ผีเห็นผี มองการคืนชีพของปีศาจแดง-ดำ เอซี มิลาน กับยุคมืดของปีศาจแดง แมนฯ ยูฯ

ผีเห็นผี มองการคืนชีพของปีศาจแดง-ดำ เอซี มิลาน กับยุคมืดของปีศาจแดง แมนฯ ยูฯ

มองการคืนชีพกลับมาได้แชมป์ของ ‘ปีศาจแดง-ดำ’ เอซี มิลาน แห่งอิตาลี กับ ‘ปีศาจแดง’ แมนฯ ยูไนเต็ด แห่งอังกฤษ สองทีมที่มีชะตาใกล้เคียงกัน ทีมหนึ่งกลับมาได้แชมป์แล้ว อีกทีมยังช้ำใจวนไป

  • แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด วนเวียนกับผลงานไม่เข้าตามานับทศวรรษ หลังเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือ ขณะที่เอซี มิลาน ไม่ได้แชมป์เซเรีย อา อิตาลี มายาวนานเช่นกัน
  • ฤดูกาล 2021-22 เอซี มิลาน คืนชีพกลับมาชูแชมป์ลีกสำเร็จ ขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด ยังวนเวียนกับวังวนเดิม
  • แฟนผีจึงมองความสำเร็จของปีศาจแดง-ดำ แล้วย้อนมาดูเส้นทางของปีศาจแดงแห่งอังกฤษ ทำไมเอซี มิลาน ถึงกลับมาได้ 

ผู้เขียนเป็นแฟนบอลปีศาจแดงแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดมาตั้งแต่ชั้น ป.6 หรือมากกว่า 25 ปี

การเห็นสถานการณ์ของสโมสรในปัจจุบันนั้นสร้างความปวดใจเป็นอย่างยิ่ง

แมนฯ ยูฯ กลายเป็นทีมที่กำลังตาย เหมือนผลไม้ที่เน่า ส่งกลิ่นเหม็น ไม่มีนักเตะคนไหนอยากมาร่วมทีม เป็นตัวตลกให้แฟนสโมสรอื่นเอาไปล้อ เอาไปเย้ย เอาไปดูถูก น่าเศร้าใจมาก

เกิดอะไรขึ้นกับสโมสรที่เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกมากที่สุด?

ในมุมมองของผู้เขียนเองก็เห็นพ้องกับแฟนฟุตบอลหลายคนทั่วโลก นั่นคือปัญหาทั้งหมดมาจากการบริหารจัดการสโมสร ไม่ใช่ผู้จัดการทีม ไม่ใช่นักเตะ ไม่ใช่ทีมแมวมอง

ฉะนั้น จะแก้ปัญหา ก็ต้องแก้ที่การบริหารจัดการเท่านั้น

ถามว่า แล้วจะแก้ไขอย่างไร? แก้ไขแล้วจะได้ผลจริงหรือไม่?

คำตอบคือ ขอให้ดู “ผีอีกตัว”

ผีอีกตัวที่ว่า คือ “ปีศาจแดงดำ” เอซีมิลาน ในทศวรรษเดียวกับที่แมนฯ ยูฯ เป็นราชาแห่งเกาะอังกฤษ มิลานก็เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันยุคใหม่

ปลายยุค 90s ถึงต้น 2000s แมนฯ ยูฯ กวาดแชมป์ลีกไป 13 ครั้ง ในขณะที่มิลาน 7 ครั้ง น่าสนใจที่จุดสิ้นสุดของยุคทองของทั้งสองสโมสรนั้นเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน

แมนฯ ยูฯ ได้แชมป์ลีกครั้งสุดท้ายคือฤดูกาล 2012-2013 ส่วนมิลานคือ 2010-2011 จากนั้นมาทั้งสองทีมก็ถูกสโมสรอื่นแย่งแชมป์และเริ่มบดบังรัศมีความสำเร็จ

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูลเข้ามากลายเป็นพระเอกในพรีเมียร์ลีก “ม้าลาย” ยูเวนตุสกลายเป็นแชมป์ผูกขาดในกัลโช่เซเรีย อา โดยมีอินเตอร์มิลานท้าทายได้บ้างในบางฤดูกาล

ทั้งแมนฯ ยูฯ และมิลานกลายเป็นเพียงตัวประกอบในลีกเป็นเวลานับสิบปี จนกระทั่งฤดูกาลล่าสุด มิลาน กลับมาเป็นแชมป์ลีกอีกครั้ง!

การคว้าสคูเด็ดโต้ของมิลานนั้นเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ของใครหลายคน แต่ความสำเร็จนี้ไม่ได้มาเพียงเพราะเทวีมิเนอร์วาหรือมหาเทพจูปิเตอร์มอบพรให้เท่านั้น หากเกิดจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

รองศาสตราจารย์ริซา คาซิดี แห่งมหาวิทยาลัยแม็คแควรี ออสเตรเลีย ได้เขียนวิเคราะห์ความสำเร็จของเอซีมิลานเอาไว้ในเว็บไซต์ The Conversation ได้อย่างน่าสนใจ  

คาซิดีบอกว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการบริหารจัดการองค์กร โดยเฉพาะด้านการเงิน ในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2021-2022 มิลานใช้เงินไปเพียง 65.3 ล้านยูโร เทียบได้แค่ครึ่งเดียวของคู่แข่งอย่างม้าลายที่ใช้ไปถึง 126 ล้านยูโร หรือแม้แต่โรม่าของ “เดอะ สเปเชียลวัน” โฆเซ่ มูริณโญ่ ที่ใช้ไป 100 ล้านยูโร

เพดานค่าเหนื่อยของนักเตะ ก็เป็นสิ่งที่มิลานเคร่งครัด โดยค่าเหนื่อยนักเตะรวมทั้งหมดในฤดูกาลที่แล้ว คิดเป็น 87 ล้านยูโร

ในขณะที่ม้าลายจ่ายสูงถึง 180 ล้านยูโร

ส่วนทีมร่วมนครมิลานอย่างอินเตอร์ก็จ่ายหนักไม่แพ้กันที่ 153 ล้านยูโร

โดยนักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยสูงสุด คือ กัปตันทีม อเลสซานโดร โรมัญโญลี่ ที่รับอยู่ 9.2 ล้านยูโร/ปี

ส่วน “พระเจ้า” ซลาตัน อิบราฮิโมวิช นั้นรับอยู่ที่ 8.9 ล้านยูโร/ปี

ในขณะที่ดาวเด่นอย่างฟูบแล็คจอมบุก เธโอ แอร์นองเดซ รับที่ 5.1 ล้านยูโร/ปี

และกองหน้าดาวรุ่ง ราฟาเอล เลเอา รับที่ 1.7 ล้านยูโร/ปี

เราเห็นอะไรจากตัวเลขพวกนี้?

คำตอบคือ มิลานใช้เงินแค่ครึ่งเดียวของคู่แข่งในการคว้าแชมป์ลีก

เห็นได้ชัดว่ามิลานคุมเพดานค่าเหนื่อยของนักเตะไม่ให้เกิน 10 ล้านยูโร/ปี และความแตกต่างของค่าเหนื่อยนั้น ก็วางอยู่บนการมีประสบการณ์มากกว่าซูเปอร์สตาร์

กรณี “อิบรา” นั้นชัดเจนในเรื่องนี้ อิบราฮิโมวิช ไม่ใช่ตัวหลักของทีมในฤดูกาลดังกล่าว แต่สิ่งที่ผู้จัดการทีมคาดหวังจากเขาก็ไม่ใช่ประตู หากแต่คือทัศนคติในการเล่น ความหิวกระหายในการเป็นแชมป์ และ “ลูกเก๋า” เมื่ออยู่ต่อหน้าทีมคู่แข่ง

คาซิดีวิเคราะห์ว่า นี่เป็นกลยุทธ์ที่ผู้บริหารทีมวางเอาไว้ เพื่อไม่ให้นักเตะรู้สึกถึงความแตกต่างภายในทีม มีความเป็นหนึ่งเดียว เล่นเพื่อทีมมากกว่าเล่นเพื่อตัวเอง หรือที่เขาเรียกว่าเป็นการเน้นไปที่ “Superteam” ไม่ใช่ “Superstar”

นอกจากมาตรการทางการเงินแล้ว ยังมีอีกสองปัจจัยที่ส่งผลให้มิลานคว้าแชมป์ คือการเชื่อใจนักเตะดาวรุ่ง และการให้เวลากับผู้จัดการทีมในช่วงที่กองหลังตัวหลักสองคนเจ็บ อย่างซิมง เคียร์ “กัปตันฮีโร่” ในเหตุการณ์หัวใจหยุดเต้นของคริสเตียน อีริคเซ่น และฟิกาโย โทโมริ กองหลังชาวอังกฤษที่ยืมตัวมาจากเชลซี มิลานก็ไม่ได้ซื้อใครมาทดแทน

แต่พวกเขาเลือกดาวรุ่งในทีมนั่นคือ ปิแอร์ กาลูลู่ และมัตเตโอ แกบเบีย อายุ 21 และ 22 ปีตามลำดับ มารับผิดชอบ

ในทำนองเดียวกันกับผู้จัดการทีม ในฤดูกาล 2019-2020 มิลานจบด้วยอันดับสี่และมีข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนผู้จัดการทีม ราล์ฟ รังนิก คือชื่อที่ปรากฏเป็นข่าว

เหตุการณ์นี้นำมาสู่การ “งัดข้อ” กันภายในทีมบริหารระหว่างอีวาน กาซิดีส ซีอีโอ และผู้อำนวยการด้านเทคนิคและโคตรตำนานของทีมอย่างเปาโล มัลดีนี่

แต่สุดท้ายเจ้าของทีมก็ตัดสินใจไม่เปลี่ยน แถมต่อสัญญาผู้จัดการทีมคนเดิม สเตฟาโน่ ปีโอลี่ ออกไปอีกกลายเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของทีม เพราะนำมาซึ่งแชมป์ลีกในที่สุด

นี่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ Elliot Investment Management เจ้าของทีมอย่างแท้จริง

บริษัทบริหารสินทรัพย์สัญชาติอเมริกาเข้าเทคโอเวอร์สโมสรจาก Sino-Europe Sports Investment Management Changxing บริษัทสัญชาติจีนในปี 2018 แล้วเปลี่ยนแนวทางการบริหารทันที

จากเดิมที่ฤดูกาล 2017-2018 มิลานผลาญเงินไปกับการซื้อนักเตะกว่า 200 ล้านยูโร แต่กลับทำได้แค่ที่ 7 ของลีก ไม่ได้แม้แต่โควตาไปรายการใหญ่อย่าง “ยูซีแอล” (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก) ก็หันมาเข้มงวดกับการใช้จ่ายในตลาดนักเตะและค่าเหนื่อยนักเตะมากขึ้นอย่างที่กล่าวไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้บริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของมิลานอีกแล้ว หลังตกลงขายไปให้กับ RedBird Capital Partners บริษัทสัญชาติอเมริกันเช่นกัน

ผู้เขียนอยากให้ “ผีเห็นผี” อย่างมาก ความหมายคือ อยากให้ทีมบริหารแมนฯ ยูฯ เรียนรู้จากบทเรียนของเอซีมิลาน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกัน

ยุทธศาสตร์การบริหารองค์กรของมิลานนั้นเรียบง่าย ตรงไปตรงมา คือ ควบคุมค่าเหนื่อยนักเตะ ไม่ให้ความเป็นซุปเปอร์สตาร์ทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของทีม เชื่อมั่นและให้โอกาสนักเตะหนุ่ม และให้นักเตะมากประสบการณ์ “เป็นครู” เท่านั้น ไม่ใช่ตัวหลักของทีม

ไม่อย่างนั้น แมนฯ ยูฯ ก็จะเป็นทีมที่ค่อย ๆ ตาย

เริ่มจากไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลยุโรป

จบอันดับต่ำกว่าสิบ

และตกชั้นในที่สุด

หมายเหตุ: เอซี มิลาน ประเดิมนัดแรกในลีกฤดูกาล 2022-2023 ด้วยชัยชนะเหนืออูดิเนเซ่ 4-2 (มิลานโดนนำก่อน) ขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด ลงเล่น 2 นัดแรกในลีกฤดูกาลเดียวกัน แพ้ทั้ง 2 นัด

อ้างอิง:

https://theconversation.com/ac-milan-serie-a-win-carries-lessons-in-team-building-mentorship-and-organisation-183639

https://www.capology.com/club/ac-milan/salaries/2021-2022/

https://www.capology.com/club/juventus/salaries/2021-2022/

https://www.capology.com/club/inter-milan/salaries/2021-2022/

https://www.acmilaninfo.com/the-true-reasons-why-ac-milan-pulled-the-plug-on-ralf-rangnick/

https://sports.ndtv.com/football/us-hedge-fund-elliott-announces-takeover-of-ac-milan-1881480)