‘ซากุระดะ ซาโตชิ’ มนุษย์เงินเดือนผู้ตกหลุมรักเบอร์เกอร์แบบลืมไม่ลง จนให้กำเนิด MOS Burger

‘ซากุระดะ ซาโตชิ’ มนุษย์เงินเดือนผู้ตกหลุมรักเบอร์เกอร์แบบลืมไม่ลง จนให้กำเนิด MOS Burger

จากการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา และได้ลิ้มลองเบอร์เกอร์ ทำให้ ซากุระดะ ซาโตชิ มนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นติดใจในรสชาติจนตัดสินใจทำธุรกิจของตัวเอง นั่นคือ MOS Burger ซึ่งฉีกกฏร้านฟาสต์ฟู้ดทั่วไป

  • ซากุระดะ ซาโตชิ ก่อตั้ง MOS Burger ขึ้นมาเพราะหลงรักในรสชาติของเบอร์เกอร์
  • ร้านนี้ ต่างจากเชนฟาสต์ฟู้ดทั่วไป และสร้างนิยามใหม่ในสไตล์ ‘ญี่ปุ่น’

ท่ามกลางร้านอาหารญี่ปุ่นและเชนฟาสต์ฟู้ดมากมายในบ้านเรา จะเห็นมีร้านหนึ่งที่แตกต่างและฉีกกฎจากแบรนด์อื่น ๆ นั่นคือ MOS Burger

เพราะร้านนี้เป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเบอร์เกอร์ญี่ปุ่นที่ลูกค้าต้องรอพนักงานพิถีพิถันทำทีละชิ้น สภาพการตกแต่งร้านอบอุ่นเชื้อเชิญให้นั่งแช่ได้นาน ๆ และตกใจกับรสชาติที่ช่างอร่อยกลมกล่อม ซึ่งไม่เหมือนฟาสต์ฟู้ดทั่วไปที่เน้นบริการเร่งด่วน

โดย MOS Burger มี ‘ซากุระดะ ซาโตชิ’ (Sakurada Satoshi) อดีตมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นที่ผันตัวเป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นผู้ก่อตั้งเชนฟาสต์ฟู้ดสัญชาติญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ

คลั่งไคล้อเมริกัน

ไม่ต่างจากคนญี่ปุ่นยุคฟื้นฟูประเทศที่มองสหรัฐอเมริกาเป็น ‘ต้นแบบ’ ความฝันในหลาย ๆ เรื่อง ซาโตชิหลงใหลและชื่นชอบวัฒนธรรมอเมริกันมาตั้งแต่เด็กสมัยเป็นนักเรียนแล้ว คอยเสพข่าวสารอยู่ตลอด ศึกษารสนิยมและแนวคิดแบบอเมริกัน อัปเดตเทรนด์แฟชั่นวัยรุ่นอเมริกัน พวกเขาฟังเพลงไหน ชอบไปเที่ยวที่ไหน และชอบกินอะไรกัน

ความฝันของซาโตชิเป็นความจริงขึ้นมาในทศวรรษ 1970 เมื่อมีโอกาสเดินทางไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา เฉกเช่นคนญี่ปุ่นธรรมดาทั่วไป ขณะนั้นเขาทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ในบริษัทหลักทรัพย์ญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง 

เมื่อไปถึงดินแดนแห่งเสรีภาพ เขาตกหลุมรัก ‘เบอร์เกอร์’ เจ้าหนึ่งนามว่า Original Tommy’s ซึ่งเป็นเชนฟาสต์ฟู้ดเบอร์เกอร์ในแถบแคลิฟอร์เนียที่เขาชอบแวะไปประจำ ซาโตชิเผยว่ามันคือ ‘รสชาติที่ลืมไม่ลง’ เขาไม่เคยลิ้มรสเบอร์เกอร์ที่อร่อยถูกปากเท่านี้มาก่อน

Original Tommy’s เป็นมวยรองอยู่นอกกระแสจากเมืองลอสแอนเจลิส ซึ่งก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในโลเคชั่นที่ดีเลย แต่กลับขายดี มีลูกค้าประจำแวะเวียนมาตลอด

อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ประทับใจมันในฐานะลูกค้าเท่านั้น ยังไม่ได้มีแผนการปั้นธุรกิจแต่อย่างใด แต่ใครจะไปรู้…ว่าอนาคตเขาจะกลับมาขอคำปรึกษาเพื่อนำไปปั้นเป็นเชนฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น

ฟาสต์ฟู้ดผงาดในญี่ปุ่น

เช้าวันหนึ่ง หางแถวยาวเหยียดของชาวญี่ปุ่นที่ต่อคิวเข้าร้าน McDonald’s สาขา Ginza ซึ่งเป็นสาขาแรกที่มาเปิดในญี่ปุ่นเมื่อปี 1971 สำหรับซาโตชิที่ตอนนั้นกลับมาญี่ปุ่นแล้ว 

เขาได้มองเห็น ‘โอกาส’ ที่ต้องรีบคว้าไว้ เพราะภาพตรงหน้าเป็นหลักฐานพิสูจน์แล้วว่าคนญี่ปุ่นเปิดใจรับอาหารฟาสต์ฟู้ดตะวันตกประเภทนี้ ถ้ามีแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นออกมา และทำอะไร ๆ ให้ดีมีมาตรฐาน…ก็น่าจะสำเร็จได้

บอกลามนุษย์เงินเดือน

ซาโตชิตัดสินใจครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในฐานะมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง นั่นคือการ ‘ลาออก’ จากการเป็นมนุษย์เงินเดือนเพื่อผันตัวตามฝันไปเป็นผู้ประกอบการ แต่ก่อนจะเริ่มต้น เขาบินกลับไปอเมริกาอีกครั้งและติดต่อหา Tommy Koulax เจ้าของร้าน Tommy’s เพื่อขอคำปรึกษาและศึกษาเคล็ดลับความสำเร็จอย่างละเอียดในธุรกิจนี้

ซาโตชิได้เรียนรู้จุดแข็ง - จุดอ่อนของร้าน Original Tommy’s และคู่แข่งในตลาดอื่น ๆ เข้าใจโลกของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น ทั้งการประเมินความคาดหวังของผู้บริโภค ศึกษาระบบโลจิสติกส์และการบริหารงานภายในร้าน รวมถึงการตกแต่งร้าน การออกแบบบริการ (Service design) การออกแบบเมนูและโปรโมชั่นต่าง ๆ ก่อนจะบินกลับมาเพื่อลงมือทำจริง

กำเนิด MOS Burger 

และแล้วในปี 1972 MOS Burger【モスバーガー】ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในย่านนาริมาสุ (Narimasu) ของกรุงโตเกียว โดยปรัชญาของร้านคือเน้นรสชาติความอร่อย สะอาดปลอดภัย และมีโภชนาการสุขภาพที่ดี 

จะว่าไปแล้วมันคือนิยามฟาสต์ฟู้ดในแบบฉบับ ‘ญี่ปุ่น’ ก็ว่าได้ แตกต่างจากแบรนด์ตะวันตกที่เน้นถูกและเร็วเข้าว่า

เวลานั้นยักษ์ใหญ่อย่าง McDonald’s สามารถทุ่มงบโฆษณาลงทีวีและสื่อใหญ่ทุกช่องทางได้ แต่รายเล็กและเป็นหน้าใหม่อย่าง MOS Burger ไม่สามารถทำอะไรแบบนั้นได้เลย แต่ซาโตชิเชื่อมั่นว่ารสชาติที่ดีจริงจะทำหน้าที่ ‘โฆษณาในตัวมันเอง’ และน่าจะพอแข่งขันได้แม้จะมีข้อเสียเปรียบหลายอย่าง เช่น งบโฆษณาที่จำกัดและโลเคชั่นที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในทำเลทอง

ไม่ต่างจากนักร้องที่ขอแค่ร้องเพลงยอดฮิตตลอดกาลแค่เพลงก็เพียงพอที่จะทำให้เป็นตำนานแล้ว 

MOS Burger ก็เช่นเดียวกัน ปี 1973 ได้ออกเมนูสร้างชื่อและยังฮิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ ‘Teriyaki Burger’ ออกมาตั้งแต่ปี 1973 เป็นเบอร์เกอร์สไตล์ญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ซึ่งประสบความสำเร็จล้นหลาม (และครองใจลูกค้ามาจนถึงทุกวันนี้) สร้างชื่อเสียงความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ MOS Burger ได้เป็นอย่างมาก 

ช่วงทศวรรษนั้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตแบบก้าวกระโดด ผู้คนมีกำลังซื้อสูงขึ้นมาก และมาพร้อมไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบแบบอเมริกันมากขึ้น รับ ‘วัฒนธรรมอเมริกัน’ มาหลายเรื่อง 

MOS Burger ถือว่าก่อตั้งขึ้นในช่วงจังหวะที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนในสังคม และเมื่อพิจารณาสภาพตลาดโดยรวมจะพบว่าเกิดเชนร้านอาหารเร่งด่วนขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

  • KFC เข้าตลาดญี่ปุ่นปี 1970
  • McDonald’s เข้าตลาดญี่ปุ่นปี 1977
  • CoCo ICHIBANYA ก่อตั้งเมื่อปี 1978
  • Sukiya ก่อตั้งเมื่อปี 1982
  • Tenya ก่อตั้งเมื่อปี 1989

(ขณะที่ Subway’s เข้าตลาดญี่ปุ่นปี 1991 และ Burger King เข้าตลาดญี่ปุ่นปี 1996)

นอกจากนี้ ด้วยระบบค่าแรงขั้นต่ำในญี่ปุ่นที่มีค่าตอบแทนสูงต่อชั่วโมง ทำให้ MOS Burger มี ‘เรตราคา’ แบบอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ผู้คนกินได้บ่อยจริง ๆ ในชีวิตประจำวัน คือคนญี่ปุ่นธรรมดาทั่วไปทำงาน 1 ชั่วโมงก็สามารถซื้อ MOS Burger กินอิ่ม 1 มื้อได้แล้ว แถมมีเงินทอนด้วย (จุดนี้จะแตกต่างจากเมืองไทยที่เชนร้านฟาสต์ฟู้ดจัดว่ามีราคาขึ้นมาระดับหนึ่ง คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้กินบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน)

 ฉีกกฎฟาสต์ฟู้ด

‘ฟาสต์ฟู้ด’ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า คือประเภทอาหารที่ต้อง ‘เร็ว’ สั่งเร็ว ทำเร็ว กินเสร็จเร็ว และเดินออกจากร้านเร็ว 

แต่ MOS Burger เป็นข้อยกเว้นกฎความรวดเร็วของฟาสต์ฟู้ด…แม้จะนิยามว่าตัวเองเป็นฟาสต์ฟู้ดก็ตาม เพราะใครก็ตามที่เคยกินจะรู้ว่ามาที่นี่ ‘ไม่เร็ว’

เพื่อควบคุมคุณภาพให้ดีที่สุด ซาโตชิได้วางนโยบายเคร่งครัดที่ MOS Burger ว่าจะต้อง ‘เริ่มทำหลังลูกค้าสั่ง’ ทำสด ๆ ร้อน ๆ ด้วยมือทีละชิ้น ๆ หลังจากมีออร์เดอร์เข้าแล้วเท่านั้น ลูกค้าอาจต้องรอถึง 5 นาทีเลยทีเดียว ซึ่งจะช้ากว่าฟาสต์ฟู้ดคู่แข่งอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ‘ของดีต้องใช้เวลา’ เพราะมาพร้อมรสชาติที่อร่อย ของร้อน ๆ กลมกล่อมใจที่หลายคนยกให้อร่อยกว่าฟาสต์ฟู้ดเจ้าอื่น ๆ เป็นอีกวิธีสร้างความแตกต่างในแบบฉบับตัวเอง เจ้าอื่นเร่งทำเร็ว ๆ ลดเวลารอให้น้อยลงที่สุด แต่ MOS Burger เชื่อว่าลูกค้ารอได้ ยอมรอในระยะเวลา 5 นาทีเพื่อแลกกับของกินอร่อยๆ

โตด้วยแฟรนไชส์

บทเรียนจากตอนไปศึกษาธุรกิจฟาสต์ฟู้ดที่สหรัฐอเมริกา ซาโตชิพบความจริงว่าเมื่อร้านที่บริการเองเติบโตถึงจุดหนึ่ง มีลูกค้าประจำ มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีระบบบริหารร้านที่มีประสิทธิภาพ การจะเติบโตขยายสาขาไปทั่วประเทศได้แทบจะมีทางเดียวเลยคือ ‘แฟรนไชส์’ (Franchise) 

ซาโตชิตั้งกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในการเลือกกลุ่มธุรกิจที่มาซื้อแฟรนไชส์ เขาดูเหมือนจะพูดถึงด้านลบมากกว่าด้านดีเพื่อพิสูจน์ ‘ความตั้งใจจริง’ ของคนซื้อแฟรนไชส์ 

สำรวจตั้งแต่แรงจูงใจทำไมถึงอยากทำ แค่อยากรวยเร็วหรือเปล่า? ฟังแนวคิดด้านบริหารเพราะดูศักยภาพในการเติบโต บอกข้อเสียหรือความเสี่ยงของการทำธุรกิจบริการอาหารนี้ว่าอาจมีวิกฤตขาลงและทำให้คุณเจ๊งได้ และถ้าพวกเขามีลูกเล็ก ก็จะถามว่าช่วงหลายปีแรกที่จะทำให้ MOS Burger เติบโตยั่งยืนอาจต้องเสียสละเวลาที่ต้องอยู่กับลูก ๆ นะ…รับได้หรือเปล่า?

โดยแฟรนไชส์สาขาแรกเปิดตัวที่เมืองนาโกย่าในเดือนพฤศจิกายน ปี 1973 และจากนั้น 6 ปี MOS Burger ฉลองครบ 100 สาขา และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ MOS Burger เริ่มปักหมุดไปทั่วประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งฟาสต์ฟู้ดสัญชาติญี่ปุ่นที่คนญี่ปุ่นภาคภูมิใจ

การขยายแฟรนไชส์อย่างรวดเร็วเกิดขึ้นพร้อมกับอุตสาหกรรมธุรกิจบริการอาหาร (Food service industry) ในญี่ปุ่นที่เติบโตจนขึ้นจุดสูงสุดราวปี 1999 ที่มูลค่ากว่า 29.7 ล้านล้านเยน

โกอินเตอร์

เมื่อ MOS Burger เริ่มหยั่งรากลึกในตลาดญี่ปุ่น พอถึงปี 1991 ก็ถึงเวลาบุกตลาดต่างประเทศ เปิดสาขาครั้งแรกที่ ‘ไต้หวัน’ เป็นตัวเลือกแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะคนไต้หวันเอาเข้าจริงแล้วรับวัฒนธรรมและชื่นชอบความเป็นญี่ปุ่นอยู่บ้างแล้ว เมื่อตลาดแรกที่ไต้หวันประสบความสำเร็จ จึงเริ่มขยายไปหลายประเทศในภูมิภาค

สำหรับตลาดต่างประเทศใช้ระบบ กิจการร่วมค้า (Joint venture) แต่หลักปรัชญาการทำธุรกิจและความเข้มงวดในการคัดเลือกผู้ร่วมทุนยังคงเข้มงวดไม่ต่างจากแฟรนไชส์ในประเทศญี่ปุ่น

ปรับตัวสู่อนาคต

จากวันแรกที่ MOS Burger มีสภาพร้านแบบบ้าน ๆ ที่เน้นเบอร์เกอร์อร่อยอย่างเดียว เมื่อแบรนด์เติบใหญ่ขึ้น ก็ได้มีการปรับตัวและแต่งตัวใหม่ให้กับแบรนด์ 

เริ่มมีการออกแบบโลโก้และอัตลักษณ์แบรนด์ใหม่ทั้งหมด มีการจ้างดีไซเนอร์ชั้นนำตกแต่งออกแบบร้านที่อบอุ่นผ่อนคลาย (ต่างจากฟาสต์ฟู้ดทั่วไป) แบรนด์พยายามเป็นพื้นที่ที่ให้ลูกค้ามาใช้บริการได้หลายโอกาส เช่น มากับเพื่อน มาเป็นครอบครัว มากินคนเดียวรอเวลา มาเดทกับคู่รัก มานั่งคุยธุรกิจกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือแก๊งแม่บ้านมานั่งเมาท์กัน 

และได้ปรับตัวออกสินค้าใหม่ตามยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น

ปี 2010 เปิดตัว ‘MOS Cafe’ สไตล์คาเฟ่ เริ่มทดลองบางสาขาในโตเกียว

ปี 2020 เปิดตัว ‘MOS Plant-Based Green Burger’ เบอร์เกอร์ที่ทำจากพืช เริ่มทดลอง 9 สาขาในโตเกียว

สำหรับประเทศไทย Mos Burger เปิดตัวในปี 2007 โดยผู้ได้รับสิทธิ์บริหาร ได้แก่ ‘บริษัท เอเชียน ฟู๊ด เน็ทเวิร์ค แอนด์ โฮลดิ้ง จำกัด’ และ ‘บริษัท แบงคอก อินเตอร์ ฟู๊ด จำกัด’ โดยเปิดสาขาแรกที่ ‘เซ็นทรัลเวิลด์’

ต่อมาในปี 2016 บริษัทแม่จากญี่ปุ่นได้ยกเลิกสัญญากับผู้ถือหุ้นทั้งสองราย และให้สิทธิ์ผู้ร่วมทุนรายใหม่ นั่นคือ ‘พิธาน องค์โฆษิต’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้นำเข้าเครื่องสำอางจากประเทศเกาหลี แบรนด์ The Face Shop

แม้ MOS Burger ในตลาดเมืองไทยยังมีขนาดเล็ก แต่จากมนุษย์เงินเดือนที่ยอมลาออกมาเปิดร้านเบอร์เกอร์ตามความฝัน ซาโตชิก็สามารถปั้น MOS Burger เป็นเชนฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดเป็นเบอร์ 2 ในญี่ปุ่น (เป็นรองแค่ McDonald’s) โดยปัจจุบันมีสาขารวมกันกว่า 17,000 สาขาทั่วโลก มีรายได้รวมกันกว่า 19,000 ล้านบาท 

.

อ้างอิง :