15 ก.พ. 2566 | 16:30 น.
- ความสำคัญของ ChatGPT และผลกระทบที่จะทำให้คนทั่วโลกต้องสนใจมากขึ้นเพราะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- สามบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเปิดเกมแย่งตำแหน่งผู้นำในวงการ โดยพัฒนาระบบ AI เพื่อใช้ในบริการของตัวเอง
- ChatGPT ทำให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ไม่ได้มาแย่งงานมนุษย์ แต่อาจทำให้ค่าจ้างหรือเงินตอบแทนลดลง
กระแสเกี่ยวกับ ChatGPT ทุกวันนี้ก็ยังถูกพูดถึงไม่หยุด และยิ่งเวลาผ่านไปผู้เล่นจากบริษัทเทคโนโลยีก็ยิ่งเปิดเกมกันอย่างดุเดือด เพื่อชิงกลุ่มผู้ใช้บริการสู่แพลตฟอร์มของตัวเองให้มากขึ้น The People จึงอยากรวบรวมและพาไปทำความเข้าใจว่าจริงแล้ว ChatGPT คืออะไร และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้คนในอนาคตหรือไม่
ทำความรู้จัก ‘ChatGPT’
ChatGPT เป็นแชทบ็อทที่สร้างโดย OpenAI องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่พัฒนาและศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะ ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียนรู้ว่า AI จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติจริงหรือไม่ และอย่างไร
ความสำคัญของ ChatGPT พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นระบบประมวลผลที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ใช้ภาษาที่มนุษย์ใช้กันจริงๆ จำลองภาษาจากผู้คนไม่ใช่ภาษาเดียวกับบอท นอกจากนี้ ChatGPT คาดการณ์ไว้ว่าจะสามารถเข้ามาช่วยงานมนุษย์ได้มากขึ้น เช่น การเขียนอีเมล์, การเขียนโค้ด, งานเอกสารบางอย่าง เป็นต้น
ทั้งนี้ OpenAI เป็นองค์กรที่มี ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) เป็นหนึ่งในผู้ให้เงินทุนและก่อตั้งขึ้นเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่ง มัสก์ ได้แสดงความคิดเห็นตั้งแต่ที่ ChatGPT เปิดตัวเมื่อปีที่แล้วว่า “ChatGPT ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ดีของมนุษย์ และปัจจุบันมนุษย์ก็ไม่ได้ห่างไกลจากปัญญาประดิษฐ์ที่อันตรายเท่าไหร่นัก ฉะนั้น ChatGPT ไม่ได้เข้ามาสร้างอันตรายกว่าเดิม แต่เข้ามาเป็นตัวเลือกและตัวช่วยมากกว่า”
ส่วนในมุมของการถูกแทนที่ด้วย AI ซึ่งเป็นข้อกังวลของผู้คนจำนวนมากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน มีนักเศรษฐศาสตร์ 2 คนจาก Oxford University คือ ‘Carl Benedikt Frey’ และ ‘Michael Osborne’ ได้เขียนบทความและเผยแพร่บน Fortune ระบุว่า การเข้ามาของ AI อาจไม่ได้ทำให้มนุษย์ถูกแย่งงาน หรือถูกปลดออก แต่ก็ยอมรับว่า AI เป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงที่อาจทำให้มนุษย์ถูก ‘ลดเงินเดือน/ค่าจ้าง’
เหตุผลเพราะ AI จะเข้ามาช่วยงานได้มากขึ้น นั่นหมายถึงหน้าที่รับผิดชอบของตำแหน่งนั้น ๆ จะลดลง การทำงานหลาย ๆ หน้าที่ก็จะลดลงเช่นกัน นั่นสามารถโยงไปถึงการถูกปรับลดเงินเดือนได้นั่นเอง
Carl Benedikt Frey ให้สัมภาษณ์ว่า “มีโอกาสสูงมากที่ ChatGPT จะเข้ามาช่วยงานในหน้าที่ที่ง่าย ไม่ซับซ้อนเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ส่วนที่ยากกว่าก็คือ เราจะใช้ AI อย่างไรเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดอาชีพและอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา”
สามยักษ์ที่กำลังแข่งกันเรื่อง ChatGPT
ตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดที่เข้ามาพร้อมกับกระแสของ ChatGPT อย่างชัดเจนมีอยู่ 3 รายด้วยกัน ก็คือ Microsoft, Google และ Baidu
เริ่มจาก Microsoft ที่ส่งสัญญาณเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2023 โดยมีกระแสว่ากำลังหารือที่จะเข้าลงทุนกับ OpenAI มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนล่าสุดที่ Microsoft (ประเทศไทย) ได้จัดแถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับ ChatGPT
ในแถลงการณ์ได้ระบุว่า “Microsoft ได้สานต่อความร่วมมือกับ OpenAI ทีมวิจัยระดับโลกด้าน AI เพื่อนำศักยภาพด้านการสร้างสรรค์และความเข้าใจทางภาษาของโมเดล Generative AI จาก OpenAI มาเสริมศักยภาพให้กับการทำงานของทุกองค์กร ผ่านการบริการ Azure OpenAI ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2023 หลังจากที่เริ่มพรีวิวบริการนี้ไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021”
“สำหรับโมเดล Generative AI หรือ ‘AI รู้สร้าง’ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ได้ แต่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้จากความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่ โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเข้าถึง AI อย่างทั่วถึงและปลอดภัย และมีโอกาสในการขับเคลื่อนความสามารถของ AI ให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตมนุษย์ด้วย”
ทั้งนี้ Microsoft ยังได้พูดถึง ‘บริการ Azure OpenAI’ ที่ได้นำโมเดล AI ทั้ง 3 โมเดลใหญ่ของ OpenAI มาเปิดให้ใช้งาน โดยองค์กรไม่จำเป็นต้องลงทุนไปกับการพัฒนาศูนย์ข้อมูลหรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง
โดยทั้ง 3 โมเดล ได้แก่ (1) GPT (Generative Pre-trained Transformer) คือ โมเดลขนาดใหญ่ด้านภาษา (Large Language Model) ที่สามารถสร้างสรรค์ข้อความและสื่อสารกับมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติ (2) DALL·E คือ โมเดลที่จะสร้างสรรค์ภาพขึ้นได้ตามคำสั่งของผู้ใช้ โดยทำได้ทั้งภาพศิลปะและภาพที่สมจริง และ (3) Codex ก็คือ โมเดลสำหรับการเขียนโค้ด เพื่อสนับสนุนนักพัฒนาให้ทำงานได้สะดวกขึ้น
ซึ่งตอนนี้ Microsoft ได้เปิดให้ทดลองบริการทั้งเสิร์ชเอ็นจิ้นและเบราเซอร์ ผ่านบริการของ Bing และ Edge ในเวอร์ชันใหม่ที่นำ AI มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เวอร์ชันใหม่ที่เราจะได้จากทั้ง 2 บริการก็คือ การช่วยค้นหาข้อมูลที่แม่นยำขึ้น ให้รายละเอียดเพิ่มเติม, AI ใน Bing ใหม่ สามารถช่วยสรุปข้อมูลจากผลการค้นหาซึ่งจะประหยัดเวลามากขึ้น, สำหรับคำถามที่ซับซ้อน เช่นการวางแผนเที่ยวหรือเลือกสินค้า Bing จะใช้ฟังก์ชันแชทเพื่อตอบคำถามที่เจาะจงมากขึ้น เป็นต้น
สำหรับ Google ซึ่งยังเป็นแพลตฟอร์มเสิร์ชเอ็นจิ้นที่ได้รับความนิยมสูงสุดของคนทั้งโลก ได้ประกาศเข้าแข่งขันด้วยเช่นกัน โดยส่งบริการที่ชื่อว่า ‘Bard’ โมเดลแชทบอท Google ปัญญาประดิษฐ์ LaMDA (Language Models for Dialog Applications) ซึ่งเปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2021 โดยนำมาพัฒนาและต่อยอดเป็น Bard เป็นวิธีการแชทบอทแบบ ChatGPT นั่นเอง
ทั้งนี้ Google ได้พูดถึงจุดเด่นของ Bard ว่ามีความน่าสนใจตรงที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลปริมาณมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะแตกต่างจาก ChatGPT รุ่นทดลองในตอนนี้ เพราะเป็นรุ่นทดลองที่ใช้ข้อมูลถึงปี 2021 ดังนั้น ในมุมการตอบคำถามก็อาจไม่ real time ขนาดนั้น เพราะไม่ได้อัพเดทสถานการณ์ปัจจุบัน แต่สำหรับ Bard ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม บริการ Bard ของ Google ได้เกิดข้อผิดพลาดตอบคำถามผิดจนทำให้พนักงาน Google ไม่พอใจการบริหารของผู้บริหาร ซึ่งก็คือ ‘ซันดาร์ พิชัย’ CEO คนปัจจุบัน โดยมีกระแสหลุดออกมาว่า การเปิดตัว Bard ยังอยู่ในกระบวนการทดลองซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดข้อผิดพลาด แต่ CEO ก็เร่งรีบเปิดตัวมากเกินไปจนเกิดเรื่อง
มาถึงบริษัทเทครายใหญ่สัญชาติจีน ก็คือ Baidu ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับ ChatGPT มานาน และได้ประกาศเปิดตัวบริการ ‘ERNIE’ (Enhanced Representation through Knowledge Integration) โมเดลการพัฒนาจากปัญญาประดิษฐ์ LLM ของ Baidu ซึ่งเปิดตัวตั้งแต่ปี 2019 และมีการพัฒนา ป้อนข้อมูลให้กับผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือน มีนาคม ที่จะถึงนี้ (รายงานของ Reuters)
ทั้งนี้ Baidu ระบุความน่าสนใจของ ERNIE ว่าบริการนี้มีขีดความสามารถที่น่าทึ่ง โดย AI จะสามารถเขียนเรียงความได้ ไปจนถึงบทกวีกาพย์ต่าง ๆ อีกทั้งจะสร้างภาพจากข้อมูลที่ป้อนเข้าไปได้อีกด้วย
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีกระแสว่า Alibaba ก็เตรียมจะพัฒนาเทคโนโลยีที่คล้ายกับ ChatGPT ด้วย ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดมากนัก แต่กำลังอยู่ช่วงทดสอบโดยพนักงานภายบริษัท แต่ก็มีการคาดเดาไปต่าง ๆ นานาว่า ระบบ AI นี้ของ Alibaba จะนำมาพัฒนาและปรับปรุงในแพลตฟอร์มไหนของบริษัท ซึ่งก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในตอนนี้
ไม่ว่าบริษัทเทคโนโลยีรายไหนจะเข้าร่วมศึกนี้ แต่ที่เห็นได้ชัดคือ ChatGPT กำลังมาและเป็นกระแสที่มาแรงมากในวงการเทค อย่างไรก็ตาม การตอบคำถามจาก AI ที่ถูกพัฒนาและปรับปรุงในเวอร์ชันที่ดีขึ้นนั้น เชื่อว่าผู้ใช้งานที่ค้นหาข้อมูลนั้น ๆ ก็ยังคงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอยู่เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในข้อมูล
และสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าเรื่องบริษัทไหนจะเข้ามาแข่งขันในบริการนี้อีกบ้างในอนาคต คงจะเป็นฟังก์ชั่นหรือความน่าเชื่อถือของการใช้งานมากกว่า เพราะยุคแห่งข้อมูลมหาศาลเช่นนี้ แพลตฟอร์มหรือบริการที่สร้างความง่าย สะดวก และน่าเชื่อถือมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะในที่สุด
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
CNBC [1]