำว่า ‘สำนึกต่ออดีต’ เป็นคนละเรื่องกับ ‘ประวัติศาสตร์’ ตรงข้าม บ่อยครั้งมันทั้งสองอย่างนี้มันขัดแย้งไม่ได้ลงรอยหรือไปด้วยกันได้  ‘ประวัติศาสตร์’ อาจเป็นอย่างหนึ่ง แต่ ‘สำนึกต่ออดีต’ ของปัญญาชนในฐานะปัจเจกชนหรือของผู้คนก็ตาม อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลยก็ได้ สิ่งที่แกนนำนักศึกษาครั้ง 14 ตุลา’ ใช้นั้นตรงกับ ‘สำนึกต่ออดีต’ รูปแบบหนึ่ง โดยที่พวกเขาอาจจะ ‘อ่อนประวัติศาสตร์’ และต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า บ่อยครั้งที่ผู้ก่อความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์นั้น  ความรู้ประวัติศาสตร์อยู่ในระดับติดลบ  อย่างสามัญชนคนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์  ก็อาจมีพฤติกรรมที่ขับเน้นหรือเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ผ่านการมีสำนึกต่ออดีตแบบใดแบบหนึ่งหรือหลายแบบก็ได้  

และก็ด้วย ‘สำนึกต่ออดีต’ นี้เอง คือสิ่งซึ่งไปปรากฏอยู่บนสื่อได้ง่ายกว่า ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์’ นวนิยาย เพลง ภาพยนตร์ ใช้สิ่งนี้ขับเคลื่อนปัจจุบันด้วยอดีต ฉะนั้นแล้วสิ่งที่เราต้องแยกแยะให้ชัดเจนก็คือ ‘ประวัติศาสตร์บนแผ่นฟิล์ม’ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์โดยตัวมันเอง หากแต่เป็นการเคลื่อนย้ายพื้นที่ตัวเองของ ‘สำนึกต่ออดีต’ (ในมุมมองแบบอาจารย์อรรถจักร์)  หรือ ‘เครือข่ายวาทกรรม’ (ตามแง่มุมของอาจารย์ประจักษ์)

สิ่งที่คนอย่างเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เข้าใจไปว่าตนเองเป็น ‘สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์’ จากในภาพยนตร์เรื่อง ‘14 ตุลา’ สงครามประชาชน’ นั้น แท้จริงแล้วควรเป็นของผู้แต่ง ‘คู่กรรม2’ มากกว่า เพราะการมองเหตุการณ์ที่นักศึกษาประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยเป็น ‘มหาวิปโยค’ หรือ เป็น ‘โศกนาฏกรรม’ ที่เกิดขึ้นกับตัวละครสมมติอย่างกลินท์กับศราวณีนั้น อย่างไรเสียก็เป็นมุมมองที่จัดว่า “เอ้าท์” ไปแล้ว  

14 ตุลา’ ทำเป็นหนังได้ยาก ส่วนสำคัญเลยเป็นเพราะ 14 ตุลา’ ก็ยังคลุมเครือสูง ไม่ได้ถูกนิยามเป็นไปในทางเดียวกันได้เหมือนอย่าง 6 ตุลา’ แต่สำหรับในโลกแห่งศิลปะการสร้างสรรค์อย่างภาพยนตร์ มันสามารถทำในรูปแบบของสัญลักษณ์ได้เหมือนอย่างที่เรื่อง ‘โคลิค เด็กเห็นผี’ ได้ทำไปส่วนหนึ่งแล้ว เช่นเดียวกับ 6 ตุลา’ สิ่งที่จะทำให้เรื่องมันดูน่าสนใจขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่ด้วยการรำลึกอดีตว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร หากแต่เป็นการนำเอาอดีตมาเป็นพลังผลักประเด็นทางสังคมให้เคลื่อนไปข้างหน้า ด้วยความหวังว่าในอนาคตเราจะได้มีหนังดีๆ เกี่ยวกับ 14 ตุลา’ เป็นจุดเชื่อมต่อให้เกิดแรงบันดาลใจต่อคนรุ่นใหม่ ๆ มากขึ้น