เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็น CEO ถึง 3 คน เคล็ดลับจากแม่ของอดีตซีอีโอ IBM ‘จินนี โรเม็ตตี’

เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็น CEO ถึง 3 คน เคล็ดลับจากแม่ของอดีตซีอีโอ IBM ‘จินนี โรเม็ตตี’

‘จินนี โรเม็ตตี’ อดีตซีอีโอ IBM กับวิธีเลี้ยงดูของคุณแม่ ผู้เลี้ยงลูกเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ 3 คน

KEY

POINTS

  • ชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็กของ ‘จินนี โรเม็ตตี’ อดีตซีอีโอ IBM ผู้มีแม่เป็นต้นแบบในการต่อสู้ 
  • เคล็ดลับการเลี้ยงดูและคำสอนจากแม่ ที่ส่งผลต่อภาวะผู้นำของจินนี โรเม็ตตี
  • การเผชิญความยากลำบากคือหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จและความสุขในชีวิต

แม้ครั้งหนึ่ง ‘จินนี โรเม็ตตี’ อดีตประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ IBM จะได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Fortune ให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกธุรกิจ แต่หากมีใครถามเธอว่า แม่ของเธอมีวิธีเลี้ยงลูกทั้ง 4 อย่างไรให้มีความสุข และมีลูกถึง 3 ใน 4 คน ที่ได้เป็นถึงซีอีโอที่ประสบความสำเร็จ 

โรเม็ตตีเองกลับรู้สึกว่า แม่ของเธอก็เป็นผู้หญิงที่น่าทึ่งไม่แพ้กัน  

โรเม็ตตีเกิดเมื่อปี 1957 ที่ชิคาโก ขณะที่เธอลืมตาดูโลก พ่อแม่ของเธอยังมีอายุน้อยมาก แม่ของเธอเพิ่งเรียนจบมัธยมปลาย ส่วนพ่อก็ทำงานกับปู่ หลัก ๆ เป็นงานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พอมีลูกตามมาอีก 3 คน แม่ของเธอจึงกลายเป็นแม่บ้านทำหน้าที่เลี้ยงลูกเต็มเวลา 

ครอบครัวเชื้อสายอิตาเลียน-อเมริกัน ใช้ชีวิตพร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูก แม้จะไม่ได้ร่ำรวยสักเท่าไร แต่ก็กำลังจะย้ายเข้าบ้านใหม่ที่พ่อแม่เพิ่งซื้อ โชคร้ายที่ยังไม่ทันจะย้ายเข้าบ้านใหม่ พ่อซึ่งเป็นเสาหลักของบ้านก็จากไป โดยไม่ทิ้งอะไรไว้ให้ลูกเมียเลย ขณะนั้นโรเม็ตตีอายุประมาณ 15 - 16 ปี 

“การจากไปของพ่อทำให้ครอบครัวของเราต้องเจอทางแยก” โรเม็ตตีเขียนในหนังสือ Good Power: Leading Positive Change in Our Lives, Work, and World แล้วหลังจากนั้นเธอก็ไม่ค่อยเอ่ยปากพูดถึงพ่ออีกเลย พร้อมกับยกให้แม่เป็น ‘ฮีโร่’ ประจำครอบครัว 

เมื่อขาดหัวหน้าครอบครัว แม่ตัดสินใจพาลูก ๆ ย้ายเข้าบ้านใหม่ ที่ไม่มีแม้แต่พรม ไม่มีแม้แต่สนามหญ้าหน้าบ้าน แต่ถึงจุดหนึ่ง 5 แม่ลูกก็ต้องระเห็จออกจากบ้าน มีเพียงแสตมป์อาหารและความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ทำให้พอมีชีวิตรอด 

หลังจากนั้นแม่ของเธอก็เข้าเรียนในวิทยาลัยชุมชน และต้องทำงานหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการทำงานที่โรงพยาบาล การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาเงินของแม่ในเวลานั้น ทำให้โรเม็ตตีเกิดแนวคิดที่ว่า “ไม่ว่าสถานการณ์จะสิ้นหวังเพียงใด เราทุกคนต่างมีพลังที่จะสร้างโอกาสเพื่อตัวเราเองและผู้อื่น”

ในฐานะลูกคนโต โรเม็ตตีใช้เวลาส่วนใหญ่ในวัยเด็ก ทำหน้าที่แทนแม่ ซึ่งต้องออกไปเรียนช่วงกลางคืน

แต่ถึงแม้ครอบครัวจะไม่เหมือนเดิม แม่ก็ไม่เคยยอมให้ความทุกข์ยากที่เผชิญมาพันธนาการอนาคตของเธอกับลูก ๆ ไว้กับคำว่า ‘เคราะห์ร้าย’ คุณแม่ยอดนักสู้ถ่ายทอดนิสัยขยันขันแข็ง และการมองไปข้างหน้าให้กับลูก ๆ ด้วยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนท้ายที่สุด 5 แม่ลูกก็ไม่ต้องพึ่งสวัสดิการจากรัฐบาลอีกต่อไป เพราะสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเองแล้ว 

“แม่ของฉันอาจถูกมองว่าเป็นเหยื่อ หรือเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือหญิงที่ล้มเหลวในชีวิตคู่ แต่แม่ไม่เคยยอมรับการตีตราเหล่านั้น เธอออกไปทำงาน ดูแลครอบครัว และทำงานในโรงพยาบาลชิคาโกมาเป็นเวลา 25 ปี การกระทำของเธอได้สอนฉันมากมายเกี่ยวกับวิธีที่เราควรใช้รับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทาย และวิธีที่เราคิดถึงตัวเราเองในสถานการณ์เหล่านั้น” 

ในมุมมองของโรเม็ตตี การที่ 4 พี่น้องได้เห็นการต่อสู้ดิ้นรนของผู้เป็นแม่ ถือเป็นการหล่อหลอมให้พวกเขากลายเป็นคนขยัน ไม่ค่อยปริปากบ่น และเป็นนักแก้ปัญหา โรเม็ตตียังแสดงความเป็นห่วงใยถึงบรรดาพ่อแม่ที่ตามแก้ปัญหาทุกอย่างให้ลูก แทนที่จะปล่อยให้ลูกอดทนต่อความยากลำบาก เธอบอกด้วยว่าแม่ของเธอไม่ทำแบบนั้น แต่จะพยายามให้ลูก ๆ หาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด 

โรเม็ตตีเองก็นำบทเรียนที่ได้จากการต่อสู้ของแม่มาใช้ในการทำงานเช่นกัน ภายใต้การนำของโรเม็ตตี ทีมงานของยักษ์เทคโนโลยี IBM ได้ตัดใจเลิกกิจการหลายอย่างโดยไม่ลังเล (เช่น การผลิตชิปคอมพิวเตอร์) ควบคู่กับการเดินหน้าไปสู่ธุรกิจที่มีอนาคต โดยเฉพาะการสร้างธุรกิจไฮบริดคลาวด์ การบุกเบิกเส้นทางใหม่ในด้าน AI และการประมวลผลแบบควอนตัม

ไม่น่าแปลกใจที่ความอาจหาญเด็ดเดี่ยวในการบริหารจะทำให้โรเม็ตตีได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Fortune ให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดอันดับ 1 เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน 

ด้านน้องสาวคนเล็กของโรเม็ตตีคือ ‘ดาร์ลีน นิโคเซีย’ ก็เป็นซีอีโอบริษัทผู้ผลิตอาหาร Hearthside Food Solutions ส่วนน้องสาวอีกคนคือ ‘แอนเน็ต ริพเพิร์ต’ เคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกลยุทธ์ของบริษัทที่ปรึกษา Accenture ก่อนจะเกษียณไปในปี 2022 และน้องชายคือ ‘โจ นิโคเซีย’ ทำงานเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการของบริษัทด้านการค้า Louis Dreyfus Company 

บทเรียนสำคัญจากแม่ที่มีส่วนสำคัญให้ลูก ๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จคือ “อย่าให้ใครมาบอกว่าลูกเป็นใคร” โรเม็ตตีกล่าว 

จะว่าไปแล้ววิธีเลี้ยงลูกสไตล์คุณแม่ของโรเม็ตตีก็เป็นวิธีเดียวกับคุณแม่หลาย ๆ คน เห็นได้จากนักธุรกิจจำนวนมากที่ได้ออกมาเปิดใจถึงความยากลำบากที่พวกเขาเผชิญในวัยเด็ก ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในที่สุด ยกตัวอย่าง ‘โอปราห์ วินฟรีย์’ ที่เคยพูดถึงชีวิตวัยเด็กในมิสซิสซิปปี ซึ่งไม่มีแม้กระทั่งน้ำและไฟฟ้า ส่วน ‘มาร์ค คิวบาน’ ก็เคยต้องนอนบนพื้นและใช้ผ้าเช็ดตัวสกปรก ๆ ในช่วงอายุ 20 ปี ระหว่างที่เขาพยายามเปิดตัวสตาร์ทอัพแห่งแรกของเขา MicroSolutions 

‘คริสติน คาร์เตอร์’ นักสังคมวิทยา และรองประธานฝ่ายวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของ BetterUp กล่าวว่า ทุกคนต้องเผชิญอุปสรรค และวิธีที่ใช้ตอบสนองต่ออุปสรรคเหล่านั้นจะเป็นตัวกำหนดว่าคุณจะประสบความสำเร็จแค่ไหน 

“นักแสดงชั้นนำเปลี่ยนความทุกข์ไปสู่ความสำเร็จ” คาร์เตอร์ เขียนในนิตยสาร Greater Good เมื่อปี 2013 และย้ำด้วยว่า “นั่นเป็นเพราะความทุกข์ยากในชีวิตจะมอบสิ่งต่าง ๆ ให้กับเรา ทั้งความสำเร็จและความสุขของเราจึงขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา ไม่เพียงการรับมือกับความทุกข์ แต่ยังรวมถึงการเติบโตจากความทุกข์ด้วย” 

โรเม็ตตีเองก็เห็นด้วยกับแนวคิดลักษณะนี้ เธอมองว่าการเอาชนะต่อความยากลำบาก ได้สอนให้เธอรู้จักมองโลกในแง่ดี และคิดแบบมองไปข้างหน้ามากขึ้น 

“หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรเป็นเรื่องแย่สำหรับฉันเลย ฉันรู้สึกมาตลอดว่า หลังจากนี้มันจะไม่มีอะไรเลวร้ายอีกต่อไป” โรเม็ตตีกล่าว 

 

เรียบเรียง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : อินสตาแกรม Ginni Rometty
.
อ้างอิง :

Ex-IBM CEO: Here’s the No. 1 thing my mom did to raise four highly successful executives
GOOD POWER: THE INSPIRING JOURNEY OF GINNI ROMETTY
VIRGINIA M. ROMETTY