‘นิโคลัส ฮาเย็ค’ ผู้ก่อตั้งอาณาจักร Swatch Group ช่วยกอบกู้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส

‘นิโคลัส ฮาเย็ค’ ผู้ก่อตั้งอาณาจักร Swatch Group ช่วยกอบกู้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส

‘นิโคลัส ฮาเย็ค’ ผู้กอบกู้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส ที่กำลังหายใจรวยรินหลังเผชิญวิกฤตการณ์ควอตซ์ ด้วยการปั้น ‘นาฬิกาสวอท์ช’

  • ‘นิโคลัส ฮาเย็ค’ เคยเป็น ‘นักคณิตศาสตร์ประกันภัย’ ต่อมาจึงขยับไปทำงานเป็นผู้จัดการและที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่าง ๆ กระทั่งอายุ 35 ปี จึงเริ่มต้นทำบริษัทของตัวเอง
  • ภาวะขาลงของนาฬิกาสวิสเกิดขึ้นหลังจากผู้ผลิตนาฬิกาญี่ปุ่นอย่าง ‘ไซโก’ (Seiko) ทำนาฬิการะบบควอตซ์ออกมาขายในราคาที่ถูกกว่า และแม่นยำมากกว่า
  • ปรัชญาการผลิตนาฬิกาของฮาเย็คคือการมุ่งเน้นไปที่ ‘สินค้าคุณภาพสูง’ สำหรับการขายเน้นปริมาณ (mass market) ด้วยเหตุนี้เขาจึงสนับสนุนการพัฒนาและออกแบบนาฬิกาทั้งหมดในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรักษาความรู้ความชำนาญและความเชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกาเอาไว้

ในบรรดาสัญลักษณ์ประจำชาติทั้งหมดของ ‘สวิตเซอร์แลนด์’ การทำ ‘นาฬิกา’ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งชาวสวิสสืบสานกันมานานตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 

ทว่าอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสในปัจจุบันเป็นหนี้บุญคุณชายเชื้อสายเลบานอนคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยแรงผลักดันและจิตวิญญาณของผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ‘นิโคลัส จี. ฮาเย็ค’ (Nicolas G. Hayek) 

ฮาเย็คเป็นชาวเลบานอนโดยกำเนิด เขาประกอบอาชีพเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ (business consultant) ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่า สามารถกอบกู้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสได้ ด้วยการปลุกปั้นอาณาจักร ‘สวอท์ช’ (Swatch) 

เมื่อปี 2010 ขณะมีอายุ 82 ปี ฮาเย็ค ผู้ก่อตั้งและประธานสวอท์ช กรุ๊ป (Swatch Group) เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวระหว่างทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ซึ่งนอกเหนือจากนาฬิกาสวอท์ชแล้ว ปัจจุบันยังประกอบด้วยแบรนด์นาฬิการะดับไฮเอนด์ เช่น เบรเกต์ (Breguet), โอเมก้า (Omega), ลองจินส์ (Longines), ทิสโซต์ (Tissot), คาลวิน ไคลน์ (Calvin Klein) และมิโด (Mido) ทำให้ฮาเย็คเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ 

ในบทความนี้ เราจะอธิบายการเดินทางของ นิโคลัส ฮาเย็ค และความสำเร็จของเขา ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมนาฬิกาขึ้นมาใหม่

นิโคลัส ฮาเย็ค คือใคร?

นิโคลัส ฮาเย็ค เกิดที่กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เมื่อปี 1928 เขาร่ำเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี ที่มหาวิทยาลัยลียง ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะย้ายไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เมืองหลวงแห่งนาฬิกา ในปี 1951 หลังจากแต่งงานกับ ‘มารีแอนน์ เมซเกอร์’ (Marianne Mezger) ซึ่งเป็นลูกสาวเจ้าของบริษัทผลิต ‘คันขาเบรก’ (brake shoes) สำหรับตู้รถไฟ 

เมื่อพ่อตาของเขาป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ฮาเย็คจึงได้เข้าไปดูแลโรงงานแทนเป็นการชั่วคราว ซึ่งทำให้เขาผ่านประสบการณ์การทำงานในฐานะผู้ประกอบการตั้งแต่อายุไม่มาก

ส่วนอาชีพจริง ๆ ของเขานั้นคือ ‘นักคณิตศาสตร์ประกันภัย’ (actuary scientist) ที่ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของบริษัทในสวิส ต่อมาจึงขยับไปทำงานเป็นผู้จัดการและที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่าง ๆ กระทั่งอายุ 35 ปี จึงเริ่มต้นทำบริษัทของตัวเองในชื่อ ‘ฮาเย็ค เอนจิเนียริง’ (Hayek Engineering) ที่เมืองซูริค เพื่อให้คำปรึกษากับบริษัทขนาดใหญ่ในยุโรป และในปี 1969 หรือ 12 ปีหลังก่อตั้งบริษัท เขาก็ได้รับสัญชาติสวิส 

ฮาเย็คกลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงด้านการปรับโครงสร้างองค์กรที่ชาญฉลาด บริษัทของเขาเป็นที่รู้จักในหมู่นักอุตสาหกรรมชาวสวิส และบริษัทข้ามชาติชั้นนำของโลก ในปี 1979 บริษัทของเขามีลูกค้า 300 รายทั่วโลก เช่น มันเนสมันน์ (Mannesmann), ธิสเซ่น (Thyssen), อาวดี้ (Audi) และเดมเลอร์-เบนซ์ (Daimler-Benz) 

‘สวอท์ช’ นาฬิกาพลาสติกที่กอบกู้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส

ในช่วงทศวรรษ 1970 อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์มานานหลายศตวรรษ เผชิญความท้าทายจากการส่งออกที่ลดลงจนน่าใจหาย ถึงขนาดที่บริษัทผลิตนาฬิกาในสวิสหลายแห่งต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน 

ภาวะขาลงของนาฬิกาสวิสเกิดขึ้นหลังจากผู้ผลิตนาฬิกาญี่ปุ่นอย่าง ‘ไซโก’ (Seiko) ทำนาฬิการะบบควอตซ์ออกมาขายในราคาที่ถูกกว่า และแม่นยำมากกว่า ทำให้คนทั่วโลกเริ่มหันหลังให้นาฬิกาแอนะล็อกที่ผลิตอย่างประณีตโดยช่างฝีมือชาวสวิส แล้วหันมาสวมใส่นาฬิกาควอตซ์แทน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘วิกฤตการณ์นาฬิกาควอตซ์’ (Quartz crisis) ที่พอผนวกกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกหลังวิกฤตการณ์น้ำมัน และการแข็งค่าของฟรังก์สวิส ลมหายใจของอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสก็เริ่มแผ่วเบา

เมื่อดูจากความสำเร็จที่ผ่านมาของฮาเย็ค รัฐบาลสวิสจึงได้มอบหมายให้ตัวแทนธนาคารและอุตสาหกรรมนาฬิกาติดต่อเขา เพื่อให้มาช่วย 2 อดีตยักษ์ใหญ่ในวงการนาฬิกาสวิส ได้แก่ ‘ASUAG’ และ ‘SSIH’ ให้สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ 

หากพิจารณาสถานการณ์รอบด้าน เป็นคนอื่นอาจจะเอามือกุมขมับ แต่สำหรับฮาเย็ค เขากลับแฮปปี้มากที่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและกุมบังเหียน 2 บริษัทนาฬิกายักษ์ใหญ่ เบื้องต้นเขาไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การขายเพื่อทำกำไรเยอะ ๆ แต่เน้นไปที่การปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ ด้วยมุมมองที่ว่า 

“สวิตเซอร์แลนด์ขาดผู้ประกอบการธุรกิจที่มีความกล้าหาญ มีจินตนาการ และมองการณ์ไกล” 

หลังจากวิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้ว ฮาเย็คเสนอให้ ASUAG กับ SSIH ควบรวมกิจการกันแล้วตั้งบริษัทใหม่เพื่อเดินหน้าลุยอีกครั้ง ไม่ใช่แค่พอหาเงินมาชำระหนี้ธนาคาร แต่ปัญหาคือในเวลานั้นธนาคารต่าง ๆ ยังไม่อยากจะปล่อยกู้ให้บริษัทนาฬิกา เพราะเพิ่งจะบอบช้ำจากวิกฤตควอตช์มา ทั้งยังไม่มั่นใจด้วยว่าบริษัทนาฬิกาน้องใหม่จะมีโอกาสรอดหรือไม่ บรรดาธนาคารจึงเสนอให้ฮาเย็คเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ ด้วยเงิน 300 ล้านฟรังก์สวิส 

ปี 1983 จึงมีการก่อตั้งบริษัทนาฬิกาใหม่ที่ชื่อว่า ‘SSIH-ASUAG’ ขึ้น ก่อนจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘SMH’ ที่ฮาเย็คมักบอกนักข่าวว่าย่อมาจาก Sa Majesté Hayek หรือ His Royal Highness Hayek (เจ้าชายฮาเย็ค) 

ปรัชญาการผลิตนาฬิกาของฮาเย็คคือการมุ่งเน้นไปที่ ‘สินค้าคุณภาพสูง’ สำหรับการขายเน้นปริมาณ (mass market) ด้วยเหตุนี้เขาจึงสนับสนุนการพัฒนาและออกแบบนาฬิกาทั้งหมดในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรักษาความรู้ความชำนาญและความเชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกาเอาไว้ ตรงข้ามกับบริษัทนาฬิการะดับโลกอื่น ๆ ที่ต่างวิ่งหาแหล่งผลิตในเอเชีย เพื่อให้ได้สินค้าต้นทุนต่ำ

ปี 1983 ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤตการณ์ควอตซ์ ฮาเย็คได้ก่อตั้งแบรนด์ ‘สวอท์ช’ (Swatch) ขึ้นมา เพื่อขายนาฬิกาควอตซ์ที่ทำมาจากพลาสติก น้ำหนักเบา ดีไซน์สนุกสนาน โทนสีหลากหลาย ที่สำคัญคือ ‘ราคาประหยัด’ ขายปลีกในราคาไม่ถึง 35 ดอลลาร์ เมื่อครั้งวางตลาดครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา 

ด้วยราคาที่ต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของนาฬิกาได้หลายเรือนเพื่อเอาไว้ใส่ในโอกาสต่าง ๆ จึงมีการกล่าวว่าที่มาของชื่อสวอท์ชนั้น มาจากจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่อยากจะเป็น second watch (นาฬิกาเรือนที่สอง) บ้างก็ว่าคำว่าสวอท์ช เป็นการผสมคำระหว่าง Swiss กับ Watch เพื่อเน้นย้ำว่านาฬิกามีต้นกำเนิดมาจากที่ใด 

แต่ไม่ว่าที่มาของชื่อจะเป็นอย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นาฬิกาสวอท์ชก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสไปแล้ว 

นาฬิกาสวอท์ชรุ่นแรกนี้ เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างวิศวกรชาวสวิสชื่อ ‘เอลมาร์ ม็อค’ (Elmar Mock) และช่างนาฬิกาชื่อ ‘ฌาคส์ มุลเลอร์’ (Jacques Müller) เดิมทีตั้งเป้าขาย 2.5 ล้านเรือนในปี 1984 แต่ปรากฏว่ายอดขายทะลักไปจนถึง 3.7 ล้านเรือน 

‘นิโคลัส ฮาเย็ค’ ผู้ก่อตั้งอาณาจักร Swatch Group ช่วยกอบกู้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของนาฬิกาสวอท์ชส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ และการลดจำนวนส่วนประกอบเหลือ 51 ชิ้น ขณะที่นาฬิกาข้อมือแบบดั้งเดิมใช้ชิ้นส่วนเกือบ 100 ชิ้น

นาฬิกาสวอท์ชกลายเป็นที่ปรารถนาของลูกค้าอย่างรวดเร็ว โดยขายได้เกือบ 100 ล้านเรือนภายในช่วงต้นทศวรรษ 1990 

การผงาดในโลกนาฬิกาของ ‘สวอท์ช กรุ๊ป’

ความสำเร็จของนาฬิกาสวอท์ชทำให้เกิดแรงกดดันในฝั่งนาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในเอเชีย ฮาเย็คเชื่อว่าผู้บริโภคมักจะชอบสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นตัวเอง ดังนั้นหากมีนาฬิกาควอตซ์ 2 แบรนด์ให้เลือก ผู้บริโภคในยุโรปย่อมชอบนาฬิกาสวอท์ชที่ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์อย่างแน่นอน ผลก็คือบริษัท SMH ของฮาเย็คกลับเข้ามาครองส่วนแบ่งตลาดในยุโรปอย่างช้า ๆ 

ฮาเย็คไม่หยุดเพียงแค่ชิงส่วนแบ่งการตลาดที่สูญเสียไปกลับคืนมา บริษัทของเขายังคงสร้างสรรค์ดีไซน์และสไตล์ใหม่ ๆ มากมายทุกปี โดยมีการออกนาฬิการุ่นใหม่ ๆ ทุก 6 เดือน ขณะที่นาฬิการุ่นเก่าก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นของสะสมอันเลอค่า

“เราจะขายต่อไป และจะขายดีด้วย” ฮาเย็คให้สัมภาษณ์ในปี 2008 พร้อมกับเสริมว่า “สิ่งที่เราขายนั้นคือภูมิปัญญาของสวิตเซอร์แลนด์” 

ในปี 1998 ฮาเย็คเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก SMH เป็น ‘สวอท์ช กรุ๊ป’ และหลังจากนั้นก็ได้เข้าซื้อกิจการผู้ผลิตนาฬิกาอื่น ๆ เช่น แบรนด์นาฬิกาชั้นสูงอย่าง ‘เบรเกต์’ ควบคู่กับการปรับโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะด้านลอจิสติกส์ ตลอดจนการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ต่าง ๆ อีกทั้งยังพยายามหยุดการแข่งขันกันเองของแบรนด์ในเครือ ด้วยความเชื่อว่าทุกแบรนด์ควรสนับสนุนซึ่งกันและกันแทน เขาค่อย ๆ นำบริษัทในกลุ่มมาอยู่ในที่เดียวกัน และให้ช่างทำนาฬิกามารวมเป็นแผนกเดียวกันเพื่อลดต้นทุน โดยระวังไม่ให้กระทบต่อสไตล์ แก่นแท้ และหลักปฏิบัติของแต่ละแบรนด์

อย่างไรก็ตาม การที่จะบรรลุความฝันที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เส้นทางของฮาเย็คนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ธนาคารและนักลงทุนในสวิตเซอร์แลนด์ไม่น้อย ตั้งคำถามถึงการขายนาฬิกาในราคาต่ำของเขา ซึ่งอาจทำให้นาฬิกาสวิสถูกมองว่าเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ 

แต่ท้ายที่สุดการยกเครื่องการผลิตนาฬิกาแบบองค์รวมของเขาก็สามารถกอบกู้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสที่กำลังจะตาย และฟื้นความภาคภูมิใจในการผลิตนาฬิกาสวิสขึ้นมาอีกครั้ง 

แนวคิดทางธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดของเขาไม่ได้หยุดอยู่กับโลกแห่งนาฬิกาเท่านั้น ฮาเย็คยังเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ธนาคารโลก และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ มีอิสรภาพทางการเงินมากขึ้น เพราะเขาเชื่ออย่างยิ่งว่าหากประเทศต่าง ๆ มีความมั่นคงทางการเงิน ประเทศเหล่านั้นก็จะมีความมั่นคงด้าน ‘อธิปไตย’ ด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลที่เขายืนยันจะผลิตนาฬิกาในสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป โดยไม่หวังพึ่งตลาดแรงงานราคาถูก แม้จะเผชิญวิกฤตการณ์ควอตซ์ก็ตาม 

ปัจจุบัน สวอท์ช กรุ๊ป ถือเป็นอัญมณีมงกุฎของสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นผู้นำด้านการผลิตนาฬิกาและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีระดับโลก แม้ว่าฮาเย็คจะจากโลกนี้ไป 13 ปีแล้ว 

 

ภาพ : ภาพนิโคลัส ฮาเย็ค จากเว็บไซต์ omegawatches, ภาพนาฬิกาจากเว็บไซต์ swatchgroup 

อ้างอิง :

nytimes

houseofswitzerland

watchmaster

watchranker

auctionhouse