เมื่อถูกเลิกจ้างกะทันหัน จะรับมืออย่างไร และต้องทำอะไรต่อไป

เมื่อถูกเลิกจ้างกะทันหัน จะรับมืออย่างไร และต้องทำอะไรต่อไป

คู่มือสำหรับลูกจ้าง เมื่อถูกเลิกจ้างกะทันหัน จะรับมืออย่างไร และต้องทำอะไรต่อไป

KEY

POINTS

  • วิธีรับมือเมื่อถูกเลิกจ้าง
  • สิ่งที่ควรทำหลังจากถูกเลิกจ้าง
  • เคล็ดลับเมื่อต้องพูดเรื่องการถูกเลิกจ้าง

การถูกเลิกจ้างเป็นประสบการณ์ชวนสยองสำหรับหลายคน แต่ในภาวะเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ สิ่งนี้เกิดขึ้นเสมอในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าคุณจะพร้อมรับมือกับมันหรือไม่ 

สิ่งสำคัญคือคุณต้องเข้าใจว่า หลังจากนั้นคุณจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในเส้นทางอาชีพการงานของตัวเอง และน้อยคนจะรู้ว่าการรับมือเชิงบวกและเชิงรุกจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหางานใหม่ และลบเลือนความทรงจำเลวร้ายจากการถูกเลิกจ้างในอดีตได้ 

บทความ "I Got Fired, Now What?" How To Respond and What To Do Next ที่เขียนโดย ‘แอลลี แบล็คแฮม’ นักเขียน และผู้จัดการด้านคอนเทนต์การตลาด ที่ Payality จะบอกเล่าถึงขั้นตอนต่าง ๆ ที่คุณสามารถดำเนินการได้หลังจากถูกเลิกจ้าง รวมถึงวิธีการรับมือ การก้าวไปข้างหน้า และเคล็ดลับในการสัมภาษณ์งานใหม่ 

วิธีรับมือเมื่อถูกเลิกจ้าง

ต่อไปนี้คือขั้นตอนแรก ๆ ที่คุณควรทำ หลังจากถูกนายจ้างบอกเลิกจ้าง

ตั้งสติ: ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดขึ้น การก้าวออกมาจากองค์กรอย่างเป็นมืออาชีพถือเป็นสิ่งสำคัญ การให้ความเคารพจะแสดงให้เห็นว่าคุณมีคุณธรรมในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความประทับใจกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน เพราะอย่าลืมว่าคุณอาจต้องขอหนังสือรับรองหรือเอกสารอ้างอิงจากบุคคลเหล่านี้ในอนาคต ดังนั้นจะเป็นประโยชน์มากหากคุณจะใจเย็น และแสดงความเป็นมืออาชีพตลาดกระบวนการยุติสัญญาจ้าง

หาสาเหตุการเลิกจ้าง: เพราะการทราบสาเหตุการเลิกจ้างที่แน่ชัดจะส่งผลต่อขั้นตอนต่อไป ดังนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่คุณจะต้องพิจารณาว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลหรือไม่, เป็นส่วนหนึ่งของการเลิกจ้างตามรอบหรือเพราะสถานการณ์อื่น เช่น การฉ้อโกง ไม่ผ่านการทดสอบเรื่องยาเสพติด การไม่ปฏิบัติตามโยบายบริษัท ทัศนคติไม่ดี เบียดบังเวลางาน ฯลฯ นอกจากนี้ การเลิกจ้างอาจเกิดขึ้นจากเหตุผลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพนักงานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการลดขนาดองค์กรหรือการควบรวมกิจการ ดังนั้น การพิจารณาสาเหตุการเลิกจ้างจะช่วยให้คุณทราบเป้าหมายที่แท้จริงของนายจ้าง และสิ่งที่คุณสามารถทำได้ต่อไป

ตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์และค่าชดเชย: สาเหตุของการเลิกจ้างมักส่งผลต่อสิทธิรับเงินชดเชย ขณะที่บางบริษัทอาจจะใจดีขยายประกันสุขภาพและผลประโยชน์อื่น ๆ ให้ หลังจากการจ้างงานสิ้นลุดลง ดังนั้น เมื่อบริษัทของคุณจัดเตรียมเอกสารการเลิกจ้างมาให้ คุณอาจต้องพึ่งทนายหรือคนที่รู้เรื่องกฎหมายแรงงานสักคนมาช่วยคุณอ่านเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาในเอกสารเลิกจ้างได้ดียิ่งขึ้น และการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากคุณรู้สึกว่าตัวเองถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เช่น หากบริษัทละเมิดนโยบายหรือดำเนินการที่ผิดกฎหมายต่อคุณ

ขอหนังสือรับรอง: หากคุณยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายจ้าง คุณสามารถขอหนังสือรับรองการทำงานจากนายจ้างหรือผู้จัดการก่อนออกได้ การมีหนังสือรับรองจากที่ทำงานที่เลิกจ้างคุณจะแสดงให้นายจ้างในอนาคตเห็นว่า แม้จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น คุณก็ยังถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่า

ตรวจสอบเรื่องสิทธิประโยชน์ของคนว่างงาน: แนะนำให้ยื่นคำร้องไปยังประกันสังคมทันทีที่ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากระยะเวลาในการดำเนินการอาจใช้เวลานาน เพื่อให้ระหว่างที่กำลังหางานใหม่ คุณจะยังมีเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 

ตรวจสอบสิทธิต่าง ๆ: สัญญาจ้างงานหรือคู่มือพนักงานจะระบุถึงสิทธิของคุณไว้อย่างชัดเจน เช่น เมื่อใด อย่างไร และเหตุใดที่บริษัทจะสามารถไล่คุณออกได้ คุณสามารถตรวจสอบสิทธิของพนักงานได้โดยตรวจสอบในสัญญาหรือคู่มือ และเปรียบเทียบกับกฎหมายแรงงาน หากคุณพบว่านายจ้างละเมิดสิทธิใด ๆ ของคุณ ให้ลองปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความ

สิ่งที่ควรทำหลังจากถูกเลิกจ้าง

จัดการกับอารมณ์ของตนเอง: เป็นเรื่องเข้าใจได้ถ้าคุณจะรู้สึกโกรธหรือเสียใจกับการถูกเลกจ้าง ดังนั้น จงพยายามให้เวลากับการจัดการกับความรู้สึกของคุณ ให้ความรู้สึกด้านลบเบาบางลง เพื่อให้คุณได้มีเวลาทบทวนไตร่ตรองถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และคิดว่าจะทำอะไรให้แตกต่างไปจากเดิมหากได้เริ่มต้นงานใหม่ 

ดูแลสุขภาพของตัวเอง: ให้ความสำคัญกับสุขภาพใจและสุขภาพกายของคุณ พยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน และหาเวลาออกกำลังกาย หากการถูกเลิกจ้างหรือไล่ออกส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณ คุณควรนัดหมายกับนักบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อระบายความรู้สึกออกมา

ขอคำติชมอย่างตรงไปตรงมา: การถูกเลิกจ้างอาจเป็นโอกาสในการทบทวนตัวเอง ดังนั้น ควรพิจารณาเรื่องการติดต่ออดีตเพื่อนร่วมงานเพื่อขอคำติชมอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนของคุณ หลังจากพูดคุยกับอดีตเพื่อนร่วมงานสัก 2 – 3 คนแล้ว คุณจะได้ปรับปรุงและพัฒนาตนเองก่อนเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ 

อัพเดตเรซูเม: พยายามให้แน่ใจว่าเรซูเมของคุณได้สะท้อนประสบการณ์การทำงานและทักษะของคุณได้ถูกต้องชัดเจนที่สุด อย่าลืมเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ที่คุณได้รับจากงานก่อนหน้าของคุณด้วย

อัปเดตบัญชีโซเชียลมีเดีย: ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลหลายคนตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ของผู้สมัคร ดังนั้น คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลในโซเชียลมีเดียของคุณเป็นไปในเชิงบวกและสร้างความประทับใจในเชิงวิชาชีพได้ นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแจ้งเครือข่ายให้ทราบว่าคุณกำลังมองหาโอกาสใหม่ ๆ อยู่ 

ติดต่อเครือข่ายในแวดวงอาชีพของคุณ: เครือข่ายในแวดวงอาชีพของคุณคือแหล่งหางานที่ดีเยี่ยม คุณอาจจะติดต่ออดีตเพื่อนร่วมงานเพื่อสอบถามเรื่องตำแหน่งว่างในช่วงหางาน แต่หากคุณมีเครือข่ายไม่มาก คุณก็อาจไปเข้าร่วมอีเวนต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของคุณ แล้วสานสัมพันธ์กับคนในแวดวงวิชาชีพเพื่อโอกาสดี ๆ ในอนาคต 

ส่งข้อความขอบคุณ: คุณสามารถแสดงความเป็นมืออาชีพของคุณได้ โดยส่งข้อความแสดงความขอบคุณไปยังอดีตหัวหน้าของคุณ ไม่แน่ว่าข้อความที่สุภาพและจริงใจนี้อาจเปิดช่องให้คุณสามารถหางานใหม่ได้ง่ายขึ้นด้วย (เพราะคุณอาจต้องให้อดีตหัวหน้าเป็นผู้เซ็นหนังสือรับรองให้) 

ลองหางานชั่วคราว: การหางานชั่วคราวหรือฟรีแลนซ์จะช่วยให้คุณพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ไปพร้อมกับการหาเงินเข้ากระเป๋า แม้ว่าคุณจะไม่คิดทำงานนี้ในระยะยาวก็ตาม นอกจากนี้ การทำงานแบบไม่ประจำอาจช่วยให้คุณได้พบปะผู้คนมากขึ้น และอาจได้พบกับนายจ้างในอนาคตก็เป็นได้

ไม่หยุดเรียนรู้: เมื่อคุณอยู่ในช่วงว่างงาน คุณมีเวลามากขึ้นในการพัฒนาความรู้และทักษะของคุณ คุณสามารถลงทุนกับตัวเองได้ด้วยการลงทะเบียนเรียนหลักสูตรพัฒนาตนเองหรืออ่านหนังสือที่สามารถช่วยคุณได้ในอนาคต 

เคล็ดลับเพื่อต้องพูดเรื่องการถูกเลิกจ้าง

เมื่อคุณไปสมัครงานที่ใหม่ และทะลุเข้าไปถึงรอบสัมภาษณ์ ฝ่ายเอชอาร์อาจถามคุณเกี่ยวกับการถูกเลิกจ้าง ลองพิจารณาใช้เคล็ดลับเหล่านี้เพื่อช่วยคุณในการสมัครงานและกระบวนการจ้างงาน

พูดความจริง: หากฝ่ายเอชอาร์ถามว่า ทำไมอดีตนายจ้างถึงไล่คุณออก สิ่งสำคัญคือต้องพูดความจริง โดยต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพอย่างสูง แนะนำว่าก่อนที่คุณจะไปเจอคำถามนี้ ให้ลองคิดดูว่าจะตอบคำถามอย่างไร และให้เตรียมประเด็นที่คุณต้องการพูดไปก่อน พยายามสงบสติอารมณ์และอธิบายสถานการณ์ที่นำไปสู่การเลิกจ้างของคุณ ซึ่งรวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดของตัวคุณเอง

คิดบวกเข้าไว้: ผู้จัดการฝ่ายบุคคลก็มักจะถามคำถามเกี่ยวกับการถูกเลิกจ้างเพื่อประเมินความเป็นมืออาชีพของคุณ และตัดสินใจว่าคุณจะเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทได้หรือไม่ แนะนำให้คุณมุ่งนำเสนอข้อดีจากการถูกเลิกจ้าง เช่น การมีเวลาในการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ หรือการได้กลับไปเรียนหนังสือ และจงเน้นที่ข้อดีเหล่านี้ในระหว่างการตอบคำถาม

เน้นย้ำสิ่งที่คุณได้เรียนรู้: คุณสามารถปรับกรอบประสบการณ์การถูกไล่ออกของคุณใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่คุณได้เรียนรู้แทน คุณสามารถใช้คำถามเกี่ยวกับการถูกเลิกจ้างเพื่อเปลี่ยนจุดเน้นของการสนทนาให้เป็นเรื่องประสบการณ์และทักษะของคุณแทน รวมถึงทักษะใด ๆ ก็ตามที่คุณได้รับจากงานก่อนหน้านี้ หรือในช่วงที่คุณว่างงาน นอกจากนี้ คุณยังสามารถพูดคุยเกี่ยวกับการเรียนรู้เพิ่มเติม หรือโครงการพัฒนาวิชาชีพอื่น ๆ ที่จะช่วยคุณในหน้าที่การงานได้อีกด้วย 

สุดท้ายอย่าลืมเก็บประสบการณ์การถูกเลิกจ้างมาเป็นบทเรียน เก็บเกี่ยวความรู้ระหว่างทางมาเป็นอาวุธ และก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น