19 มิ.ย. 2566 | 15:08 น.
- ปี 2016 นิตยสาร TIME ยกย่องให้ภาพถ่ายใบหนึ่งของ ‘ฟิลิปป์ คาห์น’ ที่มีชื่อว่า ‘First Cell-Phone Picture’ เป็น 1 ใน 100 ภาพถ่ายที่ ‘ทรงอิทธิพลตลอดกาล’
- First Cell-Phone Picture คือ ‘ภาพประวัติศาสตร์รูปแรกของโลกที่ถ่ายโดยโทรศัพท์มือถือ’ ฝีมือ ‘ฟิลิปป์ คาห์น’ ซึ่งถ่ายไว้ในปี 1997 เป็นรูป ‘โซฟี’ บุตรสาวของเขาเอง
ในยุคที่ ‘กล้องดิจิทัล’ กำลังแพร่หลาย และ ‘โทรศัพท์มือถือ’ ยังไม่มีฟังก์ชันสำหรับถ่ายภาพ แม้ยุค 2G ในตอนนั้น มือถือบางรุ่นจะถ่ายรูปได้ ทว่าก็ยังไม่สามารถโพสต์ภาพบนอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์ได้เหมือนในปัจจุบัน
ในปี 2013 นิตยสาร TIME ได้ยกย่องให้ ‘ฟิลิปป์ คาห์น’ (Philippe Kahn) เป็นหนึ่งในบุคคลแห่งปี (Person of the Year) ในฐานะหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดการคิดค้นให้ ‘โทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายรูป’ ได้
นอกจากฟิลิปป์ คาห์น จะเป็นผู้ประยุกต์ให้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปได้ และ ‘ภาพประวัติศาสตร์รูปแรกของโลกที่ถ่ายโดยโทรศัพท์มือถือ’ ก็เป็นฝีมือของเขา ปัจจุบัน ฟิลิปป์ยังคงทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสาร และถ่ายภาพ เขาเป็นเจ้าของบริษัทไอทีถึง 4 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย Borland, Starfish Software, LightSurf Technologies และ Fullpower
‘เห่อลูก’ จุดกำเนิดการหลอมรวมเทคโนโลยี
เพราะความอยากอวดลูกของฟิลิปป์ คุณพ่อมือใหม่ในตอนนั้น จึงเกิดเป็น ‘ต้นแบบนวัตกรรม’ ที่พลิกโฉมโลกการสื่อสารไร้สาย นำมาสู่รากฐานแนวความคิดที่ได้รับการต่อยอดไปสู่การประดิษฐ์ ‘สมาร์ตโฟน’ (Smart Phone) และ ‘แอปพลิเคชัน’ (Application) รวมถึงการ ‘แชร์รูป’ ที่เรา ๆ ท่าน ๆ ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้เกิดจาก ‘ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือภาพแรกของโลก’ ฝีมือฟิลิปป์ ที่เป็นทั้งการ ‘ให้กำเนิด’ เทคโนโลยี ‘โทรศัพท์มือถือติดกล้อง’ พร้อมกับ ‘การกำเนิด’ ของ ‘โซฟี’ บุตรสาวของฟิลิปป์เอง
นั่นเป็นเพราะฟิลิปป์เป็นคนสร้างเครื่องมือถ่ายรูป เป็นคนถ่ายภาพ และแชร์รูปจากโทรศัพท์มือถือเป็นคนแรกของโลก ทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของคนคนเดียวกัน!
เรากำลังพูดถึงเหตุการณ์ในวันที่ 11 มิถุนายน ปี 1997 ห้วงเวลาที่โลกกำลัง ‘เห่อ’ กล้องเมื่อมาผสมกับ ‘ความเห่อ’ ลูกสาวที่กำลังจะคลอด ทุกสิ่งทุกอย่างจึงมารวมกันเพื่อให้กำเนิดต้นธารความคิด ‘โทรศัพท์มือถือติดกล้อง’ เครื่องแรกของโลก
ในช่วงที่ฟิลิปป์ และลี ภรรยาของเขา อยู่ในห้องรอคลอดของ Sutter Maternity & Surgery Center คลินิกสูตินรีเวชประจำเมืองซานตาครูซ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ฟิลิปป์ ซึ่งขณะนั้นกำลังก่อร่างสร้างธุรกิจซอฟต์แวร์ ด้วยความที่เขาเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ จึงนึกสนุกผสมกับ ‘ความเห่อ’ ทำให้เขาอยากถ่ายภาพบุตรสาวที่กำลังจะลืมตาดูโลก เพื่อส่งไปอวดญาติ ๆ และเพื่อน ๆ จากห้องคลอด
จาก ‘ความเห่อ’ ถึง ‘ความซน’ ต้นกำเนิดนวัตกรรม ‘โทรศัพท์มือถือติดกล้อง’
แม้จะดูง่ายๆ เพียงแค่
แต่อย่าลืมว่าปี 1997 ไม่เพียงมือถือยังต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้ โลกยังไม่มีระบบ Wi-Fi ใช้แพร่หลายด้วยซ้ำ
โจทย์ใหญ่ในขณะนั้นของฟิลิปป์ก็คือ “จะส่งภาพลูกสาวไปให้ญาติ ๆ และเพื่อน ๆ จากห้องคลอดได้อย่างไร”
สำคัญก็คือ โลกไม่มีสายเชื่อมต่อกล้องกับโทรศัพท์มือถือ ฟิลิปป์จึงดัดแปลงเอาสาย ‘สมอลล์ทอล์ก’ (Small Talk) มาเป็นตัวเชื่อมสัญญาณ
เมื่อเขาถ่ายภาพลูกสาวด้วยกล้องดิจิทัลเสร็จก็ทำการดึงภาพจากกล้องดิจิทัลไปไว้ในโน้ตบุ๊ก จากนั้นเปิดสัญญาณมือถือเพื่อส่งภาพจากโน้ตบุ๊กไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่ทำงาน แล้วใช้โปรแกรมที่เขาเขียนขึ้นเองสำหรับกระจายภาพโซฟี ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน ส่งไปอวดญาติ ๆ และเพื่อน ๆ ทางอีเมล
ญาติ ๆ และเพื่อน ๆ ของฟิลิปป์ที่ได้รับอีเมลในตอนนั้น พากันประหลาดใจว่าเขาทำได้อย่างไร ในการส่งภาพถ่ายทารกทันทีที่คลอดออกมา
เพราะมือถือ Motorola StarTAC ของฟิลิปป์ ณ วันที่ 11 มิถุนายน ปี 1997 ก็ไม่มีกล้อง ส่วนกล้อง Digital ยี่ห้อ Casio QV-10 ของเขาก็ไม่มีสัญญาณหรือสายใด ๆ ให้อัปโหลดรูปภาพ และโน้ตบุ๊กยี่ห้อ Toshiba ที่เขาใช้ตอนนั้นก็ยังไม่มี Wi-Fi
แต่ฟิลิปป์ก็ฝ่าวงล้อมข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ เขาถ่ายภาพลูกสาว และส่งรูปผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือไปยังญาติ ๆ และเพื่อน ๆ ได้ เหมือนกับโลกในปี 2023 ทุกประการ
แม้การหลอมรวมอุปกรณ์ คือกล้องดิจิทัลและโทรศัพท์มือถือดังกล่าว จะดูเหมือนการคิดค้นแบบหยาบ ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว แต่สิ่งที่ฟิลิปป์ได้ทำนั้น คือการถ่ายรูปลูกสาวด้วยกล้องดิจิทัล และส่งต่อรูปภาพผ่านเครือข่ายโทรศัพท์สาธารณะได้อย่างแม่นยำ ได้กลายเป็น ‘สิ่งล้ำค่า 2 อย่าง’ ในวันที่มีความหมายที่สุดในชีวิตของเขา
นั่นคือ ‘ภาพถ่ายลูกสาวคนแรกที่เพิ่งคลอด’ ที่ต่อมาได้กลายเป็น First Cell-Phone Picture หรือ ‘ภาพประวัติศาสตร์รูปแรกของโลกที่ถ่ายโดยโทรศัพท์มือถือ’
จากนวัตกรรมบ้าน ๆ นำสู่มูลค่ามหาศาลทางธุรกิจ
หลังจากเหตุการณ์วันที่ 11 มิถุนายน ปี 1997 ที่ห้องคลอด ฟิลิปป์ได้เดินหน้าพัฒนาระบบและซอฟต์แวร์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม จนกระทั่งแน่ใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดตัวสู่สาธารณชน
ล่วงเข้าวันที่ 7 กันยายน ปี 2000 ที่นิทรรศการ DEMOmobile งานนำเสนอเทคโนโลยีการสื่อสารเกี่ยวกับโทรศัพท์ไร้สาย ฟิลิปป์ได้อธิบายกระบวนการทำงาน และสาธิตขั้นตอนการรับ-ส่งภาพ ผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งฟิลิปป์ได้ถ่ายภาพ ‘คริส ชิพเลย์’ หัวหน้าทีมคุมคิวเวที และส่งรูปคริสผ่านมือถือไปให้เจ้าหน้าที่ฉายขึ้นจอ เรียกเสียงฮือฮาจากคนดูด้านหน้าเวที และเสียงปรบมือดังกึกก้องบริเวณงาน
และหนึ่งในคนดูหน้าเวทีในวันนั้น มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Sharp นั่งอยู่ด้วย นำไปสู่การต่อยอดแนวคิดของฟิลิปป์ กลายเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่น J-Phone ของ Sharp ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกของโลกที่ถ่ายรูปได้ โดยเรียกฟังก์ชันดังกล่าวว่า Sha-Mail
J-Phone วางขายครั้งแรกเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ปี 2000 ในประเทศญี่ปุ่น และได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา
ย้อนดูไทม์ไลน์ ‘มือถือติดกล้อง’ เทคโนโลยีพลิกโลก!
ปี 1998 หลังจากโลกฮือฮาแนวคิด ‘มือถือติดกล้อง’ ของฟิลิปป์ อยู่ ๆ ‘Game Boy Camera’ อุปกรณ์เสริมสำหรับถ่ายรูปบนเครื่องเล่นเกมกด Game Boy ก็ออกวางตลาด และได้รับการจดบันทึกจาก ‘Guiness World Records’ ว่าเป็นกล้องดิจิทัลขนาดเล็กที่สุดในตอนนั้น แม้จะเป็นกล้องขาว-ดำ และภาพที่ได้ยังมีความละเอียดต่ำก็ตามที
ตามมาติด ๆ ด้วย J-Phone ของ Sharp ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกของโลกที่ถ่ายรูปได้ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีการส่งภาพผ่าน Sha-Mail หรืออีเมลบนโทรศัพท์มือถือในปี 2000
ล่วงเข้าปี 2002 การมาถึงของ Sony Ericsson T68i ที่เปิดตัวอุปกรณ์เสริมกล้องถ่ายรูปแบบ ‘สี’ ความละเอียด 640 x 480 พิกเซล หรือที่หลายฝ่ายคงคุ้นเคยกันดีในชื่อ VGA โดยสามารถจัดเก็บภาพถ่ายแบบความละเอียดสูงสุดได้ถึง 14 รูปเลยทีเดียว
ในระยะเวลาไล่ ๆ กันไม่กี่เดือน Sharp J-SH04 และ Nokia 7650 ได้ปลดล็อกอุปกรณ์เชื่อมต่อเพื่อถ่ายภาพกับโทรศัพท์มือถือ ด้วยการติดกล้องฝังเอาไว้ที่ด้านหลังของตัวเครื่อง ทำให้การใช้งานสะดวกขึ้นมาก
ปีต่อมา ดูเหมือนตลาด ‘มือถือติดกล้อง’ เริ่มได้รับความนิยม โดย Nokia ส่ง 6600 และ 7600 ออกมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของ ‘สงครามความละเอียด’ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
อีกทั้งการมาถึงของ Neonode N1 กับการริเริ่มเพิ่ม ‘กล้องหน้า’ สำหรับการ ‘เซลฟี่’ ที่ทำให้เราไม่ต้องถ่ายคู่กับกระจกอีกต่อไป!
ตามมาติด ๆ กับ Sony Ericsson Z1010 และ Siemens U15 ที่มี ‘กล้องหน้า’ สมรรถนะสูงเต็มรูปแบบ
หลังจากยุค ‘กล้องหน้า’ วงการมือถือวกกลับไปสู้กันที่ ‘ความละเอียด’ อีกครั้ง เช่นการเปิดตัวกล้องความละเอียดระดับ Mega Pixel นำโดย Nokia 3230, Samsung D500 และ Sony Ericsson S700
โดย Sony ได้นำแบรนด์กล้องดั้งเดิมที่แข็งแกร่งคือ CyberShot มาติดตั้งไว้บนมือถือ ทางด้าน Nokia ก็นำเลนส์ Carl Zeiss อันเลื่องชื่อติดตั้งเข้าไป หมายแข่งกับ Sony
จากนั้นเข้าสู่ยุค ‘กล้องหลังคู่’ หรือ Dual-Camera ไม่ว่าจะเป็น HTC One M8, Huawei P9, P10, Mate 9, iPhone 7 Plus, Vivo V5 Plus
ส่วน Oppo F3 Plus เป็นผู้ริเริ่ม ‘กล้องหน้าคู่’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Alcatel ที่เรียกเสียงฮือฮากับ ‘มือถือติดกล้อง 4 ตัว’
ท้ายที่สุดที่ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ สำหรับ ‘มือถือติดกล้อง’ ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุค VR และ AR เริ่มจาก Lenovo Phab 2 Pro มือถือที่รองรับเทคโนโลยี AR เครื่องแรกของโลก, ASUS Zenfone AR มือถือที่มาพร้อมกับ RAM ถึง 8GB พร้อมรองรับทั้ง AR และ VR เต็มรูปแบบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง iPhone ที่เตรียมเข้ามาเล่นด้วยเร็ว ๆ นี้