09 ก.พ. 2567 | 17:46 น.
- ฉายภาพ 4 Mega Trend ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงมุมมองการ ‘บริหารคน’
- ปัญหาการบริหารจัดการภายในองค์กร ที่ติด Top 5
- 3 วิธี ‘ถอดรหัสคนเก่ง’
ไม่มีใคร ‘เก่ง’ เท่าแม่_แล้วค่ะ!
นี่เป็นประโยคเหน็บแนมที่เราได้ยินบ่อย ๆ เวลาใครสักคนสร้างความน่าหมั่นไส้ โดยใช้ความสามารถของตัวเอง ‘ข่ม’ คนอื่น
ทั้งที่ในความเป็นจริง ‘ความเก่ง’ อาจเป็นสิ่งที่ ‘วัด’ ได้ ค่อนข้างยาก เพราะความเก่งในสถานการณ์หนึ่ง อาจไม่สามารถทำให้เราผ่านพ้นในบางสถานการณ์ไปได้
พูดง่าย ๆ คือ “ไม่มีใครหรอกที่จะเก่งไปซะทุกอย่าง”
แต่หากคุณมั่นใจว่าตัวเอง ‘เก่ง’ ในงานที่ทำ คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่า คุณจะยังเป็น ‘พนักงานผู้ทรงคุณค่า’ ในองค์กรของคุณ?
ก่อนที่จะไปหาคำตอบว่า คุณเป็น ‘คนเก่ง’ ในแบบที่องค์กรต้องการหรือไม่? คุณต้องเข้าใจก่อนว่า อะไรคือ ‘Mega Trend’ ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงมุมมองการ ‘บริหารคน’
‘อภิชาติ ขันธวิธิ’ CEO of QGEN Consultant ฉายภาพ 4 Mega Trend ที่เขามองเห็น ระหว่างกล่าวในหัวข้อ PEOPLE FORECAST บนเวที AP Thailand Presents CTC FORECAST 2024 รู้ก่อน เริ่มก่อน เปลี่ยนแปลงก่อน ดังนี้
Mega Trend แรกคือ ‘Aging Population’ คือการที่สังคมผู้สูงอายุขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
“เมื่อเราพิจารณาแต่ ‘อายุ’ เป็นหลัก เราจะไม่ได้ดูเรื่องของการที่ตัวคนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ซึ่งทำให้มีอีกหนึ่งปัญหาที่มาพร้อม ๆ กัน คือคนในช่วงอายุน้อย ๆ หรือกลุ่มวัยรุ่น วัยที่จบการศึกษา มีอัตราการว่างงานมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงอีกหนึ่งเรื่องคือ ‘Talent Mobility’ มีการโยกย้ายข้ามประเทศกันมากขึ้นกว่าเดิม”
Mega Trend ที่สองคือ ‘Advance Technology’ ที่มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการมี ‘Generative AI’ ที่มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความขาดแคลน ทั้งในแง่จำนวนคนทำงาน และทักษะในการทำงาน
Mega Trend ที่สามคือ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับองค์กร’ ที่เปลี่ยนแปลงไป และมี dynamic ในการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
“ในอดีต คุณพ่อคุณแม่เราอาจจะมองว่า บริษัทกับพนักงานมีความสัมพันธ์ในระดับที่ใกล้ชิดกันมาก เราสามารถเอาชีวิตตัวเองฝากไว้กับองค์กรได้ อยู่ไปเลยจนเกษียณ แต่ในปัจจุบันความสัมพันธ์มันเหมือนเบาบางลง ไปทำงานเพื่อแค่ให้ได้เงิน แต่ไม่ได้ไปทำงานโดยมองว่านั่นคือครอบครัว”
Mega Trend สุดท้ายคือ องค์กรจะทำอย่างไรก็ได้ให้คนมี Performance ที่ดีที่สุด
CEO of QGEN Consultant มองว่า Performance ที่อยากได้ จะมาพร้อมกับ ‘Talent Management’ (การบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร) นำมาซึ่งการหาจุดกึ่งกลางระหว่างองค์กรกับพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะ Work from Home ทุกวัน เป็น มาทำงานที่ออฟฟิศ 1 วัน นอกนั้น Work from Home หรือให้ทำงาน 4 วัน วันละ 10 ชั่วโมง หยุด 3 วัน
เมื่อรู้ถึง Mega Trend ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้แล้ว ต่อไปที่ต้องกลับมาดูคือ ‘การบริหารจัดการภายใน’ ว่ามีปัญหาติดขัดตรงไหนหรือไม่?
โดยปัญหาการบริหารจัดการภายในองค์กร ที่ติด Top 5 ได้แก่ 1) การเมืองในองค์กร 2) พนักงานที่ผลงานไม่ดีหรือความสามารถไม่เพียงพอ 3) ผู้บริหารที่สร้างปัญหาให้กับทีม 4) ภาระงาน และ 5) การทำงานอย่างไร้ทิศทาง
“เมื่อมี Mega trend แล้ว อย่าเฝ้ามอง Mega trend อย่างเดียว มาดู Internal ในองค์กรของตัวเองด้วย มีปัญหาในเรื่องอะไรบ้าง”
สาเหตุที่ ‘อภิชาติ’ ย้ำให้เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาภายในองค์กร เพราะเขามองว่าปัญหาเหล่านี้จะส่งผลต่อวิธีการบริหารจัดการคน ซึ่งเขาแบ่งออกเป็น 4 ระดับ โดยแต่ละระดับมีวิธีการบริหารที่ซับซ้อนแตกต่างกัน ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ‘Manager who manage organization’ เป็นกลุ่มที่กำหนด direction และบริหารจัดการคนผ่านนโยบายต่าง ๆ โดยที่ไม่ควรลงไปจู้จี้จุกจิก (micromanage)
กลุ่มที่ 2 ‘Manager who manage manager’ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ลงไปถึงตัวคนทำงาน แต่บริหารจัดการผ่านผู้จัดการอีกทีหนึ่ง ต้องอาศัยความ empathy เป็นอย่างสูง
กลุ่มที่ 3 คือ ‘Manager who manage team’ เป็นผู้จัดการชั้นแรกสุด ต้องเข้าใจในสิ่งที่องค์กรกำลังเผชิญ เข้าใจคน
กลุ่มที่ 4 คือ ‘Employee’ ซึ่งก็ต้องบริหารจัดการตัวเองได้ มีทักษะในการบริหารจัดการ
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันจะหายไปแน่ ๆ ในเรื่องของการบริหารจัดการคนคือ อย่า one size fits all (วิธีการแบบเดียวใช้ได้หมดทุกสถานการณ์) ทุกอย่างมันมี level ของมัน”
สุดท้ายที่ ‘อภิชาติ’ อยากฝากให้ทุกองค์กรทบทวนคือเรื่อง ‘คนเก่ง’
“กลับไป review ก่อน ใครคือคนเก่งกันแน่ อันนี้เรียกว่าคนเก่งสำหรับองค์กรใช่ไหม อันนี้เรียกว่าใช่หรือเปล่า คนที่เราร่วมงานที่จะดูแลบริหารจัดการเขาเนี่ย เราจัดการเฉพาะคนเก่งก่อน เป็น priority แรกไหม ส่วนกลุ่มอื่น ๆ จะยังไง”
แม้ลึก ๆ แล้ว ‘อภิชาติ’ จะเชื่อเรื่อง “ธรรมชาติคัดสรร” แต่เขาก็เตือนให้เห็นถึงความสำคัญของการ ‘นิยาม’ คำว่า ‘คนเก่ง’ ของแต่ละองค์กร ให้ชัดเจน
“สิ่งที่มันจะสร้างปัญหาอย่างแรกคือ เก่งที่เราใช้ เก่งเดียวกันหรือเปล่า องค์กรมองว่าคนเก่งเป็นแบบไหน หัวหน้ามองว่าคนเก่งเป็นแบบไหน เราคิดว่าคนเก่งเป็นแบบไหน ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ definition ต่างกัน นี่คือจุดตั้งต้นของปัญหาการบริหารคนทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นจูน จูนเสร็จแล้วปั๊บต้องทำยังไง สื่อสาร
“เก่งในอดีต จะยังคงเป็นเก่งอนาคตได้ไหม ถ้าเก่งในอดีตไม่มี AI จะทำยังไง ถ้าเป็นคนเก่งแต่ไม่มี Mental Health จะยังคงเป็นคนเก่งที่องค์กรยังคงคัดสรร ธรรมชาติยังคงคัดสรรเอาไว้ได้หรือเปล่า เพราะเราอาจจะไม่สามารถที่จะดูแลคนได้ทั้งหมด แต่คนเก่งคือกลุ่มแรก ๆ ที่เราอาจจะต้องโฟกัสสำหรับเขา”
‘อภิชาติ’ ยังได้แนะวิธี ‘ถอดรหัสคนเก่ง’ ออกมาเป็น 3 วิธี ได้แก่ 1) การดู Performance ย้อนหลังว่าเคยทำอะไรได้ เคยทำอะไรไม่ได้ 2) ดู Character ว่าเป็นคนอย่างไร โดยเฉพาะเรื่อง ‘สุขภาพจิต’ และ ‘ทัศนคติ’ และ 3) คนเก่งในปัจจุบันอาจจะต้องมี ambition (ความทะเยอทะยาน) เก่งแล้วต้องไม่เงียบ เก่งแล้วต้องอยากจะบอกด้วยว่า อยากจะไปไหน มี Passion ในการที่จะเติบโต
เมื่อสามารถให้นิยามคำว่า ‘คนเก่ง’ ได้แล้ว สิ่งที่ตามมาคือ ‘วิธีการบริหารจัดการคน’ ซึ่งแบ่งออกมาได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มคนที่หายากในตลาด และมีความเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้วิธีการที่ ‘นอกกรอบ’ มากในการบริหารจัดการ อย่ามี salary structure กับเขา ต้องออกนอกระบบไปเลย
2) กลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ หาไม่ยากในตลาด ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กจบใหม่ ที่อาจจะยังไม่มีความรู้ความสามารถที่จะมาทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์หลัก ในขณะที่องค์กรส่วนใหญ่พยายามหาคนที่พร้อมทำงานเลย และเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ จึงเป็นเหตุผลที่เด็กจบใหม่หรือคนอายุน้อย ๆ มีโอกาสที่จะตกงานค่อนข้างเยอะ
คำแนะนำสำหรับเด็กจบใหม่คือ คุณต้องไป upskill เพื่อให้ขึ้นไปอยู่ในแถวที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์หลักให้ได้ ส่วนกลุ่มคนทำงานปัจจุบัน คุณก็ต้องหาให้เจอว่างานในปัจจุบันของคุณ ตรงกับกลยุทธ์ขององค์กรมากน้อยแค่ไหน กลับไปตั้งคำถามกับตัวเองว่า งานในปัจจุบันของเราวันนี้ เราทำอะไร เพื่ออะไรอยู่ มันไป plug in กับกลยุทธ์ไหนขององค์กร
“เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเองยังตอบไม่ได้เลยว่า สิ่งที่เราทำอยู่ มันไปเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์หลักองค์กรในเรื่องอะไร ความเสี่ยงของเราจะมาทันที อย่าลืมว่าเทคโนโลยีและ AI เข้าใกล้เรามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม” อภิชาติกล่าวสรุปไว้อย่างน่าคิด
เรื่อง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก Creative Talk