17 มี.ค. 2566 | 19:07 น.
ย้อนหลับไปปี ค.ศ. 1983 ก่อนที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะเฟื่องฟู และซิลิคอน วัลเลย์ (Slicon Valley) จะกลายเป็นหุบเขาแห่งไอที ‘Silicon Valey Bank’ หรือ SVB ธนาคารเพื่อการลงทุนและปล่อยกู้ให้กับสตาร์ตอัปได้ก่อตั้งขึ้นสาขาแรกที่เมืองซาน โฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยผู้ก่อตั้ง คือ Bill Biggerstaff อดีตผู้จัดการ Bank of America ในฐานะบริษัทในเครือของ ‘Silicon Valley Bancshsares’ หรือ SVB Financial Group ในปัจจุบัน
ระยะเวลาที่ผ่านมา SVB ดูจะไปได้สวย เพราะเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ และไม่มีทีท่าของการสะดุดล้มแต่อย่างใด กระทั่ง ช่วงต้นปีที่ผ่านมากองทุน Venture Capital และบรรดาสตาร์ตอัปซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของแบงก์ ตัดสินใจถอนเงินสดเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ จึงเป็นที่มาของเหตุการณ์ SVB ปิดตัวลงในเวลาต่อมา
The People จะพาไปไล่เรียงสาเหตุ ที่มาของเหตุการณ์ และอนาคตที่ต้องจับตามองกันว่า จะเกิดโดมิโนเอฟเฟ็กต์อย่างไรต่อไปบ้าง
ชนวนเหตุจาก ‘bank run’ และ ‘cash burn’
เป้าหมายและพันธกิจของ SVB ดูเหมือนจะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโลก ที่พุ่งเป้าไปที่เทคโนโลยี แต่นั่นก็คงจะเป็นสถานการณ์ก่อนหน้าเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2023 เพราะมหกรรมการปลดคนครั้งใหญ่ของ ‘Big Tech’ ทั่วโลกกว่า 150,000 คน คือชนวนสำคัญที่ทำให้ SVB เกิดภาวะ ‘bank run’ หรือลูกค้าของธนาคารเกิดความไม่เชื่อมั่น จนแห่ถอนเงินฝากออกมากันหมด
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้ออกมาให้ความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ก่อนหน้านี้ เริ่มมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า SVB กำลังประสบปัญหาทางสภาพคล่อง โดย SVB ได้ออกมาให้ข้อมูลกับนักลงทุนว่า ได้ขายพันธบัตรไป 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จนทำให้ขาดทุนจากการขายตราสารหนี้ไป 1.8 พันล้านเหรียญ และต้องขายหุ้นเพิ่มอีก 2.25 พันล้านเหรียญ
ทันทีที่มีการประกาศออกไปหุ้นของ SVB ร่วงไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ลูกค้าที่ฝากเงินเกิดความระส่ำ ไม่เชื่อมั่นจนแห่ถอนเงินออกมา แต่เรื่องดังกล่าวก็จบลงที่ทางการเข้าควบคุมสถานการณ์ภายใน 2 วันหลังจากนั้น
ที่น่าสนใจ คือ หากย้อนกลับไปดูผลงานการเติบโตที่ผ่านมาจะพบว่า SVB เป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องค่อนข้างมาก มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงินกับกับบรรดาเทค คอมปานี และเทค สตาร์ตอัป โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา SVB เติบโตด้วยดีสม่ำเสมอ
รวมถึงมีหนี้เสีย (NPL) ที่ต่ำมาก ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้มาจากการบริหารงานที่ล้มเหลว ผิดพลาดเสียทีเดียว แต่ปัจจัยหลักเกิดขึ้นจากเงินฝากที่เริ่มลดลงหรือโตช้า เพราะกระแสเงินสดของสตาร์ตอัปเริ่มเกิดอาการ ‘cash burn’ เมื่อลูกค้าแห่ถอนเงิน เงินฝากในธนาคารน้อยลง แบงก์จึงเริ่มทยอยใช้วิธีขายตราสารหนี้ออกมา ซึ่งปัญหาใหญ่ คือการตัดสินใจขายตราสารหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมาด้วย
นั่นหมายความว่า ธนาคารกำลังขายตราสารหนี้ออกมาในช่วงเวลาที่ยังขาดทุน เพื่อพยุงสภาพคล่องของแบงก์ต่อไปอย่างไม่มีทางเลือก และเมื่อต้องบันทึกการขาดทุนผ่าน ‘Income investment’ อัตราส่วนทุนของธนาคารก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้ธนาคารต้องเร่งเพิ่มทุน กลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก
แม้ว่าในเวลานั้น ‘มูดีส์’ (Moody’s Investors Service) บริษัทจัดอันดับเครดิตพันธบัตรจะตัดสินใจเพิ่มทุนเข้ามา เพื่อทำให้เครดิตเรตติ้งได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุดก็ตาม แต่การเพิ่มทุนไม่สามารถทำได้ทันทีภายใน 1 วัน สำหรับความเชื่อมั่นของแบงก์ยักษ์ใหญ่แม้เพียง 1 หรือ 2 ชั่วโมง ก็นับเป็นระยะเวลาที่หืดขึ้นคอแล้ว
ยิ่งในสถานการณ์ที่มีข่าวออกไปว่า SVB ขาดทุนจากการขายพันธบัตรตราสารหนี้ ผลที่ตามมา คือนักลงทุนแห่เข้ามาถอนเงินกันหมด จนทำให้เกิดวิกฤตขาดสภาพคล่อง หุ้น SVB ร่วงลงเรื่อยๆ จนเกิดการหยุดซื้อขายในวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา
ภาวะสั่นคลอนทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
เหตุการณ์ธนาคารปิดตัวในสหรัฐฯ รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดขึ้นกับ SVB เท่านั้น แต่ยังมี ‘Silvergate Bank’ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดหมี (Bear Market) ในตลาดคริปโท เคอเรนซี ทำให้ขาดทุนกว่า 35,000 ล้านบาท และปิดตัวลงในวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ตามมาด้วย Silicon Valley Bank และ Signature Bank ธนาคารของบริษัทเทรด คริปโทฯ ที่ถูกสั่งปิดจากความเสี่ยงเชิงระบบที่ SVB ปิดตัวลงก่อนหน้า
.
โดยทันทีที่ SVB ปิดตัวลง ‘เฟด’ (The Federal Reserve หรือ Fed) ประกาศตั้งโครงการฉุกเฉินช่วยเหลือสภาพคล่อง พร้อมอุ้มเงินฝากทั้งหมดทั้งของ SVB และ Signature Bank ซึ่งน่าจะพอช่วยหยุดภาวะ ‘bank run’ และคลายความกังวลในตลาดไปได้พอสมควร แต่ถึงอย่างนั้น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะยาวของสหรัฐฯ เองก็ยังคงต้องจับตามองต่อไป โดยปีเตอร์ ฮูเปอร์ (Peter Hooper) หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจระดับโลก ดอยช์ แบงก์ (Deutsche Bank AG.) กล่าวว่า “การรวมตัวกันของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่พยายามจะชะลอสิ่งต่างๆ ลงเพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ ภาวะการเงินที่ตึงตัว ถูกดำเนินการภายใต้สถานการณ์อันตึงเครียด ซึ่งคุณจะเริ่มเห็นความแตกแยกของมัน”
รายงานจากบลูมเบิร์กตั้งข้อสังเกตการปิดตัวลงของ SVB ว่า เหมือนกับ ‘เปลือกกล้วย’ ที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจที่ระส่ำอยู่แล้วของสหรัฐฯ ให้ยิ่งสั่นคลอนมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ในสถานการณ์ที่เฟดทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยมาตั้งแต่ปี 2022 ความเสี่ยงในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงเกิดขึ้นได้เสมอ ระเบิดเวลาของภาคการเงิน กลุ่มธุรกิจ และกองทุนการลงทุนจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
บลูมเบิร์กเปรียบเทียบว่า ตอนนี้ ภาคการเงินและกลุ่มธุรกิจเหมือนกับนักว่ายน้ำเปลือยกายที่ยังคงว่ายต่อไปในกระแสน้ำที่ค่อยๆ หยุดเคลื่อนตัวไปข้างหน้าแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนหลังจากนี้ คือความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างกระทันหัน แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังเชื่อมั่นว่า วิกฤตแบงก์ล่มครั้งนี้ยังไม่ใช่ชนวนเหตุที่จะทำให้สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ต้องจับตาดูกันต่อไป เพราะเมื่อเกิดรอยร้าวขึ้นมาแล้ว ก็ยากที่จะแน่ใจได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปบ้าง
‘ไทย’ ได้รับผลกระทบหรือไม่?
การปิดตัวลงของแบงก์สหรัฐฯ ถึง 3 แห่งในรอบสัปดาห์เดียวกัน ทำให้ทั่วโลกหลายประเทศรวมถึงไทยเองเกิดคำถามตามมามากมายว่า สถานการณ์ทางการเงินภายในประเทศจะได้รับผลกระทบตามมาด้วยหรือไม่
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ‘แบงก์ชาติ’ ไม่รอช้า วันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ออกมาชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand โดยเป็นการสรุปถึงภาพรวมผลกระทบจากเหตุการณ์ล้มละลายของ SVB และประเมินผลกระทบต่อระบบการเงินไทยว่า กรณี SVB มีผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินไทยจำกัด เนื่องจาก ไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมกับ SVB โดยตรง และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยในฟินเทค (FinTech) และสตาร์ตอัปก็มีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ของเงินกองทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์
แบงก์ชาติได้เน้นย้ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยว่า ได้มีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ Venture Capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่อเงินฝากประชาชน
อ้างอิง:
https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-03-15/svb-bank-collapse-raises-2023-us-recession-fears
https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-03-15/silicon-valley-bank-tests-vcs-run-exposes-rifts-in-typically-chummy-world
https://www.ft.com/content/8e0be2f4-0b41-4768-b586-49180980ba90?fbclid=IwAR2oK6JBv1DQrkihQFnfozW9JpJoHp1tI3Py1cwIuGHaeN0TQv6nbD1A9vk
https://www.ft.com/content/b556badb-8e98-42fa-b88e-6e7e0ca758b8?shareType=nongift&fbclid=IwAR0vXTtYlQiV2oaLV7F5z31oQeFGhE5pA1u0OTdLFnnj6LI9PdOACIp6WQM
https://www.cnbc.com/2023/03/10/silicon-valley-bank-is-shut-down-by-regulators-fdic-to-protect-insured-deposits.html?fbclid=IwAR2OeR1SYR5oAzflsO8IaftA_yKRjKw1UNwLA37kDQBUYfDUfROGbLQ6xp4
https://www.facebook.com/lpipat