พนักงาน toxic 3 ประเภท ที่ CEO ไม่ปลื้ม

พนักงาน toxic 3 ประเภท ที่ CEO ไม่ปลื้ม

มุมมองของ 3 CEO ที่มีต่อพนักงาน toxic และพนักงานแบบไหนที่เรียกว่า toxic

KEY

POINTS

  • พนักงาน toxic มักไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองเป็นคน toxic
  • พฤติกรรมแบบไหนที่เรียกว่า toxic ในมุมมองของ 3 CEO
     

พนักงาน toxic เพียงคนเดียว สามารถทำลายวัฒนธรรมขององค์กรให้พังพินาศได้ ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง

เพราะพนักงาน toxic อาจทำให้บรรยากาศออฟฟิศอึดอัด พาลให้พนักงานคนอื่น ๆ ไม่อยากมาทำงาน ขัดขวางประสิทธิภาพการทำงานและทำลายขวัญกำลังใจ ร้ายสุดคืออาจทำให้พนักงานดี ๆ คนอื่นลาออกจากงานไปเลย เพราะไม่สามารถทนกับพฤติกรรมก่อกวน เจ้ากี้เจ้าการ ไม่น่าเคารพนับถือ ยากที่จะปรับตัวเข้ากันได้ ฯลฯ 

ที่น่าเห็นใจคือพฤติกรรมของพนักงาน toxic แม้จะเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาพนักงานคนอื่น แต่เจ้าตัวกลับไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคน toxic จนทำให้ใครต่อใครไม่อยากเข้าใกล้ และการพยายามบอกกล่าวหรือตักเตือนเจ้าตัวโดยตรงก็เป็นเรื่องที่ชวนกระอักกระอ่วนใจไม่น้อย

ดังนั้น หากคุณคือพนักงานที่อยากรอดพ้นจากพนักงาน toxic หรือแม้แต่อยากจะหลีกเลี่ยงการเป็นคน toxic ในที่ทำงานเสียเอง ลองฟังเสียงสะท้อนจากซีอีโอเหล่านี้ ว่าในมุมมองของพวกเขา พนักงานแบบไหนคือพนักงาน toxic 

‘พนักงานที่ชอบคิดเข้าข้างตัวเอง’

‘ทอม กิมเบล’ CEO บริษัทจัดหางาน LaSalle Network กล่าวว่า คุณไม่ควรทำตัวราวกับว่าคุณสมควรที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือเพิ่มเงินเดือน 

“คนที่พูดว่า ฉันจะทำเฉพาะงานในหน้าที่ของฉันเท่านั้น ฉันจะไม่ไปไกลเกินกว่านี้ ฉันจะไม่ทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ และคาดว่าตัวเองจะได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ไม่ใช่พนักงานที่น่าปรารถนา” กิมเบล ให้สัมภาษณ์กับ CNBC Make It 

เขาอธิบายด้วยว่า พฤติกรรมนี้สะท้อนว่าพนักงานคนดังกล่าวคิดว่าตัวเอง ‘เหนือกว่า’ เพื่อนร่วมงานคนอื่น 

บางครั้ง พนักงานอาจรู้สึกไม่มั่นใจ เมื่อเพื่อนร่วมงานที่มีตำแหน่งเล็กกว่าได้รับการเลื่อนตำแหน่งก่อน แม้ว่าจะเป็นการพิจารณาจากคุณภาพงานก็ตาม อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สามารถบรรเทาบรรยากาศที่ชวนอึดอัดในออฟฟิศได้ หากผู้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการทำงานที่คู่ควรจริง ๆ รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และมีผลงานที่โดดเด่นจนสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าได้ 

แต่หากคุณเริ่มรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานทำงานได้เหนือกว่าตัวเอง แล้วเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย คุณก็ควรคิดโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ หรือค้นหาวิธีที่สร้างสรรค์ในการมีส่วนร่วมกับงาน เพื่อให้ตัวเองมีศักยภาพพอจะแข่งขันกับพนักงานคนอื่นได้

‘พนักงานจอมปั่น’ 

‘ทาเลีย ฟ็อกซ์’ CEO บริษัทที่ปรึกษาผู้บริหาร KUSI Global แสดงมุมมองว่า ทุกคนทำผิดพลาดกันได้ แต่การโยนความผิดให้คนอื่นถือเป็นสัญญาณอันตราย

“การทำผิดพลาด แต่กล้าหาญพอที่จะยอมรับถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

ฟ็อกซ์เล่าว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยมอบหมายงานให้พนักงานคนหนึ่ง เธอค่อนข้างแน่ใจว่าพนักงานคนนี้จะทำงานได้เกินความคาดหวังของเธอ แต่เมื่อพนักงานคนดังกล่าวส่งงานกลับมา ปรากฏว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่กลายเป็นว่าเธอเป็นคนที่ถูกตำหนิว่าสั่งงานไม่เคลียร์

“เราถึงขั้นพูดคุยกันเกี่ยวกับการปลุกปั่นที่ส่งผลกระทบต่อฉัน” ฟ็อกซ์กล่าว หลังจากสังเกตเห็นในภายหลังว่า พนักงานที่เธอมอบหมายงานให้นั้นมีพฤติกรรมโยนความผิดและใส่ร้ายผู้อื่น 

การปลุกปั่น หรือ Gaslighting เป็นทั้งการบิดเบือนและเจตนาร้าย ซึ่งฟ็อกซ์มองว่า แทนที่หันเหหรือปกปิดความผิดพลาด คุณควรขอโทษและพยายามแก้ไขเพื่อให้งานออกมาถูกต้องดีกว่า

‘พนักงานที่เห็นด้วยกับเจ้านายทุกเรื่อง’

‘มาร์ค คิวบาน’ นักลงทุนมหาเศรษฐี กล่าวว่า พนักงานบางคนชอบตอบว่า ‘ได้’ หรือ ‘ใช่’ กับทุกคำสั่งหรือทุกคำพูดของเจ้านาย แม้ว่าพวกเขาจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตราย

เวลาที่คิวบานมองหาหุ้นส่วนหรือพนักงานคนใหม่ เขามักจะมองหาคนที่ตรงข้ามกับพนักงานที่กล่าวไปข้างต้น โดยมักมองหาคนที่จะเข้ามา ‘เสริม’ ทักษะของเขา และไม่กลัวที่จะพูดออกมา หากไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด 

การเลี่ยงที่จะให้คำแนะนำและความคิดเห็น ทำให้คุณกลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือและไม่น่าไว้วางใจ หากเจ้านายของคุณเป็นคนเหมือนคิวบาน พวกเขาจะเคารพความเห็นของคุณ ในกรณีที่คุณมีหลักฐานหรือข้อมูลที่สนับสนุนคำพูดของตัวเอง

โดยสรุปแล้ว หากคุณหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่กล่าวถึงทั้ง 3 ข้อ นอกจากจะไม่ถูกตราหน้าเป็นคน toxic ในที่ทำงานแล้ว ยังจะช่วยให้ทัศนคติที่มีต่อการทำงานดีขึ้นอีกด้วย 


เรียบเรียง: พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ: Pexels

อ้างอิง:

CEOs share the 3 kinds of toxic employees you never want to be: 'Have some honesty about it'