Big C จากห้างฯ แรกของเซ็นทรัล จนเปลี่ยนมืออยู่กับ ‘ตระกูลสิริวัฒนภักดี’ เจ้าสัวเจริญแห่งเบียร์ช้าง

Big C จากห้างฯ แรกของเซ็นทรัล จนเปลี่ยนมืออยู่กับ ‘ตระกูลสิริวัฒนภักดี’ เจ้าสัวเจริญแห่งเบียร์ช้าง

เส้นทางธุรกิจของ Big C ที่เริ่มต้นจากมือของ ‘เซ็นทรัล’ ของตระกูลจิราธิวัฒน์ วางเป็นห้างค้าปลีกแห่งแรกในประเทศไทย อุปสรรคและวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ Big C ในวันนี้ถูกเปลี่ยนมือมาอยู่ในบริษัทเครือของ ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ แห่งไทยเบฟเวอเรจ กับทิศทางธุรกิจที่ขยายโมเดลใหม่ ๆ เพื่อครองใจคนไทย

  • Big C ก่อตั้งขึ้นโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัลในปี 2536 ประเดิมเป็นห้างค้าปลีกของไทยยุคแรก ๆ
  • วิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 40 ทำให้ทุนจากฝรั่งเศส 'Casino Group' เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน Big C ขณะที่ปรับ 'คาร์ฟูร์' ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ประมูลชนะเป็น Big C ทั้งหมด
  • ปัจจุบัน Big C อยู่ในใต้ร่มของเจ้าสัวเจริญ แห่งบ้านไทยเบฟ กับแพลนแตกโมเดลให้ Big C เข้าถึงใจคนไทยอย่างทั่วถึง

เรื่องราวของ Big C ตั้งแต่วันที่ก่อตั้ง จนถึงการเปลี่ยนแปลงเจ้าของเป็นสตอรี่การเดินทางของไฮเปอร์มาร์เก็ตอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่อยู่มานานกว่า 30 ปีนับตั้งแต่ปี 2536 โดยเจ้าของเดิมคนแรกก็คือ ‘เซ็นทรัล’ ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ตั้งใจจะเปิดห้างค้าปลีกแห่งแรกในกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะใช้ชื่อว่า ‘เซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์’

แต่สุดท้ายก็มาลงเอยด้วยชื่อ ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ เรียกว่าเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรก ๆ ในยุคนั้นก็ว่าได้ โดยสาขาแรกเปิดขึ้นในย่านวงศ์สว่าง

เรื่องราวของตระกูลจิราธิวัฒน์ ก่อนที่จะเริ่มมาเป็นเจ้าของอาณาจักรใหญ่โตอย่างเซ็นทรัล มีข้อมูลบอกว่าตอนที่อพยพจากเมืองจีนมาอยู่ในประเทศไทยถาวร คนในครอบครัวเริ่มขาย ‘ข้าวสาร’ เพราะมองว่าในไทยมีความอุดมสมบูรณ์และข้าวสารก็เป็นสินค้าที่คนต้องซื้ออยู่บ่อย ๆ ก่อนจะเริ่มขยายธุรกิจเรื่อย ๆ ด้วยการขายกาแฟและของใช้เบ็ดเตล็ด ซึ่งกาลเวลาเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่นจึงนำมาสู่อาณาจักรในชื่อว่ากลุ่มเซ็นทรัลในปัจจุบัน

ซึ่งวันนี้เราคงไม่ได้มาพูดในรายละเอียดของเซ็นทรัล แต่อยากหยิบเรื่องราวของ ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ มาเล่าเพราะว่ามีสตอรี่ค่อนข้างหลากหลายมุม เพราะกว่าจะมาเป็นสินทรัพย์ในเครือของ ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ แห่งไทยเบฟเวอเรจ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ในมือ รวมถึง เบียร์ช้าง ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน

 

Big C เปิดร่วมทุน

ต้องเล่าย้อนไปอีกนิดก่อนมาเป็นของเจ้าสัวเจริญ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ได้มีการร่วมทุนระหว่าง ‘เซ็นทรัล’ กับ ‘กลุ่มอิมพีเรียล’ ของตระกูลกิจเลิศไพโรจน์ ซึ่งก็เป็นเจ้าของศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ในปัจจุบัน

ส่วนหนึ่งเพราะต้องการขยายธุรกิจให้กับ Big C ให้เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีสินค้าครบยิ่งกว่าเดิม และมีสาขามากขึ้น โดยทั้ง 2 บริษัทได้ตัดสินใจขยายสาขา Big C มาที่สาขาแจ้งวัฒนะ เมื่อเดือนมกราคม 2537 หลังจากนั้นในปีเดียวกันก็ขยายสาขาที่ 3 ที่ราษฎร์บูรณะ ในเดือนพฤศจิกายน

แต่การรุกหนักของไฮเปอร์มาร์เก็ตจากคู่แข่ง ทั้ง ‘โลตัส’ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และมี ‘คาร์ฟูร์’ จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาในช่วงเดียวกัน ทำให้การขยายสาขาของ Big C ถูกบีบหนักขึ้นว่าต้องขยายสาขาให้ได้มากกว่าเดิม

วิกฤตเศรษฐกิจทำให้เซ็นทรัลต้องหาทุน

ทั้งนี้ ช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 Big C ตัดสินใจหยุดการขยายสาขาชั่วคราว ซึ่งตอนนั้นเปิดสาขาไปแล้วประมาณ 20 แห่ง โดยทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มอิมพีเรียล เห็นตรงกันว่าช่วงเวลานั้นจำเป็นต้องเปิดรับทุนใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเหลือ ขณะเดียวกันทั้ง 2 บริษัทก็พยายามแสวงหาทุนใหม่ที่สนใจ Big C เช่นเดียวกัน

จนกระทั่งในปี 2542 Casino Group ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่เบอร์ 2 จากฝรั่งเศส แสดงความสนใจและเข้ามาเพิ่มทุนใน Big C กลายเป็น ‘ผู้ถือหุ้นใหญ่’ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการปรับรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ครั้งแรกของ Big C แทนตระกูลจิราธิวัฒน์นั่นเอง และก็มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 60 แห่งทั่วประเทศ

ช่วงเวลาดำดิ่งของ ‘คาร์ฟูร์’ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ, การแข่งขันในตลาด ทำให้กิจการเริ่มแย่ลงจนต้องประกาศขายกิจการทั้งหมดในไทย ซึ่ง Casino Group (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Big C) แสดงความสนใจจนชนะการประมูลในครั้งนั้น หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนสาขาทั้งหมดของคาร์ฟูร์ให้เป็น Big C และได้แตกโมเดลใหม่ที่ชื่อว่า ‘บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า’ จนทำให้ Big C ตอนนั้นมีสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 100 สาขาทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นในปี 2559 ‘Casino Group’ ประสบปัญหาทางการเงิน จึงจำเป็นต้องเปิดประมูลธุรกิจ Big C ทั้งหมดที่ถือในมือ โดยมีสาขาทั้งในไทย, ลาว และเวียดนาม ซึ่ง 2 กลุ่มบริษัทที่สนใจเข้ามาประมูลก็คือ ‘เซ็นทรัล’ (เจ้าของเดิมที่ปั้นแบรนด์มากับมือ) กับ ‘กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น’ (TCC Group) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

ผลก็คือ TCC Group ของเจ้าสัวเจริญ ชนะการประมูลกิจการ Big C ด้วยมูลค่า 200,000 ล้านบาท โดยเป็นสาขา Big C ในไทยและลาว ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ถอน Big C ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และย้ายมาเป็นบริษัทย่อยในเครือ BJC นั่นเอง

ส่วนเซ็นทรัล ประมูล Big C ในเวียดนามได้สำเร็จ โดยเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรที่เวียดนาม 2 รายคือ ‘กลุ่มเหงียนคิม และกลุ่มลานชี มาร์ท’ ซึ่งในปี 2562 กลุ่มเซ็นทรัล ได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของ Big C จากกลุ่มเหงียนคิมเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มเซ็นทรัลจะชนะการประมูลกิจการ Big C ในเวียดนาม แต่สิทธิ์การเป็นเจ้าของแบรนด์นั้นเป็นของเครือ BJC ของเจ้าสัวเจริญ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัล อยู่ในช่วงการเปลี่ยนชื่อไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เรียกว่า ‘GO!’ ในเวียดนาม โดยมีหลาย ๆ สาขาที่หมดสัญญาเช่าลิขสิทธิ์ถูกรีแบรนด์เป็นชื่อ GO! เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ทางเซ็นทรัล รีเทล บอกว่า การเปลี่ยนชื่อเป็น GO! ทั้งหมดในเวียดนามอยู่ในแผนของ CRC เป็นแพลนระยะยาวที่ขึ้นอยู่กับสัญญาเช่าในสาขานั้น ๆ จะครบกำหนด

Big C ในพาร์ตของเครือ BJC เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่แค่การประมูลเพื่อให้ได้มา แต่ตระกูลสิริวัฒนภักดี เห็นถึงศักยภาพและพยายามแตกโมเดลใหม่ ๆ ให้กับ Big C ให้มีความน่าสนใจขึ้น เช่น Mini Big C, Big C Food Place, Big C Place เป็นต้น

เมื่อไม่นานมานี้ BJC ก็ได้อนุมัติแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 3,730 ล้านหุ้นของ Big C ทั้งยังประกาศนำหุ้นสามัญของบริษัท บิ๊กซี รีเทลฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย

สถานการณ์การแข่งขันในตลาดรีเทลประเทศไทยเวลานี้ถือว่าเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ต้องอย่าลืมว่าตัวเลือกของลูกค้าในปัจจุบันค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งการเข้าถึงง่าย คุณภาพ และตอบโจทย์ก็ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก ๆ ที่ผู้บริโภคนึกถึงเสมอ เชื่อว่า Big C กับโมเดลใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นหลังจากนี้ก็น่าจะสร้างข้อได้เปรียบในศึกค้าปลีกของไทยได้อยู่บ้าง

 

อ้างอิง :

Bloomberg

Seafood.media

BigC

Bangkokbiznews

Brandcase

Prachachat