04 มี.ค. 2566 | 17:07 น.
- ผู้ก่อตั้ง Blockbuster คือ เดวิด คุก คนที่เริ่มความชอบในธุรกิจร้านเช่าวิดีโอเพราะภรรยา
- แซนดี้ คุก ผู้จุดไอเดียร้านเช่าวิดีโอเพราะชอบดูหนัง และอยากให้สามีเริ่มต้นธุรกิจใหม่
- ปัจจุบัน Blockbuster เหลือเพียง 1 สาขาจากที่เคยมีกว่า 9,000 เพราะสตรีมมิ่งเข้ามาดิสรัป
เมื่อนึกถึงบรรยากาศในยุค 90s หลายคนน่าจะมี ‘ร้านเช่าวิดีโอ’ เป็นหนึ่งในความทรงจำแน่ ๆ การหาหนังสักเรื่องเพื่อดูช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เคยเป็นกิจกรรมยอดฮิตของคนยุคนั้นก่อนที่โลกจะมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ซึ่งประเทศที่เป็นต้นกำเนิดรายแรก ๆ ของร้านเช่าวิดีโอก็คือ สหรัฐอเมริกา และ ‘ร้านบล็อกบัสเตอร์’ (Blockbuster) ก็ถูกยกให้เป็นไอคอนิกของยุคทองแห่งร้านเช่าวิดีโอมาก่อน
ไอเดียร้านเช่าวิดีโอเพราะภรรยา
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของ Blockbuster ก่อตั้งในปี 1985 โดย เดวิด คุก (David Cook) ซึ่งในตอนนั้นจุดประสงค์แรกของเขาไม่ใช่การทำร้านเช่าวิดีโอ แต่เป็นผู้บริการซอฟต์แวร์ที่ให้บริการกับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในทั่วรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเปิดให้บริการในปี 1978
อย่างไรก็ตามธุรกิจของ เดวิด คุก ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ เป็นเหตุให้ เดวิด คุก ตัดสินใจเบนเข็มธุรกิจซึ่งช่วงที่เขากำลังศึกษาธุรกิจอื่น ภรรยาของเขาซึ่งก็คือ ‘แซนดี้ คุก’ (Sandy Cook) ได้จุดประกายไอเดียขึ้นมาเกี่ยวกับร้านเช่าวิดีโอ เพราะเธอเป็นคนชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ (แต่ไม่ค่อยมีเวลา)
เดวิด คุก ศึกษาและเห็นว่าแนวโน้มของธุรกิจร้านเช่าวิดีโอมีโอกาสเติบโต เขาจึงตัดสินใจซื้อแฟรนไชน์ร้านวิดีโอในดัลลัส ซึ่งตอนนั้นมีชื่อว่า ‘Video Works’ เป็นร้านให้เช่าวิดีโอเล็ก ๆ แต่ Video Works ไม่อนุญาตให้ดัดแปลงและตกแต่งร้านเป็นอย่างอื่น เดวิด คุก จึงออกจากการเป็นแฟรนไชน์ และเปิดธุรกิจใหม่ที่ชื่อว่า Blockbuster Video
ในปี 1990 ถือว่าเป็นวงการธุรกิจยกย่องให้ Blockbuster เป็นมาตรฐานของร้านเช่าวิดีโอ ซึ่งในตอนนั้นสาขาขยายไปถึง 20 สาขาด้วย อีกทั้งยังขยายไปตลาดต่างประเทศครั้งแรกด้วย ก็คือ ยุโรปและละตินอเมริกา
ทั้งนี้ 17 ปีผ่านไป (ปี 2002) Blockbuster กิจการเติบโตได้ดี และเป็นร้านเช่าวิดีโอขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นในตลาด ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้มากถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐทีเดียว
เวลาล่วงเลยไป Blockbuster เติบโตและขยายสาขามากกว่า 9,000 แห่ง ถือว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟูที่สุดของกิจการร้านเช่า 2 ยุคติดนั้นก็คือ ‘ร้านเช่าวิดีโอ’ และ ‘ร้านเช่าดีวีดี’ ขณะเดียวกัน Blockbuster ถือว่าเป็นร้านเช่าวิดีโอที่มีเทคโนโลยีน่าสนใจรายแรก ๆ ของโลกด้วย เพราะระบบการเช่าวิดีโอของ Blockbuster จะเป็นระบบเซนเซอร์ และมีแมกเน็ต รวมถึงบาร์โค้ดด้วย เพื่อประหยัดเวลาในการเช่าสินค้านั่นเอง
อย่างไรก็ตาม มีช่วงที่ Blockbuster ขาดทุนด้วยปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่คู่แข่งในตลาด และระบบการเงินภายในรวมถึงวิธีการบริหารร้านแฟรนไชส์ทั้งหมด ทำให้เดวิด คุก ประกาศขายร้านแฟรนไชส์หลายแห่งให้กับนักลงทุนท้องถิ่น และเปลี่ยนวิธีการบริหารธุรกิจ Blockbuster
โดยนักลงทุน 3 คนที่เข้ามาซื้อกิจการของร้าน Blockbuster ได้แก่ Wayne Huizenga, John Melk และ Donald Flynn ทำให้ในตอนนั้นมีการลงทุนในหุ้น Blockbuster ราว ๆ 18.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากนั้น Blockbuster ก็ได้ขยายสาขาไปทั่วโลก จำนวนร้านสาขาในยุคที่รุ่งเรืองคือเกือบหนึ่งหมื่นแห่งด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Blockbuster เหลือเพียงสาขาเดียวรัฐออริกอนที่ยังเปิดให้บริการอยู่ ในยุคแห่งสตรีมมิ่งที่มีทั้ง Netflix, Disney+, Hotstar, Amazon Prime Video เป็นต้น ซึ่งมีกระแสข่าวหลายต่อหลายครั้งว่า Blockbuster พยายามฟื้นกิจการอีกครั้ง หลังจากที่เคยยื่นล้มละลายไปเมื่อปี 2010 (สาขาที่เปิดให้บริการตอนนี้ไม่เกี่ยวกับผู้ก่อตั้ง) แต่ก็ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก
คู่แข่งหลักคือ Netflix
ใครจะคิดว่าครั้งหนึ่ง Blockbuster เคยทำเป็นเวอร์ชั่น ‘ออนไลน์’ เพื่อแข่งขันกับ Netflix โดยเฉพาะ แต่เมื่อ Netflix ขยับตัวเองไปเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่งแทน เมื่อนั่นเองที่ Blockbuster เผชิญกับหายนะ
รู้หรือไม่ว่า ผู้ก่อตั้ง Netflix เคยพูดว่า Blockbuster เคยเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากของธุรกิจเขา โดยพูดว่า “ตั้งแต่ปี 1996 ถึง 2010 Blockbuster สามารถทำกำไรได้เพียง 2 ปีเท่านั้น แต่กลับมีหนี้สินมหาศาลที่ทำให้พวกเขาล้มละลาย ซึ่งถ้าไม่ใช่เพราะหนี้สิน พวกเขาอาจฆ่าเราไปแล้วก็ได้”
ทั้งนี้ ระหว่าง Netflix กับ Blockbuster ถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนัก ส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์ในปี 2000 ที่ผู้บริหารของ Netflix เสนอขายธุรกิจให้กับ John Antioco ซีอีโอของ Blockbuster ในราคา 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถูกปฎิเสธเพราะมองว่าไม่คุ้มกับเงินที่จะเสีย อีกทั้งประเมินถึงระบบการเงินในอนาคตของ Netflix ด้วยว่าอาจไม่ค่อยยั่งยืนนัก
ในอนาคตไม่ว่า Blockbuster จะสามารถกลับมายืนหยัดในตลาดได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าบทเรียนหลาย ๆ ครั้ง ทั้งโอกาสที่พลาดไปจนไปถึงการประเมินสถานการณ์ไม่เด็ดขาด น่าจะทำให้กการ comeback ของ Blockbuster ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยที่ผ่านมาก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจ
ภาพ: dallasnews
อ้างอิง: