เส้นทาง 11 ปีของ ‘ไทยสมายล์’ ที่ไร้วี่แววกำไร ก่อนสิ้นสุดเวลาสยายปีกปลายปี 2566

เส้นทาง 11 ปีของ ‘ไทยสมายล์’ ที่ไร้วี่แววกำไร ก่อนสิ้นสุดเวลาสยายปีกปลายปี 2566

‘ไทยสมายล์’ เป็นซับแบรนด์ที่การบินไทยก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสู้กับโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ และหวังให้ทำกำไรตั้งแต่ปีแรกของการดำเนินกิจการ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะตลอด 11 ปีที่ก่อตั้งมา สายการบินแห่งนี้ขาดทุนสะสมต่อเนื่องในหลักพันล้าน กระทั่งประกาศยุติกิจการในสิ้นปี 2566

  • สมัย ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์’ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย มีแนวคิดตั้งซับแบรนด์เพื่อสู้กับโลว์คอสต์ แอร์ไลน์
  • ‘ไทยสมายล์’ จึงถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2554 ภายใต้ 3 คีย์เวิร์ด Trendy - Friendly - Worthy
  • ปัจจุบันการบินไทย ประกาศยุติกิจการไทยสมายล์ มีผลในสิ้นปี 2566

เมื่อ 11 ปีก่อนในช่วงที่สายการบินต้นทุนต่ำ (low cost airline) กำลังบูมในประเทศไทย ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ DD บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้นได้ตัดสินใจเดินหน้าแผนธุรกิจเปิด ‘สายการบินลูก’ ที่ทันสมัย เป็นมิตร เข้าถึงง่าย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า นั่นก็คือสายการบิน ‘ไทยสมายล์’  

อดีต DD ของการบินไทยยืนยันว่า ‘ไทยสมายล์’ ไม่ใช่สายการบินต้นทุนต่ำ แต่เป็นซับแบรนด์ที่การบินไทยถือหุ้น 100% โดยมีคีย์เวิร์ด 3 คำอย่าง Trendy - Friendly - Worthy หรือ ทันสมัย เป็นมิตร และคุ้มค่า เป็นภาพลักษณ์แบรนด์ จึงได้เลือกคำว่า ‘สมายล์’ ที่ใช้รูปแบบตัวอักษรที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตร - เข้าถึงง่าย และใช้ ‘สีส้ม’ มาเป็น Corporate Identity

เริ่มบินเส้นทางในประเทศ ก่อนขยายสู่เอเชีย

ตอนนั้นแผนของ ‘การบินไทย’ ต้องการให้ ‘ไทยสมายล์’ เริ่มต้นจากการบินเส้นทางภายในประเทศ อย่างอุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น เชียงราย และสุราษฎร์ธานี แล้วในปีถัดไปค่อยขยับไปทำตลาดต่างประเทศในพื้นที่อาเซียน จีน และอินเดีย ด้วยเครื่องแอร์บัส A320 รวม 4 ลำในเวลา 2 ปี

ในช่วงเริ่มต้น ‘ไทยสมายล์’ เริ่มต้นรับนักบินกว่า 40 อัตรา และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินกว่า 100 อัตรา โดยเลือกรับเฉพาะพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงเท่านั้น คุณสมบัติ คือ อายุไม่เกิน 24 ปี ส่วนสูงไม่น้อยกว่า 165 เซนติเมตร 

รวมถึงจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขึ้นไป มีผลสอบ TOEIC ไม่น้อยกว่า 600 คะแนน บุคลิกภาพเป็นมิตร กระตือรือร้น และมีใจรักการบริการ ที่กลายเป็นภาพลักษณ์ของลูกเรือไทยสมายล์ในเวลาต่อมา

โดยช่วงแรก ๆ ไทยสมายล์ทำการบินด้วยการใช้รหัสสายการบิน ‘TG’ ของการบินไทย ก่อนจะได้รับรหัสสายการบินจากกรมการบินพลเรือนในเวลาต่อมา คือ WE เช่นเดียวกับการปรับปรุงคอนเซ็ปต์จาก Trendy - Friendly  - Worthy เป็น Smart - Sabai - Smile  ในปี 2558

ตั้งเป้าทำกำไรตั้งแต่ปีแรก 

หลังจากประกาศแผนงานอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2554 ในที่สุด ‘การบินไทย’ ก็สามารถก่อตั้ง ‘สายการบินไทยสมายล์’ หรือ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด สำเร็จในวันที่ 9 สิงหาคม 2554 และราว 1 ปีถัดมาก็เริ่มให้ดำเนินการได้ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 ด้วยเที่ยวบินปฐมฤกษ์กรุงเทพฯ - มาเก๊าที่มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร 100%

ส่วนยอดจองเที่ยวบินล่วงหน้าในเวลานั้นมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารกว่า 70 - 72% ทำให้ ‘วรเนติ หล้าพระบาง’ กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ ภายใต้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยแผนขยายฝูงบินเป็น 20 ลำภายในสิ้นปี 2558 เน้นบินสัดส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ 70% และภายในประเทศ 30% รวมถึงแสดงความคิดเห็นกับไทยรัฐอย่างมั่นใจว่า

“เมื่อมีการทยอยรับมอบเครื่องบินอีกจำนวน 6 ลำ ในปี 2557 - 2558 จะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 1,500,000 คน คาดว่าจะสร้างรายได้รวมกว่า 4,800 ล้านบาท ซึ่งสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่าภายในปีแรกที่เปิดให้บริการ ไทยสมายล์ก็สามารถทำกำไรได้แล้ว”

พร้อมตั้งเป้าทำส่วนแบ่งการตลาดในเส้นทางบินในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3 - 5% ของภาพรวม เมื่อมีเครื่องบินครบ 20 ลำ

แต่สุดท้ายก็ดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างที่คิด!!!

ขาดทุนต่อเนื่องสะสม 2 หมื่นล้าน ไร้วี่แววกำไร

นับตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินการในปี 2555 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2557 สายการบินไทยสมายล์ก็ไม่สามารถทำกำไรได้ แต่ขาดทุนต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2556 จนมาถึงปี 2564 ทำให้มีรายงานขาดทุนสะสมกว่า 15,915 ล้านบาท 

และหากรวมยอดขาดทุนสะสมในปี 2565 ด้วย คาดว่าจะมีผลขาดทุนสะสมรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

จากหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งตำแหน่งทางการตลาดในฐานะ ‘สายการบินพรีเมียมโลว์คอสต์’ ทำให้ไทยสมายล์มีต้นทุนมากกว่าสายการบินโลว์คอสต์อื่น ๆ อย่างเช่น การให้บริการน้ำหรือของว่างบนเครื่อง ไปจนถึงการแข่งขันราคาที่ดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ในอุตสาหกรรมการบิน 

ยังไม่รวมถึงต้นทุนพลังงานและต้นทุนอื่น ๆ และการเข้ามาของโควิด-19 ที่ทำให้สถานการณ์ทุกอย่างแย่ลง

ปี 2557 รายได้ 3,058 ล้านบาท ขาดทุน 577 ล้านบาท

ปี 2558 รายได้ 4,762 ล้านบาท ขาดทุน 1,852 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ 7,531 ล้านบาท ขาดทุน 2,081 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้ 10,182 ล้านบาท ขาดทุน 1,626 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 11,063 ล้านบาท ขาดทุน 2,602 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้ 14,573 ล้านบาท ขาดทุน 112 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้ 5,451 ล้านบาท ขาดทุน 3,266 ล้านบาท (โควิด-19)

ปี 2564 รายได้ 3,762 ล้านบาท ขาดทุน 3,792 ล้านบาท (โควิด-19)

ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ‘การบินไทย’ ที่อยู่ระหว่างกระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้รอดพ้นจากการล้มละลาย ซึ่งได้เริ่มต้นเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 จนทำให้ในปีงบประมาณ 2565 การบินไทยขาดทุนลดลงเหลือเพียง 252 ล้านบาท และมีการเติบโตกว่า 139.6% ตัดสินใจสิ้นสุดเส้นทางของ ‘ไทยสมายล์’ 

โดยตัดสินใจประกาศเตรียมยุบรวมสายการบินแห่งนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบินไทยภายในสิ้นปี 2566 พร้อมโอนย้ายพนักงานกว่า 800 คนเข้ามาอยู่ภายใต้การบินไทยด้วย

ซึ่ง ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์’ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เคยเป็น DD ของการบินไทยในยุคบุกเบิกสายการบินไทยสมายล์อธิบายว่า 

“การยุติบทบาทของไทยสมายล์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทอยู่แล้วที่ระบุว่า ที่สุดแล้วจะเหลือเพียงการบินไทยแบรนด์เดียวเท่านั้น ไม่มีไทยสมายล์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ” 

นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่า การยุบรวมไทยสมายล์จะช่วยลดต้นทุนต่อวันได้ถึง 30% นับเป็นการปิดฉากแบรนด์ไทยสมายล์ลงในที่สุด

.

อ้างอิง 

.

ไทยรัฐ

กรุงเทพธุรกิจ

ประชาชาติธุรกิจ

ลงทุนแมน

ผู้จัดการ