ผลสำรวจชี้ตลาดแรงงานไทย เพิ่มตำแหน่ง ไม่เพิ่มเงินเดือน ตำแหน่งงานเฟ้อขึ้น

ผลสำรวจชี้ตลาดแรงงานไทย เพิ่มตำแหน่ง ไม่เพิ่มเงินเดือน ตำแหน่งงานเฟ้อขึ้น

ผลสำรวจเกี่ยวกับตลาดแรงงานไทยข้อมูลจาก ‘โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย’ ที่สะท้อนความกังวลถึงภาวะตลาดแรงงานเฟ้อ (Job Title Inflation) หลังจากที่บริษัทหลายแห่งปรับชื่อตำแหน่งงานให้สูงเกินจริง แต่บทบาทหน้าที่ หรือแม้แต่เงินเดือน ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

KEY

POINTS

  • ผลสำรวจของ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส พูดถึงตลาดแรงงานในไทยที่กำลังเผชิญภาวะตำแหน่งงานเฟ้อ (Job Title Inflation)
  • หลายบริษัทใช้กลยุทธ์ดึงคนด้วยการตั้งชื่อตำแหน่งสูงเกินจริง
  • ชื่อตำแหน่งที่สูงขึ้น บางครั้งไม่สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือแม้แต่เงินเดือน

ตำแหน่งงานในตลาดแรงงานไทยมีความเฟ้อขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า ‘Job Title Inflation’ โดยตำแหน่งที่ขึ้นต้นด้วย “ผู้อำนวยการ” เพิ่มขึ้นถึง 24% ส่วนตำแหน่งที่ขึ้นต้นด้วย “หัวหน้าแผนก” ที่มีประสบการณ์เพียง 2 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 16% 

ชื่อตำแหน่งงานที่สูงเกินจริงเหล่านี้ ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยดึงดูดผู้สมัครในตลาด และช่วยรักษาพนักงานเดิมให้อยู่กับบริษัทต่อ แต่ความจริงกลยุทธ์เหล่านี้ควรได้รับการทบทวนอย่างรอบคอบ ป้องกันก่อนเกิดเหตุไม่คาดคิดภายหลัง

สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในข้อสังเกตและข้อมูลเชิงลึกจาก ‘โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย’ ที่ออกมาแสดงความกังวลถึงแนวโน้มที่จะเกิดภาวะตำแหน่งงานเฟ้อในตลาดแรงงานไทย เพราะนั่นหมายถึง แนวทางปฏิบัติของบริษัทในการนำเสนอตําแหน่งงานที่สูงเกินจริง แต่ความรับผิดชอบไม่สอดคล้องกับชื่อตำแหน่ง ความอาวุโส รวมถึง ‘เงินเดือน’ ก็ไม่สะท้อนความเป็นจริงของตําแหน่งงานที่ตั้งขึ้น

 

กลยุทธ์ดึงหัวกะทิด้วย ‘ชื่อตำแหน่งสูง’

เหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้หลายบริษัทต้องใช้ชื่อตำแหน่งที่สูงเกินจริง เกินหน้าที่ความรับผิดชอบ ส่วนหนึ่งเพราะว่า ชื่อตำแหน่งงานและการเลื่อนตำแหน่งเป็นสิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญมากขึ้น เป็นข้อมูลการสํารวจความคิดเห็นทาง LinkedIn ที่ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย ได้จัดทำขึ้นในเดือนมกราคม

ข้อมูลระบุว่า 86% ของพนักงานยอมรับว่าตําแหน่งงานมีความสําคัญมากต่อการสมัครงาน ส่วนพนักงานรุ่นใหม่ 36% คาดหวังว่าจะได้รับการเลื่อนขั้นภายใน 18 เดือนหลังจากที่ได้เข้าทํางานในบริษัท

ความคาดหวังเหล่านี้ ทำให้หลายบริษัทตัดสินใจใช้กลยุทธ์ในการดึงคน โดยเกือบ 50% ของบริษัทที่ทำการสำรวจใช้กลยุทธ์ด้วยการตั้งชื่อตำแหน่งสูง ๆ เพื่อดึงดูดผู้สมัครงานและได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดีด้วย แต่ประมาณ 6% ของบริษัทที่ทำแนวทางเดียวกันนี้ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ส่วนอีก 40% คือบริษัทที่ยังไม่เคยใช้วิธีนี้ในการดึงดูดผู้สมัครงานเลย

ผลสำรวจชี้ตลาดแรงงานไทย เพิ่มตำแหน่ง ไม่เพิ่มเงินเดือน ตำแหน่งงานเฟ้อขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้กลยุทธ์เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเกินจริงอาจไม่ได้ตอบโจทย์สิ่งที่บริษัทต้องการจริง ๆ รวมไปถึงสิ่งที่ผู้สมัครคาดหวังด้วย ‘ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา’ ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า “การตั้งชื่อตำแหน่งงานที่สูงมีประโยชน์ในการช่วยดึงดูดผู้สมัครที่กำลังมองหาความก้าวหน้าทางอาชีพ แนวทางนี้ช่วยสร้างเส้นทางการเติบโตในบริษัทที่มากขึ้น ส่งเสริมต่อการเลื่อนตำแหน่งและส่งผลต่อการรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัท แต่หากพนักงานได้รับตําแหน่งงานที่สูงเกินจริงโดยไม่ได้ทํางานที่สอดคล้องกับชื่อตำแหน่งอย่างแท้จริง และภายหลังได้ไปทำงานที่บริษัทอื่นที่ต้องการความรับผิดชอบที่สอดคล้องกับตําแหน่งที่สูงเกินจริงนี้ อาจทำให้เกิดความคาดหวัง และทำให้บั่นทอนความมั่นใจของพวกเขาได้”

ผลสำรวจชี้ตลาดแรงงานไทย เพิ่มตำแหน่ง ไม่เพิ่มเงินเดือน ตำแหน่งงานเฟ้อขึ้น

ขณะที่ ‘นัฐติยา ซอล’ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ทรัพยากรบุคคล ซัพพลายเชนและวิศวกรรม และฝ่ายอีสเทิร์น ซีบอร์ด บริษัทโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “การนําตําแหน่งงานที่สูงเกินจริงมาใช้ทําให้พนักงานเกิดความสับสนในการทําความเข้าใจบทบาทและความรับผิดชอบของตนเอง และยังสร้างความไม่พอใจให้กับพนักงาน เนื่องจากถูกมองว่าความรับผิดชอบที่แท้จริงไม่ตรงกับความอาวุโสของตําแหน่ง”

ส่วนทางฝั่งของ ‘นายจ้าง’ ก็เผชิญกับความยากลำบาก อธิบายก็คือ “แนวทางนี้อาจสร้างความลำบากในการวางแผนความก้าวหน้าในอาชีพพนักงาน เพราะต้องอาศัยความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับทักษะและประสบการณ์ที่จําเป็นในตําแหน่งงานที่สูงขึ้น ดังนั้น ตําแหน่งงานที่เฟ้อเกินจริงอาจส่งผลเสียต่อการระบุและระบบบริหารจัดการผู้สืบทอดตำแหน่ง นอกจากนี้ หากผู้สมัครพบว่าตําแหน่งงานและความรับผิดชอบจริงไม่ตรงกัน ก็อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทได้เช่นกัน”

หากดูจากข้อมูลโดยละเอียดของ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย ได้พูดถึงการใช้ชื่อตำแหน่งงานที่สูงเกินจริง ที่ไม่ได้สะท้อนถึงความอาวุโสตามที่ควรจะเป็น โดยพนักงานมองว่า บทบาทที่บ่งบอกถึงความอาวุโสจริง ๆ เช่น การบริหารทีม (56%) และความสำคัญในหน้าที่  (39%) ขณะเดียวกัน มีเพียง 6% เท่านั้นที่คิดว่า ตําแหน่ง C-Suite/ หรือขึ้นต้นด้วยคำว่า Head-of บ่งบอกถึงความอาวุโสอย่างแท้จริง

ความเห็นจากพนักงานที่ทำการสำรวจนี้ สะท้อนว่า การได้รับชื่อตำแหน่งที่สูงเกินจริงแม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ภาวะการเป็นผู้นำทีม และความสำคัญของบทบาทที่ทำมีน้ำหนักมากพอที่จะเป็นตัวกำหนดความอาวุโสในบริษัท มากกว่าชื่อตำแหน่ง

สิ่งที่บริษัทที่สนใจทำกลยุทธ์นี้ หรือทำอยู่ก่อนแล้วควรจะทำก็คือ ชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียอย่างละเอียดและทําความเข้าใจผลกระทบระยะยาว รวมไปถึง การกำหนดบทบาท หน้าที่ และชื่อตำแหน่งที่ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคตได้

 

ข้อมูลจาก : บริษัทโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางาน