05 เม.ย. 2567 | 14:10 น.
/บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง Mothers’ Instinct (2024)/
แค่เห็นภาพโปรโมตที่สองตัวแม่อย่าง ‘แอนน์ แฮทธาเวย์’ กับ ‘เจสสิกา แชสเทน’ ยืนประกบกันในโปสเตอร์หนัง ‘Mothers’ Instinct’ กายละเอียดก็พุ่งไปซื้อตั๋วกับป๊อปคอร์นที่โรงหนังทันที
แล้วเมื่อได้ดูหนังความยาว 94 นาที ที่ดำเนินเรื่องอย่างเนิบนาบ แต่มีเซอร์ไพรส์แทบทุกฉากจนทำเอาหายใจไม่ทั่วท้อง สำหรับคนที่ไม่เคยดูหนังต้นฉบับสัญชาติเบลเยียม ‘Duelles’ (2018) และไม่ได้อ่านนวนิยาย ‘Derriere La Haine’ ของ ‘บาร์บารา อาเบล’ บอกเลยว่า ทั้งลุ้น ทั้งสับสน ทั้งสงสาร
Mothers’ Instinct เปิดเรื่องมาด้วยความสุขสดใสท่ามกลางสีสันฉูดฉาดของสไตล์การแต่งตัวในยุค 1960s พร้อมฉายภาพความรัก ความผูกพันของสองเพื่อนรัก ‘เซลีน’ (แอนน์) และ ‘อลิซ’ (เจสสิกา) ที่บ้านอยู่ติดกัน สามีก็สนิทกัน ลูกชายก็อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน
แน่นอนว่า ยิ่งเห็นทั้งคู่กลมเกลียวรักใคร่กันมากเท่าไร คนดูก็จะยิ่งถูกต้อนให้งุนงงและสับสน หลังจากหนังเดินเรื่องมาถึงช่วงจุดเปลี่ยน
‘แม็กซ์’ ลูกชายของเซลีน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ที่ไม่ว่าอลิซจะพยายามสักแค่ไหนก็มิอาจหยุดยั้งความสูญเสียให้เพื่อนรักได้ เธอได้ทำอย่างเต็มที่แล้วทั้งในฐานะเพื่อน ในฐานะแม่ หรือแม้แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
เมื่อต้องสูญเสียลูกชายเพียงคนเดียว ในขณะที่ตัวเองไม่สามารถมีลูกได้อีก เซลีนที่เคยมีชีวิตเพียบพร้อม เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน
ฉากที่ทำให้เราขนลุกที่สุดคือฉากงานศพลูกชาย ที่เราได้เห็นความเศร้าและความเคียดแค้นของเซลีน ทะลุออกมาจากผ้าคลุมลูกไม้สีดำที่ปกปิดใบหน้าของเธอเกือบ 80% ถึงตอนนั้นเราอยากจะคลายมือที่กำลังจิกเบาะแน่น แล้วปรบมือดัง ๆ ให้แอนน์ แฮทธาเวย์ จริง ๆ
ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที เราได้เห็นอารมณ์ที่แตกต่างชัดเจนของเซลีน ซึ่งทั้งโศกเศร้าปานใจจะขาดที่เสียลูกชายไป และเคียดแค้นราวกับอยากจะกินเลือดกินเนื้ออลิซ ที่เธอคิดว่าเป็นต้นเหตุทำให้แม็กซ์เสียชีวิต
เราเชื่อว่าคนดูส่วนใหญ่เห็นใจอลิซ เพราะอุบัติเหตุไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากให้เกิดขึ้น แล้วเธอก็พยายามอย่างเต็มความสามารถที่จะหยุดมันแล้ว และหากว่ากันตามตรง เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของเธอด้วยซ้ำ เซลีนเสียอีกที่ไม่ดูแลความปลอดภัยของลูกชายตัวเองให้ดี ปล่อยปละละเลยให้เกิดเรื่องน่าเศร้าในบ้านตัวเองแท้ ๆ
แต่มันคงจะเจ็บปวดเป็นทวีคูณสำหรับเซลีน หากเธอจะยอมรับว่านี่เป็นความผิดของตัวเอง
ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นของเซลีนถือเป็น ‘กลไกทางจิต’ รูปแบบหนึ่ง ที่บุคคลใช้เมื่อเกิดความเครียด หรือวิตกกังวล เพื่อปรับตัวต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป โดยรูปแบบกลไกทางจิตที่เกิดขึ้นกับเธอเรียกว่า ‘Delusional Projection’ ที่หมายถึงการเกิดความหลงผิดโดย ‘โทษคนอื่น’ ซึ่งนับเป็นอาการทางจิตเวชอย่างหนึ่ง
เมื่อหลงโทษว่าทุกอย่างเป็นความผิดของอลิซ ความระทึกขวัญจึงเริ่มต้นนับแต่นาทีนั้น เพื่อนรักที่เคยสนิทชิดเชื้อ เคยไว้วางใจกันถึงขนาดบอกเล่าความลับ และแลกกุญแจบ้านกัน ก็กลายเป็นความสัมพันธ์ในทำนองว่า “มีเพื่อนแบบนี้ ไม่ต้องมีศัตรูก็ได้” (With friends like you, there’s no need for enemies)
แต่หนังก็ไม่ได้เฉลยโต้ง ๆ แต่แรกว่า เหตุการณ์ร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับอลิซเป็นฝีมือของเซลีน แถมยังมีหลายครั้งเหมือนกันที่หนังหลอกให้คนดูเข้าใจว่า “แกน่ะคิดไปเอง ยัยอลิซ!”
นอกจากการแสดงที่ต้องอวยยศให้กับสองตัวแม่แห่งออสการ์ แอนน์ - เจสสิกา ที่ต้องเผชิญหน้ากันในเกือบทุกอารมณ์ ไล่ระดับไปตั้งแต่ รักใคร่สนิทสนม ห่วงใย เคียดแค้น หวาดระแวง โกรธ ผิดหวัง เอาชนะ และวิงวอน เรายังชอบการใช้มุมกล้องแบบ close-up เห็นหน้าเห็นตาแบบชัด ๆ ซึ่งโดยปกติจะใช้เพื่อขับเน้นอารมณ์ของตัวละคร แต่กลายเป็นว่าสำหรับหนังเรื่องนี้ ยิ่ง close-up ใกล้เท่าไร ยิ่งไม่สามารถอ่านความรู้สึกหรืออารมณ์ของตัวละครได้เลย
มันยิ่งทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งถึงประโยคที่ว่า ‘รู้หน้า ไม่รู้ใจ’
อีกอย่างที่เราชอบคือการใช้ ‘สัญลักษณ์’ ในหนัง โดยเฉพาะ ‘สร้อยไข่มุก’ ที่เป็นตัวแทนของ ‘มิตรภาพ’ ระหว่างหญิงสาวทั้งสอง อลิซมอบสร้อยเส้นนี้เป็นของขวัญวันเกิดให้กับเซลีน และเซลีนก็สวมสร้อยเส้นนี้ติดคอไว้ตลอด กระทั่งมันขาดสะบั้นลงไปพร้อมมิตรภาพที่ไม่มีวันหวนกลับ
ที่ชอบมาก ๆ อีกอย่างคือ ‘ตลกร้าย’ หลายมุก ที่เรียกเสียงหัวเราะแบบ ‘หึ ๆ’ จากคนดู เป็นมุกที่ชวนอึดอัด แบบจินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้าตัวเองเจอสถานการณ์แบบนั้นจะปั้นหน้าอย่างไรดี
ส่วนตอนจบ แม้จะไม่เซอร์ไพรส์คนดูมากนัก แต่ก็พอเตือนให้กลับมาจำได้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่คู่ควรกับความรักและความปรารถนาดีของเรา”
เรื่อง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : IMDB