‘ดิษทัต ปันยารชุน’ CEO คนที่ 2 OR ยึดมั่นยุทธศาสตร์คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ และฉลาดบริหารต้นทุน

‘ดิษทัต ปันยารชุน’ CEO คนที่ 2 OR ยึดมั่นยุทธศาสตร์คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ และฉลาดบริหารต้นทุน

รู้จักกับ ‘ดิษทัต ปันยารชุน’ CEO คนที่ 2 ของ OR ที่เข้ามารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2565 พร้อมกับทิศทางการทำธุรกิจของ OR ในปี 2566 ที่จะมุ่ง portion ของไลฟ์สไตล์เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็มองว่าโอกาสใหม่ ๆ ให้กับพาร์ทเนอร์ด้วย ตั้งแต่คนตัวเล็ก จนถึงกลุ่มธุรกิจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับ OR

  • ‘ดิษทัต ปันยารชุน’ ขึ้นเป็น CEO ของธุรกิจ OR คนที่ 2 เมื่อปลายปี 2565
  • OR เป็นธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศไทย มีกิจการหลายประเภทในกลุ่ม เช่น ปั๊มน้ำมัน PTT, คาเฟ่ อเมซอน, ไก่ทอดเท็กซัส เป็นต้น
  • ทิศทางการทำธุรกิจปี 2566 OR จะมุ่งเพิ่มสัดส่วนของร้านค้าในกลุ่มไลฟ์สไตล์ และปรับโฉมปั๊มเป็น community มากขึ้น

 

“ผมไม่ได้สนใจกลยุทธ์ของผู้เล่นอื่นในตลาด แต่สำหรับ OR ไม่ได้โฟกัสไปที่ปริมาณ แต่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพในปั๊มมากกว่า”

‘ดิษทัต ปันยารชุน’ CEO คนที่ 2 ของ OR ซึ่งมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 พูดระหว่างการแถลงทิศทางธุรกิจของ OR ปี 2566 ซึ่งแนวคิดหลักที่ OR จะผลักดันเพื่อบรรลุตามเป้าหมายก็คือ “วิสัยทัศน์ Empowering All Toward Inclusive Growth” เน้นแอคชั่นมากขึ้น

 

CEO ที่เก่งด้านบริหารต้นทุน

ด้วยประสบการณ์ทำงานมากมายของ ดิษทัต ในด้านการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น สกิลที่น่าสนใจอย่างหนึ่งจากประสบการณ์ตรงนี้ก็คือ ‘การบริหารต้นทุน’ ซึ่งเป็นการใช้ต้นทุนที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สามารถยืดหยุ่นได้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะแตกต่างกับ ‘การลดต้นทุน’ กลยุทธ์สุดท้ายที่ธุรกิจจะเลือกทำเมื่อไม่มีกำไร

ทั้งนี้ เราอยากพาไปทำความรู้จักตัวตนของ CEO ดิษทัตกันก่อน เพราะมันเชื่อมโยงกับแนวคิดและการตัดสินใจในแต่ละครั้งอย่างมาก ซึ่งจะมีผลต่อกลยุทธ์ของธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตได้

ดิษทัต จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน Social Science จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโทด้าน Political Science, National University, San Diego ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของ ดิษทัต ตั้งแต่ปี 2555 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เขาทำงานในตำแหน่ง Managing Director บริษัท ปตท. ค้าสากล จำกัด (PTTT) หลังจากนั้น ขยับมาทำตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จนถึงปี 2559 และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จนถึงปี 2561

นอกจากนี้ ดิษทัต ยังนั่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), กรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน เป็นต้น

‘ดิษทัต ปันยารชุน’ CEO คนที่ 2 OR ยึดมั่นยุทธศาสตร์คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ และฉลาดบริหารต้นทุน

ความน่าสนใจของ ดิษทัต คือ เขาเป็นคนที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจปิโตรเลียม ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลิตภัณฑ์พิเศษอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังเชี่ยวชาญในเรื่องการจัดหา การค้าวัตถุดิบเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการปิโตรเคมี

อีกทั้งยังมีส่วนร่วมอย่างมากในหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะในด้านอุปทานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของปิโตรเคมีภัณฑ์จากโรงงานในประเทศ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นกลางในห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์และโอเลฟินส์

ทิศทางของ OR ในปี 2566 นี้ ดิษทัต พูดชัดเจนว่า จะมุ่งขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์เพราะในปัจจุบันยังมี portion ที่น้อยในธุรกิจของ OR

 

OR ecosystem ในธุรกิจไลฟ์สไตล์

ดิษทัต ได้พูดว่า “เพราะภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวทำให้ปี 2565 ในภาพรวมปริมาณขายได้ปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจของ OR ส่งผลให้ OR มีรายได้ขายและบริการเพิ่มขึ้น 54.3% ทั้งยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 43.2%”

ทั้งนี้ ในปี 2566 OR จะมุ่งเสริมความเข้มแข็งให้กับอีโคซิสเตมของธุรกิจ โดยเฉพาะในเซกชั่นที่เป็นธุรกิจไลฟ์สไตล์ที่ปัจจุบันมี portion ที่ยังน้อย แต่ในแง่ของ margin มองว่ามีอยู่สูงมาก

ดิษทัต มองว่า OR เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างโดดเด่นในเรื่องการรีแอคที่รวดเร็ว อีกทั้งในอีโคซิสเตมยังมีความหลากหลาย ซึ่งจุดเด่นในเรื่องนี้ไม่แปลกใจที่แพลนในอนาคตของ OR จะเปลี่ยนโฉมใหม่ให้เป็นเหมือน community ครบยิ่งกว่าเดิม นอกจากนี้จะให้ความสำคัญกับการเป็นปั๊มน้ำมันสะอาด, ใช้พลังงานสะอาด และใช้เทคโนโลยี AI มากขึ้น

ความน่าสนใจอีกหนึ่งอย่างก็คือ ‘Cafe Amazon’ ซึ่งเป็นธุรกิจของ OR ในกลุ่มไลฟ์สไตล์ที่ค่อนข้างโดดเด่นที่สุด โดย OR ได้สร้างโอกาสผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ด้อยโอกาส ตั้งแต่ ผู้สูงวัยจนไปถึง ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและการเรียนรู้ ให้มีรายได้จากการทํางานเป็นบาริสต้า

รวมทั้งจัดโครงการพื้นที่ปันสุขและตลาดเติมสุข ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนให้สามารถนําผลผลิตมาจําหน่ายในพื้นที่สถานีบริการ PTT Station ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของ OR ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเข้าซื้อกิจการ หรือการควบรวมกิจการ ถือว่ายังเป็นกลยุทธ์สำคัญอันดับต้น ๆ ที่เลือกใช้ โดย ดิษทัต ได้พูดว่า “ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนรูปแบบไหนก็ตาม แต่ OR ให้ความสำคัญไปที่การลงทุนที่คุ้มค่า และได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม OR มีวิธีคัดเลือกพาร์ทเนอร์ธุรกิจที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค โดยจะเน้นที่ความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อทั้ง 2 ฝ่าย”

ทั้งนี้ OR ได้เปรย ๆ ทิ้งไว้ด้วยว่า ในอนาคตมีโปรเจ็กต์ที่จะทำร่วมกับ ‘บุญรอด’ ซึ่งเราก็ต้องติดตามกันต่อว่าจะมีอะไรใหม่ ๆ จาก OR และ บุญรอดบ้าง เดา ๆ ว่าอาจจะเป็นเซกชั่นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR ก็ได้

 

ภาพ: OR

อ้างอิง:

Pttgcgroup