‘ปาเต็ก ฟิลิปป์’ นาฬิกาที่ชนชั้นสูงโปรดปราน ฝีมือ 2 อัจฉริยะที่เชื่อมั่นใน ‘ความเป็นเลิศ’

‘ปาเต็ก ฟิลิปป์’ นาฬิกาที่ชนชั้นสูงโปรดปราน ฝีมือ 2 อัจฉริยะที่เชื่อมั่นใน ‘ความเป็นเลิศ’

จุดเริ่มต้นของ ‘ปาเต็ก ฟิลิปป์’ (Patek Philippe) หนึ่งในผู้ผลิตนาฬิกาที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นที่ปรารถนาของราชวงศ์ ผู้นำประเทศ และเหล่าคนดัง

  • ปาเต็กเข้าสู่อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส โดยเริ่มจากการซื้อกลไกนาฬิกาที่มีคุณภาพไปติดตั้งในตัวเรือนนาฬิกาสุดประณีต จนออกมาเป็น ‘ผลงานศิลปะ’ ที่สามารถอุดรูรั่วในตลาดนาฬิกาได้อย่างเหมาะเจาะ
  • ปี 1851 ฟิลิปป์ผู้ปฏิวัติด้านการออกแบบนาฬิกา ได้กลายเป็นหุ้นส่วนเต็มตัว ปาเต็กจึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘ปาเต็ก, ฟิลิปป์ แอนด์ โค’ (Patek, Phillipe & Co.) 
  • ปาเต็ก ฟิลิปป์ ไม่ต้องเสียเงินจ้างคนดังมาเป็นหน้าเป็นตาให้กับแบรนด์ เพราะราชวงศ์ทั่วทั้งยุโรปต่างเต็มใจที่จะใส่นาฬิกาอยู่แล้ว บริษัทจึงหันไปทุ่มทรัพยากรให้กับกลไกนาฬิกาคุณภาพสูง และแม่นยำ ได้อย่างเต็มที่

หากพูดถึงแบรนด์นาฬิกาที่ได้รับการออกแบบอย่างประณีตไร้ที่ติ ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมอันเป็นต้นแบบของนาฬิกายุคปัจจุบัน และมีประวัติศาสตร์ยาวนานในอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาของสวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีแบรนด์ไหนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมยิ่งไปกว่า ‘ปาเต็ก ฟิลิปป์’ (Patek Philippe) ที่ก่อตั้งโดย ‘อองตวน นอร์เบิร์ต เดอ ปาเต็ก’ (Antoni Norbert de Patek)  และ ‘ฌอง เอเดรียน ฟิลิปป์’ (Jean Adrien Philippe)

ปาเต็ก ฟิลิปป์ ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำของโลก ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น หรูหรา และกลไกอันสลับซับซ้อน จนกลายเป็นที่โปรดปรานสำหรับเหล่าคนดัง นักกีฬา และมหาเศรษฐี ไม่เว้นแม้แต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ, จอห์น เอฟ. เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ทฤษฎีชื่อดัง รวมถึง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สวมนาฬิกาแบรนด์นี้ขณะนั่งเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวกลับประเทศ 

‘ปาเต็ก ฟิลิปป์’ นาฬิกาที่ชนชั้นสูงโปรดปราน ฝีมือ 2 อัจฉริยะที่เชื่อมั่นใน ‘ความเป็นเลิศ’

แม้สำนักงานใหญ่ของปาเต็ก ฟิลิปป์ จะตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่จุดกำเนิดของเรือนเวลาระดับตำนานกลับอยู่ที่โปแลนด์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้ร่วมก่อตั้งอย่างอองตวน นอร์เบิร์ต เดอ ปาเต็ก

ชีวิตในวัยเด็กของ ‘อองตวน นอร์เบิร์ต เดอ ปาเต็ก’

อองตวน นอร์เบิร์ต ปาเต็ก เกิดเมื่อปี 1812 ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในโปแลนด์ ท่ามกลางความร้อนระอุของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

เมื่อเขาลืมตาดูโลกได้เพียง 1 ปี จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ได้พ่ายให้กับรัสเซียในปี 1813 หลังจากนั้นที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna) จึงกำหนดเขตแดนของโปแลนด์ขึ้นใหม่ และให้โปแลนด์อยู่ภายใต้การควบคุมของซาร์นิโคลัสที่ 1 

อายุเพียง 15 -16 ปี ปาเต็กได้สมัครเข้าเป็นทหารอาสาในกรมทหารปืนไรเฟิลของโปแลนด์ และได้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อทวงคืนอิสรภาพจากรัสเซีย กระทั่งความไม่สงบยกระดับขึ้นเป็น ‘การลุกฮือในเดือนพฤศจิกายน’ (November Uprising) ปาเต็กเข้าร่วมต่อสู้จนได้รับบาดเจ็บถึง 2 ครั้ง และได้รับเหรียญจากความกล้าหาญในสนามรบ 

แต่โปแลนด์ก็มิอาจต้านความแข็งแกร่งของกองทัพจักรวรรดิรัสเซีย และในเดือนตุลาคม 1831 การลุกฮือถูกบดขยี้จนแหลก ซาร์นิโคลัสที่ 1 กวาดเอาผู้ก่อความไม่สงบมาลงโทษอย่างเหี้ยมโหด ทำให้เจ้าหน้าที่จำนวนมากของกองทัพโปแลนด์ต้องหลบหนีเอาชีวิตรอด 

ระหว่างนั้น ปาเต็กได้เข้าไปช่วย ‘นายพลโจเซฟ เบม’ วีรบุรุษแห่งโปแลนด์ จัดเส้นทางอพยพที่ปลอดภัยให้กับผู้ก่อความไม่สงบ แล้วสุดท้ายตัวเขาเองก็ต้องหลบหนีออกจากประเทศอันเป็นที่รักเพื่อความปลอดภัยเช่นกัน 

ปาเต็กไปตั้งรกรากอยู่ที่ฝรั่งเศสในช่วงสั้น ๆ โดยหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นช่างเรียงพิมพ์ แต่ 2 ปีต่อมาก็ถูกบีบให้ต้องหาที่อยู่ใหม่อีกครั้ง หลังจากรัสเซียกดดันฝรั่งเศสให้ขับไล่ผู้อพยพชาวโปแลนด์ออกนอกประเทศ 

เมื่อสถานการณ์บังคับ ปาเต็กจึงได้ย้ายไปยังเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘แหล่งรวมศาสตร์แห่งเครื่องบอกเวลา

จุดเริ่มต้นการเป็นผู้ผลิตนาฬิกาของปาเต็ก 

ช่วงแรกเขายังไม่ได้เข้าไปฝังตัวในอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาสวิส แต่ทำอาชีพค้าขายไวน์ พร้อมกับเรียนวาดภาพจากศิลปินชาวสวิสคนดัง ‘อเล็กซานเดอร์ คาลาเมอ’ (Alexandre Calame) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ปาเต็กมีรสนิยมที่ดีในด้านศิลปะ

ปาเต็กเข้าสู่อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสอย่างจริงจัง หลังจากที่เขามองเห็น ‘ช่องว่าง’ ในตลาดนาฬิกา โดยเริ่มจากการซื้อกลไกนาฬิกาที่มีคุณภาพไปติดตั้งในตัวเรือนนาฬิกาสุดประณีต ที่เขาได้ว่าจ้างช่างแกะสลัก ช่างทอง และช่างลงยา ที่ฝีมือดีที่สุด รังสรรค์ขึ้นมาโดยเฉพาะ จนออกมาเป็น ‘ผลงานศิลปะ’ ที่สามารถอุดรูรั่วในตลาดนาฬิกาได้อย่างเหมาะเจาะ

วันที่ 1 พฤษภาคม 1839 ปาเต็กเซ็นสัญญา 6 ปี เพื่อเป็นหุ้นส่วนกับ ‘ฟรองซัวร์ ซีซาเป็ก’ (Francois Czapek) เพื่อนผู้อพยพชาวโปแลนด์และช่างทำนาฬิกาชื่อดัง ตั้งบริษัท ‘ปาเต็ก, ซีซาเป็ก แอนด์ ซี’ (Patek, Czapek & Cie.) ที่เมืองเจนีวา

ช่างทำนาฬิกาของปาเต็ก, ซีซาเป็ก แอนด์ ซี ส่วนใหญ่เป็นชาวโปแลนด์ จึงไม่น่าแปลกที่ลวดลายนาฬิกาของพวกเขาจะได้รับอิทธิพลจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโปแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นวีรบุรุษผู้นำการปฏิวัติ ตำนานพื้นบ้าน และสัญลักษณ์ทางศาสนา

ด้วยความที่ปาเต็ก, ซีซาเป็ก แอนด์ ซี มีช่างอยู่เพียงสิบกว่าคน จึงสามารถผลิตนาฬิกาที่ใช้เทคนิคแม่นยำ และเก็บรายละเอียดในแง่ศิลปะได้อย่างน่าทึ่ง ได้เพียงพันกว่าเรือน ตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่สองหุ้นส่วนเซ็นสัญญากัน

แต่น่าเสียดายทั้งคู่เกิดบาดหมางกันในเรื่องการทำงาน ทั้งคู่จึงไม่ต่อสัญญากันในปี 1845 ซึ่งเป็นปีที่ครบกำหนด หลังจากนั้นซีซาเป็กก็แยกไปเปิดบริษัทใหม่ชื่อว่า ‘ซีซาเป็ก แอนด์ โค’ (Czapek & Co.) ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายทศวรรษต่อมา 

‘ฌอง เอเดรียน ฟิลิปป์’ อัจฉริยะนวัตกรรมนาฬิกา

ปาเต็กเองก็ไม่น้อยหน้า ความจริงก่อนที่จะหมดสัญญา เขาได้เดินทางไปปารีสเพื่อจัดแสดงนาฬิกาในปี 1844 และได้พบกับผู้ที่ต่อมาได้นำพาธุรกิจไปสู่จุดสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือ ‘ฌอง เอเดรียน ฟิลิปป์’ (Jean Adrien Philippe) ชาวฝรั่งเศสวัย 29 ปี 

ฟิลิปป์เป็นผู้ผลิตนาฬิกาที่มีพรสวรรค์ และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็น “ผู้ปฏิวัติมาตรฐานการออกแบบนาฬิกา” จากนวัตกรรม ‘keyless stem-winding system’ หรือ กลไกการปรับนาฬิกาแบบไร้กุญแจ โดยเขาได้ใช้เม็ดมะยมแทนการใช้กุญแจ ทำให้ไม่ต้องเปิดตัวเรือนนาฬิกาให้ยุ่งยาก ทุกวันนี้กลไกที่เขาคิดค้นขึ้นก็ได้ถูกนำมาใช้ในนาฬิกาแทบทุกเรือนบนโลก

หลังแยกทางกับซีซาเป็ก ปาเต็กเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘ปาเต็ก แอนด์ โค’ (Patek & Co.) และได้ชวนฟิลิปป์มาเป็นหัวหน้าช่างนาฬิกา ด้วยค่าตอบแทนที่ฟิลิปป์มิอาจปฏิเสธได้ นั่นคือกำไร 1 ใน 3 ของบริษัท

สองคู่หูแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ฟิลิปป์ที่กำลังโด่งดังถึงขีดสุดในแวดวงนาฬิกา รับผิดชอบด้านการผลิตและพัฒนานวัตกรรม ส่วนปาเต็กที่เป็นยอดนักขายก็ออกเดินทางไปประเทศต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้ากระเป๋าหนักและทรงอิทธิพลทั่วทั้งยุโรปและอเมริกาเหนือ

แต่การทำงานที่ดูจะแยกส่วนกัน กลับหลอมรวมกันได้อย่างแนบสนิทจากความที่ทั้งคู่เชื่อมั่นว่า ‘ความเป็นเลิศ’ คือส่วนสำคัญของทุกองค์ประกอบในธุรกิจ ซึ่งเป็นหลักการที่พาให้บริษัทนาฬิกาของทั้งคู่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งในทศวรรษต่อ ๆ ไป

ปี 1851 ฟิลิปป์ได้ยกระดับสู่การเป็นหุ้นส่วนเต็มตัว และปาเต็กก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘ปาเต็ก, ฟิลิปป์ แอนด์ โค’ (Patek, Phillipe & Co.) 

ช่างทำนาฬิกาของราชวงศ์

อีกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 1851 คือการที่ปาเต็กนำนาฬิกาไปจัดแสดงที่นิทรรศการ Great Exhibition ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วปรากฏว่าได้ลูกค้าคนสำคัญอย่าง ‘สมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย’ ซึ่งเสด็จไปร่วมงานพร้อมกับเจ้าชายอัลเฟรด พระคู่หมั้น และได้ซื้อนาฬิกาพกพาจากปาเต็ก ฟิลิปป์ ไปคนละเรือน 

‘ปาเต็ก ฟิลิปป์’ นาฬิกาที่ชนชั้นสูงโปรดปราน ฝีมือ 2 อัจฉริยะที่เชื่อมั่นใน ‘ความเป็นเลิศ’ ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของยุค การซื้อนาฬิกาปาเต็ก ฟิลิปป์ ของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย ทำให้บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งใหม่กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยไม่ต้องอาศัยกลยุทธ์โฆษณาประชาสัมพันธ์ใด ๆ  

ชื่อเสียงด้านนวัตกรรมของปาเต็ก ฟิลิปป์ ขจรไปไกลยิ่งขึ้นอีก เมื่อในปี 1868 เคาน์เตส คอสโควิคซ์แห่งฮังการี ได้สั่งให้ปาเต็ก ฟิลิปป์ ทำนาฬิกาข้อมือที่ผลิตในสวิสเรือนแรกของโลกขึ้น หลังจากนั้นนาฬิกาของปาเต็ก ฟิลิปป์ ที่สุภาพบุรุษมักพกไว้ในกระเป๋าก็ได้กลายเป็นเครื่องบอกเวลาและเครื่องประดับบนข้อมือของสุภาพสตรี โดยเฉพาะสมาชิกราชวงศ์ และขุนนาง ทั่วทั้งยุโรป จนทำให้ปาเต็ก ฟิลิปป์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘ช่างทำนาฬิกาของราชวงศ์’ 

‘ปาเต็ก ฟิลิปป์’ นาฬิกาที่ชนชั้นสูงโปรดปราน ฝีมือ 2 อัจฉริยะที่เชื่อมั่นใน ‘ความเป็นเลิศ’
นับตั้งแต่นั้นมา ความหลงใหลในนาฬิกาปาเต็ก ฟิลิปป์ ก็ได้ขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกเหนือจากสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแล้ว ยังมีซาร์นิโคลัสที่ 2, ลีโอ ตอลสตอย, ไชคอฟสกี, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, วอลต์ ดิสนีย์, ปาโบล ปิกัสโซ, มาเรีย สโคโดวสกา-กูรี, จอห์น ปอลที่ 2 และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ฯลฯ ที่เป็นแฟนประจำของปาเต็ก ฟิลิปป์

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ปาเต็ก ฟิลิปป์ ไม่ต้องเสียเงินจ้างคนดังมาเป็นหน้าเป็นตาให้กับแบรนด์ และหันไปทุ่มทรัพยากรให้กับกลไกนาฬิกาคุณภาพสูง และแม่นยำ ได้อย่างเต็มที่

ความสำเร็จครั้งใหญ่ของปาเต็ก ฟิลิปป์ เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 1876 หลังจากได้กลายเป็นซัพพลายเออร์หลักผลิตนาฬิกาพกพาให้กับ ‘ทิฟฟานี แอนด์ โค’ (Tiffany & Co.) แบรนด์เครื่องประดับเกรดเอในสหรัฐฯ

การเปลี่ยนผ่านของปาเต็ก ฟิลิปป์

นอกเหนือจากการเดินทางเพื่อเสาะแสวงหาโอกาสทางการตลาดและการขาย ปาเต็กยังแบ่งเวลาให้กับการช่วยเหลือชาวโปแลนด์ที่ถูกขับออกนอกประเทศ และให้การสนับสนุนคริสตจักรคาทอลิกเป็นอย่างดี จนได้รับมอบตำแหน่งท่านเคานต์จากสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 แล้วก็บังเอิญเช่นกันที่พระสันตะปาปาองค์นี้ เป็นลูกค้าของปาเต็ก ฟิลิปป์ ด้วย 

ปาเต็กจากไปในปี 1877 ขณะมีอายุ 65 ปี น่าเสียดายที่ลูกชายเพียงคนเดียวของเขาคือ ‘ลียง’ (Leon) ไม่ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ตำแหน่งของเขาจึงถูกส่งต่อไปยัง ‘โจเซฟ อองตวน เบนาสซี-ฟิลิปป์’ ซึ่งเป็นลูกเขยของฟิลิปป์ ส่วนตัวฟิลิปป์ได้ปลดเกษียณในอีกทศวรรษให้หลัง พร้อมกับมอบตำแหน่งให้กับ ‘โจเซฟ เอมิล ฟิลิปป์’ ลูกชายคนเล็กของเขา หลังจากนั้นอีก 4 ปี เขาก็เสียชีวิต แล้วสองทายาทธุรกิจก็เปลี่ยนบริษัทเป็นบริษัทร่วมทุนในปี 1901

แต่ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนผ่านกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง นวัตกรรมและความเป็นเลิศยังคงเป็นหัวใจหลักของปาเต็ก ฟิลิปป์ ซึ่งได้คลอดสิทธิบัตรใหม่ ๆ ออกมามากมายจนล้ำหน้าคู่แข่งไปหลายช่วงตัว เช่น ปฏิทินถาวรบนนาฬิกาพกในปี 1889, ฟังก์ชันโครโนกราฟคู่ในปี 1902, นาฬิกาข้อมือที่มีฟังก์ชันโครโนกราฟคู่ในปี 1923 นาฬิกาข้อมือที่มีฟังก์ชันปฏิทินถาวรในปี 1925

เช่นเดียวกับแบรนด์หรูอื่น ๆ ปาเต็ก ฟิลิปป์ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปี 1932 ซึ่งลุกลามไปทั่วโลก บริษัทจึงต้องพยายามมองหาเงินทุนก้อนใหม่ ๆ กระทั่งสามารถต่อลมหายใจได้จากเงินของสองพี่น้องตระกูล ‘สเติร์น’ (Stern) ได้แก่ ‘ชาร์ลส์’ (Charles) และ ‘ฌอง’ (Jean) 

จะว่าไปแล้วตระกูลสเติร์นก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล เพราะก่อนหน้านั้นตระกูลนี้ก็เป็นผู้จัดหาหน้าปัดนาฬิกาป้อนให้กับปาเต็ก ฟิลิปป์ 

สองพี่น้องชาวสวิสช่วยพลิกฟื้นธุรกิจของปาเต็ก ฟิลิปป์ อย่างรวดเร็ว และได้มีการเปิดตัวนาฬิกาคอลเลกชั่นเรือธงที่ชื่อว่า ‘คาลาทราวา’ (Calatrava) ที่มีการออกแบบเรียบง่าย และเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างความสวยงามและฟังก์ชัน จนได้รับการกล่าวขานมาถึงทุกวันนี้ว่าเป็นการกำหนดมาตรฐานสำหรับนาฬิกาข้อมือยุคใหม่ และถูกยกให้เป็นผลงานศิลปะที่ผู้ชื่นชอบนาฬิกาสามารถใช้งานได้จริง

‘ปาเต็ก ฟิลิปป์’ นาฬิกาที่ชนชั้นสูงโปรดปราน ฝีมือ 2 อัจฉริยะที่เชื่อมั่นใน ‘ความเป็นเลิศ’
ในปี 1933 ปาเต็ก ฟิลิปป์ ยังได้ประดิษฐ์นาฬิกาให้กับนักอุตสาหกรรมชาวอเมริกัน ‘เฮนรี เกรฟส์ จูเนียร์’ (Henry Graves Jr.) ซึ่งว่ากันว่าเป็นผลงานชิ้นเอกที่มีกลไกซับซ้อนที่สุดในเวลานั้น ด้วยมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ 

ในปี 1977 ‘ฟิลิปป์ สเติร์น’ หลานชายของชาร์ล์ส ได้ขึ้นกุมบังเหียนบริษัท ท่ามกลางวิกฤตนาฬิกาควอตซ์จากญี่ปุ่น ที่ไล่ทุบตลาดนาฬิกากลไกแบบดั้งเดิมจนละเอียดเป็นผุยผง ด้วยราคาที่หาซื้อได้ง่ายกว่าหลายเท่า ทายาทตระกูลสเติร์นพยายามแก้เกมด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาติดตั้งในนาฬิกาบางรุ่น ซึ่งทำให้ปาเต็ก ฟิลิปป์ ประคองตัวต่อมาได้

กระทั่งปี 1984 ที่นาฬิกาวินเทจกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในฐานะของสะสมคนรวย ปาเต็ก ฟิลิปป์ จึงฟื้นคืนชีพขึ้น หลังจากนั้นปาเต็ก ฟิลิปป์ ก็กลับมาฮิตติดลมบนในปี 1989 ซึ่งเป็นปีที่แบรนด์เฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี 

ตระกูลสเติร์นยังคงเป็นเจ้าของบริษัทมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ปาเต็ก ฟิลิปป์ เป็นผู้ผลิตนาฬิการายสุดท้ายในเจนีวาที่อยู่ภายใต้ธุรกิจครอบครัว 

ปัจจุบัน มากกว่าครึ่งหนึ่งของนาฬิกาที่แพงที่สุด 10 อันดับแรก ที่ถูกนำมาขายในการประมูลทั่วโลก เป็นผลงานของปาเต็ก ฟิลิปป์ และทางบริษัทพยายามตามซื้อนาฬิกาเหล่านี้เพื่อนำมาจัดแสดงเป็นคอลเลกชั่นสุดพิเศษที่พิพิธภัณฑ์ปาเต็ก ฟิลิปป์ ในเจนีวา 

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ ‘ปาเต็ก ฟิลิปป์’ ผู้ผลิตนาฬิกาที่เชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งในปรัชญา ‘ความเป็นเลิศ’ ซึ่งทำให้ธุรกิจอยู่รอดมาได้กว่า 180 ปี และกำลังเดินหน้าต่อไปอย่างสง่างาม 

 

ภาพ :

static.patek

thansettakij

อ้างอิง :

thongpatek

bada

thefirstnews

truefacet