09 เม.ย. 2568 | 17:00 น.
KEY
POINTS
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมเรา ยังมีความเชื่ออย่างหนึ่งที่มองว่า ผู้หญิงมักจะเลือกแต่งงานกับผู้ชายที่มีฐานะ เพื่อหวังจะเปลี่ยนสถานะของตัวเองให้กลายเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืน แต่ไม่ใช่กับ ‘ราฟาเอลา อาปอนเต-ไดมานท์’ (Rafaela Aponte-Diamant) เศรษฐีนีชาวสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ไม่ขอพึ่งพาสามีหรือครอบครัวที่มั่งคั่ง แต่เลือกจะสร้างจักรวรรดิธุรกิจเรือขนส่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกด้วยสองมือของเธอเอง
ชื่อของราฟาเอลาอาจไม่โดดเด่นมากนัก แต่น่าแปลกที่ไม่ว่าจะย้อนกลับไปดูการจัดอันดับผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจากความพยายามของตัวเอง จะมีชื่อของราฟาเอลาอยู่เสมอ หากเทียบกับสถิติในอดีต พบว่ามีผู้หญิงที่สร้างฐานะด้วยตนเองคิดเป็นเพียง 3.6% ของมหาเศรษฐีโลกเท่านั้น และราฟาเอลาก็ติดอยู่ในเศษเสี้ยวเล็ก ๆ นั้นมาโดยตลอด
แม้ว่าในปัจจุบันจำนวนเศรษฐินีที่ร่ำรวยขึ้นมาด้วยตนเองจะเพิ่มสูงขึ้นจากวันวาน แต่ต้องยอมรับว่าเรือของราฟาเอลายังคงครองน่านน้ำ ไม่มีใครมาแย่งยิงไปได้
ราฟาเอลาเกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 1945 ณ เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี เป็นลูกสาวของผู้อพยพชาวยิว นายธนาคารผู้ประจำการอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ชีวิตวัยเด็กของเธอถูกเลี้ยงดูมาให้คุ้นชินกับสายน้ำมาตั้งแต่วัยเยาว์ ยามว่างพ่อแม่มักพาออกไปล่องทะเล แม่น้ำ เพื่อให้เด็กหญิงตัวน้อยใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด
ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเธอชื่นชอบอะไรเป็นพิเศษ หรือสนิทสนมกับใคร บอกเพียงแค่ว่าเธอกับแม่น้ำมีสายสัมพันธ์กันอย่างยาวนาน ไม่มีใครรู้ว่าเธอจบจากโรงเรียน มหาวิทยาลัยอะไร ใครเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มทำธุรกิจเรือขนส่ง จนปลุกปั้นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่นี้ได้สำเร็จ
รู้เพียงแค่ว่าราฟาเอลาสามารถพูดได้ 5 ภาษา คือ อิตาเลียน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และฮีบรู เธอคือหญิงสาวผู้มีความผูกพันกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน ราวกับว่าโชคชะตาได้กำหนดให้เธอก้าวสู่เส้นทางแห่งน่านน้ำ
เส้นทางชีวิตของราฟาเอลาเริ่มเปลี่ยนไปในช่วงทศวรรษ 1960 เมื่อเธอได้พบกับ จานลุยจิ อาปอนเต (Gianluigi Aponte) ว่าที่สามีในทริปล่องเรือ ช่วงทศวรรษ 1960 โดยเขาเป็นกัปตันเรือรับส่งนักท่องเที่ยวจากเมืองท่าเนเปิลส์ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านเกิดของราฟาเอลาไปอีกฝั่งหนึ่ง
ไม่แน่ใจนักว่าทั้งสองตกหลุมรักกันตอนไหน รู้ตัวอีกทีทั้งคู่ก็ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน
ราฟาเอลากับสามีเริ่มธุรกิจเรือขนส่งราวปี 1970 โดยใช้ชื่อว่า Mediterranean Shipping Company หรือ MSC ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ที่จะมุ่งเน้นด้านนวัตกรรม การบริการลูกค้า และความยั่งยืนในระยะยาว
จานลุยจิต้องลาออกจากงาน เพื่อมาเริ่มทุกอย่างใหม่กับภรรยา ทั้งคู่ได้กู้เงินราว 10 ล้านบาท เพื่อซื้อเรือลำแรกของพวกเขา ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้าขนาดเล็กที่มีชื่อว่า แพทริเซีย (Patricia) จากนั้นจึงเปิดตัว MSC ในเจนีวาในปีเดียวกันและเติบโตขึ้นโดยการซื้อเรือมือสองและมุ่งเป้าไปยังเส้นทางที่มีการจราจรน้อยกว่า เช่น เส้นทางจากยุโรปไปยังแอฟริกา เมื่อธุรกิจเริ่มมั่นคง เรือลำที่สองของพวกเขาก็ตามมา โดยใช้ชื่อว่า ราฟาเอลา (Rafaela) เพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยา
ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ทำให้ธุรกิจของทั้งคู่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 1979 พวกเขามีเรือทั้งหมด 17 ลำ ปัจจุบันมีเรือขนส่งทั้งหมด 830 ลำ และการขนส่งตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ต่อปีก็มีไม่ต่ำกว่า 24.5 ล้านตู้
ในปี 1988 พวกเขาได้ขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจเรือสำราญโดยการซื้อเรือเดินทะเล Monterey นับเป็นการเดิมพันที่ชาญฉลาด เพราะไม่นานหลังจากนั้น MSC Cruises กลายเป็นหนึ่งในบริษัทเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน โดยแข่งขันกับคู่แข่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพียงสามราย ได้แก่ Carnival, Royal Caribbean และ Norwegian
ในปีเดียวกันนั้น พวกเขายังได้เปิดตัว Medlog ซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์ภายในประเทศ จากนั้นในปี 2000 MSC ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์โดยก่อตั้ง Terminal Investment Limited ในช่วงทศวรรษ 2010 พวกเขาได้ขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจเรือข้ามฟากโดยสารในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ตลอดระยะเวลากว่าห้าทศวรรษนับตั้งแต่ก่อตั้ง MSC ครอบครัวอาปอนเตยังคงควบคุมบริษัทอย่างเข้มงวด จานลุยจิและราฟาเอลาถือหุ้นรายละ 50% โดยจานลุยจิดำรงตำแหน่งประธานบริหาร ส่วนดิเอโก ลูกชายของพวกเขา ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท ขณะที่ราฟาเอลาเองดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการมูลนิธิ MSC และรับผิดชอบการตกแต่งเรือสำราญ
น่าสนใจที่ราฟาเอลาไม่ว่าจะวัยสาวหรือวัยชรา เป็นบุคคลที่มักหลีกเลี่ยงแสงสปอตไลต์ แม้จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินมหาศาล แต่เธอแทบไม่เคยปรากฏตัวในงานสังคม การอยู่ท่ามกลางผู้คนและถูกจับจ้องจากสายตาแปลกหน้าไม่ใช่สิ่งที่เธอถวิลหา โลกจะได้เห็นเธอก็ต่อเมื่อมีการเปิดตัวเรือสำราญลำใหม่เท่านั้น
เธอมักบริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์ให้แก่องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะวงการศึกษา อีกทั้งยังเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการส่งเสริมสิทธิของผู้หญิง และไม่เคยลังเลที่จะพูดถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศในวงการเดินเรือ ซึ่งเธอพยายามเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด
แม้จะไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในอาณาจักร MSC แต่ราฟาเอลาก็มีบทบาทสำคัญในการเติบโตของบริษัท ตามที่โดมินิก เดนาต ผู้ให้เงินกู้แก่ตระกูลอาปอนเตเพื่อซื้อเรือลำแรกในปี 1970 ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Le Matin ของสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2022 ว่า
"บทบาทของเธอเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง เพราะบุคลิกที่แข็งแกร่งทำให้เธอยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้"
นอกจากนี้ ความมั่งคั่งที่เธอมีแล้ว ในปี 2018 ราฟาเอลายังได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์แห่งสาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดที่ชาวต่างชาติจะได้รับอีกด้วย รางวัลอื่น ๆ เช่น
ราฟาเอลาในวัย 80 ปี ยังคงใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ออกงานสังคม ไม่มีหนังสืออัตชีวประวัติ เพื่อบอกเล่าความกล้าแกร่งของเธอเอง มีเพียงเรือขนส่งที่ยังคงแล่นอยู่บนน่านน้ำทั่วโลก เป็นสัญลักษณ์แห่งความมุ่งมั่น วิสัยทัศน์ และความกล้าหาญ ทำให้โลกเห็นว่าไม่ว่าจะเพศสภาพใด ทุกคนย่อมมีความพิเศษเฉพาะของตนเอง
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
อ้างอิง