‘หลิน’ มาลิน ชระอนันต์ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2024 กับการกำเนิดของ B ที่ 4 บนเวทีมิสแกรนด์

‘หลิน’ มาลิน ชระอนันต์ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2024 กับการกำเนิดของ B ที่ 4 บนเวทีมิสแกรนด์

‘หลิน’ มาลิน ชระอนันต์ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2024 พร้อมบทวิเคราะห์เวทีมิสแกรนด์ฯ กับการกำเนิดของ B ที่ 4 ‘Business’

KEY

POINTS

  • ตั้งแต่การประกวดในระดับจังหวัด หลินถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเธอดูไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง เนื่องจากลักษณะของเธอดูเป็นดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์มากเกินกว่าจะเป็นนางงาม
  • สิ่งที่ท้าทายสำหรับ ‘4B’ คือตามขนบของการประกวดนางงามนั้น การที่เวทีการประกวดสักเวทีจะออกมายอมรับตรง ๆ ว่าทำธุรกิจ อาจเป็นเรื่องที่ชวนให้แฟน ๆ นางงามอกแตกตายในสมัยก่อน เพราะภาพของเวทีนางงามตามขนบคือการตัดสินบนความยุติธรรม โปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์แอบแฝง
  • นี่ถือเป็นมิติใหม่ของการค้นหานางงามที่เวทีมิสแกรนด์ฯ พยายามนำเสนอแก่สาธารณชน อาจจะไม่ตรงใจแฟน ๆ นางงามบ้าง แต่ก็ ‘จริงใจ’ พอที่จะเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าเวทีทำอะไร ต้องการอะไร
     

จบลงอย่างสวยงามสำหรับหนึ่งในเวทีการประกวดนางงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ‘มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2024’ ซึ่งหญิงสาวที่คว้ามงไปครองได้สำเร็จคือ ‘หลิน’ มาลิน ชระอนันต์ ตัวแทนจากจังหวัดภูเก็ต 

บทความนี้จะพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับเธอ รวมถึงพูดคุยเรื่องผลการประกวดที่อาจจะยังค้างคาใจใครหลายคน พร้อมกับบทวิเคราะห์เวทีมิสแกรนด์ฯ ว่าภาพรวมในปีนี้เป็นอย่างไร มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน ๆ และความเปลี่ยนแปลงนั้นนำไปสู่ความท้าทายใดบ้าง

‘หลิน’ มาลิน ชระอนันต์ จาก CEO สาว สู่เวทีสาวงามระดับโลก

หลิน มาลิน ชระอนันต์ สาวงามลูกครึ่งไทย - สิงคโปร์ วัย 27 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี การสื่อสารและสื่อมวลชน ภาคอินเตอร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาหลินในฐานะอินฟลูเอนเซอร์สาว และยังเป็น CEO แบรนด์ ‘Skinboss Thailand’ แต่สำหรับวงการนางงาม หลินถือว่าเป็นหน้าใหม่

ตั้งแต่การประกวดในระดับจังหวัด หลินถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเธอดูไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง เนื่องจากลักษณะของเธอดูเป็นดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์มากเกินกว่าจะเป็นนางงาม แต่หลังจากนั้น เราก็ค่อย ๆ เห็นพัฒนาการการเป็นนางงามของหลินมากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้กลายมาเป็นนางงามแบบเต็มขั้นในคืนวันประกวดจริง 

ตลอดช่วงเก็บตัว หลินเป็นผู้เข้าประกวดที่สร้างมีมเรียกความสนใจจากสาธารณชนได้เป็นอย่างดี แถมยังมีฐานแฟนคลับสนันสนุนจำนวนมหาศาล 

แต่ปัญหาก็คือ ในการตอบคำถามรอบ 5 คนสุดท้าย โดยคำถามมีเนื้อหาที่ว่า “ถ้าหากคุณมีโอกาสได้บอกนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย คุณจะเลือกให้อะไรเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เห็นชัดเจน เป็นรูปธรรม และเพราะเหตุใด”

หลินไม่ใช่คนที่ตอบคำถามได้ดีที่สุด (ในสายตาของบางคน) เนื้อหาของคำตอบเหมือนจะมาถูกทางแล้ว เธอตอบว่าเธอเลือกเวทีมิสแกรนด์ฯ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่กลับขยายความไม่ลื่นไหล ซึ่งหากเปรียบเทียบกับรองอันดับ 1 ‘ใบเฟิร์น’ กัญภัสสร รุ่งเรือง ที่เลือกเวทีมิสแกรนด์ฯ เป็นซอฟต์พาวเวอร์เหมือนกัน แต่เธอไล่เรียงคำตอบจากต้นจนจบได้อย่างลงตัว กลายเป็นประเด็นที่ว่าใบเฟิร์นควรจะมงลงมากกว่าหลินหรือไม่?

หากมองภาพรวมตั้งแต่ต้นจนจบการประกวด บุคลิกลักษณะอย่างหลินที่ดูเข้าถึงง่ายน่าจะสะท้อนความเป็นมิสแกรนด์ฯ (ยุคใหม่) มากกว่า และที่สำคัญ ในท่ามกลางบริบทใหม่ขององค์กรมิสแกรนด์ในตลาดหลักทรัพย์ คงเป็นไปได้ที่ว่าเวทีน่าจะต้องเลือกคนที่มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้น ซึ่งหลินก็คงจะตอบโจทย์กว่าใบเฟิร์น แต่ก็อีกนั่นล่ะ มันคงเป็นเรื่องที่ติดค้างในใจใครหลายคนว่าแล้วการประกวดจะมีรอบตอบคำถามไว้ทำไม? 

อย่างไรก็ตาม นี่คือสิ่งที่เวทีมิสแกรนด์ฯ เลือกแล้ว คงต้องดูกันต่อว่าหลินจะสามารถนำพามิสแกรนด์และธุรกิจต่าง ๆ ของมิสแกรนด์เติบโตไปได้มากเพียงไร? เธอจะเป็นดาวดวงใหม่จะเจิดจรัสเทียบเท่าดาวดวงก่อน ๆ อย่างรุ่นพี่ ‘อิงฟ้า’ แบบที่คุณณวัตน์ตั้งใจไว้ได้หรือไม่? หรือเธอจะไปถึงมงแรกของตัวแทนสาวไทยในการประกวดมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนลได้หรือเปล่า?

บทวิเคราะห์มิสแกรนด์ 2024 กับกำเนิด B ที่ 4… Business ที่ทำให้ตัวตนของมิสแกรนด์ฯ ชัดเจนขึ้น

อย่างที่ทราบกันดี มิสแกรนด์ฯ ผลักดันตัวเองเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทั้งในวงการสื่อบันเทิงและธุรกิจ 

เพราะเนื่องจากนี่คือสื่อบันเทิงนางงามแห่งแรกและแห่งเดียวของโลกที่สามารถเข้าตลาดหุ้นได้ด้วยตัวเอง (โดยไม่สังกัดสื่อใหญ่) จึงส่งผลให้เนื้อหาหรือรายละเอียดของการประกวดแตกต่างไปจากปีก่อน ๆ อยู่พอสมควร

หนึ่งเรื่องที่เห็นได้ชัดที่สุดคือคอนเซปต์ในการค้นหาสาวงาม จากเดิมเจ้าของเวที คุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล เคยประกาศว่าสาวงามที่เวทีมิสแกรนด์ ฯ ตามหาต้องมี ‘3B’ คือ Body (รูปร่าง) Beauty (หน้าตา) Brain (มันสมอง)

สำหรับคุณณวัตน์ รูปร่างต้องมาก่อน เพราะมันคือสิ่งที่แต่งเติมกันได้ยาก และเป็นตัวบ่งชี้ว่านางงามคนนั้นมีระเบียบวินัย มีมาตรฐาน (ความคิดดังกล่าวนั้นน่าจะตั้งใจเอามางัดข้อกับเวทีคู่แข่งอย่างมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ที่รณรงค์ต่อต้านการวัดความงามจากรูปร่าง) แล้วถึงจะตามด้วยความสวยงามของใบหน้า และสมองเป็นองค์ประกอบสุดท้าย 

แต่ปีนี้มิสแกรนด์ฯ เปลี่ยนคอนเซปต์จาก 3B เป็น ‘4B’ ซึ่งอีกหนึ่ง B ที่เพิ่มขึ้นมาคือ ‘Business’ เพื่อให้ตอบรับกับบริบทใหม่ขององค์กรที่ไม่ใช่เพียงเวทีคัดสรรสาวงามที่เพียงจัดอีเว้นต์หนึ่งครั้งต่อปีแล้วจบไป แต่เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นผลกำไรทางธุรกิจ นางงามที่ได้รางวัลจะต้องสร้างรายได้ให้องค์กร

สิ่งที่ท้าทายสำหรับ ‘4B’ คือตามขนบของการประกวดนางงามนั้น การที่เวทีการประกวดสักเวทีจะออกมายอมรับตรง ๆ ว่าทำธุรกิจ อาจเป็นเรื่องที่ชวนให้แฟน ๆ นางงามอกแตกตายในสมัยก่อน เพราะภาพของเวทีนางงามตามขนบคือการตัดสินบนความยุติธรรม โปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์แอบแฝง 

นี่ถือเป็นมิติใหม่ของการค้นหานางงามที่เวทีมิสแกรนด์ฯ พยายามนำเสนอแก่สาธารณชน อาจจะไม่ตรงใจแฟน ๆ นางงามบ้าง แต่ก็ ‘จริงใจ’ พอที่จะเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าเวทีทำอะไร ต้องการอะไร ในการแข่งขันปีนี้ ถึงขั้นมีความพยายามจะเปลี่ยนจากการเรียก ‘นางงาม’ ว่าเป็น ‘ผู้เข้าประกวด’ เพื่อสื่อสารกับผู้ชายให้ชัดเจนขึ้น ราวกับบอกเป็นนัยว่ามิสแกรนด์ฯ ไม่ใช่เวทีขนบ แต่มีแนวทางของตัวเอง ดังเช่นที่คุณณวัตน์กล่าวอยู่บ่อย ๆ ว่า “ดูแกรนด์ให้เป็นแกรนด์” 

แต่อันที่จริง มันน่าจะพอมีวิธีที่ทำให้ภาพลักษณ์ในทางธุรกิจของมิสแกรนด์ฯ เดินไปพร้อม ๆ กับเวทีนางงามได้อย่างไม่หักดิบ ดูลงตัวขึ้น หากมิสแกรนด์ฯ พยายามขับเน้นคุณค่าของผู้หญิงยุคใหม่โดยเชื่อมโยงกับความสามารถในการหารายได้ (เพื่อชีวิตตัวเองและคนรอบข้าง หรือแม้แต่เพื่อสังคม) เพราะเรื่องราวเบื้องหลังความเป็นนักสู้ของผู้หญิงเหล่านี้ที่อาจจะไม่ได้ถูกมองว่าสูงส่งตามจริตชนชั้นกลาง แต่แน่นอนว่าก็ไม่ได้ต่ำต้อยไปกว่าสาวงามที่สามารถตอบคำถามเรื่องความรักเด็ก ภาวะโลกร้อน สันติภาพของโลก ฯลฯ ได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งหากความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและคุณค่าของผู้หญิงเกิดขึ้นกับเวทีมิสแกรนด์ฯ มันคงจะน่าสนใจขึ้นมาก เป็นแรงบันดาลใจจากผู้หญิงถึงผู้หญิงที่ไม่ได้ไกลตัว เข้าถึงง่ายตามแบบฉบับมิสแกรนด์ฯ

อีกเรื่อง คงต้องบอกตามตรงว่ามิสแกรนด์ฯ ปีนี้ให้น้ำหนักไปทางความบันเทิงเสียมากจนอาจจะลดความร้อนแรงในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภาพจำของเวทีตามสโลแกน “มิสแกรนด์ ฯ เพื่อประชาธิปไตย” หากจะคิดว่าปีนี้เป็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว การเมืองดีไม่มีที่ติ ก็คงจะไม่ใช่ ซึ่งถือว่าน่าเสียดาย เพราะการเมืองที่ตรง แรง ชัดแบบมิสแกรนด์ฯ เป็นบุคลิกที่เด่นชัด ไม่มีเวทีไหนทำถึงเท่า

จากเวทีที่ถูกล้อว่า ‘เวทีถุงข้าวแกง’ สู่ สื่อบันเทิงนางงามเพียงหนึ่งเดียวของโลกในตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นเรื่องน่าติดตามต่อว่ามิสแกรนด์ฯ จะไปได้ไกลเพียงไร และในอนาคต เราจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ อีกบ้าง

 

เรื่อง : ณัฐ วิไลลักษณ์
ภาพ : Miss Grand Thailand

 

#ThePeople #GameChanger #มาลิน_ชระอนันต์ #MissGrandThailand
#MissGrandThailand2024 #นางงาม #ประกวดนางงาม