18 ก.พ. 2567 | 16:16 น.
- จากการสำรวจของ Cozy Meal ในปี 2023 พบว่าเชฟที่เข้าร่วมทำการสำรวจกว่า 140 คนนั้น เกือบครึ่ง หรือ 44% ยอมรับตรงกันว่าการทำงานในร้านอาหารส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต โดยผู้เข้าร่วมกว่า 38% ต้องรับมือกับภาวะซึมเศร้า อีก 49% ป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับ และ 70% ประสบกับภาวะวิตกกังวลอันเป็นผลสะสมมาจากการทำงาน
- เมื่อต้นปี 2023 หนึ่งในร้านอาหารที่ดีที่สุดของโลกจากโคเปนเฮเกนอย่าง ‘โนมา’ (Noma) ก็ได้ประกาศปิดตัวลง โดยเชฟเจ้าของร้าน ‘เรเน เรเซปี’ (René Redzepi) ให้เหตุผลว่าธุรกิจของเขาไม่ยั่งยืนได้อย่างที่หวังทั้งในด้านการเงินและอารมณ์ ตามด้วย ‘เชฟมิเชล รูซ์’ (Michel Roux) ก็ประกาศปิด ‘เลอ กาฟร็อช’ (Le Gavroche) ร้านอาหารมิชลินสองดาวในลอนดอน เมื่อมกราคมที่ผ่านมา หลังจากเปิดให้บริการมายาวนานกว่า 56 ปี เพื่อต้องการรักษาสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว
หากย้อนไปเมื่อปี 2005 คงต้องบอกว่า ‘เฮลล์ คิทเช่น’ (Hell’s Kitchen) ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญให้กับเรียลิตี้โชว์ (Reality Show) ด้วยคอนเซปต์สดใหม่ที่แทบพลิกโฉมรายการสอนทำอาหารที่เราคุ้นเคยให้กลายเป็นสนามประลองการแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด พร้อมชูเดิมพันสูงพอที่ทำให้ผู้เข้าแข่งขันยากที่จะปฏิเสธ เพราะรางวัลที่ได้จากรายการนี้ไม่ใช่ ‘เงิน’ แต่เป็น ‘โอกาสที่ได้ร่วมงาน’ กับเซเลบริตี้เชฟเจ้าของรายการอย่าง ‘กอร์ดอน แรมซีย์’ (Gordon Ramsay) ที่สามารถพลิกชีวิตผู้เข้าแข่งขันจากหน้ามือเป็นหลังมือได้
สำหรับรูปแบบรายการก็ไม่ได้ซับซ้อน เริ่มด้วยการแบ่งผู้เข้าแข่งขันออกเป็น 2 ทีม ‘ทีมแดง’ และ ‘ทีมน้ำเงิน’ ซึ่งในแต่ละตอนทั้งสองทีมจะต้องขับเคี่ยวกันในภารกิจย่อยเพื่อคว้ารางวัลและโอกาสพิเศษ ก่อนจะเข้าสู่การแข่งขันจริงด้วยการเปิดครัว ‘Hell’s Kitchen’ ที่ทั้งสองทีมจะต้องวางกลยุทธ์แบ่งหน้าที่ในครัวตามความเหมาะสม เพื่อแบทเทิลกับอีกทีม แล้วเอาชนะให้ได้ เพื่อรอดพ้นจากการเป็นทีมแพ้ที่ต้องมีคนถูกคัดออก ส่วนวิธีตัดสินทีมที่ชนะก็จะหาจากทีมที่เสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด หรือผิดพลาดน้อยที่สุด ภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวดของเชฟกอร์ดอน แรมซีย์
จากการต่อสู้สุดลุ้นระทึกของบรรดาเชฟที่ต้องเอาตัวรอดจากครัวนรก แน่นอนว่า Hell’s Kitchen ประสบความสำเร็จอย่างงดงามตั้งแต่เปิดตัวซีซันแรก ตัวรายการก็ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ‘เอ็มมี อวอร์ดส์’ (Primetime Emmy Awards) สาขา Outstanding Art Direction for Variety, Music or Nonfiction Programming ถึง 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2007-2009 โดยในปี 2009 กอร์ดอน แรมซีย์ ได้รับรางวัล ‘แอสตรา อวอร์ดส์’ (Astra Awards) ในสาขา Favourite International Personality or Actor
ในปี 2011 Hell's Kitchen ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง ‘Favorite Reality Show’ จากเวทีสำคัญอย่าง ‘พีเพิลส์ ชอยส์ อวอร์ดส์’ (People's Choice Awards) อีกทั้งตัวเชฟแรมซีย์เองยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรายการ Favorite TV Chef ซึ่งทั้งหมดล้วนการันตีความโด่งดังของรายการ และตัวเชฟแรมซีย์ได้เป็นอย่างดี ด้วยผลผลิตถึง 22 ซีซัน ภายในระยะเวลา 19 ปี และล่าสุดกับ Hell’s Kitchen Thailand สาขาประเทศไทย ที่เพิ่งเผยตอนแรกไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แต่ถึงกระนั้น ในช่วง 2-3 ปีมานี้ นักสังคมวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและเชฟชื่อดังหลายท่านกลับตั้งข้อสังเกตว่ารายการนี้นับเป็นผลผลิตอันซ้ำซากของ ‘Toxic Culture’ หรือ ‘วัฒนธรรมที่เป็นพิษ’ ที่ควรจะจบสิ้นเสียที เพราะวัฒนธรรมที่ว่านี้กำลังกัดกร่อนอุตสาหกรรมร้านอาหารอย่างช้า ๆ
“บีฟเวลลิงตันยังดิบ หอยเชลล์ไม่สุก แซลมอนก็ดิบ” คงเป็นคำพูดที่แฟนรายการได้ยินซ้ำๆ ก่อนจะตามติดมาด้วยเสียงปี๊บ! (เพื่อเซ็นเซอร์คำไม่สุภาพ) แล้วปิดท้ายด้วยเสียงของอาหารที่ถูกขว้างลงในอ่างล้างจาน บ้างก็เป็นกำแพง บ้างก็ถังขยะ โดยความรุนแรงจะแปรผันตามอารมณ์ของเชฟแรมซีย์
เสียงตะโกน สบถ ก่นด่า และบูลลี ใส่เชฟที่ทำผิดพลาดข้างต้นได้กลายเป็นภาพจำของ กอร์ดอน แรมซีย์ และทำให้เขาโด่งดังไปทั่วโลกในมาดของเชฟสุดโหด ที่มักมาพร้อมกับคำวิพากย์วิจารณ์สุดแสบสันต์ โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ (Twitter) ที่ปัจจุบันคือเอ็กซ์ (X) ก็มักมีแฟนคลับที่มักจะโพสต์รูปและคลิปทำอาหาร ก่อนเมนชั่นให้เชฟแรมซีย์ดู เพื่อรอฟังคำวิจารณ์สุดโหดด้วยความชอบอกชอบใจ
แต่ตอนนี้บรรดานักสังคมวิทยา และผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมร้านอาหารกำลังเรียกร้องให้ยุติ “การใช้ความรุนแรงทางคำพูด” เมื่อสิ่งที่เห็นกันอย่างคุ้นชินนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม หากแต่ยังล้าสมัย เมื่อรายการนี้ได้สืบทอดความรุนแรงมาเกือบ 2 ทศวรรษ
เมื่อรายการนี้เป็นเพียงแค่โชว์หนึ่งโชว์ แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และเหตุการณ์ที่ทางทีมงานสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มอรรถรส และกระตุ้นเรตติ้งสร้างความนิยมให้กับรายการ เชื่อว่ามีหลายคนน่าจะเคยสงสัยว่าในเมื่อแต่ละคนเป็นเชฟกันอยู่แล้ว ทำไมเรื่องผิดพลาดถึงเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ๆ ซึ่งทางรายการและผู้เข้าแข่งขันเองก็เคยออกมายอมรับว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในรายการมีทั้งที่ผู้เข้าแข่งขันทำผิดพลาดเองจริง ผสมกับเรื่องที่ทางทีมงานแอบเสริมเติมเชื้อไฟเข้ามา เพื่อให้เชฟแรมซีย์แสดงความเกรี้ยวกราดออกมาตามคอนเซปต์รายการ
แม้ตัวจริงนอกจอของแรมซีย์ ไม่ได้ดูดุดันมุทะลุอย่างที่เห็นในรายการ และเหมือนเขาจะได้มีโอกาสเล่าเรื่องชีวิตของตัวเองในสารคดี ‘Boiling Point’ (1999) เสียด้วย แต่การกระทำรุนแรงในจอของเขากำลังส่งต่อความรุนแรงให้ดูเป็น ‘เรื่องปกติ’ หากนิยามตามความหมายของคนรุ่นนี้ เชฟแรมซีย์ก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ (Influencer) ที่มีอิทธิพลต่อความคิด และการกระทำของคนในยุคเกือบ 20 ให้หลัง ราวกับปลูกฝังความคิดให้กับเชฟรุ่นต่อ ๆ มามองว่าการมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวเป็นที่ยอมรับได้ในสายอาชีพนี้ อย่างที่ผู้เข้าแข่งขันรายหนึ่งในซีซัน 22 บอกว่า เขาติดตามเฝ้ามองเชฟแรมซีย์มากว่า 20 ปี และมองเชฟแรมซีย์เป็นต้นแบบ
นอกจาก Hell’s Kitchen แล้ว ยังมีภาพยนตร์และซีรีส์อีกหลายเรื่องที่ตีแผ่ชีวิตเชฟภายใต้ความกดดัน และความรุนแรงในครัว ไม่ว่าจะเป็น ‘Boiling Poiont’ (2021) หนังอินดี้ที่นำเสนอเรื่องราวสุดวุ่นในร้านอาหารชื่อดังได้อย่างมีชั้นเชิง ตามด้วยภาพยนตร์ตลกร้ายที่เล่าเรื่องราวของเชฟที่อยากเอาคืนนักวิจารณ์อาหารด้วยความขมขื่นใน ‘The Menu’ (2022) หรือจะเป็นซีรีส์ฮิตที่กวาดกระแสชื่นชมล้นหลามอย่าง ‘The Bear’ (2022) รวมทั้งภาพยนตร์ไทยที่ฉายในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) อย่าง ‘The Hunger’ (2023) ที่นำภาพของเชฟสุดโหดมาใช้สร้างสีสันและเป็นตัวละครหลักของเรื่อง
คำว่า ‘วัฒนธรรมที่เป็นพิษ’ ที่เกิดขึ้นในห้องครัวนั้น ไม่ได้หมายถึงอาหารที่มีพิษ หรือวิธีปรุงอาหารที่เป็นอันตราย แต่หมายถึงความกดดันและความรุนแรงที่เหล่าเชฟต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
เบื้องหลังของรายการ Hell’s Kitchen ก็พบถึงปัญหานี้ด้วยเช่นกัน เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นรายการเรียลลิตี้แล้ว เชฟผู้เข้าแข่งขันจึงต้องถูกกล้องจับตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง แม้จะเป็นช่วงเข้านอนก็ตาม อย่างเช่นในซีซันที่ 2 หนึ่งในโปรดิวเซอร์รายการได้ออกมาเผยว่า ตอนเริ่มรายการมีผู้เข้าแข่งสูบบุหรี่เพียง 4 คน แต่พอเข้าช่วงท้ายซีซันจำนวนผู้สูบบุหรี่กลับเพิ่มขึ้นเป็น 10 คน ซึ่งทางรายการเองก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจ ด้วยการออกนโยบายให้ผู้เข้าแข่งขันหลังจากถูกคัดออก ทุกคนจะต้องได้รับการประเมินทางด้านจิตเวชทันที ก่อนจะพาพวกเขากลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง
ในปี 2023 ‘โคซีย์ มีล’ (Cozy Meal) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มฝึกอบรมเชฟออนไลน์ ได้ทำการสำรวจเชฟ 140 คน ในประเด็นวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ พบว่าเกือบครึ่งหรือ 44% ยอมรับตรงกันว่าการทำงานในร้านอาหารส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต โดยผู้เข้าร่วมกว่า 38% ต้องรับมือกับภาวะซึมเศร้า อีก 49% มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ และ 70% ประสบกับความวิตกกังวลอันเป็นผลสะสมมาจากการทำงาน
นักสังคมวิทยาหลายท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมร้านอาหารน่าจะมาจากบรรยากาศการทำงานที่มีลำดับชั้น โดยมีหัวหน้าเชฟอยู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่ หัวหน้าเชฟจะมีหน้าที่หลักในดูแลการปฏิบัติงานทั้งหมดของคนในทีม รวมถึงมีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย ทำให้หัวหน้าเชฟสามารถออกคำสั่งกับใครก็ได้อย่างชอบธรรม เหมือนที่เราได้เห็นในรายการเรียลลิตี้ชื่อดังนั่นเอง และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ในขณะที่ทุก ๆ อุตสาหกรรมกำลังก้าวเข้าสู่ ‘Healthy & Happy Culture’ วัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เน้นสร้างสุขในที่ทำงาน มี ‘Work Life Balance’ ในชีวิต แต่ทว่าว่าในอุตสาหกรรมร้านอาหารกลับเป็นไปได้ยาก เมื่อเชฟส่วนใหญ่กลับต้องใช้เวลาแทบทั้งหมดอยู่ในร้านอาหาร ราวกับเป็น ‘โลกทั้งใบ’ ของพวกเขา
‘ไซมอน โรแกน’ (Simon Rogan) เชฟชาวอังกฤษเจ้าของมิชลินสตาร์ 3 ดาวจากร้าน ‘ลองคลูม’ (L’Enclume) ประเทศอังกฤษ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ว่าตัวเขาเองก็เคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านั้นมาก่อนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การบีบน้ำเลมอนให้หมดกล่องจนมือปวดแสบปวดร้อน หรือจะเป็นการใช้กระดาษทรายขัดเปลือกของหอยนางรมให้เรียบ จนมือไม้แทบพังจากบาดแผลที่เกิดขึ้น เพื่อให้หอยสามารถวางบนจานได้อย่างสวยงาม ก่อนที่เชฟโรแกนจะทิ้งท้ายว่า ‘วัฏจักร’ นี้คงต้องอาศัยเวลาคลี่คลายแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อการนำเสนออาหารออกมาให้ดีที่สุดยังคงต้องอาศัยวิธีการทำงานในรูปแบบนี้ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่าต้องมีเชฟรุ่นจูเนียร์ที่ต้องตกอยู่ในสภาพ ‘เหยื่อ’ จนกว่าจะประสบความสำเร็จไปอีกสักกี่คน
เมื่อต้นปี 2023 หนึ่งในร้านอาหารที่ดีที่สุดของโลกจากโคเปนเฮเกนอย่าง ‘โนมา’ (Noma) ก็ได้ประกาศปิดตัวลง โดยเชฟเจ้าของร้าน ‘เรเน เรเซปี’ (René Redzepi) ให้เหตุผลว่าธุรกิจของเขาไม่อาจยั่งยืนได้อย่างที่หวัง ทั้งในด้านการเงินและอารมณ์ ซึ่งการที่จะดำเนินธุรกิจตามคอนเซปต์หลักอย่าง ‘นิวนอร์ดิก’ (New Nordic) ที่เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อรักษาความยั่งยืนนั้น ได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนสำหรับโนมาอีกต่อไป เพราะการที่ได้มาซึ่งวัตถุดิบที่สดใหม่ ทำให้ต้องใช้แรงงานและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง อ้างอิงจากรายงานของ ‘เดอะ ไฟแนนเชียล ไทมส์’ (The Financial Times) พบว่าเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 ทางร้านเพิ่งเริ่มทยอยจ่ายเงินให้กับนักศึกษาฝึกงาน หลังจากถูกร้องเรียนว่าเหล่านักศึกษาฝึกงานถูกให้ทำงานเกิน 70 ชั่วโมง / สัปดาห์ โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งจำนวนเงินที่จ่ายเพิ่มนั้นสูงถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,800,000 บาท ต่อเดือน ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า หากร้านอาหารไม่สามารถจัดบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตรมากขึ้น ก็อาจมีสิทธิที่จะเจอกับปัญหาครั้งใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีเชฟ ‘มิเชล รูซ์’ (Michel Roux) ที่ประกาศปิด ‘เลอ กาฟร็อช’ (Le Gavroche) ร้านอาหารมิชลินสองดาวในลอนดอน เมื่อมกราคมที่ผ่านมา หลังจากร้านอาหารแห่งนี้เปิดให้บริการมายาวนานกว่า 56 ปี ตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ ซึ่งเซเลบริตี้เชฟคนดังชาวอังกฤษก็ให้เหตุผลที่ไม่ต่างกันว่า เขาต้องการที่จะรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว
หากจะให้สืบย้อนวิธีการทำงานด้วยการแบ่งหน้าที่ในครัวด้วยการประสานเสียงว่า “Yes Chef!” อย่างที่เห็นกันในรายการนั้น คงต้องบอกว่ามีที่มาจาก ‘ออกุสต์ เอสโคฟิเอร์’ (Auguste Escoffier ; 1846 - 1935) หรือที่ใครรู้จักกันในนามของ ‘บิดาของอาหารฝรั่งเศสสมัยใหม่’
เอสโคฟิเอร์ เป็นทั้งเชฟและนักเขียนผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมร้านอาหารอย่างที่ไม่มีใครเทียบได้ จากคุโณปการมากมายที่สร้างสีสันให้กับวงการอาหารฝรั่งเศส และวงการอาหารโลก ด้วยการบุกเบิกร้านอาหารแบบไฟน์ไดนิ่ง (Fine Dining) จากการมองภาพว่าการทำอาหารนั้นประกอบไปด้วยศาสตร์และศิลป์ ต้องใช้วัตถุดิบที่ดีและสดใหม่ เพื่อส่งมอบอาหารที่ดีที่สุด และที่สำคัญอาชีพเชฟควรเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับในฐานะที่สร้างความสุขให้กับเพื่อนมนุษย์
ด้วยพรสวรรค์และความตั้งใจที่ติดตัวมาตั้งแต่อายุ 13 ปี ผนวกเข้ากับประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอดชีวิตทำให้เอสโคฟิเอร์มีความคิดที่จะปรับโฉมการทำงานในครัวเสียใหม่ โดยใช้ระบบการแบ่งสายงานในครัว (Brigade System) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสายการบังคับบัญชาในกองทหาร
โดยแบ่งการทำงานออกเป็นสัดส่วนตามหน้าที่เป็นลำดับขั้น เริ่มด้วย ‘เชฟใหญ่’ (Chef de Cuisine), ‘ผู้ช่วยเชฟใหญ่’ (Sous-Chef de Cuisine), ‘ซีเนียร์เชฟ’ (Chef de Partie หรือ Demi-Chef), ‘กุ๊ก’ (Cuisinier), ‘ผู้ช่วยกุ๊ก’ (Commis) ก่อนจะตามด้วยหน้าที่แยกย่อยอย่างคนดูแลซอส คนดูแลผลไม้ รวมทั้งนักศึกษาฝึกงาน (Apprenti หรือ Apprentice)
โดยเอสโคฟิเอร์เชื่อว่า การแบ่งหน้าที่เช่นนี้จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถรองรับการมาของลูกค้าเป็นจำนวนมากได้นั่นเอง หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “การปฏิวัติอุตสาหกรรมร้านอาหาร” ก็ไม่น่าผิด
นอกจากนี้ เอสโคฟิเอร์ ยังเป็นผู้นำมาตรฐานสุขอนามัยในครัวมาใช้เป็นคนแรก ซึ่งมาพร้อมกฏการทำงานที่เข้มงวด อย่างเช่นการห้ามสูบบุหรี่ ห้ามดื่มสุรา เรื่อยไปจนถึงเครื่องแบบสีขาวและหมวกเชฟทรงสูงที่สื่อถึงความสะอาดและสง่างามที่ได้กลายเป็นเครื่องแบบอันทรงเกียรติของเชฟที่ใช้ต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งระยะเวลากว่า 200 ปีนั้นก็น่าจะนานพอให้เราเรียนรู้ได้ว่า การสร้างสังคมการทำงานที่ดี ไม่จะเป็นต้องมาจากการมีผู้นำที่ใช้ความรุนแรงเสมอไป อย่างที่ ‘เอริค รีเพิร์ด’ (Eric Ripert) เชฟชาวฝรั่งเศสและพิธีกรรายการชื่อดังบอกว่า การที่เชฟใหญ่คุมครัวด้วยบุคลิกดุดันแบบทหารไม่ได้ทำให้อาหารอร่อยขึ้น
“ตราบใดที่คนในทีมกลัว พวกเขาจะยิ่งเสียสมาธิเพราะตัวสั่นกลัวทำผิดพลาด พวกเขาไม่มีทางทำอาหารได้ดีกว่าคนที่สามารถทุ่มเทพลังไปกับความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่”
ในขณะที่เรียลิตี้โชว์หลากหลายรายการล้มหายตายจากไปมากมาย แต่ Hell’s Kitchen ก็ยังยืนยาวประสบความสำเร็จได้ตลอดมา
ปัจจัยความสำเร็จของรายการนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากกติกาการแข่งขันที่เข้มข้น ผนวกเข้ากับคาแรกเตอร์ของเชฟแรมซีย์ได้อย่างลงตัว ยิ่งรายการทวีความรุนแรงเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ผู้ชมยิ่งรู้สึกอยากเอาใจช่วย เมื่อผสานเข้ากับดรามาความผิดพลาด ควบคู่ไปกับการสู้ชีวิตฝ่าฟันอุปสรรคของผู้เข้าแข่งขันอันเป็นสูตรสำเร็จ ก็คว้าใจผู้ชมได้ไม่ยาก ก่อนจะทิ้งท้ายถึงเหตุผลของการคัดคนออก ด้วยคำคมสุดโรแมนติกจากเชฟแรมซีย์ ก็เพียงพอแล้วในการสร้างความชอบธรรมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น
แม้ในเรียลลิตี้ไม่ใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด และเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็อาจเป็นแค่ละครบทหนึ่งเท่านั้น แต่การที่ผู้ชมบริโภคความรุนแรงต่อเนื่องกันนาน ๆ อาจจะทำให้เกิดความคุ้นชิน เพราะเราไม่สามารถเรียกใครสักคนว่าเป็น ‘แซนวิชงี่เง่า’ หรือ ‘ก้อนไขมันเดินได้’ ในชีวิตจริง ซึ่งการได้ดูรายการก็เหมือนกับทำให้เราได้ปลดปล่อยความคุกรุ่นในใจวิธีหนึ่ง ซึ่งเราเชื่อว่าทุกคนรู้ตัวเองว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่เราก็ยังชอบเสพย์ความดรามาที่เกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การซึมซับสิ่งเหล่านี้จนมองว่าเป็นเรื่องปกติกลับยิ่งน่ากลัวยิ่งกว่า เมื่อมีคนที่ได้รับผลกระทบแบบนี้จริง ๆ ในอุตสาหกรรมร้านอาหาร การทำงานหนัก การอดทนต่อความรุนแรง เพื่อประสบความสำเร็จ หรือเพื่อให้มีประวัติงานดี ๆ ในเรซูเมเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ซึ่งในตอนนี้เราอาจเป็นคนนอก แต่ถ้าสักวันหนึ่งเราเป็นคนในขึ้นมาบ้างล่ะ เรื่องนี้ ‘ไม่ปกติ’ อย่างแน่นอน
อย่างที่ใคร ๆ มักบอกกันว่า เรื่องจริงคือละคร ละครก็มาจากชีวิตจริง ดังนั้น ในเมื่อเราอยากสร้างสังคมให้ดีขึ้น ผู้ผลิตก็ควรจะสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ด้วยเช่นกัน โดยจะอ้างว่า “เพราะมีไฟถึงมีควัน” ก็คงไม่ถูกนัก เพราะอย่างน้อยเราก็เคยเห็นเชฟแรมซีย์มาดนุ่มนวลในรายการมาสเตอร์เชฟ (Master Chef) จริงไหม?
เรื่อง : รตินันท์ สินธวะรัตน์
ภาพ : Getty Images
อ่านเพิ่มเติม
Brooke Younger. Toxic Restaurant Culture : A Recipe for Chef Stress and Burnout.
John Crace. ‘Extreme Suffering’ Central to Culture of Elite Kitchens – Study.
Heidi Lux. Why Does ‘Hell’s Kitchen’ Still Celebrate Toxic Chef Culture?
Marketeer. Auguste Escoffier ราชาแห่งเชฟฝรั่งเศสในตำนาน ผู้พลิกโฉมหน้าครัวและโต๊ะอาหารทั้งโลก.
Mónica Marie Zorrilla. Gordon Ramsay’s ‘Hell’s Kitchen’ Renewed for Two More Seasons at Fox.
Taylor Huang. Study Reveals How Shows Like Hell's Kitchen Are Making The Restaurant Industry Worse.