CEO ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม 2023: ‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ผู้ทรานส์ฟอร์ม ปตท. ลุยนอกกรอบน้ำมัน

CEO ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม 2023: ‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ผู้ทรานส์ฟอร์ม ปตท. ลุยนอกกรอบน้ำมัน

‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ซีอีโอ ปตท. คนที่ 10 ผู้ทรานส์ฟอร์มองค์กรพลังงานของประเทศไทย ด้วยพลังงานอนาคต และธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่การลงทุนในธุรกิจนอกเหนือจากธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี

พบกับ Stories of the Month ซีรีส์ใหม่โดย The People บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ ในแต่ละเดือน เราจะมีประเด็นพิเศษมาให้ติดตามแบบไม่ซ้ำกันทุกเดือน สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2023 มาพร้อมเรื่องราว CEO ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม

ในโลกธุรกิจยุคใหม่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจหนีไม่พ้นการปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้คือนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เพียงนวัตกรรมทางเทคโนโลยี แต่ยังครอบคลุมไปถึงนวัตกรรมทางความคิดด้วย

ติดตามเรื่องราวของ CEO ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม ซึ่งข้อมูลจากพวกเขาเหล่านี้อาจเป็นบทเรียนและสะท้อนแง่มุมต่าง ๆ ให้ผู้คนนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทของตัวเองได้ ในเดือนนี้ The People เลือก 3 บุคคลที่น่าสนใจ นำเสนอสัปดาห์ละ 1 คน

CEO ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม 2023 : ‘ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ซีอีโอ ปตท. 

หลังทำงานให้กับ ปตท. มายาวนานถึง 30 ปี ‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ก็รับไม้ต่อจาก ‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ ในตำแหน่ง ซีอีโอคนที่ 10 ของ ปตท. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายและยากลำบากมากของธุรกิจน้ำมัน ที่ต้องเผชิญทั้งวิกฤตโควิด-19 สงครามราคาน้ำมัน ดิสรัปชันทางเทคโนโลยี และเทรนด์พลังงานทางเลือก

ในวันที่ทั่วโลกเจอมรสุมรอบด้าน นอกจากจะต้องสานต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ในฐานะองค์กรพลังงานของประเทศไทยแล้ว ‘อรรถพล’ ยังต้องกอบกู้ผลประกอบการและมองหาช่องทางการเติบโตใหม่ ๆ ของกลุ่ม ปตท. ด้วย 

 

วันแรกของการเริ่มงาน ‘อรรถพล’ โพสต์คลิปความยาว 7 นาที เพื่อสร้างความมั่นใจกับฝ่ายบริหารและพนักงานในองค์กรว่า กลุ่ม ปตท. ยังคงแข็งแกร่ง แม้จะเผชิญ Double Effect ทั้งวิกฤตโควิด-19 และราคาน้ำมันที่ตกต่ำ

ในคลิปดังกล่าว เขาฉายภาพให้ผู้บริหารและพนักงานเห็นถึงแนวทางการแก้วิกฤตภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วม ด้วยการตั้ง ‘วอร์รูม’ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงได้มีส่วนช่วยเหลือกันมากขึ้น พร้อมจัดทำแผน PTT Group Vital Center มาบริหารจัดการและวางแผนไปข้างหน้า โดยดำเนินการตามหลัก 4R ได้แก่ 

1.Resillience การสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง 2.Restart เตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ นำพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด 3.Reimagination การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจทั้ง Next Normal และ New S Curve และ 4.Reform การจัดโครงสร้างองค์กรและรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต 

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ‘อรรถพล’ พยายามทรานส์ฟอร์มธุรกิจของ ปตท. จากเดิมที่เน้นสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ มุ่งสู่ Powering Life with Future Energy and Beyond หรือ “ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังอนาคต” 

เป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนทุกชีวิต ผู้คน ชุมชน สังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น ด้วยพลังงานอนาคต และธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่

1.การไปสู่พลังงานอนาคต พลังงานสะอาด เห็นได้ชัดเจนจากการมุ่งหน้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนทั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ และการศึกษาโอกาสในธุรกิจไฮโดรเจน

ในส่วนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ปตท.กำลังเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร โดยจัดตั้ง บริษัท อรุณพลัส จำกัด (ARUN PLUS) เพื่อดำเนินธุรกิจ EV Value Chain จับมือกับบริษัท Foxconn ซึ่งมีองค์ความรู้ในการสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้า ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อศึกษาและเตรียมแผนตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทย โดยใช้ MIH Platform ของ Foxconn ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการพัฒนารถไฟฟ้าจาก 4 ปี เหลือเพียง 2 ปี คาดว่าจะมีกำลังผลิต 1.5 แสนคัน ภายในปี 2573

นอกจากนี้ อรุณพลัส ยังลงนามความร่วมมือกับ ‘โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล’ หรือ NETA AUTO ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบรนด์ NETA จากจีน ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 

ทั้งยังตั้งบริษัท ‘อีวี มี พลัส’ เพื่อให้บริการ Digital Platform สำหรับธุรกิจ EV เปิดบริการเช่ารถ EV ในรูปแบบ B2B และ B2C 

ส่วนอีก 5 ด้านที่เหลือจะเป็นธุรกิจใหม่ที่ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนไทยและคนทั่วโลก ตลอดจนสนับสนุนการเกิดของ S Curve 12 อุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทย 

ซึ่ง 5 ด้านดังกล่าว ประกอบด้วย 1.Life Science เป็นการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยาอุปกรณ์การแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากเห็นโอกาสจากการขยายตัวของสังคมสูงวัย และกระแสการดูแลสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น 

เมื่อปลายปี 2563 ปตท. ได้จัดตั้ง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพื่อลงทุนในธุรกิจยา ธุรกิจอาหารและโภชนาการ และธุรกิจเครื่องมือการแพทย์ 

โดยในธุรกิจยามีการลงทุนในบริษัท Lotus Phamaceutical ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาชั้นนำจากไต้หวัน ด้วยการเข้าไปถือหุ้นกว่า 37% และได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท Adalvo ที่ซื้อสิทธิบัตรยาจากทั่วโลก ด้วย

อินโนบิก ยังให้ทุนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตนวัตกรรมโมเลกุลมณีแดง หรือ RED-GEMs (Rejuvenating DNA by Genomic Stability Molecules) นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการค้นพบ คาดว่าภายในไตรมาส 2-3 ของปีนี้ จะเห็นการทดสอบในคน 

ส่วนธุรกิจด้านโภชนาการ มีการก่อตั้งบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน (NRPT) ซึ่งได้ร่วมมือกับ บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ในอังกฤษ จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศไทย จำกัด (Plant & Bean Thailand) ตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชในไทย เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านอาหาร หลังพบว่าแนวโน้มธุรกิจโปรตีนจากพืช (Plant based Protein) ได้รับฟีดแบ็กดีจากผู้บริโภคยุคใหม่ 

NRPT ยังจับมือกับแบรนด์อาหารแพลนต์เบส 100% ระดับโลก อย่าง ‘Wicked Kitchen’ นำผลิตภัณฑ์อาหาร ขนม และไอศกรีม มาจำหน่ายผ่านท็อปส์ มาร์เก็ต และเซ็นทรัล ฟู้ดฮอลล์ ด้วย

ปตท. ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชแบรนด์ ‘alt’ เป็นของตัวเอง ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัวร้าน ‘alt.Eatery’ คอมมูนิตี้อาหารแพลนต์เบส ใจกลางเมืองแห่งแรกของกรุงเทพฯ  
‘อรรถพล’ กล่าวถึงการสร้างธุรกิจแพลนต์เบสว่า “กลุ่มเป้าหมายของ ปตท. คือทุกคน ทั้งคนรุ่นเก่าที่ต้องควบคุมอาหาร ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติในบางวันเพื่อสร้างบุญกุศล รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพ สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าจากรสชาติที่ดีจะทำให้คนไทยหันมาสนใจอาหารจากพืชมากขึ้น” 

2.Mobility and Lifestyle การร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้ปั๊มน้ำมันของ ปตท. ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยมี OR เป็นหัวหอก 

ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า OR พยายามสร้างระบบนิเวศให้เข้มแข็ง โดยไม่เน้นการเพิ่มเชิงปริมาณ แต่เน้นที่คุณภาพ มองหาแบรนด์และพาร์ทเนอร์ชิปใหม่ ๆ เข้ามาเติมเต็มในปั๊ม ปัจจุบันมี 26 แบรนด์ ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 OR จะเปิด PTT Station แฟลกชิป ริมถนนวิภาวดี 62 รับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ที่นิยมใช้บริการครบวงจรใกล้บ้าน ก่อนขยายไปพื้นที่อื่น ๆ 

3.High value business การต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เช่น การพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI และหุ่นยนต์อัตโนมัติ

ที่ผ่านมามีการจัดตั้ง บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ทำธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ มีการผลิตหุ่นยนต์และโดรนเพื่อเสริมรายได้

4.Logistics and Infrastructure พัฒนาการขนส่งของประเทศด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ปตท. ทุ่มเงิน 230 ล้าน ตั้งบริษัทย่อย ‘โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์’ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งภายในและนอกประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบ เครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ และระบบขนส่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศ 

มีบริการหลักเช่น การขนส่งสินค้าทางราง ทางทะเล ทางบก และทางอากาศ รวมถึงการบริหารจัดการคลังสินค้าห้องเย็น การบริหารและให้เช่าทรัพย์สินสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์

และ 5.AI, Robotics and Digitalization ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตจักรกลอัจฉริยะเพื่อส่งเสริมธุรกิจในเครือ 

แต่ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะ ‘อรรถพล’ กล่าวด้วยว่า ปตท.จะเพิ่มการลงทุนธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าลงทุน 30% ของเงินลงทุนที่ได้ตั้งไว้ในแผน 5 ปี (ปี 2565-2569) ของ ปตท. 1.46 แสนล้านบาท หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท 

ทั้งหมดนี้เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายในปี 2575 ซึ่ง ปตท. จะต้องมีรายได้จากธุรกิจใหม่ 30% ของผลประกอบการทั้งหมด

 

อ้างอิง:

กรุงเทพธุรกิจ

ฐานเศรษฐกิจ