17 มี.ค. 2566 | 13:49 น.
- การแต่งงานกับ ‘วรรณา จาตุรแสงไพโรจน์’ นับเป็นการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของ ‘เจริญ แซ่โซว’ สู่การเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยมี ‘เจ้าสัวกึ้งจู’ บิดาของวรรณา เป็นผู้ผลักดัน
- หนึ่งในคำสอนที่คุณหญิงวรรณาบอกกับลูกคือ “สุขภาพเป็นของเราเอง เงินทองเป็นของคนอื่น อำนาจเป็นเรื่องชั่วคราว ชื่อเสียงเป็นเรื่องชั่วนิรันดร์”
คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ถึงแก่กรรมอย่างสงบขณะมีอายุ 80 ปี เมื่อเวลา 01.24 น. วันที่ 17 มีนาคม 2566 หลังป่วยมาสักระยะหนึ่งแล้ว นับเป็นการสูญเสียที่สำคัญในแวดวงธุรกิจ นั่นเพราะสตรีผู้นี้มิได้เป็นเพียงช้างเท้าหลังให้กับสามีอภิมหาเศรษฐี ทว่าเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของตระกูล ‘สิริวัฒนภักดี’ หนึ่งในตระกูลที่มั่งคั่งระดับโลก
คุณหญิงวรรณาอาจไม่ได้เกิดมาลำบากเหมือนสามี เธอเกิดเมื่อวันอังคารที่ 2 มีนาคม 2486 ในชื่อ ‘วรรณา จาตุรแสงไพโรจน์’ (แซ่จิว) ในฐานะลูกสาวของ ‘เจ้าสัวกึ้งจู จาตุรแสงไพโรจน์’ (แซ่จิว) เศรษฐีผู้กว้างขวางในย่านทรงวาด เจ้าของธุรกิจจัดส่งสินค้าให้โรงงานสุราบางยี่ขัน ผู้มีสายสัมพันธ์อันดีกับตระกูล ‘เตชะไพบูลย์’ และ ‘เจ้าสัวชิน โสภณพนิช’ ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ
ขณะที่เจ้าสัวเจริญ หรือ ‘เถ้าแก่เจริญ แซ่โซว’ มาจากครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเล เติบโตมาจากการเป็นพ่อค้าหาบเร่ตั้งแต่เด็ก
เจ้าสัวกึ้งจูบิดาของวรรณาผู้นี้นี่เองที่เป็นเบื้องหลังเงินทุน คลังความรู้ด้านการค้า และคอนเน็กชั่นให้กับเถ้าแก่เจริญ หลังจากที่เขาแต่งงานกับวรรณา ซึ่งเรียนจบวิชาการบัญชีจากพณิชยการราชดำเนิน
เถ้าแก่เจริญและวรรณาร่วมกันพัฒนากิจการจากเล็กสู่ใหญ่ จากการขายสินค้าให้โรงงานสุรา พัฒนามาสู่การเป็นเจ้าของโรงงานสุรา กระทั่งได้รับสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมดเมื่อเข้าสู่ยุคการค้าสุราเสรี ได้ประมูลโรงกลั่นสุราในนามกลุ่มแสงโสม และได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เบียร์ แอลกอฮอลล์ น้ำตาล บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ
ทั้งยังสยายปีกไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล กลุ่มนอร์ธปาร์ค กลุ่มพันธุ์ทิพย์ กลุ่มเกษตร ตลอดจนเข้าลงทุนในกิจการของกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ เช่น กลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และกลุ่มอาคเนย์ประกันภัย ประกันชีวิต เป็นต้น
สำหรับวรรณานั้น นอกจากจะร่วมบริหารกิจการและนั่งในตำแหน่งสำคัญๆ มายาวนานตลอด 50 ปี เธอยังดูแลบุตรทั้ง 5 คน ได้แก่ ‘อาทินันท์ พีชานนท์’, ‘วัลลภา ไตรโสรัส’, ‘ฐาปน สิริวัฒนภักดี’, ‘ปณต สิริวัฒนภักดี’ และ ‘ฐาปนี เตชะเจริญวิกุล’ ให้ได้รับการศึกษาอย่างดี
สตรีผู้มีบุคลิกยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ มีจิตใจดี ยังเป็น “ต้นแบบ” ให้กับลูกๆ ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ ทั้งในแง่การดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจ
เริ่มที่วัลลภา ซึ่งได้รับคำสอนที่ว่า “อดทน นิ่ง เสียสละ และร่าเริง”
“สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนจะมี 4 คำ คือ ถ้าเราอดทน ทุกอย่างจะสำเร็จ ถ้าเรานิ่งจะเกิดสติปัญญา ถ้าเราเสียสละ เราจะพ้นภัย แล้วสุดท้าย ถ้าเราร่าเริงก็จะอายุยืน” วัลลภา กล่าว
ส่วน ‘ฐาปน’ เคยเล่าถึงคำสอนจากมารดาว่า “คำสอนของคุณแม่เรียบง่าย 4 ประโยค สุขภาพเป็นของเราเอง เงินทองเป็นของคนอื่น อำนาจเป็นเรื่องชั่วคราว ชื่อเสียงเป็นเรื่องชั่วนิรันดร์”
ลูกสาวคนเล็กอย่าง ‘ฐาปนี’ ยกคำสอนของคุณตาที่ส่งต่อกันมายังรุ่นมารดาจนถึงตนเองคือ “ความอดทน” ซึ่งประกอบจาก 2 คำ ได้แก่ 刃 : Rèn หมายถึงใบมีด และ 心 : xīn หมายถึงหัวใจ เมื่อเป็นอักษรภาพ ใบมีดจะอยู่ด้านบน และหัวใจจะอยู่ด้านล่าง รวมกันเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง
"คุณตาลายมือสวยมาก และเขียนตัวอักษรจีนคำว่าอดทนไว้ ซึ่งความหมายตัวมีดอยู่ด้านบน หัวใจอยู่ด้านล่าง หากไม่อดทน เสี้ยววินาทีเดียว มีดจะปักเข้าไปในหัวใจ แสดงว่าจะเกิดความเสียใจ เสียหาย เมื่ออดทนไว้ มีดก็ไม่ปักลงหัวใจ"
จากคำสอนและการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างให้กับลูกๆ ทำให้ทายาทตระกูลสิริวัฒนภักดีเติบโตไปตามเส้นทางธุรกิจต่างๆ เพิ่มพูนความมั่งคั่งให้กับอาณาจักร กระทั่งเจ้าสัวเจริญติดท็อปทรีมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2565 จากการจัดอันดับของ Forbes Thailand ด้วยมูลค่าทรัพย์สินราว 3.94 แสนล้านบาท
ลมใต้ปีกผู้ทำงานเคียงข้างสามีผู้นี้ยังเป็นกำลังสำคัญในด้านการทำงานการกุศลและช่วยเหลือสังคมในหลายด้าน กระทั่งปี 2531 จึงได้รับพระราชทานนามสกุล ‘สิริวัฒนภักดี’ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็น “คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี”
นอกจากนี้ทั้งเจ้าสัวเจริญและคุณหญิงวรรณายังได้รับปริญญาดุษฎีบันฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของประเทศอีกจำนวนมาก
นี่คือเรื่องราวของสตรีผู้มีบทบาทสำคัญทั้งในฐานะ “ภรรยา” ผู้ร่วมต่อสู้ฟันฝ่ากับคู่ชีวิตจนสามารถก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจชั้นนำของประเทศ และในฐานะ “แม่” ผู้เลี้ยงดูฟูมฟักลูกๆ ที่เป็นทั้งทายาททางสายเลือดและทายาททางธุรกิจ
อ้างอิง: